02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดประสบการณ์สาวแพ้วัคซีนผื่นขึ้น คันทั่วร่าง

SAVE YOURSELF,SAVE YOUR FAMILY

เปิดประสบการณ์สาวแพ้วัคซีนผื่นขึ้น คันทั่วร่าง

เรื่องโดย พรอรุณ อินชูเดช

อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเกิดขึ้นกับใครหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัด มีหลายคนในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนไปแล้วยังคงมีสุขภาพปกติดี ในทางกลับกัน บางคนที่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่แพ้วัคซีน

หนึ่งในนั้นคือ คุณนวทรรศนย์ จันทรวงศ์ หรือ คุณมิ้ม อายุ 24 ปี แม้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเข็มแรกจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ร่างกายกลับแสดงอาการแพ้วัคซีนในเข็มที่ 2 จึงอยากร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ทุกคนค่ะ

วัคซีนนี้เพื่อครอบครัว

ในวันที่ได้พูดคุยกับคุณมิ้มผ่านทางโทรศัพท์ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอตัดสินใจฉีดวัคซีน และด้วยหน้าที่การงานของคุณมิ้มเองที่จำเป็นต้องพบปะผู้คนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถวางใจได้ว่าตนเองจะไม่นำเชื้อโควิดมาติดคนในครอบครัว

“ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนที่มีโรคประจำตัวเลย แต่มีอาการหอบบ้างเวลาที่ป่วยเป็นไข้หวัดหนักๆ เพราะน้ำหนักเยอะ ที่ตัดสินใจฉีดวัคซีนมาจากสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเพียงแค่บางวัน แต่ยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ และเรายังต้องออกไปทำงาน ก็กลัวว่าจะนำเชื้อกลับมาให้ครอบครัวที่มีทั้งคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน คุณยายอายุ 70+ และหลานที่ยังอายุน้อย บอกได้เลยว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ตัดสินใจฉีดวัคซีนเพราะเป็นห่วงครอบครัว

“มิ้มเคยผ่าตัดกระเพาะเพราะต้องการลดน้ำหนักทางโรงพยาบาลที่เราเคยรักษาก็มีโควตาส่งรายชื่อคนที่เข้าข่าย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงให้ได้รับวัคซีนโควิดก่อน โดยของมิ้มอาจเพราะน้ำหนักตัวเกิน จึงได้รับวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 5 พฤษภาคม และ เข็มที่ 2 วันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันที่ได้ทำงานที่บ้านพอดี จึงถือโอกาสนี้ไปฉีดวัคซีน”

เตรียมตัวฉีดวัคซีนอย่างอุ่นใจ

คุณมิ้มเริ่มเตรียมตัวฉีดวัคซีนตั้งแต่ที่รู้ว่าตัวเองได้คิวฉีดวัคซีนวันไหน นับเป็นระยะเวลาประมาณเดือนกว่าๆ ที่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เหมือนกับที่หลายๆคนทราบกันดี

“ในตอนแรกเราเครียดและแพนิกมากเพราะจากที่อ่านข่าวเกี่ยวกับคนที่ฉีดวัคซีนก็มีข่าวด้านลบเยอะ เราก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นอะไรหรือเปล่า สุดท้ายเลยตัดสินใจไม่เสพข่าวเกี่ยวกับเคสต่างๆ ที่รับวัคซีนเลย และหันมาตั้งใจเตรียมตัวฉีดวัคซีนดีกว่า เพราะเราคิดว่าทุกคนไม่เคยเจอโรคระบาดนี้ เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่กันหมด และวัคซีนก็ใหม่ด้วย ก็ไม่แปลกที่จะมีทั้งคนที่มีอาการข้างเคียงหรือไม่มีอาการใดๆเลย

“หลังจากที่ทราบคิวฉีดวัคซีน มิ้มก็ดูแลตัวเองมาโดยตลอด ทั้งดื่มน้ำเยอะมากๆ ไม่เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และกาเฟอีนเลย พักผ่อนให้เพียงพอในทุกๆวันและเริ่มกินวิตามินซีวันละ 2 เม็ดที่ช่วยในเรื่องของภูมิคุ้มกัน ต้านหวัด มิ้มปฏิบัติแบบนี้มาประมาณเดือนกว่าจนถึงวันฉีดวัคซีนทั้งสองเข็ม”

STORY SHARING

แพ้วัคซีนครั้งแรกในชีวิต

เมื่อถึงวันฉีดวัคซีนเข็มแรก คุณมิ้มเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่นัดหมาย แล้วเข้ารับการบริการตามกระบวนการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลประชาชนอย่างดี ทำให้เธอรู้สึกเบาใจในการเข้ารับวัคซีนมากขึ้น

“พอไปถึงก็ยื่นบัตรประชาชนให้ทางโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบรายชื่อของคนที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้นเขาจะให้เรานั่งพักก่อนเรียกมาวัดไข้ วัดความดัน และซักประวัติค่อนข้างละเอียด เช่น ก่อนหน้านี้เคยถ่ายเป็นเลือดหรือป่วยมาก่อนไหม เคยตรวจโควิดเจอภายใน 14 วันก่อนหรือเปล่า มีโรคประจำตัวไหม แพ้ยาอะไรไหม ซึ่งมิ้มก็ไม่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อนนะคะ

“หลังจากนั้นนั่งรอประมาณ 5 นาทีก็ถูกเรียกไปฉีดวัคซีน มิ้มได้ฉีดของซิโนแวคครั้งแรกที่ตัวยาเข้าสู่ร่างกายก็รู้สึกปวดเล็กน้อยตามปกติเวลาที่เราฉีดวัคซีนทั่วไป พอฉีดเสร็จก็ออกมาพักครึ่งชั่วโมง แต่เราเริ่มรู้สึกว่าแขนซ้ายข้างที่ฉีดมีอาการชาตั้งแต่หัวไหล่ไปจนถึงนิ้วมือ จึงแจ้งพยาบาลและมีคุณหมอมาสังเกตอาการ คุณหมออธิบายว่าอาจเป็นผลข้างเคียงที่สามารถเกิดได้กับทุกคน

“คุณหมอจึงให้เบอร์โทรศัพท์โดยตรง ซึ่งหากมีอาการผิดปกติ สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง มิ้มต้องขอชื่นชมว่าทีมแพทย์ดูแลดีมากๆ แต่พอกลับบ้านแล้วเราก็ไม่ได้ติดต่อกลับไป เพราะหลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง อาการชาที่เป็นก็หาย มีเพียงอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย แขนระบม 2-3 วันแรก และถ่ายเหลวประมาณ 3-4 วัน ณ ตอนนั้นเราคิดว่าเป็นอาการข้างเคียงปกติของคนที่รับวัคซีนตัวนี้”

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์ตามนัดหมาย เธอก็ได้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อ โดยไม่คาดคิดว่าจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าในเข็มแรก

“ก่อนฉีดเข็มที่ 2 พยาบาลก็ซักถามอาการที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ซึ่งเป็นอาการที่ไม่น่ากังวล สามารถเกิดได้กับทุกคนอยู่แล้ว ความรู้สึกในตอนที่วัคซีนเข็มที่ 2 เข้าสู่ร่างกายคือรู้สึกแสบ นั่งสังเกตอาการประมาณ 5 นาทีก็มีผื่นขึ้นที่ต้นแขนและเริ่มมีอาการคัน จึงเดินไปแจ้งพยาบาลคุณหมอดูอาการก็บอกว่าสามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนภูมิคุ้มกันจะขึ้นแค่ไหนนั้นก็อยู่ที่ร่างกายของแต่ละคน ตอนไปรับยาทางเภสัชกรแจ้งว่านี่คืออาการแพ้ จึงให้กินยาแก้แพ้และออกใบแพ้ยาให้ โดยอธิบายว่าถ้าในอนาคตจะฉีดวัคซีนโควิดอีก ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ตาม ต้องนำใบนี้ไปยืนยันแล้วให้แพทย์เป็นคนพิจารณา รวมทั้งเวลาที่ไปหาหมอด้วยอาการป่วยอื่นๆ ก็ต้องแจ้งว่าเคยแพ้วัคซีนซิโนแวค ซึ่งต่อไปมิ้มจะสามารถฉีดซิโนแวคได้อีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าตอนนี้กินยาแก้แพ้แล้วจะหายไหม

“เมื่อกินยาแก้แพ้แล้วอาการดีขึ้น เขาให้เราไปวัดความดันแล้วปล่อยกลับบ้านตอนขับรถกลับก็มีอาการเพลียมากกว่าเข็มแรก แต่เราคิดว่าอาจเป็นเพราะกินยาแก้แพ้เข้าไปด้วย ทีนี้กลับบ้านมานอนพักและตื่นมาประมาณหนึ่งทุ่ม นั่งกินข้าวอยู่ก็รู้สึกคันที่คอ มีผื่นเป็นเม็ดแดงๆ ขึ้นตัวแดง พอเริ่มขึ้นที่หน้า เราก็ไม่กล้านอนต่อ เพราะกลัวจะแพ้จนหายใจไม่ออก จึงเดินทางไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมกับแจ้งว่าเราได้ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคมาทางโรงพยาบาลจึงฉีดยาแก้แพ้เข้าเส้นให้และนั่งพักสังเกตอาการ เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กลับมากินยาต่อที่บ้าน

“สำหรับร่างกายมิ้มจากการฉีดเข็มที่ 2 ไม่มีอาการท้องเสียและระบมเท่าเข็มแรก แต่ยังมีอาการชา 2-3 ชั่วโมงแรกเหมือนกันส่วนอาการแพ้ยังมีผื่นขึ้นเรื่อยๆ ชอบคันในตอนกลางคืน เวลาที่ผื่นขึ้นเราก็กินยาตามที่เภสัชกรสั่ง อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ ใช้เวลารักษาอาการแพ้ 3 วัน แต่อาการอ่อนเพลียจากการฉีดยาแก้แพ้เข้าเส้นก็ใช้ระยะเวลานานกว่าจะรู้สึกกลับมาเป็นปกติ”

TAKE NOTES

ทำอย่างไรเมื่อแพ้วัคซีน

จากประสบการณ์ของคุณมิ้มที่มีอาการแพ้วัคซีนซิโนแวค แม้เป็นอาการที่ไม่ได้ร้ายแรงนัก แต่เธออยากแนะนำสำหรับคนที่อาการผิดปกติเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ดังนี้

● เมื่อเกิดอาการผิดปกติในขณะที่รอสังเกตอาการ ไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อยก็ตาม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฉีดวัคซีนได้ทันที

● เมื่อเกิดอาการผิดปกติหลังจากกลับมาถึงบ้านแล้ว สามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องรักษากับโรงพยาบาลที่เข้ารับวัคซีน และยังสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่มีประกันสังคมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้

นอกจากนี้เธอยังอยากให้ทุกคนทำประกันสำหรับการแพ้วัคซีนโควิดไว้ และควรอ่านกรมธรรม์อย่างละเอียด เพราะก่อนฉีดวัคซีนเธอได้ทำประกันที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ทราบว่าจะต้องมีอาการแพ้อย่างโคม่าเท่านั้นถึงสามารถเบิกประกันได้ เธอจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการแพ้ทั้งหมดเอง

ฟื้นฟูร่างกายหลังแพ้วัคซีน

คุณมิ้มให้คำแนะนำสำหรับอาการแพ้วัคซีนที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ให้สังเกตอาการทุกวันว่าดีขึ้นไหม เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก เพราะสภาพอากาศหรือฝุ่นควันต่างๆ อาจจะส่งผลให้ผื่นลุกลาม พยายามอย่าเกา ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ และยังคงปฏิบัติตัวให้เหมือนกับการเตรียมตัวฉีดวัคซีน

“ตอนที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีน มิ้มทำได้อย่างเดียวคือกินยาตามคำแนะนำและนอนพักผ่อนเยอะๆ เพราะเป็นวิธีที่ฟื้นฟูร่างกายได้ง่ายที่สุดในเวลานั้น ส่วนหลังจากที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มิ้มปฏิบัติตัวเหมือนกับคนที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ยังคงหมั่นล้างมือรักษาความสะอาด ใส่มาสก์ทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก มิ้มอยากให้ดูเคสมิ้มเป็นตัวอย่างเพราะเรามักเห็นข่าวด้านลบมาตลอด คนแพ้รุนแรงก็มี แพ้น้อยอย่างมิ้มก็มี ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ อยากให้ทุกคนลองชั่งน้ำหนักดูก่อนตัดสินใจสำหรับมิ้มคงไม่ขอรับซิโนแวคอีกแล้ว ถ้าในอนาคตมีวัคซีนทางเลือกอื่นเข้ามา ก็คิดว่าคงต้องฉีดอีกเพื่อลดความเสี่ยงของคนในครอบครัว

“ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อใด หรือฉีดไปแล้วกี่เข็มก็ตาม ทุกคนก็ไม่ควรประมาทในการดูแลตัวเอง เพื่อให้คุณและคนที่คุณรักปลอดเชื้อโควิดได้อย่างมั่นใจค่ะ”

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 วันที่ 1 กรกฏาคม 2564

24 February 2565

By STY/Library

Views, 1510

 

Preset Colors