02 149 5555 ถึง 60

 

จัดการความทุกข์ใจ จากสังคม ด้วยการจัดการความคิดของตนเอง

จัดการความทุกข์ใจ จากสังคม ด้วยการจัดการความคิดของตนเอง

บทความพิเศษ เรื่องโดย. ดร. จันทร แสงสุวรรณวาว

ป่วยกาย มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะในร่างกาย หรือระบบการทำงานของระบบเลือดลม ฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งอาศัยการรักษาและคำอธิบายทางการแพทย์แผนต่างๆ

ป่วยใจ

คือ อาการป่วยทางความคิด หรือเป็นความทุกข์ใจ ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่วยกายได้ เช่น ความทุกข์ทำให้เกิดโรคเครียด และความเครียดทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมายตามมา เช่น การเจริญเติบโตของเซลล์ของอวัยวะที่เปลี่ยนไปแบบผิดรูป จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โรคหัวใจ โรคนอนไม่หลับ โรคเครียดลงกระเพาะ โรคไมเกรน โรคออฟฟิศซินโดรม โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

ชาวพุทธคงคุ้นกับวลีที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” อันหมายถึง จิตใจส่งผลให้อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยทางกายโดยตรง จึงไม่ควรปล่อยให้จิตเราป่วย เหตุที่จิตเราจะป่วยได้ ส่วนมากมาจากความทุกข์ แล้วความทุกข์มีที่มาจากไหน และละจะจัดการอย่างไร เพื่อให้เรามีจิตใจที่แข็งแรง

ผู้เขียนขอแนะนำ วิธีบริหารจัดการความทุกข์ใจจากสังคม ด้วยการจัดการความคิดของตนเอง ดังตัวอย่างเช่น หากเราไม่ชอบใครสักคน ที่ทำให้เราอึดอัด เจอเมื่อไหร่ จะทำให้แน่นหน้าอก หงุดหงิดที่ต้องพูด ต้องพบ ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งหากทำงานร่วมกันหรือพบปะพูดคุยกันแค่ไม่กี่คำก็สามารถจุดชนวนระเบิดในใจได้ ให้หงุดหงิดใจ

ความหงุดหงิดเป็นสาเหตุตัวร้ายของความดันเลือดสูง ที่จะส่งผลต่อสุขภาพเรามากมาย ทั้งระบบหลอดเลือดและหัวใจ

วิธีที่ต้องแก้ไข

คือ การแก้ไขที่ตัวเรา เพราะว่า การแก้ไขที่ตัวเราง่ายกว่าการแก้ไขที่คนอื่น ซึ่งจะว่าง่ายก็ไม่เชิง เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักมองออกนอกตัวเสมอ มีอะไรไม่ถูก มักโทษ หรือตำหนิติเตียนคนอื่นก่อน ว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มักลืมที่จะมองมาที่ตนเอง

วิธีที่เราต้องฝึกเพื่อแก้ปัญญาที่ตนเองคือการบอกตนเองว่า พยายามหาข้อดีของเขาให้เจอ เช่น นายเอ ลูกน้องของเรา ทำงานมานานแต่เหมือนไม่พัฒนาตนเองเลย จะฝากให้ทำงานที่ยากที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เราก็ไม่กล้าฝาก เพราะมั่นใจว่างานเราต้องเสียหายแน่นอน ตอบจดหมายลูกค้าฉบับหนึ่งใช้เวลาทั้งวัน งานที่ทำก็ผิดเรื่องเดิมๆ เมื่อต้องจ่ายงานให้นายเอ เราจะคาดเดาไว้ในหัวเลยว่า คงได้งานแย่ๆ เป็นแน่แท้ เพราะจิตในจิตเราปรุงแต่งจากบริบทภาพจำของเราที่เคยประสบมาในอดีต ทั้งที่เขายังไม่ได้ทำงานที่เราสั่งเลย

ขอให้เราตั้งสติ แล้วมองหาข้อดีในตัวนายเอให้เจอ อาจใช้วิธีนั่งสมาธิ หรือนั่งเงียบๆ แล้วเขียนมาในกระดาษโน้ตเล็กๆ ว่า เขามีข้อดีอะไร เช่น เขาเป็นพนักงานที่ไม่เคยลางาน ไม่เคยมาสาย ไม่ค่อยลาป่วย ไม่ขาดงาน ซึ่งข้อนี้เป็นข้อดีของเขาที่ไม่ทำให้เราปวดหัว เพราะบางคนอาจมาสาย ลาบ่อย เตือนไปก็ไม่ปรับปรุงตัว แม้อาจทำงานพอใช้ได้ก็ตาม แต่ก็ทำให้นายอย่างเราไม่ปลื้มนัก

หรืออาจสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานทุกคนเล่น “เกมจับดีคนอื่น” โดยหาบอร์ดติดประกาศมาตั้งไว้ แล้วให้พนักงานเขียนข้อดีที่แต่ละคนสังเกตได้จากเพื่อนร่วมงานของเรา เขียนใส่กระดาษแล้วเอาไปติดบอร์ด เช่น จับดีนายตั้ม เขาเป็นคนมีอัธยาศัยดีช่างทักทาย และจะกล่าวสวัสดีเพื่อร่วมงานทุกคนที่เขาเจอตอนเช้าทุกวัน จนพฤติกรรมนี้กลายเป็นนิสัยที่ดีของทุกคนในองค์กรที่จะทักทายกันทุกเช้า สร้างความผูกพันแบบพี่น้องที่อบอุ่นได้ในสังคมคนทำงาน

บางคนอาจเขียนไปติด เช่น จับดีน้องแก๊ป มีน้ำใจ เมื่องานตัวเองเสร็จมักจะมาถามพี่ๆ ว่ามีอะไรให้ช่วยบ้างไหม แทนที่จะนั่งว่างตามสไตล์คนทำงานเสร็จแล้ว, จับดีหัวหน้าพี่แมน ที่ปกติจะดุมาก ทำอะไรผิดพี่แกจะด่าแรงก็จริง แต่เวลาน้องๆ งานเยอะพี่เขาก็มีน้ำใจซื้อขนมมาฝากให้กินกันทุกครั้งที่ต้องทำงานล่วงเวลา, จับดีแม่บ้านพี่อร เขาจะขยันช่วยเช็ดโต๊ะทำงานของพนักงานทุกโต๊ะ ทั้งที่โต๊ะทำงานเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ต้องทำความสะอาดกันเอาเอง

การจับดีคนรอบตัวเรา เป็นการสร้างทัศนคติบวกให้ตนเอง เมื่อมองเห็นข้อดีของคนอื่นเป็น ใจก็จะใสโปร่งโล่งสบาย เป็นใจที่สร้างความรักและเมตตาได้ง่าย คนที่มีเมตตาเสมอ จิตใจจะเบาสบาย มองโลกน่าอยู่ มีความสุขใจ เมื่อมีความสุขใจ ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา

จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์พบว่าคนที่มีความรู้สึกขอบคุณหรือมีความรู้สึกในแง่บวก และมีความสุข จะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีถึง 9.4 ปี สารที่หลั่งออกมา เช่น

โดพามีน

สารแห่งความสุข จะช่วยให้มีความสุข มีแรงบันดาลใจเพิ่ม สมรรถภาพในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีสมาธิมากขึ้น จดจำได้ดีขึ้น

เซโรโทนิน

สารแห่งความสงบ ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายกังวล บรรเทาอาการตื่นเต้น เกิดความเห็นอกเห็นใจ

ออกซิโทซิน

สารแห่งการผ่อนคลาย ช่วยให้ผ่อนคลาย เกิดความรักใคร่ ความอ่อนโยน ความเชื่อมั่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน

เอนดอร์ฟิน

สารเสพติดในสมอง สารแห่งความสุขทั้งหมด มีความสุข รู้สึกเคลิบเคลิ้มสบาย มีสมาธิมากขึ้น มีภูมิคุ้มกัน

การฝึกจับดีผู้อื่น จึงเป็นการฝึกนิสัยคิดดี เมื่อเราคิดดี จะพูดดี และทำเรื่องดีเป็นสิ่งต่อเนื่องกันไป

ความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อร่างกายได้ การอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ให้คนรัก ต้องรักคนเป็น เราอยากให้ใครทำอย่างไรกับเรา เราต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน เช่น เราอยากให้คนอื่นยิ้มทักเรา เราต้องรู้จักยิ้มทักเขาก่อน เราอยากให้เขามีน้ำใจให้เรา เราต้องแสดงน้ำใจต่อเขาก่อน เราอยากได้ความจริงใจ เราย่อมต้องให้ความจริงใจเช่นกัน

ถามตนเองทุกวันว่า วันนี้ เราจับดีคนรอบตัวเราบ้างหรือยัง เพราะจะส่งผลให้ชีวิตเรามีความสุขง่ายขึ้น และความสุขใจ จะทำให้สุขภาพร่างกายเราแข็งแรงตามมา

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 513 เดือนมกราคม 2565

15 February 2565

By STY/Library

Views, 2283

 

Preset Colors