02 149 5555 ถึง 60

 

อัพเดตเทรนด์สุขภาพ พร้อมวิธีปรับสมดุลกาย-ใจ

4 HEALTH TRENDS ON THE WATCH อัพเดตเทรนด์สุขภาพ พร้อมวิธีปรับสมดุลกาย-ใจ

SPECIAL REPORT เรื่องโดย... พรอรุณ อินชูเดช

วิกฤติสุขภาพจากการระบาดของโควิด ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในวงการแพทย์มากมาย

เพื่อให้ทุกท่านได้อัพเดตเทรนด์ที่น่าสนใจ ในปักษ์นี้เราได้รับเกียรติจาก ครูหมอดุล-ทันตแพทย์สมดุล หมั่นเพียร ซึ่งเป็นทั้งบุคลกรทางการแพทย์และคอลัมนิสต์ที่สนุกกับการอัพเดตความรู้สุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นประจำ จึงทำให้มีมุมมองด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสำรวจเทรนด์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ชีวจิต ได้จัดสรรเทรนด์จากมุมมองของครูหมอดุล 4 ข้อ พร้อมวิธีปรับสมดุลกาย-ใจให้ครบทุกองศามาฝากค่ะ

FUNCTIONAL HEALTHCAREเมื่อคลินิกรักษาโรคแยกตามไลฟ์สไตล์ต่างๆ

ครูหมอดุลอธิบายว่า เมื่อก่อนมีคลินิกที่มีความเฉพาะเจาะจงกับโรค ไม่ว่าจะเป็นคลินิกโรคเบาหวาน คลินิกอัลไซเมอร์ คลินิกวัยทอง แต่ในยุคต่อไปเทรนด์การรักษาจะเปลี่ยนเป็นคลินิกที่เฉพาะไลฟ์สไตล์

“ยกตัวอย่างเช่น การรักษาออฟฟิศซินโดรม ความเจ็บปวดที่เกิดจากการนั่งทำงาน หรือต่อไปนี้เราจะเห็นสปอร์ตคลินิกที่ช่วยให้ประสิทธิภาพของคนที่เล่นกีฬามีความปลอดภัยมากขึ้น”

“จุดเด่นของการรักษาในคลินิกประเภทนี้คือ จะมีการรักษาร่วมกันทั้งในแง่ของการวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคตั้งแต่พันธุกรรม ไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อม การใช้ยา ตลอดจนการบำบัดในเชิงของโภชนาการ การให้คำแนะนำในการออกกำลังกายและการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ต่างๆ”

MEDICAL INNOVATION นวัตกรรมทางการแพทย์

แน่นอนว่าเทรนด์เรื่องการใช้หุ่นยนต์กับปัญญาประดิษฐ์กำลังมา แต่ครูหมอดุลมองเห็นว่าทั้งสองส่วนนี้จะมาเสริมการทำงานให้กันและกัน ไม่อาจใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแพทย์ได้ทั้งหมด

“เทรนด์ที่เราทราบดีก็ยังมีการพัฒนาและนำมาใช้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ หุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัด เทคโนโลยีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือช่วยวิเคราะห์ผลค่าต่างๆ”

“แต่ถึงอย่างไรการรักษาก็ยังเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับ ผู้ป่วยย่อมช่วยให้แพทย์เข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยได้ดีกว่า ขณะที่ตัวผู้ป่วยเองก็จะรู้สึกอุ่นใจได้มากกว่าด้วย”

TELEMEDICINE ผู้คนคุ้นเคยกับการรับบริการแพทย์ทางไกล

ข้อนี้เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน จนสามารถกล่าวได้ว่าวิกฤติโรคระบาดสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงประสบการณ์การรับบริการจากแพทย์ทางไกลอย่างกว้างขวางในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งครูหมอดุลอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกๆ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการสื่อสารถึงกันและกันได้”

“วิกฤติโรคระบาดทำให้เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่แพทย์จะมีแอพพลิเคชั่นที่เข้ามาวินิจฉัยเบื้องต้น ในกรณีผู้ป่วยที่กินยาประจำอยู่แล้ว ขณะที่ยังอยู่ในช่วงติดตามอาการ จะมีการส่งยาให้กินที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะไปสัมผัสกับเชื้อที่โรงพยาบาล”

REBLALANCE YOUR LIFESTYLE ปรับไลฟ์สไตล์ ช่วยสุขภาพดีหลังวิกฤติโรคระบาด

เพื่อให้คนรักสุขภาพทุกท่านมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง พร้อมกับมีสุขภาพใจที่ดีในสภาวการณ์อันผันผวนเช่นนี้ ครูหมอดุลจึงสรุปเป็นแนวทางการดูแลตัวเองที่เน้น “เรียบง่าย แต่ใส่ใจในรายละเอียด” แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 Eat การกินที่ดีต่อกายและใจ

“ข้อนี้สอดคล้องกับหลัก Intuitive Eating หรือการกินตามสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นวิถีการกินแบบอายุรเวทหรือโยคี”

“ดีต่อกาย ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 ซื่อสัตย์ต่อความหิว โดยต้องแยกให้ออกว่าร่างกายของเรารู้สึกหิวจริงๆ หรือเป็นแค่ความรู้สึกอยากจากจิตของเราเอง”

“ปัจจัยที่ 2 เคารพความอิ่ม โดยเราจะไม่กินจนแน่นท้อง และสุดท้ายปัจจัยที่ 3 ไม่ใช้อาหารบำบัดอารมณ์ เช่น รู้สึกเครียดแล้วต้องกินขนมหวาน หรือกินอาหารปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม”

“ดีต่อใจ คือ Enjoy Eating ไม่ใช่กินไม่เลือก การเดินสายกลางเป็นสิ่งสำคัญ แม้บิงซูหนึ่งคำจะไม่ทำให้อ้วนหรือไขมันสูงในชั่วข้ามคืน แต่สิ่งที่กินไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณอย่างไร ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย”

“ถ้าอยากกิน กินได้ครับ แต่ใช้หลักที่ว่า ‘กินน้อย เคี้ยวนานๆ ให้พอหายอยาก’ นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมากินอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรตในมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน ส่วนมื้อเย็นจะเน้นกินโปรตีนและผักแทน”

“ผมใช้หลักการนี้มาตลอดในการรักษาน้ำหนัก ผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้ตัวเองสามารถใส่กางเกงไซส์เดิมมาเกื

ข้อที่ 2 Play ออกกำลังกายเพื่อการชะลอวัย

“โดยพื้นฐานผมไม่ใช่คนชอบออกกำลังกาย จึงเลือกการออกกำลังกายที่ทำน้อย แต่ได้มาก”

“ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายสูงสุด ผู้รักสุขภาพทุกท่านควรวางโปรแกรมการออกกำลังกาย การจัดอาหารและการพักผ่อนให้เหมาะสม สิ่งนี้จะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพื่อการชะลอวัยและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ”

“ก่อนออกกำลังกายให้คำนวณปริมาณพลังงานจากอาหารให้พอดีกับที่เราจะใช้ในการออกกำลัง หลังออกกำลังกายผมจะเน้นกินอาหารกลุ่มโปรตีน ไม่เน้นแป้ง เพื่อให้ดึงไขมันที่สะสมไว้มาใช้ เพราะร่างกายมนุษย์จะสามารถเบิร์นหลังออกกำลังต่อได้อีก 18 ชั่วโมง”

TYPES OF EXERCISE ออกกำลังกาย 3 แบบ ได้ประโยชน์ครบทุกด้าน

ครูหมอดุลแนะนำการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ดังนี้

 Stimulating Exercise เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน เหมาะกับช่วงเช้า ช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า

 Corrective Exercise อยู่ในรูปแบบเวตเทรนนิ่ง เหมาะกับช่วงบ่าย ช่วยปรับสมดุลร่างกายและแก้ไขการจัดวางร่างกายที่ผิดปกติ อันจะนำไปสู่การใช้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นที่เหมาะสม

 Calm Exercise เช่น โยคะ พิลาทิส สามารถฝึกได้ทุกช่วงเวลา แต่เหมาะกับช่วงเวลาเย็นมากที่สุด ช่วยผ่อนคลาย ลดเครียด ทำให้หลับสบาย

ที่สำคัญหลังออกกำลังกาย ร่างกายจำเป็นต้องมีช่วงพัก ซึ่งใช้เวลาอีก 48 ชั่วโมง ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายสลับประเภทไปแบบวันเว้นวัน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้เต็มที่

ข้อที่ 3 Live การใช้ชีวิตในส่วนอื่นๆ

“ขอพูดเรื่องการพักผ่อนก่อนเลยนะครับ เพราะมีส่วนช่วยให้เซลล์เจริญเติบโตและเป็นเวลาที่ร่างกายได้ซ่อมแซมระบบภายในต่างๆ โดยมีโกร๊ธฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นตัวแปรสำคัญ”

“เราสามารถกระตุ้นฮอร์โมนชนิดนี้ได้จากการออกกำลังกาย โดยโกร๊ธฮอร์โมนจะทำงานในเวลากลางคืนคือเวลา 22.00 น. และอยู่ในระดับสูงสุดที่เวลาประมาณเที่ยงคืน-01.00 น. จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง”

“แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องนอนหลับสนิท นั่นแสดงว่าต้องไม่เครียด หรือไม่อยู่ในภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ เพราะฉะนั้นควรกินมื้อเย็นก่อน 18.00 น. เพื่อให้การย่อยสมบูรณ์ แล้วนอนสักประมาณ 21.30 น. เพื่อให้ได้คุณภาพการนอนหลับที่ดี หลับลึก และเอื้อต่อการหลั่งของฮอร์โมนที่จะมาซ่อมแซมกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย”

ข้อที่ 4 Adjust ปรับวิถีชีวิตได้ตามความเหมาะสม

“ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาสามารถปรับได้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น ถ้าบางวันนอนดึกติดๆ กัน ควรงดคาร์ดิโอในช่วงเช้า ให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายที่ช่วยให้จิตใจสงบอย่างโยคะหรือพิลาทิสประมาณ 3-4 วันก่อน เพื่อปรับเรื่องการนอนให้สมดุล”

ผมมักย้ำเสมอว่าเราต้องคอยปรับกิจวัตรมนการดูแลสุขภาพตลอดเวลา ทำซ้ำๆ สม่ำเสมอ และต้องทำให้ต่อเนื่องนานพอ เราก็จะเห็นผลจากสิ่งนั้นเอง”

ทั้งนี้ครูหมอดุลทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่มีสูตรการกินอาหาร สูตรการออกกำลังกาย หรือสูตรการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเบื้องหลังของคนที่นำเสนอสูตรนั้น ไลฟ์สไตล์ทั้งหมดของเขาเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวเอง

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 554 เดือนพฤศจิกายน 2564

15 December 2564

By STY/Lib

Views, 962

 

Preset Colors