02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองแพทย์แผนจีนต่ออาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนจบ)

TRADITIONAL CHINESE MEDICINE & LONG COVID SYNDROME IN LUNG

มุมมองแพทย์แผนจีนต่ออาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนจบ)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

THE IMPORTANCE OF BALANCING

ความสำคัญของการปรับสมดุลร่างกายผู้ป่วยโควิด

ในสายตาของคนในยุคปัจจุบันอาจมองว่าการปรับสมดุลร่างกายเป็นการอธิบายเชิงนามธรรม แต่ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจได้ชี้ว่า แนวคิดนี้จะช่วยลดความรุนแรงของโควิดและป้องกันการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ ดังนี้

“เมื่อเราดูแลให้ร่างกายคนไข้ปรับเข้าสู่สมดุล ขับพิษ ขับความร้อน และลดการอุดกั้นได้ เลือดก็จะไหลเวียนดี ลดปัญหาการเกิดอาการ Long COVID และทำให้โอกาสที่ระบบภูมิคุ้มกันจะฟื้นตัวมาต่อสู้กับเชื้อโรคเพิ่มขึ้นได้

“ในกระบวนการติดเชื้อโควิด จุดสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสียหายรุนแรงคือการเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ขณะที่ในทางการแพทย์แผนจีนจะใช้ หงจิ่งเทียน หรือ Rhodiola rosea มีคุณสมบัติช่วยให้ปอดจับออกซิเจนได้ดีขึ้นและช่วยบำรุงร่างกายไปพร้อมๆ กัน

“พืชชนิดนี้พบในเขตเทือกเขาสูงที่ทิเบต โดยชาวทิเบตนำมาใช้แก้อาการที่เกิดจากการป่วยบนที่สูง (High Altitude Sickness) เนื่องจากร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนต่ำ อีกทั้งใช้เป็นยาบำรุง ช่วยเพิ่มพลัง และป้องกันโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีประวัติการใช้ในตำรับยาจีนตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซี (ค.ศ.1654-1722) และจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1735-1799) แห่งราชวงศ์ชิง”

กรณีของผู้ป่วยโควิดนั้น หากเข้าสู่จุดที่เกิดการอักเสบทั่วร่างกายแล้ว โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและสร้างความเสียหายรุนแรงที่ปอดจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจระบุถึงสาเหตุไว้ ดังนี้

“ปัจจุบันส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายของเขามีการตอบสนองที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป มีความร้อนมาก ตรงข้ามกับกลุ่มที่ร่างกายมีความพร่อง เวลาเชื้อโรคเข้ามา ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองช้า เชื้อจึงสร้างความเสียหายได้ ซึ่งทำให้คนไข้ทั้ง 2 กลุ่มนี้เกิดอาการ Long COVID ได้ไม่แพ้กัน”

HERB FOR COVID PREVENTION แนวทางการใช้สมุนไพรป้องกันโควิด ลดเสี่ยงติดเชื้อ

ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจขอฝากถึงแนวทางการใช้สมุนไพรเพื่อช่วยป้องกันโควิด ลดเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง โดยอธิบายตามมุมมองแพทย์แผนจีน ดังนี้

ในขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบันมองว่าสมุนไพรชนิดนี้ๆ มีสาระสำคัญอะไรบ้าง จะช่วยบรรเทาอาการต่อไปได้อย่างไร แต่การแพทย์แผนจีนมีข้อสังเกตว่าเราจะเลือกสมุนไพรสมุนไพรตามความเหมาะสมของร่างกายประเภทต่างๆ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 2 กลุ่ม

“กลุ่มที่ 1 คนที่มีภาวะหยินพร่อง ร่างกายร้อนชื้น ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคเร็ว มีโอกาสเสี่ยงเกิดการอักเสบได้ง่าย ลิ้นจะมีสีแดง เกิดความร้อนสะสมมาก เสมหะสีเหลืองเหนียว ฝ้าบนลิ้นเหลือง มีความร้อนสะสมในร่างกายมาก ร่างกายจึงแห้งและเกิดไฟมาก มีของเสียตกค้างในร่างกาย มีไขมันในเลือด เบาหวาน กลุ่มนี้เวลาฉีดวัคซีนโควิด โอกาสเลือดคั่งจึงมีมากกว่าคนทั่วไป

“คนกลุ่มนี้ถ้าอยากกินสมุนไพรเชิงป้องกัน ขอแนะนำให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีฤทธิ์เย็น จะเหมาะกว่าการกินขิงหรือกระชายขาวที่มีฤทธิ์ร้อน

“กลุ่มที่ 2 คนที่หยางพร่องหรือพลังพร่อง คนกลุ่มนี้มีพลังอ่อนแอ เหนื่อยงาน เดินนิดหน่อยก็เหนื่อย ระบบย่อยมีปัญหา หน้าขาวซีด ชีพจรอ่อน ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา พูดเสียงเบา ขี้หนาว ตัวบวมๆ เนื้อนิ่มๆ ง่วงนอน ฮอร์โมนเกี่ยวกับการกระตุ้นน้อย คล้ายๆ พวกไฮโปไทรอยด์ เมื่อเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองช้า โอกาสที่จะเกิดอาการ Long COVID จึงมีได้เช่นกัน

“ดังนั้นถ้ากลุ่มนี้กินฟ้าทะลายโจรเพื่อหวังผลเชิงป้องกันก็จะไม่เหมาะ เพราะร่างกายเขาเย็นอยู่แล้ว ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกาย คราวนี้กินเข้าไปก็จะส่งผลกับระบบย่อย ทำให้ท้องอืดรู้สึกหนาว และรู้สึกปวดกระดูก ไม่มีเรี่ยวแรง โอกาสติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นถ้าอยากกินสมุนไพรเชิงป้องกัน แนะนำให้กินขิงหรือกระชายขาวซึ่งมีฤทธิ์ร้อนจะเหมาะกว่า

“จะเห็นได้ว่าการแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญเรื่องการรักษารายบุคคลครับ”

CHINESE MEDICINE UPDATE อัพเดตการใช้ยาจีน ลดการอักเสบรุนแรงลดเสี่ยง Long COVID

แพทย์จีนวรชัย คงแสงชัย สถาบันการแพทย์ไทยจีน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า โควิดในมุมมองแพทย์แผนจีนเป็นโรคกลุ่มพิษชื้นซึ่งอยู่ในกลุ่มพิษร้อน ทำให้เกิดความชื้น ร้อน พร่อง และเลือดคั่ง

แนวทางการรักษาต้องไล่ความชื้น ขับพิษ และขับสิ่งสกปรกจากร่างกาย แบ่งการรักษาดังนี้

⧫ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้เหลียวฮวาชิงเวินแคปซูล ยาจินฮวาชิงก่านเคอลี่ ลดไข้และเพิ่มเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil และ Lymphocyte ช่วยลดความรุนแรงของโรค หยุดการพัฒนาความรุนแรงของโรค

⧫ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ใช้ยาฉีดเชิงม่าย เพื่อควบคุมระดับออกซิเจนในกระแสเลือดให้คงที่ ร่วมกับการใช้ยาฉีดเสวี่ยปี้จิ้ง เพื่อควบคุมกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบ ในกรณีที่ต้องการต้านการอักเสบ สามารถใช้ยาฉีดเร่อตู๋หนังและยาฉีดถานเร่อชิง โดยให้ร่วมกับยาปฏิชีวนะตามหลักการแพทย์ผสมผสาน

ทั้งนี้แพทย์จีนวรชัยอธิบายว่า ในกรณีที่อาการของโรคไม่รุนแรง การใช้ยาตำรับร่วมกับการฝังเข็มให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ กรณีที่อาการรุนแรง การนำยาจีนมาใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาแบบผสมผสานก็ให้ผลดีเช่นกัน ส่วนการฟื้นฟูร่างกายหลังป่วย นิยมใช้ยาจีนร่วมกับการฝังเข็ม รมยา การแปะจุดสะท้อนที่หู

สุดท้ายให้เสริมการออกกำลังกายและการหายใจเพิ่มสมรรถภาพปอดไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เร็วขึ้น

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

22 April 2565

By STY/Library

Views, 1181

 

Preset Colors