02 149 5555 ถึง 60

 

แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก

Download เอกสาร

เริ่มทำแบบสอบถาม Online

บทนำ

แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก เดิมชื่อ แบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยคณะผู้วิจัยโรงพยาบาลราชานุกูลเพื่อให้เป็นเครื่องมือคัดกรองเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อนในชุมชนโดยอาสาสมัคร

สาธารณสุขหมู่บ้าน การสร้างเครื่องมือนี้ศึกษาข้อทดสอบพัฒนาการจากแบบคัดกรองพัฒนาการของต่างประเทศ และประเทศไทย ได้แก่ Denver II (Frankenburg, W.K. et al, 1990) แบบทดสอบพัฒนาการเด็ก (Laksanavicharn, U., 1995) และคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุ 0-5 ปี : การทดสอบและฝึกทักษะคณะกรรมการโครงการส่งเสริม พัฒนาการ โรงพยาบาลราชานุกูล, 2537 การสร้างแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน ยังไม่มีผู้ทำการศึกษา นอกจากข้อคำถาม 10 คำถาม (Ten Questions, TQ) ขององค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 1992 ที่ใช้เป็นเครื่องมือ คัดกรองภาวะปัญญาอ่อนขั้นที่ 1 ในเด็กอายุ 2-9 ปี โดยเจ้าหน้าที่ชุมชน สำหรับแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อน ระดับชุมชนที่สร้างโดยคณะผู้วิจัยโรงพยาบาลราชานุกูล แบ่งเป็นช่วงอายุ รวม 9 ช่วง ดังนี้ 6 เดือน, 9 เดือน, 12 เดือน, 18 เดือน, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี, 5 ปี และ 6 ปี แต่ละช่วงอายุประกอบด้วยข้อทดสอบพัฒนาการ 5 ข้อ ในด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ความเข้าใจภาษา การใช้ภาษา และการช่วยเหลือตัวเอง/ สังคม และแบบคัดกรองฯ นี้ยังได้มีการนำไปใช้ศึกษาระบาดวิทยาของภาวะปัญญาอ่อนในชุมชน

คุณสมบัติของเครื่องมือ

แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก มีค่าอำนาจจำแนกระหว่างกลุ่มเด็กปกติ และกลุ่มเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ในแต่ละระดับอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า p อยู่ระหว่าง › .01 › .001) ยกเว้นในระดับอายุ 9 เดือน ไม่พบอำนาจจำแนกและ internal consistency reliability ของแบบคัดกรองในแต่ละอายุ วัดโดยใช้สูตร KR-20 ได้ค่าระหว่าง 0.7-0.9 ยกเว้นในระดับอายุ 6 เดือน ได้ค่า = 0.6 ส่วนค่าจุดตัดความไว ความจำเพาะ การทำนาย ผลบวก และลบ ความแม่นยำของแบบคัดกรองในแต่ละอายุ ดังนี้



อายุ จัดตัดคะแนนไม่ปกติ / ปกติ ความไว % ความจำเพาะ % การทำนาย ความแม่นยำ (%)
+ (%) - (%)
6 เดือน 3/4 80 85.7 40 97.3 85.1
9 เดือน 3/4 57.1 96.2 66.7 94.3 91.5
12 เดือน 3/4 77 89.7 76.7 89.7 85.7
18 เดือน 4/5 77 79.5 55.6 91.2 78.8
2 ปี 2/3 76.9 100 100 90.6 92.9
3 ปี 3/4 61.5 88.9 66.7 86.5 81.6
4 ปี 2/3 60 100 100 89.2 90.7
5 ปี 3/4 85.7 92.7 80 95 90.9
6 ปี 3/4 77 96 83.3 94.2 92.2

วัตถุประสงค์

เพื่อใช้คัดกรองเด็กที่พัฒนาการล่าช้าและภาวะปัญญาอ่อนในชุมชน อายุ 6 เดือน - 6 ปี โดยอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน

วิธีการใช้

1. ทดสอบเด็กเมื่ออายุครบ 6 เดือน, 9 เดือน, 12 เดือน, 18 เดือน, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี, 5 ปี และ 6 ปี

2. ทำการทดสอบจากตัวเด็กเท่านั้น ยกเว้นข้อที่อนุญาตให้ถามจากแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก

3. ขีดเครื่องหมาย / ลงในช่อง “ได้” หรือ “ไม่ได้” ช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น

4. รวมคะแนนช่อง “ได้” คิดข้อละ 1 คะแนน

5. เมื่อทราบถึงจุดด้อยพัฒนาการของเด็ก ณ ช่วงอายุใด ให้ส่งเสริมพัฒนาการตามกิจกรรมที่อยู่ในช่วงอายุนั้น ๆ จากชุดส่งเสริมพัฒนาการ

การแปลผล

1. อายุ 6 เดือน, 9 เดือน, 12 เดือนถ้าได้ 3 คะแนน หรือต่ำกว่า ให้สงสัยพัฒนาการล่าช้า

2. อายุ 18 เดือน ถ้าได้ 4 คะแนน หรือต่ำกว่า ให้สงสัยพัฒนาการล่าช้า

3. อายุ 2 ปี และ 4 ปี ถ้าได้ 2 คะแนน หรือต่ำกว่า ให้สงสัยภาวะปัญญาอ่อน

4. อายุ 3 ปี, 5 ปี และ 6 ปี ถ้าได้ 3 คะแนน หรือต่ำกว่า ให้สงสัยภาวะปัญญาอ่อน

การนำไปใช้ประโยชน์

1. ใช้คัดกรองเด็กในชุมชนที่มีพัฒนาการล่าช้า หรือมีภาวะปัญญาอ่อนเพื่อส่งต่อในการวินิจฉัย และให้การช่วยเหลือต่อไป

2. หลังจากประเมินแล้วพบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้าอยู่ ณ อายุเดือนที่เท่าไหร่ สามารถทำการฝึกส่งเสริมพัฒนาการตามกิจกรรมที่บ่งบอกไว้ ณ ช่วงอายุนั้น ๆ และให้ฝึกให้ก้าวหน้าต่อไป

ข้อจำกัด

จุดตัดของแบบคัดกรองพัฒนาการเด็กนี้ ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีความพิการทางร่างกาย ปัญหาสายตา และปัญหาการได้ยิน

เอกสารอ้างอิง

กัลยา สูตะบุตร, เรือนแก้ว กนกพงศ์ศักดิ์, วีรยุทธ ประพันธ์พจน์, วิชาญ บุญสวรรค์ส่ง, ยุวดี กิติคุณ,

ชนิสา เวชวิรุฬห์, ศุภรพรรณ ศรีหิรัญรัศมี, วัลย์ลิกา สังข์ทอง, สุจิตรา ศรีสุโร, ชุฑามาศ เชื้อสีห์แก้ว, ศรีวันเพ็ญ ชินวงศ์, กุลยา ก่อสุวรรณ และฉันทนา พิกุลทอง (2540) แบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน (ฉบับร่าง) โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2540.

บุคคลที่สะดวกในการติดต่อประสานงานในการศึกษาเรื่องนี้

นางสาวชนิสา เวชวุรุฬห์

นักจิตวิทยา 7 โรงพยาบาลราชานุกูล

4737 ถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400

โทรสัพท์ 0-2245-4601-5, 0-2245-4690-5 ต่อ 5601

โทรสาร 0-2248-2944

>แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการ

อายุ ทักษะ วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
 6 เดือน  พลิกคว่ำ และหงาย  1. วางเด็กนอนคว่ำ เรียกชื่อเด็กพร้อมเขย่าของเล่นที่มีเสียง เช่น กรุ๋งกริ๋งด้านห้าเหนือศีรษะเด็ก เคลื่อนของเล่นไปด้านข้าง เมื่อเด็กพยายามจะคว้าของเล่น ตัวก็จะพลิกหงายตามมาได้ ถ้าเด็กทำไม่ได้ ผู้สอนช่วยจับเข่างอ ดันสะโพกพลิกตัวหงาย
 2. วางเด็กนอนหงาย วางของเล่นด้านข้างระดับสายตา ผู้สอนจับใต้เข่าเด็กทั้งสองข้าง งอเข่าข้างหนึ่งพลิกเป็นท่านอนตะแคง แล้วพลิกตัวเป็นท่านอนคว่ำ
 เอื้อมหยิบของใกล้ตัว หรือไกลมือเอื้อมเล็กน้อย  1. วางเด็กนอนคว่ำแขนยันพื้นให้ข้อศอกอยู่ข้างหน้าไหล่ ผู้สอนยื่นของเล่นห่างจากศีรษะเด็ก 20 ซม. เรียกชื่อเด็ก บอกให้จับของเล่น ถ้าเด็กทำไม่ได้ผู้สอนช่วยจับข้อมือเด็ก เอื้อมหยิบ หรือไปจับของเล่น (ฝึกทั้งสองข้างสลับกัน)
 2. พยุงเด็กไว้ในท่านั่ง
    2.1 เขย่าของเล่นที่มีเสียงให้เด็กสนใจ ถ้าเด็กไม่เอื้อมมือออกไป ช่วยจับมือเด็กให้เอื้อมไปที่ของเล่น
    2.2 พูดคุย พยายามให้เด็กเอื้อมมือมาจับใบหน้า ผม ของผู้สอน
    2.3 ก่อนให้นมเด็กทุกครั้ง ถือขวดนมห่างจากหน้าเด็กประมาณ 20 ซม. เรียกให้เด็กมองที่ขวดนม เพื่อให้เด็กเอื้อมมือทั้งสองข้างออกมาถ้าเด็กไม่ทำ จับมือเด็กมาที่ขวดนม
 3. ทำแกนขวางเตียงเด็ก ใช้เชือกที่ยึดได้ผูกของเล่นสีสดใส มีเสียงติดกับแกนในระยะที่เด็กเอื้อมมือถึง เปลี่ยนของเล่น และตำแหน่งแขวนบ้าง
 หันตามเสียงเรียก  1. เรียกเด็กทุกครั้งที่เดินมาหา ก่อนอุ้ม ก่อนให้นม หรือก่อนฝึกกิจกรรมต่าง ๆ และรอให้เด็กมองหน้า
 2. เรียกชื่อเด็กด้วยเสียงปกติทางด้านหลังห่างจากเด็ก 1 ฟุต สลับกันซ้าย-ขวา เด็กบางคนถนัดหันหน้าข้างเดียว ต้องพยายามฝึกข้างที่ไม่ถนัดให้มากกว่า
 ส่งเสียง หรือพ่นน้ำลายเล่น  1. ผู้สอนทำเสียง เช่น พ่นน้ำลายโอะอะ มามา ปาปา ที่ละเสียง รอให้เด็กทำตาม
 2. เล่นของเล่นพร้อมทำเสียงให้เด็กฟัง เช่น ไถรด ทำเสียง “ปริ๊น ปริ๊น” ไถรถไฟทำเสียง “ปู๊น ปู๊น” ทำทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง สังเกตว่าเด็กออกเสียงเล่นกับของเล่นนั้นบ้างหรือไม่
 9 เดือน  นั่งอยู่ได้นานโดยไม่ต้องใช้มือยันพื้น  จับเด็กนั่งบนพื้น วางของเล่นไว้ข้างหน้าให้เด็กเล่นโดยผู้สอนเล่นกับเด็กด้วย และคอบเปลี่ยนท่านั่งให้เด็ก เช่น นั่งพับเพียบ ไม่ควรปล่อยให้เด็กนั่งท่าเดียวนาน ๆ
 มองตามของเล่นที่ทำตก  1. จับเด็กนั่งเก้าอี้ หรือบนตัก เขย่าของเล่นสีสดใส มีเสียง ตรงระดับสายตาเด็ก ขณะเด็กกำลังจ้องมอง ปล่อยของเล่นให้ตกลงพื้น ถ้าเด็กไม่มองหาของเล่นที่ตก กระตุ้นให้เด็กมองหา
 2. ในขณะที่อาบน้ำให้เด็ก ใช้ของเล่นที่ลอยน้ำได้ 3. ใช้วัตถุไม่มีเสียง เช่น ผ้าสีสด ฟองน้ำ สอนเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง
 โผเข้าหา หรือยื่นแขนให้เมื่อเรียกและทำท่าอุ้ม  1. ให้ผู้สอนทำท่ายื่แขนทั้งสองข้างไปที่ตัวเด็กทุกครั้งที่จะพาเด็กไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ กินนม พร้อมพูดว่า “อุ้ม” หรือ”ลุกขึ้น”
 2. ถ้าเด็กเฉยให้จับแขนเด็กยื่นมาที่แขนของผู้สอน ก่อนจะอุ้มเด็กขึ้นทุกครั้ง
 3. ต่อไปให้ผู้สอนทำท่ายื่นแขนไปจะอุ้มเด็ก ถ้าเด็กยื่นแขนออกมาเองให้กล่าวชมเชยเด็ก พร้อมอุ้มขึ้นมากอด
 พูดเสียงซ้ำ ๆ เช่น บาบา ดาดา หม่ำ ๆ จ๋าจ๊ะ  1. การสอนให้เด็กพูด เราไม่สามารถช่วยเหลือด้วยวิธีจับปากให้เด็กพูด แต่การได้ยินการพูดคุยเป็นประจำในชีวิตประจำวัน จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการพูดของเด็ก ถ้าเด็กยังไม่ส่งเสียงคุย ให้ตรวจสอบความสนใจ และการตอบสนองต่อผู้อื่นของเด็ก
 2. ออกเสียง 2 พยางค์ ให้เด็กเลียนเสียงตาม เช่น มามา ดาดา บาบา หม่ำ ๆ
 จ้องมอง หรือร้องไห้เมื่อเห็นคนแปลหน้า  1. พาเด็กไปเยี่ยมบ้านญาติ หรือเพื่อสนิท เพื่อให้เด็กได้พบปะคนแปลกหน้า และสิ่งแวดล้อมที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ
 2. เมื่อเด็กแสดงท่าทางกลัว หรือร้องไห้ต้องอุ้มเด็กและปลอบโยนบอกเด็กทุกครั้งว่าไม่ต้องกลัว…. ไม่มีใครทำอะไร…. พยายามชี้ชวนพูดคุยให้เด็กดูผู้คน และของเล่นแปลก ๆ ใหม่ ๆ
 12 เดือน  ยืนได้อย่างน้อย 2 วินาที  จับเด็กยืน และจับมือ 2 ข้างของเด็กให้เหยียดขึ้นสูงระดับไหล่ เมื่อเด็กทรงตัวได้ค่อยปล่อยมือ
 หยิบของชิ้นเล็กขนาดเท่าเมล็ดถั่ว โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้  1. วางวัตถุชิ้นเล็ก เช่น ลูกเกด บนพื้นโต๊ะหน้าด็กให้เด็กเห็นวัตถุนั้นชัดเจนผู้สอนหยิบให้ดูแล้วให้เด็กทำ
 2. ช่วยเหลือเด็กโดยจับรวบนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย เข้าหาฝ่ามือเพื่อให้เด็กใช้หัวแม่มือ และนิ้วชี้หยิบวัตถุ
 3. เล่นเกมที่เด็กต้องใช้หัวแม่มือ และนิ้วชี้แตะกันเป็นจังหวะ
 หันมองคนในบ้านเมื่อถาม  1. ขณะมีเหตุการณ์ หรือกิจกรรมเกี่ยวกับคนในบ้าน ให้บอกชื่อบุคคลสั้น ๆ เช่น “พ่อมาแล้ว” หรือ”พี่อาบน้ำ”
 2. ขณะเล่นกับเด็กให้ระบุชื่อผู้ที่เล่นด้วย เช่น “จ๊ะเอ๋ พี่….” “โยนบอลให้พ่อ”
 3. ขณะเด็กอยู่กับสมาชิกในครอบครัว 2 คน หรือมากกว่า 2 คน ให้เล่นเกม “….อยู่ไหน” เช่น “ยายอยู่ไหน” ถ้าเด็กไม่หันมอง หรือไม่ชี้ ให้ยายพูดแนะว่า “ยายอยู่นี่” หรือผู้สอนชี้ไปที่ยาย และพูดว่า “ยายอยู่นั้น” และให้โอกาสเด็กทำเอง
 พูดตามเป็นคำ  1. สอนให้เด็กเลียนคำพูดง่าย ๆ ในขณะเล่น เช่น ขณะเล่นตุ๊กตา ผู้สอนพูด “ป้อนข้าวน้อง” “ป้อนน้ำน้อง” ให้เด็กเลียนเสียง “น้อง”
 2. สอนเรียกคนในบ้าน เช่น พ่อ แม่ ตา ยายา ป้า อา
 3. สอนเด็กเรียกชื่อสัตว์ เช่น หมา ปลา ปู
 4. สอนเด็กพูดคำกริยา เช่น มา ไป เอา
 บอกความต้องการโดยใช้ท่าทางหรือเสียง  1. สอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธด้วยการใช้มือผลักของออก หรือสั่นศีรษะ พร้อมพูด “ไม่”
 2. ให้เด็กเลือกอาหาร หรือของเล่นจาก 2 อย่าง โดยถามเด็กว่า “เอาอย่างไหน” สอนให้เด็กชี้อันที่ต้องการพร้อมออกเสียง “เอา” ถ้าเด็กไม่ต้องการสอนให้สั่นศีรษะพร้อมออกเสียง “ไม่”
 3. เมื่อเด็กอิ่ม ถามว่า “เอานมไหม” สอนให้สั่นศีรษะ และพูดว่า “ไม่”
 18 เดือน  เดินได้คล่อง  ชักชวนให้เด็กเดินไปยังที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ เช่น เดินไปห้องน้ำ ห้องกินข้าว เดินไปขึ้นรถ เดินไปรอบ ๆ บ้าน เดินขึ้นลงที่ชันเล็กน้อย เดินบนทราย และเดินบนที่นอน
 ขีดเขียนบนกระดาษอย่างตั้งใจโดยใช้สีเทียน หรือดินสอ  1. การสอนมี 3 ขั้นตอน ให้เริ่มสอนจากขั้นตอนต่ำสุดที่เด็กทำไม่ได้
   1.1 เด็กขีดเขียนเมื่อผู้สอนแสดงวิธีทำให้เด็กดู และให้ความช่วยเหลือโดยแตะนำที่ข้อมือ หรือแขน ผู้สอนขีดเส้นตรงเป็นเส้นหนา ๆ ชักจูงให้เด็กมอง ลองให้เด็กทำบ้าง ให้ความช่วยเหลือโดยจับมือทำ แล้วลดความช่วยเหลือ โดยเพียงแตะนำที่ข้อมือ หรือแขนเด็ก
   1.2 เด็กขีดเขียนได้ เมื่อผู้สอนแสดงวิธีทำให้เด็กดูเพียงอย่างเดียวสอนต่อเนื่องจากข้อ 1.1 ลดการช่วยเหลือเด็กลง จนกระทั่งไม่ต้องช่วยแตะนำข้อมือ หรือแขนเด็ก
   1.3 เด็กขีดเขียนได้เอง ผู้สอนลดการช่วยเหลือโดยการแสดงวิธีทำให้เด็กดูให้น้อยครั้งลง จนเด็กขีดเขียนได้โดยไม่ต้องทำตัวอย่างให้ดู
 2. สอนให้เด็กรู้จักใช้นิ้วขีดเขียน เช่น นิ้วขีดเขียนในถาดที่มีแป้งโรคไว้บาง ๆ บนกระจกที่มีฝ้าไอน้ำเกาะ หรือบนพื้นทราย
 ทำตามคำสั่งง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำให้ดูก่อน  ใช้คำพูดสั่งพร้อมกับช่วยให้เด็กทำตามคำสั่ง เช่น ส่งของให้ ตบมือ บ๊ายบาย สวัสดี เป็นต้น แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือ โดยใช้คำสั่งเพียงอย่างเดียว
 พูดเป็นคำ ๆ ได้เอง  สอนเด็กพูดตามเหตุการณ์จริง เช่น “หม่ำ” ในขณะกินข้าว และ “ไป” ในขณะเดินออกจากห้องหลังจากนั้นถามให้เด็กตอบโดยใช้คำที่เคยสอน
 ถือถ้วยดื่มได้เอง อาจมีหกบ้าง  ขณะเริ่มสอนให้ใส่น้ำเพียงเล็กน้อยก่อน เพื่อไม่ให้แก้วหนักมาก ประคองมือเด็กให้ยกแก้วน้ำดื่ม เมื่อเด็กเริ่มจับแก้วได้ดีขึ้น ให้เพิ่มน้ำ แล้วลดการช่วยเหลือจนเด็กยกแก้วน้ำดื่ม และวางเองได้
 2 ปี  วิ่งได้คล่อง  1. เมื่อเด็กเริ่มหัดวิ่ง มักเดินแบบเร็ว ๆ ถลาไปข้างหน้า ตาจ้องที่พื้น และตั้งใจวิ่งไปข้างหน้าให้ได้ วิธีสอนที่ดีที่สุดคือผู้สอนวิ่งไปกับเด็ก หรือให้วิ่งกับเด็กอื่น ๆ
 2. ผู้สอน 2 คน จับมือเด็กคนละข้างวิ่งไปด้วยกันช้า ๆ เด็กอาจโหนมือผู้สอนขณะที่วิ่งไป พอวิ่งไปได้ 3-4 ก้าว ให้หยุดสักครู่ แล้วเริ่มวิ่งใหม่ ขณะวิ่งค่อย ๆดึงมือเด็กไปข้างหน้า เพื่อให้เด็กก้าวขาไปข้างหน้าได้เร็ว และมั่นคงขึ้น หยุดสักครู่ แล้ววิ่งต่อไปในช่วงระยะสั้น ๆ ก่อน จนวิ่งได้ 3-4 เมตร
 3. ผู้สอนจับมือเด็กข้างหนึ่งวิ่งไปด้วยกัน สอนแบบเดียวกับข้อ 2
 ชี้อวัยวะของร่างกายได้ 4 ส่วน  สอดแทรกในกิจวัตรประจำวัน เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว โดยเริ่มสอนจากอวัยวะที่เด็กเรียนรู้ได้ง่าย เช่น ปาก มือ ผม ใช้ ตุ๊กตา หรือรูปภาพประกอบการชี้อวัยวะของตนเองได้
 พูดได้ 2 คำติดกัน พูดคุยกับเด็กขณะทำกิจวัตรประจำวัน และขณะเล่นกับเด็ก สอนให้เด็กพูดตามโดยใช้คำที่มีความหมาย 2 คำติดกัน เช่น กินข้าว ไปเที่ยว แม่ไป ขอรถ ถามคำถามให้เด็กตอบโดยใช้คำที่เคยเรียนรู้แล้ว เช่น “หนูจะเอาอะไร” “แม่ไปไหน” “พ่อทำอะไรอยู่” ถ้าเด็กตอบโดยใช้คำเดี่ยว ให้สอนเด็กตอบโดยใช้ 12 คำต่อกัน
 ใช้ช้อนตักอาหารกินเอง อาจมีหกเล็กน้อย  สอนในเวลากินอาหาร ผู้สอนจับมือเด็กกำด้ามช้อนตักอาหารขนาดพอคำใส่ปาก บอกเด็กให้ใช้ริมฝีปากเม้มอาหารจากช้อน อาจต้องจับริมฝีปากบนและล่างของเด็กเม้มเข้าหากันด้วย แล้วลดการช่วยเหลือจนเด็กจับช้อนตักอาหารกินเองได้ และรู้จักใช้ริมฝีปากเม้มอาหารจากช้อนเอง
 3 ปี  ยืนขาเดียวได้ 1 วินาที ทั้ง 2 ข้าง  1. ผู้สอนยืนข้างหน้าเด็กจับมือเด็กสองข้างแล้วบอกให้เด็กยกขาข้างหนึ่งขึ้นพร้อมทั้งทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำเช่นเดียวกันนี้กับขาอีกข้าง ถ้าเด็กไม่ยกขาขึ้น ลองบอกให้เด็กยกเท้าขึ้นเหยียบบนกล่อง
 2. ผู้สอนจับมือเด็กหนึ่งข้าง แล้วทำเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง
 3. ผู้สอนยืนขาเดียวให้เด็กดู และให้เด็กทำตาม
 หมุน และเปิดฝาเกลียวขนาดพอเหมาะกับมือได้  1. ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้าน ได้แก่ กระบอกใส่น้ำ หรือขวดที่มีฝาเกลียวขนาดเหมาะสมกับมือเด็ก และเพื่อเพิ่มความสนใจควรใช้ขวดใส และบรรจุสิ่งที่เด็กสนในไว้ในขวด
 2. ทำให้เด็กพร้อมพูด และช่วยจับมือเด็กจับวัตถุ และหมุนฝาเกลียว (ควรรับจากด้านหลังเด็ก) ให้เด็กทำเองบ้างโดยระยะแรกคลายเกลียวออกให้เด็กเล็กน้อย
 ทำตามคำสั่งได้ โดยไม่ต้องแนะนำ หรือทำท่าทาง  1. ใช้คำพูดสั่งพร้อมกับช่วยให้เด็กทำตามคำสั่ง เช่น เปิดประตู ปิดประตู หยิบผ้าเช็ดตัวให้แม่ หยิบหนังสือให้พ่อ เอาดินสอใส่กล่อง เป็นต้น
 2. หาโอกาสย้ำ และฝึกแสดงเกี่ยวกับสิ่งที่สอน
 พูดเป็นประโยคให้ผู้อื่นฟังเข้าใจได้เกือบหมด  1. พูดคุยกับเด็ก โดยใช้คำพูดที่เป็นประโยคในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เวลาทานอาหาร เวลาแต่งตัว เวลาเล่น และให้มีการพูดโต้ตอบกันในลักษณะต่าง ๆ
 2. เล่นบทบาทสมมติ 2 คน หรือรวมกลุ่ม เช่น เล่นขายของ เล่นเป็นพ่อแม่ เล่นเป็นครู
 3. ถ้าเด็กออกเสียงพยัญชนะไม่ชัด ผู้สอนออกเสียงพยัญชนะที่ถูกต้องให้เด็กฟังใหม่
 ถอดเสื้อยืด หรือกางเกงเอวยางยืดโดยไม่ต้องช่วย  การฝึกถอดเสื้อยืด เริ่มฝึกโดยใช้เสื้อยืดที่ใหญ่กว่าตัวเด็กเล็กน้อยขั้นตอนการฝึกมีดังนี้
 1. บอกให้เด็กใช้มือทั้งสองข้างรวบชายเสื้อขึ้นมาอยู่ในระดับอก
 2. บอกให้เด็กใช้มือขวารวบชายเสื้อด้านซ้ายขึ้น พร้อมทั้งดึงแขนซ้ายออกจากแขนเสื้อ
 3. บอกให้เด็กใช้มือซ้ายรวบชายเสื้อด้านขวาขึ้น พร้อมทั้งดึงแขนขวาออกจากแขนเสื้อ
 4. บอกให้เด็กใช้มือทั้งสองข้างรวบชายเสื้อ ดึงเสื้อให้พ้นศีรษะการสอนถอดกางเกง ผู้สอนยืนอยู่ด้านหลังเด็ก
    1. บอกเด็กจับขอบกางเกงด้านข้างทั้งสองข้าง ดึงกางเกงลงจากสะโพกจนเลยเข่าเล็กน้อย ขณะดึงลงให้ก้มตัวตามไปด้วยเล็กน้อย
    2. บอกเด็กยกขาออกจาขากางเกง 1 ข้าง และเพื่อช่วยในการทรงตัวของเด็กให้เด็กใช้มือข้างเดียวกับขากางเกงที่จะถอดออกยันข้างฝา หรือเกาะโต๊ะไว้
    3. บอกให้เด็กปล่อยมือที่จับขากางเกงออก แล้วยกขาอีกข้างออกจากขากางเกงในการสอนถอดเสื้อ และกางเกง เด็กบางคนทำบางขั้นตอนได้เองแล้วให้เด็กทำขั้นตอนนั้นเอง ขั้นตอนใดที่ยังทำไม่ได้บอกให้เด็กทำ ถ้าไม่เข้าใจให้จับมือทำ และลดการช่วยเหลือลงจนทำได้เอง
 4 ปี  เดินขึ้นลงบันได โดยก้าวสลับเท้า และไม่จับราวบันได  1. ให้เด็กถือของเล่นทั้งสองมือแล้วเดินขึ้นบันได หรือให้เด็กเดินกลางบันไดห่างจากราวจับ ผู้สอนเดินตามไปด้านหลังเพื่อคอยช่วยถ้าเด็กเสียการทรงตัว ถ้ายังสลับเท้าขึ้นบันไดไม่ได้ ช่วยจับขาข้างหนึ่งไว้ในขณะที่ขาอีกข้างกำลังก้าวขึ้นบันได ลดการช่วยเหลือลงจนทำได้เอง2. ตอนลงบันไดผู้สอนอาจจะต้องช่วยจับที่ไหล่ของเด็กไว้ ในขณะที่เด็กก้าวขาลงมาให้พักเท้าทั้งสองข้างในแต่ละขั้นเสียก่อน แล้วจึงให้เด็กเดินสลับเท้าลงมาเอง
 กระดิกนิ้วโป้งโดยที่นิ้วอื่นไม่กระดิกตาม  ทำตัวอย่างให้เด็กดู และช่วยเหลือเด็กโดยจับนิ้วอื่นกำไว้ ยกเว้นนิ้วโป้งแล้วลดการช่วยเหลือลง
 เลือกขนาดใหญ่-เล็กได้  1. ใช้วัตถุ 2 ชิ้น ชนิดเดียวกันที่มีขนาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น รถคันใหญ่-เล็ก ช้อนคันใหญ่-เล็ก ตุ๊กตาใหญ่-เล็ก เป็นต้น
 2. บอกเด็กว่า “ชิ้นนี้ใหญ่” “ชิ้นนี้เล็ก” แล้วให้เด็กเลือกที่ละขนาด ใหญ่ หรือเล็กก่อนก็ได้ เมื่อเด็กเลือกได้ถูก จึงสอนอีกขนาด
 3. หัดเลือกโดยใช้รูปภาพ (เช่น วัตถุในบ้าน สัตว์ หรือคน) ช่วยเหลือเด็กเลือกให้ถูกต้องในระยะแรก
 บอกชื่อจริง และเพศ  1. สอนให้เด็กรู้ถึงความแตกต่างของเพศชาย และหญิง โดยดูจากการแต่งตัว ทรงผม และบอกให้เด็กรู้ว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ต่อมาถามเด็กถ้าเป็นผู้หญิงว่า “หนูเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย” และให้เด็กตอบ ถ้าเด็กเป็นผู้ชายให้ถามว่า “หนูเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง”
 2. บอกชื่อจริงของเด็ก แล้วให้เด็กพูดตาม จากนั้นให้ถามเด็ก “หนูชื่อจริงว่าอะไร” ควรถามเด็กอยู่เสมอเพื่อให้เด็กมีโอกาสฝึกหัดบ่อย ๆ
 ปัสสาวะถูกที่ได้เอง  บอกให้เด็กไปห้องส้วม เมื่อต้องการจะถ่ายทุกครั้ง ระยะแรกไปเป็นเพื่อนต่อไปให้ไปเอง
 5 ปี  ยืนขาเดียวได้นาน 4 วินาที ทั้ง 2 ข้าง  ผู้สอนจับมือเด็ก 1 ข้าง แล้วบอกให้เด็กยกขาข้างหนึ่งขึ้น เมื่อเด็กพอทรงตัวได้ ปล่อยมือให้เด็กยืนด้วยขาข้างเดียวด้วยตนเอง ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการยืนบนขาข้างเดียว ทำเช่นเดียวกันกับขาอีกข้าง
 ลอกรูปวงกลม  ให้เด็กดูรูปวงกลม ผู้สอนจับนิ้วเด็กลากตามรูปวงกลม และพูดว่า “วงกลม” ส่งสีเทียนให้เด็ก และบอกเด็กว่า “วาดให้เหมือนรูปนี้” ถ้าเด็กทำไม่ได้จับมือทำ และลดความช่วยเหลือจนเด็กทำได้เองเมื่อให้ดูรูปวงกลม
 ทำตามคำสั่งที่เกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่  1. สอนให้เด็กเข้าใจตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ เช่น บน ใต้ หน้า หลัง ข้าง
 2. วิธีสอนที่สนุกคือ เล่นเกมกับเด็ก โดยบอกให้เด็กนั่ง/ยืน ตามตำแหน่งที่สั่งในการเล่นเป็นกลุ่ม หรือถามเกี่ยวกับตำแหน่งในหนังสือรูปภาพ เวลาเล่านิทาน เช่น “ใครยืนอยู่ข้างหน้าเก้าอี้” เป็นต้น
 3. ใช้สถานการณ์ในชีวิตประจำวันสอนเด็ก เช่น เอาหนังสือไปวาง บน โต๊ะ เอารองเท้าไปไว้ ใน ใต้ ตู้
 เล่าเรื่องาน ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ทั้งหมด  1. หลังจากที่เด็กออกไปเล่น เมื่อกลับเข้ามาให้ถามเด็กว่า “เล่นอะไรบ้างที่สนาม”
 2. ทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้านด้วยกัน เมื่อกลับถึงบ้านให้ถามเด็กว่าพบเห็นเหตุการณ์อะไรบ้าง
 3. เล่าเรื่องจากภาพให้เด็กฟัง แล้วให้เด็กเล่าให้ฟังบ้าง ต่อไปให้เด็กเล่าเรื่องจากภาพเองโดยไม่ต้องเล่า
 4. ให้เด็กฟังก่อน อาจกระตุ้นโดยพูดว่า “แล้วมีอะไรอีก” แล้วช่วยให้เด็กเล่าจนจบ
 เล่นบทบาทสมมติ  ชักชวนเด็กเล่น เช่น ขายของ ครูนักเรียน ตำรวจผู้ร้าย โดยถามเด็กว่าอยากเล่นเป็นใคร ช่วยบอกเด็กว่าควรพูดอะไรบ้างในบทบาทนั้น
 6 ปี  เดินไปข้างหน้าโดยเอาส้นเท้าต่อปลายเท้า  1. วาดรอยเท้าขนาดเท่าเท้าเด็กต่อ ๆ กันบนพื้น แล้วให้เด็กเดินตามรอยเท้า
 2. ขีดเส้นตรง หรือใช้เทปคาดบนพื้น เดินให้เด็กดู และช่วยจับมือเด็กไว้ 1 ข้าง ขณะให้เด็กเดิน เมื่อเดินทรงตัวได้ดีแล้วปล่อยมือให้เด็กเดินเอง ถ้านิ้วหัวแม่มือเท้าเด็กห่างจากส้นเท้าเกิน 1 นิ้ว เตือนเด็กเดินให้ส้นเท้าต่อนิ้วเท้า
 เลือกวัตถุที่มีขนาดยาวกว่าได้  อุปกรณ์การสอนอาจใช้ริบบิ้น แท่งไม้ ถุงเท้า ฯลฯ และเพื่อให้เด็กสนุกผู้สอนอาจเอากล่องมาเจาะรูที่ก้นหลาย ๆ รู แล้วนำริบบิ้นที่มีขนาดสั้น - ยาว ต่างกัน ๆ กัน ผูกปมที่ปลายริบบิ้นด้านหนึ่ง แล้วสอบปลายอีกด้านหนึ่งเข้ามาในรูทางก้นกล่อง ผูกปมปลายริบบิ้นที่เหลือ ทำเช่นนี้กับริบบิ้นแต่ละเส้นในแต่ละรูเสร็จแล้วปิดฝากล่อง สอนให้เด็กเปรียบเทียบขนาดยาวกว่า จากการดึงริบบิ้นจากก้นกล่อง โดยระยะแรกให้ใช้ความสั้น-ยาว ที่แตกต่างกันมากจนเห็นได้ชัดในการสอนเด็ก เมื่อเด็กเข้าใจแล้วจึงใช้ความสั้นยาวที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น
 รู้จักซ้าย-ขวา  สอนให้เด็กรู้จักมือซ้าย-ขวาที่ละมือ สอนหน้ากระจก ผู้สอนยกมือข้างหนึ่งข้างใดขึ้น และบอกเด็กว่ามืออะไร ให้เด็กทำตาม หลังจากนั้นให้เด็กทำเองตามคำสั่ง โดยไม่ต้องทำตัวอย่างให้ดู ฝึกบ่อย ๆ จนเด็กจำได้ จึงสอนให้รู้จักมืออีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน ทบทวนการยกมือ หรือหันซ้าย-ขวา บ่อย ๆ จนเด็กจำได้แม่นยำ
 บอกได้ทั้งชื่อจริง – นามสกุลและที่อยู่ง่าย ๆ  การสอนชื่อจริง และนามสกุล
 1. ให้สมาชิกในครอบครัวสอนชื่อจริง และนามสกุลเด็กทุกวัน โดยให้เด็กพูดตาม แล้วลดการช่วยเหลือลงจนเด็กพูดบอกได้เอง
 2. ถ้าเด็กไปโรงเรียนให้เด็กบอกชื่อจริง และนามสกุลตัวเองทุกเช้าก่อนเริ่มกิจกรรม และทุกเย็นเมื่อจะกลับบ้านการสอนที่อยู่
   2.1. บอกที่อยู่ให้เด็กรู้ เช่น บ้านเลขที่ ถนน อำเภอ จังหวัด
   2.2. ให้เด็กพูดตาม
   2.3. ถามให้เด็กตอบ และช่วยเหลือ เช่น พูดคำหน้า
   2.4. ทบทวนถามทุกวัน จนกว่าเด็กจะตอบได้คล่อง
 รู้จักไหว้ หรือพูดขอบคุณเมื่อให้ของ  1. สอนให้เด็กไหว้ และพูดขอบคุณเมื่อผู้ใหญ่ให้ของ
 2. เตือนทุกครั้งที่เด็กลืมทำ

Preset Colors