02 149 5555 ถึง 60

 

ศาสตร์และศิลป์อโรมาเทอราปี คลายเครียด ลดอาการซึมเศร้า

ศาสตร์และศิลป์อโรมาเทอราปี คลายเครียด ลดอาการซึมเศร้า

เรื่องโดย สุวรรณา รัตนเสถียร

อโรมาเทอราปี (Aromatherapy) เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะของการใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดจากส่วนต่างๆของพืชนานาชนิด เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ความหมายอีกนัยหนึ่งคือ การใช้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยในการบรรเทาอาการของโรคต่างๆ

ในอดีตมีการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัดรักษาอาการต่างๆ ตั้งแต่อาการติดเชื้อต่างๆของโรคผิวหนัง บรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกาย และใช้เพื่อบำบัดความเครียด มีข้อมูลระบุไว้ว่า ศาสตร์อโรมาเทอราปีถูกใช้มานานกว่า 5,000 ปีในหลากหลายอารยธรรม เช่น

ศาสตร์คัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย (Ayurvedic System)

ถูกบันทึกไว้ว่า การใช้พืชเพื่อเยียวยาอาการและรักษาสุขภาพมีการจัดและแบ่งคนตามธาตุเจ้าเรือน โดยใช้สมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยเพื่อปรับหรือส่งเสริมธาตุเจ้าเรือนให้สมดุลยิ่งขึ้น ทั้งในรูปของอาหารและใช้น้ำมันหอมระเหยนวดร่างกายและศีรษะเพื่อบำบัดอาการต่างๆ อายุรเวทจัดเป็นการแพทย์ทางเลือกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ

ศาสตร์คัมภีร์Edwin Smith Papyrus

เป็นตำราลับทางการแพทย์ของอียิปต์ที่มีการใช้พืชที่มีน้ำมันหอมระเหยในขั้นตอนการทำมัมมี่ (Embalming) โดยใช้น้ำมันงาหรือไขมันวัวและน้ำมันหอมซีดาร์วู้ด (Cedar-wood Oil) ชโลมร่างกาย แล้วใช้เปลือกไม้และสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม เช่น อบเชยเพื่อให้รู้สึกเหมือนว่ายังมีชีวิตอยู่ ในผ้าลินินห่อศพยังมีการใช้น้ำมันหอมเมอร์ (Myrrh) คาสเซีย (Cassia) และพิมเสน เนื่องจากคนอียิปต์โบราณเชื่อว่ากลิ่นหอมเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่อยู่ในร่างมัมมี่จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ในโลกหลังความตายจากกลิ่นหอมของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ากลิ่นหอมจากกำยานและเปลือกไม้ต่างๆที่ใช้มีสรรพคุณต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยถนอมร่างของศพไว้ไม่ให้เสื่อมสภาพ จึงเป็นที่มาของการใช้น้ำมันหอมระเหยในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ

ในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้(Yellow Emperor)

มีระบุไว้ในหนังสือ International Medicine เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรค แพทย์แผนจีนเชื่อเรื่องอาหารเป็นยา โดยใช้อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสมดุล (ร้อน/เย็น) ในร่างกาย เช่น ขิง ดื่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยย่อย การแพทย์แผนจีนเป็นการแพทย์ที่ยังคงได้รับการยอมรับสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันควบคู่กับการแพทย์แผนตะวันตก และเป็นอีกหนึ่งการแพทย์ทางเลือกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ

ศาสตร์ของแพทย์แผนจีน

ตัวอย่างการใช้ศาสตร์อโรมาเทอราปีในภูมิปัญญาไทยที่เห็นได้ชัด เช่น การไหว้พระ สวดมนต์ เราจะจุดธูปหอม ซึ่งในอดีตจะทำจากไม้หอมแท้ๆ เช่น ไม้จันทร์ หรือการถวายดอกไม้และพวงมาลัยบูชาพระ ซึ่งนิยมนำดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ (ราชันย์แห่งดอกไม้) ดอกกุหลาบ (ราชินีแห่งดอกไม้) ดอกจำปี เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้จะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้มีสมาธิ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและสงบ เมื่อเข้านอนก็จะช่วยให้หลับลึก หลับสบาย มีการใช้เครื่องหอมที่ทำจากดอกไม้หอมต่างๆ มาทำน้ำอบและแป้งร่ำเพื่อทาและบำรุงผิวกาย

ในเชิงการแพทย์แผนไทยมีการใช้สมุนไพรและเครื่องเทศในการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น การใช้ลูกประคบในการนวดไทย การสุมยา โดยการทุบสมุนไพรต่างๆ ที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น หอมแดง ตะไคร้ ใบและมะกรูด ข่า กระชาย แล้วนำผ้ามาคลุมโปงเพื่อสูดไอของน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้หายใจโล่ง ขับเสมหะ ต่อต้านเชื้อโรค เป็นต้น

ปัจจุบันในสากลจะเรียกวิธีการนี้ว่า Steam lnhalation หรือการสูดไอน้ำ โดยใช้น้ำมันหอมระเหยซึ่งก็ได้มาจากการสกัดสมุนไพรต่างๆนั่นเอง ทำให้สะดวก ใช้งานง่ายขึ้น แค่หยอดน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงไปในน้ำร้อนในอ่างแก้วใบโตๆ คลุมศีรษะด้วยผ้าขนหนู จากนั้นก็สูดไอระเหยจากน้ำร้อนที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเข้าทางจมูกและปาก โดยสูดลึกๆ เพื่อให้ไอระเหยผ่านไปยังหลอดลมและเข้าที่ปอดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ขับเสมหะ เสริมการทำงาน ของปอดและระบบทางเดินหายใจ

ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพืชนั้นๆ ปริมาณของน้ำมันหอมระเหย ความทนต่อความร้อน วัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ ฯลฯ

วิธีผลิตน้ำมันหอมระเหยมี 4 แบบหลักๆ คือ

1. การกลั่น

ยังแบ่งออกเป็นการกลั่นด้วยน้ำ (Water Distillation) กับการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam Distillation) น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะใช้วิธีนี้ใช้การสกัด เหมาะสำหรับพืชที่ทนต่อความร้อนได้ดีและเมื่อโดนความร้อนแล้วจะไม่ทำให้กลิ่นเพี้ยนไปเช่น ตะไคร้ เปปเปอร์มินต์ มะกรูดฯลฯ

2. การสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent)

เป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อน แต่อาจจะมีตัวทำละลายที่เป็นสารเคมีตกค้างอยู่บ้าง เช่น ดอกมะลิ ดอกซ่อนกลิ่นฯลฯ

3. การบีบและคั้นจากพืช

ไม่ผ่านความร้อน ค่าใช้จ่ายต่ำ เช่น ผิวส้ม ผิวมะนาวฯลฯ

4. การสกัดด้วยก๊าซ

เครื่องสกัดมีราคาสูง แต่ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดี มีกลิ่นหอมใกล้เคียงกับพืชที่นำมาสกัด สามารถสกัดสาระสำคัญออกมาจากพืชนั้นๆ รวมทั้งรสชาติและสารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณทางยาออกมาได้ดีและไม่มีสารเคมีตกค้าง

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันหอมระเหยเอง โดยนำพืชสมุนไพรต่างๆ ที่พบในบ้านเรามาสกัดเช่น ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ขิง ข่า ฯลฯ

AROMATHERAPY กับการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ

แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับร่างกาย (Physiological Effects)

การได้รับกลิ่นหอมส่งผลต่อระบบการทำงานของสมองส่วนลิมบิกโดยตรง ซึ่งเป็นกลุ่มของส่วนสมองที่ทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม ประกอบไปด้วยไฮโปทาลามัสที่เป็นกลุ่มของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมความหิว สมดุลของน้ำและวงจรการหลับ การตื่น เนื่องจากสมองส่วนนี้เชื่อมต่อโดยตรงกับสมองส่วนที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดัน การหายใจ ความจำ ระดับความเครียด และการหลั่งฮอร์โมน ดังนั้นการสูดดมน้ำมันหอยระเหยจึงเป็นวิธีที่ให้ผลทางร่างกายและระบบประสาทเร็วที่สุดทางหนึ่ง เพราะหลังจากการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจะเข้าสู่ระบบประสาทรับกลิ่น ส่งผลต่อสมองส่วนต่างๆ เช่น สมองส่วนคอร์เท็กซ์ มีผลต่อการเรียนรู้ (Intellectual Process) ส่วนของต่อมพิทูอิทารี (Pituitary Gland) ซึ่งควบคุมระบบฮอร์โมนทั้งหมด รวมทั้งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตและสมองส่วนไฮโปทาลามัสซึ่งควบคุมความโกรธและความรุนแรง และมีบางส่วนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไปยังปอด

สังเกตตอนเวลาเราเครียด คลื่นสมอง (Brain Wave) จะเป็นเบต้า (Beta) คือ ทำงานตลอดเวลา อาจจะสังเกตจากปฏิกิริยาร่างกาย เช่น ร่างกายตื่นตัว จดจ่อ เป็นคลื่นสมองขณะทำงาน เมื่อเราต้องการพักผ่อนนอนหลับ แต่สมองยังคงตื่นตัวและทำงานอยู่ ทำให้เครียด กังวล ครุ่นคิด ไปจนถึงนอนไม่หลับซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย

เมื่อเราใช้น้ำมันหอมระเหยช่วยบำบัด การสูดกลิ่นหอมจะช่วยผ่อนคลายจิตใจ ช่วยปรับให้คลื่นสมองเข้าสู่คลื่นอัลฟา (Alpha) ซึ่งเป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นเมื่อมีความสงบ (Relaxation) สภาวะนี้เป็นสภาวะที่รับรู้ข้อมูลได้ดีที่สุด ทำให้ร่างกายความคิดสงบลง ผ่อนคลายและหลับสบาย

ในเชิงวิทยาศาสตร์ อโรมาเทอราปีหรือการใช้กลิ่นบำบัดจัดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ Herbal Medicine เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาและบำบัดอาการต่างๆ โดยน้ำมันหอมระเหยสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางหลักๆดังนี้

1. การสูดดม คือการสูดดมน้ำมันหอมระเหย สามารถใช้ได้หลากหลายวิธี เช่น การหยดน้ำมันหอมระเหยใส่สำลีหรือผ้าเช็ดหน้าประมาณ 1-2 หยดแล้วสูดไอระเหย การใช้เครื่องกระจายกลิ่นแบบต่างๆเพื่อให้อณูเล็กๆ ของน้ำมันหอมระเหยกระจายในห้องหรือบริเวณที่ต้องการใช้น้ำมันหอมระเหยในขวดลูกกลิ้งเล็กๆ แล้วกลิ้งไปตามจุดชีพจร เช่น ข้อมือ ข้อพับ หลังใบหู แล้วสูดไอระเหยของน้ำมันหอม เป็นต้น

2. ผ่านทางผิวหนัง ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กมากของน้ำมันหอมระเหย จึงสามารถซึมเข้าสู่รูขุมขนเข้าสู่อวัยวะภายในของร่างกายได้ ตัวอย่างวิธีการใช้น้ำมันหอมระเหยให้เข้าสู่ผิวหนัง เช่น

2.1 การนวดบำบัด โดยผสมน้ำมันหอมระเหยตามสรรพคุณที่เราต้องการกับน้ำมันเบสจากพืชอื่น เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันสวีตอัลมอนด์ฯลฯ น้ำมันหอมลาเวนเดอร์และทีทรีช่วยกำจัดแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส น้ำมันหอมตะไคร้ ไพล และโรสแมรี่ช่วยผ่อนคลายอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจัดเป็นการนวดอโรมาเทอราปีบำบัด

2.2 การอาบหรือแช่ตัวด้วยน้ำอุ่นและน้ำมันหอมระเหย จัดเป็นวิธีการที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยน้ำมันหอมระเหยสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมและทางผิวหนัง ช่วยคลายกล้ามเนื้อและความเครียดได้เป็นอย่างดี โดยหยดน้ำมันหอมระเหยตามสรรพคุณที่ต้องการสัก 4-6 หยดลงไปในเกลือทะเลหรือเกลือหิมาลายัน จากนั้นนำไปละลายในน้ำอุ่นเพื่อแช่ตัวประมาณ 20 นาที

2.3 การประคบ หยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำอุ่นจัดๆ จากนั้นนำผ้าขนหนูไปชุบ บิดให้หมาดแล้วนำมาประคบร่างกาย เช่น การใช้น้ำมัน หอมไพล คาโมมายล์ ลาเวนเดอร์ เพื่อคลายอาการปวดเกร็งและลดอักเสบในบริเวณที่ต้องการ

ระดับจิตใจ (Mental Effects)

น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อจิตใจการที่เราได้กลิ่นหรือสูดดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยเข้าไปนั้น กลิ่นจะเดินทางไปยังสมองส่วนลิมบิกโดยตรง ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกและฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติที่เกิดขึ้นกับจิตใจ เช่น เมื่อได้กลิ่นเปรี้ยวแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ได้กลิ่นดอกไม้หอมๆ แล้วรู้สึกดี ผ่อนคลาย เป็นต้น ประสาทสัมผัสส่วนการได้กลิ่นถือได้ว่าเป็นประสาทสัมผัสเดียวที่เชื่อมโดยตรงไปยังสมอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตีความหมายแล้วจึงตอบสนอง

ระดับจิตวิญญาณ (Spiritual Effects)

น้ำมันหอมระเหยมีบทบาทในพิธีกรรมทางจิตวิญญาณเสมอมา คนโบราณนิยมนำเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า และเชื่อว่ากลิ่นหอมสามารถเดินทางข้ามมิติได้ ผู้คนจากหลากหลายอารยธรรมในอดีตล้วนมีความเชื่อมโยงกับการใช้กลิ่นหอมในพิธีกรรมต่างๆ เช่น น้ำมันหอมระเหยแฟรงคินเซนส์ (Frankincense) เป็นยางไม้ชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมากในประเทศโอมานและเยเมน เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ถูกนำมาใช้เป็นยาและใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์มาเนิ่นนาน ตั้งแต่ครั้งคริสตกาล โดยปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน เช่น ในงานพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งอังกฤษ ยังมีพิธีเจิมศีรษะด้วยน้ำมันหอมระเหย โดยมีการเผยแพร่สูตรน้ำมันสำหรับเจิมออกมาตามสื่อต่างๆ

อินเดีย มีการใช้ไม้จันทร์ในหลากหลายพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านสถานะ

ตะวันออกกลาง มีการใช้เครื่องหอมกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน

กลุ่มน้ำมันหอมระเหยช่วยบำบัดเครียด ผ่อนคลาย

1. ลาเวนเดอร์ (Lavender) กลิ่นนี้ถือว่าได้รับความนิยมมาก คุณสมบัติของลาเวนเดอร์ช่วยให้ผ่อนคลายระบบประสาททำงานช้าลง จึงช่วยให้รู้สึกสงบ สามารถใช้ได้หลากหลายแบบ เช่น ในเครื่องกระจายกลิ่น ก้านหอมหรือจุดคู่กับเทียนหอมให้กลิ่นอยู่ในห้อง หรือบางคนจะหยดลงในน้ำก่อนอาบน้ำ ให้กลิ่นติดผิวบางๆ กลิ่นของดอกลาเวนเดอร์จะช่วยให้รู้สึกสงบ ลดอาการปวดหัว และนอนหลับได้ยาวขึ้นในช่วงกลางคืน

2. คาโมมายล์ (Chamomile) เรียกว่าเป็นดอกไม้แห่งการผ่อนคลาย ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรตามความเชื่อโบราณอย่างยาวนานและแพร่หลาย มีคุณสมบัติช่วยให้สงบ นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น คลายความวิตกกังวล บำรุงระบบย่อยอาหาร

3. เบอร์กาม็อต (Bergamot) เป็นมะกรูดสายพันธุ์ฝรั่งที่มาจากอิตาลี มีกลิ่นหอมแบบนุ่มนวลกว่ามะกรูดไทยมีคุณสมบัติลดอาการซึมเศร้า ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล มีงานวิจัยระบุไว้ว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิต

4. ซีดาร์วู้ด (Cedarwood Essential Oil) แปลตามชื่อคือน้ำมันที่ได้จากต้นสนซีดาร์ กลิ่นนี้ทำจากเปลือกไม้สนซีดาร์ ช่วยในเรื่องการผ่อนคลาย คลายเครียด ช่วยให้นอนหลับสบาย

5. คลารี่เสจ (Clary Sage Essential Oil) สำหรับกลิ่นนี้จะใช้ไอน้ำในการสกัด ลักษณะเหมือนสมุนไพรฝรั่งกลิ่นจะออกหอมหวาน อบอุ่น เป็นตัวที่ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ลดความวิตกกังวล ทำให้จิตใจสงบ

6. เนโรลี (Neroli Essential Oil) หรือกลิ่นดอกส้ม เป็นกลิ่นที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจ ช่วยให้สดชื่นและมีความสุข

7. กระดังงา (Ylang Ylang Essential Oil) จัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้ใจสงบ สามารถนำไปใช้ร่วมกับการนั่งสมาธิได้ ช่วยบำรุงประสาท แก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ ลดความเครียดและความดัน

8. โรสแมรี่ (Rosemary Essential Oil) เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ปลูกมากแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน มีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดศีรษะ ช่วยเรื่องความจำ ช่วยคลายความอ่อนเพลีย เพิ่มพลัง และช่วยให้มีสมาธิ

กลุ่มน้ำมันหอมระเหย

ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินหายใจ

น้ำมันหอมทีทรี (Tea Tree Oil)

ช่วยฆ่าเชื้อโรค ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฯลฯ

น้ำมันหอมยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil)

ช่วยให้หายใจโล่ง สบาย

น้ำมันหอมเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Oil)

ช่วยให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก

น้ำมันหอมแฟรงคินเซนส์ (Frankincense Oil)

ช่วยเสริมการทำงานของปอด กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่

น้ำมันหอมลาเวนเดอร์ (Lavender Oil)

ช่วยผ่อนคลาย หลับสบาย คลายปวด ลดไข้

น้ำมันหอมคาโมมายล์ (Chamomile Oil)

ช่วยผ่อนคลาย หลับสบาย แก้อักเสบ

น้ำมันหอมกานพลู (Clove Bud Oil)

ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการไอ หอบ ปวดฟัน

น้ำมันหอมอบเชย (Cinnamon Oil)

ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส

สูตรการสูดไอน้ำ (Steam lnhalation)

เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการสูดไอน้ำ+น้ำมันหอมระเหย ประโยชน์ของสูตรนี้คือ ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ ไอ เจ็บคอ ชับเสมหะ เสริมการทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจ

อุปกรณ์

● ชามหรืออ่างแก้วใบโต

● ผ้าเช็ดตัวขนาดพอเหมาะ ใช้คลุมศีรษะ

วิธีทำ

● เตรียมชามแก้วใบโตและผ้าเช็ดตัวให้พร้อม

● ต้มน้ำจนเดือด เทใส่ชามแก้ว

● เลือกน้ำมันหอมระเหย ใช้เพียง 1-2 หยด เช่น น้ำมันหอมยูคาลิปตัส 1 หยด+น้ำมันหอม

คาโมมายล์ 1 หยด

● ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมรอบศีรษะ ก้มหน้า โดยให้ผ้าคลุมชามแก้วไว้เพื่อกักไอน้ำ

● หลับตา สูดไอน้ำ โดยหายใจเข้าลึกๆ สลับหายใจทางจมูกบ้าง ทางปากบ้างทำประมาณ 10 นาที

● ถ้าเป็นเด็ก พ่อแม่ต้องช่วยนับ โดยสูดลมหายใจ 10 ครั้ง จากนั้นพักทำ 3-5 รอบ

ประโยชน์ที่ได้รับ

● ช่วยให้หายใจได้โล่งขึ้น

● ช่วยเพิ่มความชื้นในระบบทางเดินหายใจ

● ช่วยขยายหลอดลม

● กระตุ้นระบบหมุนเวียนเลือด

● ช่วยให้เสมหะอ่อนตัวและขับออกได้ง่ายขึ้น

● บรรเทาอาการไอ

● ได้สรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยตามที่เลือกใช้

ข้อควรระวัง

● ในกรณีที่ใช้กับเด็ก ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูง เนื่องจากอาจถูกน้ำร้อนลวกได้ เทคนิคนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก จึงควรใช้กับเด็กวัยประมาณ 7-8 ปีขึ้นไป

● สรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยที่แจ้งไว้ตอนต้นนั้น จะพบในน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติเท่านั้น ไม่พบในน้ำมันหอมสังเคราะห์ ซึ่งอาจพบเห็นจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป

● ในกรณีที่ใช้กับผู้ใหญ่อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำมันหอมเป็น 2-4 หยดได้ และเพิ่มระยะเวลาในการสูด

ไอน้ำ

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

20 December 2564

By STY/Lib

Views, 17793

 

Preset Colors