02 149 5555 ถึง 60

 

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่จบ)

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ปอดและอาการ LONG COVID ที่ควรรู้ (ตอนที่จบ)

เรื่องพิเศษ เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจัทร

EXPERIENCE FROM THE EXPERT

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ประสบการณ์ดุแลคนไข้ Long COVID

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิ พุ่มพวง สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอธิบายว่า จากประสบการณ์ในดูแลคนไข้ Long COVID พบข้อมูล ดังนี้

“ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการ Long COVID อาจเป็นอาการเดิมในช่วงที่ป่วยหรืออาการใหม่ที่เพิ่งเกิดหลังจากหายป่วยแล้วก็ได้

“กรณีที่คนไข้มีอาการป่วยรุนแรง (Acute COVID) เช่น ต้องเข้าไอซียู โดยทั่วไปจะมีอาการ 3-4 สัปดาห์ ใครมีอาการหนักต้องอยู่โรงพยาบาลให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด ใช้เวลา 2 สัปดาห์ กรณีที่มีอาการน้อย 7-10 วันก็หาย

“คราวนี้มาดูที่เกณฑ์เรื่อง Long COVID บ้าง กรณีที่มีอาการหลัง 4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัด เพราะในระยะเวลาดังกล่าวเราจะตรวจไม่พบเชื้อโควิดในร่างกายแล้ว ถ้ามีอาการหลัง 4 สัปดาห์คืออาการ Long COVID ซึ่งพบได้ทั้งในคนที่ป่วยเป็นโควิดแบบอาการรุนแรงและอาการน้อยๆ

“ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลศิริราชพบว่าคนไข้ที่รักษาโควิดหายดีแล้วกลับมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย (Fatigue) มากที่สุด ร้อยละ 60-70 มักพบในกลุ่มคนไข้ที่เป็นโควิดแบบอาการน้อยๆ และกลุ่มคนไข้ที่เป็นโควิดแบบอาการรุนแรง รองลงมาคืออาการเหนื่อย (Dyspnea) หรืออาการหายใจลำบาก คิดเป็นร้อยละ 20-30 มักจะพบในกลุ่มคนไข้ที่เป็นโควิดแบบอาการรุนแรง เช่น คนที่เคยนอนไอซียู

“ถัดมาเป็นอาการผมร่วง อาการใจสั่น รู้สึกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้มีกลุ่มที่ระบุว่ามีอาการสมาธิสั้น ซึมเศร้า”

WHEN THE LUNG WAS ATTACKED

LUNG & LONG COVID SYNDROME

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปอดถูกโจมตี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิอธิบายถึงอาการที่เกิดขึ้นกับปอดในกลุ่มผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง ดังนี้

“ในคนไข้กลุ่มนี้เราพบว่าผ่านไป 3-4 สัปดาห์ ปอดจะเริ่มเป็นพังผืด เพราะเนื้อปอดอักเสบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เมื่อคนไข้กลุ่มนี้หายดีแล้ว แต่เพราะเนื้อปอดเสียหาย เขาจึงมีอาการหลงเหลืออยู่ บางคนกลับบ้านแล้วก็ต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน บางรายเวลานอนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“นอกจากนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดได้ง่ายขึ้น เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา

“ต้องชี้แจงว่ากลุ่มคนไข้โควิดที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย แม้จะยังไม่เข้าขั้นปอดอักเสบ แต่เนื้อปอดก็เสียหายได้ ทำให้แม้คนไข้จะรักษาโควิดหายแล้ว ก็จะกลับมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลียในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับก่อนป่วยเขาจะบอกว่าอ่อนเพลียง่ายขึ้นและรู้สึกไม่เหมือนเดิม

“คนไข้ที่เข้ามาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลียมักเป็นกลุ่มที่ตอนป่วยเป็นโควิดมีอาการไม่รุนแรง ดังนั้นพอเขาหายป่วยแล้วกลับไปทำงาน เดินไปไหนมาไหนได้ จึงเป็นโอกาสที่ได้สังเกตว่าตอนนี้รู้สึกอ่อนเพลียกว่าเดิม

“ขณะที่กลุ่มคนไข้ที่ป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการรุนแรง บางส่วนก็เสียชีวิตไป บางส่วนยังรอดชีวิต กลุ่มนี้หลังจากรักษาโควิดหายแล้วก็ต้องนอนพักฟื้นต่อ จึงไม่มีโอกาสทำกิจกรรมตามปกติทำให้ไม่มีการเปรียบเทียบว่าตอนนี้รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าก่อนป่วย”

EFFECT FROM COVID

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ผลกระทบจากโควิด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิอธิบายว่า โควิดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ

“ผลโดยตรงคือการที่ไวรัสเข้าไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกาย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากเกินไปจึงเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย สารกระตุ้นการอักเสบที่หลั่งออกมาก็ทำลายทั้งไวรัสและเซลล์ที่ดีของร่างกายไปด้วย ในกรณีของสายพันธุ์เดลต้า จุดเด่นคือโจมตีที่ปอด

“ต่อมาถ้าเป็นกรณีของคนไข้ที่มีอาการรุนแรง ต้องนอนในไอซียูนานๆ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อเสื่อมลง เพราะไม่ได้ลุกออกมาเดินเหมือนคนปกติ

“เรื่องทางใจก็สำคัญ คนที่ป่วยเป็นโควิดต้องถูกแยกจากครอบครัวและคนที่เขารัก ในรายที่มีอาการโควิดรุนแรงจะทำให้เกิดอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนที่ป่วยรุนแรง คนที่ประสบอุบัติเหตุ ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้เขายังติดอยู่กับภาพเดิมๆ เกิดความเครียดสะสมทางใจได้

“ภาวะเครียดทั้งกายและใจจากการป่วยโรคโควิดทำให้คนไข้มีอาการทางกายได้ หนึ่งในอาการที่เราพบได้บ่อยคือผมร่วง

“โดยเท่าที่พบจะร่วงหลังหายป่วย ร่วงแบบจริงจังจนเห็นว่าผมบาง แต่ถ้าคนไข้ค่อยฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ ออกกำลังกายเบาๆ หากิจกรรมสร้างสรรค์หรืองานอดิเรกทำ ก็จะช่วยให้สภาพจิตใจค่อยๆ ดีขึ้นได้

“อาการผมร่วงนี้พบในกลุ่มคนไข้โรคอื่นๆ ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น คนไข้ที่ต้องอยู่ไอซียูนานๆ และคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ”

NOTE FROM INFECTIOUS DISEASE EXPERT

ข้อสังเกตจากแพทย์โรคติดเชื้อ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิระบุว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโควิดมีการติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

“ตามปกติแล้วผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราชนิดนี้ส่วนใหญ่มักป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรังบางชนิดที่ทำให้เกิดโพรงอากาศในปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง วัณโรค

“เราพบว่าในคนไข้โควิดบางรายติดเชื้อราชนิดนี้ 2-3 สัปดาห์ หลังหายป่วยจากโควิดแล้ว แต่ยังต้องติดตามการรักษาต่อเนื่องเพราะติดเชื้อราชนิดนี้ ใช้เวลาอีก 3-6 เดือน

“อาจริงๆ การรักษาโควิดในมุมมองของแพทย์โรคติดเชื้อนั้นจบได้เร็วกว่าบรรดาเชื้ออื่นๆ ที่เข้ามาเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อน

“มีเคสคนไข้ชายอายุ 40 ปี เดิมทีก็เป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคอะไรนอกจากปัญหาน้ำหนักตัวมากถุง 100 กิโลกรัม เข้ามาหาเราก็มาพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด

“ด้วยความที่คนไข้น้ำหนักตัวมาก โอกาสที่จะเป็นโควิดแบบอาการรุนแรงจึงมากกว่าคนทั่วไป แพทย์จึงใช้ยาต้านไวรัสและยาสเตียรอยด์ในขนาดโดสสูงๆ เพื่อลดการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด

“คนไข้รายนี้เป็นกรณีที่อาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและอยู่ในไอซียูด้วย พอเราตามดูอาการก็พบว่าในภาพเอกซเรย์ปอดคนไข้มีความผิดปกติ เจอโพรงสีในปอด พอส่งตรวจก็เจอการติดเชื้อราที่ปอด เราก็ต้องให้ยาต้านเชื้อราและปรับปริมาณยาสเตียรอยด์ลง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิอธิบายว่า

“เคสนี้สุดท้ายคนไข้อาการดีขึ้นจนกลับบ้านได้นะครับ แต่สิ่งที่ตามมาคือเมื่อเขากลับมาตรวจติดตามผลกับเราอีก คนไข้อาการเหนื่อยซึ่งเกิดจากการติดเชื้อราที่เข้ามาแทรกซ้อน

3 GROUPS OF LUNG DAMAGE

LUNG & LONG COVID SYNDROME

ความเสียหายที่ปอดซึ่งพบในผู้ป่วย Long COVID

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาคภูมิระบุว่า การติดเชื้อโควิดส่งผลต่อปอด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่พบบ่อย ดังนี้

 กลุ่มที่ 1 การติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โดยปกติจะเกิดในช่วงที่มีการกระจายของเชื้อไวรัสโควิดในกรณีอาการรุนแรง 3-4 สัปดาห์แรก แต่หลังจากนั้นเชื้อแทรกซ้อนเหล่านี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ที่ปอดต่อ ทำให้ต้องรักษาการติดเชื้อนั้นๆ หลังรักษาโควิดหายแล้วไปอีก 3-6 เดือน

 กลุ่มที่ 2 เนื้อปอดเสียหายจากการอักเสบรุนแรง ทำให้เกิดพังผืด สมรรถภาพของปอดลดลง มีปัญหาเรื่องการหายใจ ต้องฟื้นฟูด้วยการให้ยาและการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง 1-3 เดือนหรือมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี

 กลุ่มที่ 3 ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด นอกจากนี้ยังเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้

ชีวจิต ขอเสริมว่าหากต้องการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับปอด ทางที่ดีที่สุดคือลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด โดยนำหลักสุขอนามัยพื้นฐานมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสอบหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ งดไปสถานที่แออัด และเข้าร่วมการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์

หากติดเชื้อโควิดขึ้นมาแล้ว การรักษาและฟื้นฟูปอดที่เกิดความเสียหายไปแล้วนั้นต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับสภาพปกติ

สุดท้ายการป้องกันไม่ให้ติดโรคเป็นหนทางดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 561 เดือน 16 กุมภาพันธ์ 2565

4 April 2565

By STY/Library

Views, 1140

 

Preset Colors