02 149 5555 ถึง 60

 

โควิด” – พิษลึก

“โควิด” – พิษลึก

ถนนสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

“โควิด-19” (COVID-19) ภาวะ เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แม้ว่าจะระบาดมากกว่า 2 ปีแล้ว แต่เรายังรู้จักโรคนี้ไม่ดีนัก มักจะมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เรายังต้องระวังตัวไม่ให้ “การ์ดตก” แม้จะฉีดวัคซีนครบ 2-3 เข็มแล้วก็ตาม

แม้ว่า “โควิด-19” จะทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณ 80-90%) ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยคล้ายอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ที่มักจะหายเองได้โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็น “โควิด-19” เพราะไม่ได้ตรวจ RT-PCR หรือ ATK (วิธีตรวจว่าติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไม่)

ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย “โควิด-19” ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (คือ ผู้ป่วยที่เราเรียกว่า “สีเหลือง” ถึง “สีแดง”) และประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยเหล่านี้จะป่วยหนัก (ต้องเข้า “ICU” และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะปอดเสียหายมากจนแลกเปลี่ยนเอาออกซิเจนจากอากาศไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ)

ประมาณ 2% ของผู้ป่วย “โควิด-19” ทั่วโลกได้เสียชีวิตแล้ว และเราหรือประชาชนทั่วไปมักจะคิดว่า เสียชีวิตเพราะปอดถูกทำลายเป็นสำคัญ

อันที่จริง “โควิด-19” ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ปอดเท่านั้น เท่าที่ทราบในปัจจุบันจากการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ ที่มีอยู่ โดยไม่มี “การผ่าตรวจศพ” (autopsy) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ (ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจะถูกห่อหุ้มด้วยถุงกันเชื้อ 2 ชั้น และผู้ที่เคลื่อนย้ายศพไปเผาหรือฝังภายใน 24 ชั่วโมง ต้องใส่ชุด PPE ป้องกันตนอย่างเต็มที่ แม้แต่สัปเหร่อก็ต้องสวมชุด PPE เช่นกัน)

ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายของอวัยวะต่างๆ จังยังไม่สมบูรณ์ แต่ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้เห็นว่า “โควิด-19” มีพิษกว้างขวางและลึกล้ำ (“โควิด”-พิษลึก) กว่าไข้หวัดใหญ่มาก เช่น

1. ภาวะ “โควิดยาว” หรือ “ลองโควิด” (Long COVID) หรือ “อาการหลังโควิด” (Post COVID Syndrome)

คือ ภาวะที่หายจากการติดเชื้อแล้ว (ตรวจไม่พบเชื้อโควิดแล้วแม้จะตรวจแล้วตรวจอีก) ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ยังมีหรือกลับมีอาการต่างๆ นาๆ อย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์เป็นเดือน เป็นปี หรือตลอดไป!

อาการของ “โควิดยาว” มีมากกว่า 200 อาการ ที่พบบ่อย เช่น เหนื่อยล้า เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หอบ เจ็บหน้าอก ใจสั่น ปวดศีรษะ สมองตื้อ/ล้า ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ เป็นต้น

ซึ่งพบประมาณ 10-40% ของผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิดไม่แต่เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แต่เกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการด้วย

2. ภาวะ “มิส-เอ” (MIS-A, Multisystem Inflammatory Syndrome in Adults)

คือ ภาวะที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอายุ 21 ปีขึ้นไป และรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 24 ชั่วโมงขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่เสียชีวิตโดยไม่พบสาเหตุอื่น (เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การกำเริบของโรคเดิมที่เป็นอยู่) และพบเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้

2.1 เกณฑ์ทางคลินิก (clinical criteria) : มีไข้ ≥36 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือภายใน 3 วันแรกที่อยู่ในโรงพยาบาลร่วมกับอีก 3 หลักเกณฑ์ (โดยต้องมีเกณฑ์หลักอย่างน้อย 1 เกณฑ์) ดังนี้

ก. เกณฑ์หลัก (primary clinical criteria) คือ

ก.1 หัวใจป่วยรุนแรง: กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจโป่งพอง, หรือหัวใจทำงานผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คือ หัวใจบีบตัวน้อยลง (<50%) การนำไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนสู่ห้องล่างถูกปิดกั้นมาก (2nd to 3rd degree AV block) หรือหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว

ก.2 ผื่นตามผิวหนัง (rash) + เยื่อบุตาอักเสบแบบไม่เป็นหนอง (non-purulent conjunctivitis)

ข. เกณฑ์รอง (secondary clinical criteria) คือ

ข.1 อาการทางระบบประสาทที่เพิ่งเกิด คือ สติปัญญาลดลง, ชัก, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเส้นประสาทส่วนปลายพิการ และกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain-Barre’ syndrome)

ข.2 ช็อกหรือความดันเลือดต่ำ ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือการรักษา

ข.3 ปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียน

ข.4 เกล็ดเลือดต่ำ (<150ล000/มม.3)

2.2 เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ (laboratory criteria) คือ

2.2.1 ผลเลือดที่แสดงการอักเสบอย่างน้อย 2 อย่าง คือ การเพิ่มขึ้นของ C-reactive protein, ferritin , IL-6, ESR และ procalcitonin

2.2.2 ผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด โดย RT-CPE, ATK หรือภูมิต้านทานโควิด

หมายเหตุ: เกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นต้องพบภายใน 3 วันแรกที่อยู่ในโรงพยาบาล

3. ภาวะ “มิส-ซี” (MIS-C, Multisystem Inflammatory Syndrome in Children)

คือ ภาวะที่เกิดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 21 ปีที่โรงพยาบาลด้วย...

1) อาการไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างย้อย 24 ชั่วโมง

2) หลักฐานทางห้องปฏิบัติการว่ามีการอักเสบ (ดูข้อ 2.2.1 + อื่นๆ เช่น fibrinogen, d-dimer, LDH)

3) หลักฐานทางคลินิกที่บ่งว่ามีอวัยวะสำคัญ (หัวใจ, ตับ, ไต, ปอด, กระเพาะ, ลำไส้, ผิวหนัง, ระบบเลือด และ/หรือระบบประสาท) อย่างน้อย 2 อวัยวะเกิดอันตราย

4) หลักฐานที่แสดงว่ามีการติดเชื้อโควิด (ดู 2.2.2)

5) ไม่สามารถหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิด 1) +2) +3) ได้ขึ้

หมายเหตุ: ผู้ป่วยอายุ <21 ปีที่เสียชีวิต และมีหลักฐานว่าติดเชื้อโควิด ให้พิจารณาว่าเกิดจากภาวะ “มิส-ซี” ด้วย

4. ภาวะ “สมองเสื่อม” (dementia) และ “สมองฝ่อ” (brain atrophy)

จากการวิจัยเปรียบเทียบภาพถ่ายคลื่นไฟฟ้าแม่เหล็กสมอง (brain MRI) ในธนาคารข้อมูลของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) ที่มีภาพ MRI ของคนอังกฤษมากกว่า 45,000 คน ย้อนหลังถึง พ.ศ.2557 แล้วขออาสาสมัครทั้งที่ติดและไม่ติดเชื้อโควิดมาถ่ายภาพ MRI สมองใหม่ใน พ.ศ.2563

มีอาสาสมัครที่ติดเชื้อโควิด 394 คน และที่ไม่ติดเชื้อ 388 คน เข้าร่วมในการวิจัย ผู้วิจัยได้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของภาพ MRI ในแต่ละคนของทั้ง 2 กลุ่ม โดยแยกตามเพศ อายุ สถานที่ ปัจจัยสุขภาพ และเศรษฐกิจ

เริ่มมีการเผยแพร่ผลวิจัยเบื้องต้นในกลางปี 2564 พบว่า สมองส่วนสีเทา (grey matter) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาท (cell bodies) ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในสมองกลีบหน้า (frontal lobes) และกลีบขมับ (temporal lobes) มีขนาดลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ติดเชื้อเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ไม่ติดเชื้อ

ที่สำคัญคือ ขนาดหรือปริมาตรของสมองที่ลดลงในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย (ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล) จะใกล้เคียงกับของผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลด้วย

หมายเหตุ: 1) สมองกลีบหน้า (frontal lobes) จะเกี่ยวข้องกับการคิด การวิเคราะห์ ฯลฯ ที่สัมพันธ์กับเรื่องสติปัญญาเป็นสำคัญ

2) สมองกลีบขมับ (temporal lobes) จะเกี่ยวข้องกับการรับกลิ่น โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก “ปุ่มกลิ่น” (olfactory bulb) และมีสมองส่วนฮิปโพแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการชรา (แก่) เร็วหรือช้า เพราะเกี่ยวข้องกับความจำและความรู้ความเข้าใจด้วย

โดยสรุปก็คือ ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีภาวะ “สมองเสื่อม” และ “สมองฝ่อ”เสมือนกับว่า แก่เร็วขึ้นนั้นเอง

3) สมองส่วนสีขาว (white matter) คือ สมองส่วนที่เป็นที่อยู่ของส้นประสาท ที่มีปลอกหุ้ม ซึ่งเป็นตัวนำคลื่นไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาท (ในสมองส่วนสีเทา) กับอวัยวะที่ปลายเส้นประสาท สมองส่วนสีขาวนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อโควิด

ข้อมูลเกี่ยวกับผลร้ายของ “โควิด-19” อาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเราเรียนรู้โรคนี้มากขึ้น

ผู้เขียนจึงหวังว่า เราทุกคนจะป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด โดยการดำรง “ชีวิตวิถีใหม่” แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม

อย่าพยายามติดเชื้อเพื่อหวัง “เงินประกัน” เลย!!!

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 513 เดือนมกราคม 2565

3 February 2565

By STY/Lib

Views, 1733

 

Preset Colors