02 149 5555 ถึง 60

 

รับวัคซีนให้ปลอดภัย ถูกที่ ถูกเวลา

HOW TO รับวัคซีนให้ปลอดภัย ถูกที่ ถูกเวลา

เรื่องโดย ชวลิดา เชียงกูล

มีหลายล้านคนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (COVID-19) อย่างปลอดภัยแล้ว ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนนั้นจะทำให้พวกเราทุกคนกลับไปทำในสิ่งที่เราชอบกับคนที่พวกเรารักได้อีกครั้ง

แต่ในช่วงเวลาที่การระดมฉีดวัคซีนทั่วทุกมุมโลกยังคงดำเนินไปอย่างเต็มความสามารถเท่าที่แต่ละภูมิภาคทำได้ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับขั้นตอนการฉีดและสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่จะได้รับวัคซีน

เรานำข้อมูลจากร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ป้องกัน เกี่ยวกับขั้นตอนการฉีดวัคซีน และเคล็ดลับในสิ่งที่คุณสามารถทำได้ก่อน ระหว่าง และหลังการฉีดวัคซีน โดยแบ่งเป็น 2 ชุดข้อมูล ทั้งสำหรับกลุ่มคนทั่วไปที่รับวัคซีนได้ทันทีและกลุ่มที่ต้องระวังในการรับวัคซีนมาฝากกันดังนี้

เช็กตัวเองก่อนรับวัคซีนโควิด-19

การเช็กความพร้อมของร่างกายตัวเองก่อนเข้ารับวัคซีนถือเป็นก้าวที่สำคัญ หลังจากก้าวแรกคือการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นได้ข้อมูลอย่างเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ร้อยเอก นายแพทย์สุรชาได้อ้างอิงถึงข้อมูลล่าสุดจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด-19 แก่คนทั่วไปและผู้ป่วยอายุรกรรม เพื่อให้แพทย์และผู้มีความประสงค์เข้ารับวัคซีนได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย

กลุ่มที่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย และแนะนำให้ได้รับการฉีดทันทีที่ทำได้

โดยในกลุ่มนี้จะครอบคลุมบุคคล 6 ประเภท ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งอยู่ในภาวะคงที่ เช่น

● โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวานซึ่งไม่มีภาวะวิกฤติ แม้ยังควบคุมระดับความดันเลือด

หรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย

● โรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ

● โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

● โรคติดเชื้อเอชไอวี

● โรคข้ออักเสบ/โรคแพ้ภูมิตัวเอง

● โรคสะเก็ดเงิน

● โรคภูมิแพ้

● ภาวะสมองเสื่อม

● อัมพาต อัมพฤกษ์

● โรคไตเรื้อรัง

● ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง

● โรคหืด/ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

● ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)

2. ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างได้รับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่างๆ เช่น

● เคมีบำบัด รังสีรักษา

● การบำบัดทดแทนไต

● ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ

● เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด

● อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ

● ยาสูดสเตียรอยด์

● ยาควบคุมอาการของโรคต่างๆ

3. ผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย เช่น

● โรคเลือดออกง่าย

● เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ

● ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน เช่น Aspirin,Clopidogret,Ticagrelor,Prasugrel

ได้รับยาวาร์ฟารินต้านการแข็งตัวของเลือด

● กรณีมีผลตรวจระดับ INR ต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีผลระดับ INR ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด ไม่จำเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยา และไม่จำเป็นต้องตรวจ INR ก่อนรับวัคซีน

โดยให้รับการฉีดด้วยเข็มฉีดยาขนาดเล็ก 25G หรือ 27G ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แล้วกดตำแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบเย็นต่อด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น

4. บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่างๆ

5. ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูลได้ (เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยติดเตียง) ควรให้บุคคลซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมรับทราบข้อมูลและตัดสินใจแทน

6. ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

กลุ่มที่แนะนำให้รับวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่มีข้อพิจารณาเพิ่มเติม

โดยจะครอบคลุมบุคคล 6 ประเภท ดังนี้

1. บุคคลที่มีประวัติแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) จากวัคซีนอื่นมาก่อน แนะนำให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่ผู้ป่วยเคยแพ้ และให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกันกับวัคซีนที่เคยแพ้ได้ทันที

2. ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียรหรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต (Life-threatening) เช่น

● ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome)

● ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Decompensated Heart Failure)

● โรคความดันเลือดสูงฉุกเฉิน (Hypertensive Emergency)

● โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute Stroke) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคหืดที่มีอาการกำเริบ (Acute Exacerbation of COPD/Asthma)

● ผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัด แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันทีเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้วหรือก่อนจำหน่ายกลับ

3. ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แนะนำให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แล้วรีบจัดให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันทีที่จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลเกิน 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร

4. ผู้ป่วยโรคเลือดซึ่งได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T Cell แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T Call

5. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังผ่าตัดและมีอาการคงที่แล้ว หรือเมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ โดยให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน

6. ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี (Antibody Therapy) หรือได้รับยาแอนติบอดี (Antibody Drugs:-mab) แนะนำให้รับวัคซีนโควิด-19 ได้ดังนี้

● ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 (Convalescent Plasma Containing Anti-SARS-CoV-2 Antibodies) หรือ Monoclonal Antibodies for Treatment of COVID-19 (Casirivimab & Imdevimab) แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังได้รับการบำบัดดังกล่าว

● ผู้ป่วยที่ได้รับยา Rituximab แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับยาดังกล่าว หรือ ก่อนให้ยา Rituximab ครั้งแรกอย่างน้อย 14 วัน

● ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอนติบอดีขนานอื่น เช่น Omalizumab,Benralizumab,Dupilumab แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 7 วันก่อนหรือหลังได้รับยาดังกล่าว

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 วันที่ 1 กรกฏาคม 2564

26 January 2565

By STY/Lib

Views, 1059

 

Preset Colors