02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองแพทย์แผนจีนต่ออาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนที่ 1)

TRADITIONAL CHINESE MEDICINE & LONG COVID SYNDROME IN LUNG

มุมมองแพทย์แผนจีนต่ออาการ LONG COVID ที่ปอด (ตอนที่ 1)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

อีกมิติของการรับมือ รักษา และฟื้นฟูอาการ Long COVID ที่ปอดซึ่งน่าสนใจคือมุมมองจากแพทย์แผนจีน ปักษ์นี้ ชีวจิต ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจ วัณนาวิบูล สามหลวงสหคลินิก มาอธิบายถึงแนวทางแบบแพทย์แผนจีนที่น่าสนใจ ติดตามรายละเอียดได้เลยค่ะ

DAMAGE FROM COVIDความเสียหายจากโควิดในมุมมองแพทย์แผนจีน

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองกลไกการต้อสู้โรคโควิดว่าจะส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นชั้นๆ ซึ่งศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจอธิบายไว้ดังนี้

“โรคโควิดในทางแพทย์แผนจีนเรียกว่าอี้ปิ้ง เป็นโรคที่มีการติดเชื้อที่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่มีการติดเชื้อรุนแรงและรวดเร็ว มีการแปรผันตามฤดูกาล ซึ่งลักษณะโรคดังกล่าวเกิดขึ้นในประวิติศาสตร์เป็นระยะๆ อยู่แล้ว มีการศึกษาเรื่องนี้มานาน

“ขณะที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่แยกความแตกต่างของเชื้อจากสายพันธุ์ต่างๆ ส่วนในทางแพทย์แผนจีนจะมองว่าเชื้อโรคแปรผันตามสภาพอากาศ เช่น เชื้อที่พบที่อู่ฮั่นเป็นเชื้อในสภาวะอากาศหนาวเย็น ลักษณะของโรคที่ถ่ายทอดออกมาจึงเป็นพิษเย็นชื้น ส่วนเชื้อเดลต้าเป็นเชื้อที่อยู่ในสภาวะอากาศร้อนชื้น

“เชื้อเหล่านี้นับเป็นสิ่งก่อโรคจากภายนอก แพทย์จีนเรียกว่าเสียชี่ ถ้าเชื้อเข้าสู่ร่างกายเรียกว่าระดับเว่ย ทำให้เริ่มมีไข้ถัดไปเป็นระดับที่เข้าถึงระบบเลือดข้างใน

“เมื่อพิษเข้าสู่ร่างกาย จากเดิมที่เป็นพิษเย็นชื้นก็เปลี่ยนเป็นพิษร้อนชื้นได้ ทำให้เกิดพิษ ความร้อน ความชื้น และการอุดกั้นในร่างกาย เพราะเมื่อร่างกายต่อสู้กับเชื้อก็จะมีความร้อน เป็นไข้ เมื่อเกิดการอักเสบจะเกิดความแห้งในร่างกาย ทำให้เกิดความพร่อง เพราะร่างกายสูญเสียพลัง ขาดธาตุน้ำ ทำให้ชี่กับหยางพร่อง”

เมื่อเราเข้าใจว่าโควิดส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย จึงจะนำไปสู่การรับมือที่เหมาะสมได้ โดยศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจอธิบายไว้ดังนี้

“ข้อที่ 1 ต้องป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ในปัจจุบันเราจึงใช้หลักสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด เช่น สวมมาสก์ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด

“ข้อที่ 2 เสริมสร้างภูมิคุ้มกันหรือเจ้งชี่ให้สมบูรณ์ ถ้าเราทำข้อนี้ให้ดี โอกาสที่จะเจ็บป่วยก็จะลดลง หรือถ้ารับเชื้อเข้ามา ร่างกายก็จะต่อสู้กับเชื้อและฟื้นฟูได้รวดเร็ว ในทางแพทย์แผนจีนแบ่งร่างกายคนเราเป็น 9 ประเภทหรือมีคน 9 กลุ่ม แนวทางการปรับสมดุลและดูแลสุขภาพก็จะแตกต่างกันไปด้วย

“จุกบกพร่องในร่างกายที่แบ่งคนเป็น 9 กลุ่มจะนำมาสู่การอธิบายว่า แม้จะรับเชื้อชนิดเดียวกัน แต่ทำไมคนเราจึงมีอาการแตกต่างกัน กรณีที่ลักษณะของเชื้อตรงกับลักษณะของร่างกาย จะทำให้มีอาการรุนแรง เช่น คนที่ร่างกายเดิมมีความร้อนและความชื้นมากอยู่แล้ว ถ้าไปรับเชื้อที่มีความร้อนและความชื้นเข้าสู้ร่างกายอีก อาการเขาจะหนัก

“ข้อที่ 3 การใช้ยา ตำรับแรกนำมาใช้ทั้งกรณีป้องกัน ปรับสมดุลให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรค และนำมาใช้ในการรักษากรณีที่เกิดโรคแล้วจะใช้ยาอีกตำรับที่มีจุดมุ่งหมายในการรักษา ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปรับสมดุลให้ร่างกายฟื้นฟูตัวได้ดีขึ้นนั่นเอง”

THE NATURAL BARRIER ปราการธรรมชาติ กลไกสำคัญป้องกันโควิดลงปอด

ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจระบุว่า ทางเดินหายใจเป็นช่องทางที่เชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าเราดูแลให้ดี ย่อมจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อที่ปอดได้

“ในกรณีของผิวหนังซึ่งเป็นสิ่งที่ปกป้องร่างกาย ไม่ให้เชื้อโรครุกล้ำเข้ามาได้ง่ายๆ ร่างกายจะหลั่งกรดแล็กติกและกรดไขมันออกมา ช่วยทำให้ผิวหนังมีสภาพความเป็นกรด-ด่างและความชุ่มชื้นที่เหมาะสม ทำให้ผิวหนังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค

“กรณีของระบบทางเดินหายใจ ถ้าเรามีสุขภาพดี ตลอดเส้นทางตั้งแต่เยื่อบุโพรงจมูก ช่องลม หลอดลม ไปจนถึงปอดจะมีเนื้อเยื่อ และร่างกายจะหลั่งสารที่ให้ความชุ่มชื้นมีเยื่อเมือกช่วยดักจับเชื้อโรค ป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านั้นเข้าสู่อวัยวะสำคัญ เช่น ปอดและหัวใจได้

“ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายอ่อนแอ ทำให้ความชุ่มชื้นตลอดทางเดินหายใจลดลงเยื่อเมือกต่างๆ ก็ลดลง ทำให้การดักจับเชื้อโรคไม่ดีและเกิดการฉีกขาดของเยื่อบุต่างๆ ได้ง่าย แบบนี้เชื้อโรคก็จะเข้าไปทำลายได้อีก หรือถ้าเกิดความชุ่มชื้นมากเกินไป เยื่อเมือกก็จะเหนียวไม่พอ ประสิทธิภาพในการดักจับเชื้อโรคก็จะลดลง ดังนั้นจุดสมดุลคือจุดที่ร่างกายมีความชุ่มชื้นพอเหมาะ จึงจะป้องกันเชื้อโรคเข้าโจมตีอวัยวะสำคัญได้”

นอกจากกลไกดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจยังให้ความสำคัญกับเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage โดยชี้แจงว่า

“ถ้าเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่ถ้าเรามีทหารเก่งๆ คอยลาดตะเวนและจับเชื้อโรคมาทำลายได้ทัน โอกาสที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงก็จะลดลง ทหารในการยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังกล่าวคือเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage มีหน้าที่จับกินและย่อยสลายสิ่งใดๆ ที่ไม่มีโปรตีนผิวซึ่งระบุว่าเป็นเซลล์ร่างกายปกติ เช่น เซลล์มะเร็ง จุลชีพ ชิ้นส่วนของเซลล์ สิ่งแปลกปลอมต่างๆ

“ทางแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก เราจึงมีตำรับยาจีนในเชิงป้องกัน มุ่งไปที่ปรับสมดุลให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ รวมทั้งบำรุงให้เม็ดเลือดขาวชนิดนี้สมบูรณ์และทำงานได้ดีตามกลไกปกติ”

HOW TO FIGHT COVID เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แพทย์แผนจีนจะรับมืออย่างไร

ต่อมาเป็นกรณีที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจอธิบายถึงแนวทางการต้อสู้กับเชื้อโควิดในสไตล์แพทย์แผนจีนไว้ดังนี้

“แม้เชื้อโควิดที่เข้าสู่ร่างกายจะเป็นเชื้อเดียวกัน แต่อาการที่เกิดขึ้นในคนไข้แต่ละรายไม่เหมือนกัน เราจึงต้องดูแลแตกต่างกัน โดยดูที่ปัจจัยพื้นฐานคือสภาพร่างกายของคนไข้เป็นหลัก ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีนแบ่งเป็น 9 กลุ่ม

“จากการแบ่งคนไข้โควิดตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข กรณีคนไข้กลุ่มสีเขียวซึ่งมีอาการไม่มาก แบบนี้แพทย์แผนจีนจะให้ยาไปปรับสมดุลร่างกาย แต่ถ้ากลุ่มสีเหลืองและสีแดง เราก็ต้องมาดูที่รายละเอียดของอาการแล้วจ่ายยาเพื่อแก้ไข ซึ่งจะแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

“หัวใจของการดูแลคนไข้แบบแพทย์แผนจีนจะมุ่งเน้นว่าทำอย่างไรร่างกายคนไข้จะเข้าสู่สมดุล ขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบันมีเป้าหมายเรื่องฆ่าเชื้อไวรัส ขาดการดูแลให้ร่างกายเข้าสู้สมดุลระหว่างการรักษา เมื่อรักษาจนเชื้อโควิดหมดจากร่างกายไปแล้ว จึงเกิดความเสียหายที่หลงเหลืออยู่ กลายเป็นอาการ Long COVID นั้นเอง

“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในกลุ่มคนไข้สีเขียวหรือผู้ที่ติดเชื้อโควิดแต่มีอาการไม่รุนแรงจึงมีอาการ Long COVID ตามมาได้ และมีคนไข้กลุ่มใหญ่ที่ต้องตามการรักษาไปอีก ถ้าเป็นกรณีคนไข้สีเหลืองและสีแดง เมื่อรักษาจนเชื้อโควิดหมดไปแล้ว แต่ด้วยความที่มีการติดเชื้อรุนแรงขณะที่เป็น ร่องรอยของความเสียหายมีมากกว่า และส่งผลให้มีอาการ Long COVID ที่ต้องฟื้นฟูดูแลกันไปยาวนาน

“ที่ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลร่างกายคนไข้โควิดขณะรักษา มีการคิดยา 3 ชนิด 3 ตำรับ แบ่งเป็นยาสำเร็จรูปพร้อมกิน 3 ชนิดและยาต้ม 3 ตำรับ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่การรักษาคนไข้โควิดในบ้านเรายังขาดตรงนี้ไป กรณีคนไข้ระยะวิกฤติ ประเทศจีนก็มียาฉีดที่คิดค้นจากสมุนไพรเพื่อขับพิษความร้อนและการอุดกั้นด้วย ตรงนี้น่าสนใจมากๆ

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

(อ่านต่อตอนหน้า☺)

21 April 2565

By STY/Library

Views, 555

 

Preset Colors