02 149 5555 ถึง 60

 

ใช้น้ำชา...แทนยาฆ่าเชื้อ(กลั้วคอ พ่นจมูกลดโอกาสการติดเชื้อ)เมื่อวัคซีนโควิด-19 ไม่สร้างภูมิคุ้มกันโรคเท่าที่ควร (ตอนจบ)

ใช้น้ำชา...แทนยาฆ่าเชื้อ(กลั้วคอ พ่นจมูกลดโอกาสการติดเชื้อ)เมื่อวัคซีนโควิด-19 ไม่สร้างภูมิคุ้มกันโรคเท่าที่ควร (ตอนจบ)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

จากตอนที่แล้ว (นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับ 515 เดือนมีนาคม 2565) ได้กล่าวถึง การกลั้วคอและการพ่นจมูกว่ามีส่วนช่วยในการลดโอกาสติดเชื้อจากโควิด-19 ซึ่งน้ำยาที่ใช้ก็จะมีน้ำเปล่า และน้ำยาทางการแพทย์

ซึ่งนอกจากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทางการแพทย์ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลก “น้ำชา” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

“น้ำชา” ใช้แทนน้ำยากลั้วคอ/น้ำยาฆ่าเชื้อได้หรือไม่

จากการศึกษาน้ำยากลั้วคอ/พ่นจมูกในหลอดทดลองโดยการเพาะเชื้อกับเชื้อโควิด-19 พบว่า น้ำยา iota carrageenan 60 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อร้อยละ 99.99 (iota-carrageenan and xylitol inhibit SARS-CoV-2 in Vero cell culture. Bansal S. PLOSOne 2021; 16: e0259943.)

ส่วนการใช้น้ำยา povidone iodine 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เป็นเวลา 1 นาที มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 99 เมื่อเทียบกับน้ำชาและพบว่าชาดำและชาเขียว (คั่ว-Roasted green tea) มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโควิด-19 ได้สูงกว่าชาอูหลง/ชาผูเอ่อ คือ มีประสิทธิภาพในหลอดทดลองร้อยละ 99.99 ในเวลา 1 นาที [Ohgitani E. Significant Inactivation of SARS-CoV-2 in Vitro by a Green Tea Catechin, a Catechin-Derivative, and Black Tea Gal-loylated Theaflavins. Molecules. 2021 Jun 11;26(12):3572.]

นอกจากนี้ ชาดำ (ยี่ห้อ Daily Club®) 2.2 กรัม ในน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส 140 ซีซี เป็นเวลา 1.5 นาที แล้วผสมน้ำสะอาดอีกเท่าตัว ไปเพาะเชื้อกับเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 30 วินาที ก็มีประสิทธิภาพทำลายเชื้อฯ ได้ร้อยละ 99.99 เช่นกัน [Ishimoto K. Tea crude extracts effectively inactivate severe acute respiratory syndrome coronavirus 2. Lett Appl Microbiol. 2022 Jan;74(1):2-7]

สรุปว่า น้ำชาโดยเฉพาะชาดำ มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลองไม่ด้วยไปกว่าน้ำยากลั้วคอ พ่นจมูก ที่ใช้ในการศึกษากับผู้ป่วยโควิด-19 คือ ประสิทธิภาพร้อยละ 99.99 ในเวลา 30 วินาที อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาการใช้น้ำชาดำพ่นจมูกในผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19

สารสกัดในน้ำชาที่มีผลต่อเชื้อโควิด-19

ในชาเขียว สารที่สำคัญ คือ Epigallocatechin gallte (EGCG)

ส่วนในชาดำ คือ Theaflavins ซึ่งสารโพลีฟีนอล เหล่านี้ในชาเขียวและชาดำออกฤทธิ์จับกับเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าและยับยั้งได้ดีกว่ายาด้านไวรัสเรมดีซีเวียร์และยาต้านมาเลเรียคลอโรควีน และทำลายเอนไซม์หลายตัวของเชื้อโควิด-19 [Mhatre S. Phytomed. 2021; 85:153286, Wang YQ. Molecules. 2021 Jun 29;26(13):3962.]

ปัญหาการใช้แอลกอฮอล์ในยุคโควิด-19

เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) 70-80% ได้ถูกใช้ในการล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์สัมผัสร่วม ในรูปของแอลกอฮอล์น้ำหรือเจล มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโควิด-19 ในเวลา 30 วินาที ร้อยละ 99.99 จึงได้ถูกใช้อย่าสงมากมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ปัญหาที่เกิดตามมาจากการใช้แอลกอฮอล์ดังกล่าวจำนวนมากเป็นเวลานานๆ นอกจากทำให้ผิวหนังแห้ง หยาบ ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดจากไฟไหม้จากแอลกอฮอล์

การศึกษาในประเทศอิหร่าน พบอุบัติเหตุดังกล่าว 76 รายใน 2 เดือน (ก.พ. ถึง เม.ย.2563) 16 รายต้องนอนโรงพยาบาล 12 รายเป็นไฟไหม้รุนแรงระดับ 3 (Dahmardehei M. An unprecedented increase in bum injuries due to alcohol-based hand sanitizers during the COVID-19 outbreak. Med J Islam Repub lran. 2021 Aug 23;35:107)

มีรายงานอันตรายต่อดวงตา 27 ดวงตา จากสารเคมีในช่วงโควิด-19 ระบาดในประเทศตุรกี โดยเกิดจากแอลกอฮอล์ล้างมือ 6 ดวงตา (Akbas E. Shifting trends in demographic features of chemical eye injuries during COVID-19 pandemic. Int Ophthalmol. 2022 Jun 10:1-6)

นอกจากนี้ การใช้แอลกอฮอล์จำนวนมากเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด เพิ่มโอกาสการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าทางผิวหนัง อาจเกิดผิวหนังอักเสบ (contact dermatitis or atopic dermatitis) ทางปาก ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร เป็นเหตุให้เกิดผลระยะยาวของแอลกอฮอล์ต่ออวัยวะภายใน เช่น โรคปอดเรื้อรัง ตับอักเสบ [Basak, D. Sensitivity of SARS-CoV-2 towards Alcohols: Potential for Alcohol-Related Toxicity in Humans. Life 2021;11:1334.]

พกน้ำชา น่าจะปลอดภัยกว่า และได้ประโยชน์กว่า พกแอลกอฮอล์

ดังนั้นการใช้น้ำชาดำสำหรับอม/กลั้วคอ/หรือพ่นจมูกเพื่อลดการติดเชื้อ การแพร่เชื้อโควิด-19 และดื่มชาเขียวเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ [Abe SK. Green tea consumption and mortality in population-based cohort studies in Japan. Eur J Epidemiol. 2019 Oct;34(10):917-926.] ในการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยๆ ในแต่ละวัน น่าจะเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์มากกว่าและปลอดภัยกว่าในระยะยาว โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันโรคผิดปกติ

ซึ่งมาตรการที่พอเป็นทางปฏิบัติ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ ป่วยหนัก และตายจากโควิด-19 แม้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนในปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ไม่เกิดโทษ ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรค ก็ควรพึ่งตนเองในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน

วิธีการดื่มน้ำชาเขียว อม กลั้ว พ่น ชาดำ

ถ้าเลือกได้ ควร :

 เลือกใบชาเขียวหรือใบชาดำที่ปลอดสารพิษ สารเคมีปนเปื้อน โดยสังเกตเครื่องหมาย Organic Thailand บนผลิตภัณฑ์

 ชงชาเขียวหรือชาดำตามกรรมวิธีที่ระบุไว้ในผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ให้ชงใบชา 2 กรัม หรือ 3 กรัม ด้วยน้ำเดือดหรือน้ำ 80 องศาเซลเซียส แช่ไว้ 1.5 หรือ 3 นาที เป็นต้น

สำหรับน้ำชาเขียวที่ชงแล้ว ก็ดื่มได้เลย วันละ 3-5 แก้ว ส่วนชาดำที่จะให้อม กลั้วคอ พ่นจมูก ชงแล้วต้องกรองด้วยผ้าขาวบาง หรือแผ่นกรองชา 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้มีเศษชาไปอุดตัน อุปกรณ์พ่นจมูก ทำให้พ่นไม่เป็นฟองหรือพ่นไม่ออก แล้วผสมด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำแร่ปริมาณเท่าตัว (เช่น น้ำชากรองแล้ว 200 ซีซี ผสมน้ำสะอาดอีก 200 ซีซี) เพื่อเจือจางน้ำชาดำที่ใช้ (ตามการศึกษา) บรรจุน้ำชาดำที่กรองแล้วในอุปกรณ์ (ขวด) พ่นจมูก

ลองพ่นละอองน้ำชาดำไปที่ฝ่ามือและหลังมือซ้ายด้วยมือขวา พ่นละอองน้ำชาดำฝ่ามือและหลังมือขวาด้วยมือซ้าย เพื่อทำความสะอาดมือทั้ง 2 ข้อง แล้วจึงเริ่มพ่นละอองน้ำชาดำเข้าในจมูกทีละข้างๆ ละ 1 ครั้ง

โดยทิศทางพ่นไปในแนวติ่งหู (พ่นไปบริเวณ nasopharynx ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก) พ่นจมูก 2 ข้างแล้ว ก็อมน้ำชาดำแล้วกลั้วคอ และกลืน (หรือบ้วนทิ้ง) อย่างน้อย 3 ครั้ง ในเวลา 1 นาที แล้วสั่งน้ำมูก บ้วนน้ำลาย คายเสมหะ (ถ้ามี) แล้วจึงพ่นจมูก 2 ข้างๆ ละ 1 ครั้ง

 ควรจำทำการอม/กลั้ว/พ่นชาดำทุกครั้งก่อนที่จะถอดแมสก์ (หน้ากากอนามัย) เพื่อกินอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน และหลังตื่นนอนเช้า เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อโรคและทำลายเชื้อโรค ที่ได้รับจากผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวในระหว่างกินอาหารและขณะนอนหลับและกันไม่ให้เชื้อโรคในตัวเราแพร่ไปให้ผู้อานช่วยเวลาที่ถอดแมสก์อีกด้วย

นอกจากนี้ การดื่ม/อม/กลั้ว/พ่นด้วยชาเขียวและชาดำ ยังสามารถทำได้สำหรับลูกๆ หลานๆ ที่ทำงานนอกบ้าน (มีโอกาสติดเชื้อโควิ-19 โดยไม่รู้ตัว) ก่อนที่จะเข้าบ้าน ถอดแมสก์ ก่อนกินอาหารและหลังอาหารร่วมกัน หรือสนทนากันหลังอาหาร เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อกันในครอบครัว โดยเฉพาะจากลูกหลานไปสู่ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุและอาจมีโรคประจำตัวที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่า

ดื่ม อม กลั้ว พ่น พ้นภัยโรคร้าย ด้วย “น้ำชาฆ่าเชื้อฯ”

.หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 516 เดือนเมษายน 2565

10 May 2565

By STY/Library

Views, 3732

 

Preset Colors