02 149 5555 ถึง 60

 

สารพัดกิจกรรมบำบัดลดเครียด เหงา ซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ(ตอนจบ)

สัตว์เลี้ยงบำบัด “เครียด...เหงา...ซึมเศร้า”(ตอนจบ)

เรื่องโดย ชวลิดา เชียงกูล

บางครั้งมุมมองชีวิตอาจพลิกมาเป็นพลังบวกได้ แค่เราเปลี่ยนมุมที่เรามองกับสิ่งนั้น เช่นการมองสัตว์เลี้ยงรอบตัวที่ไม่ได้เห็นแค่เป็นสัตว์ตัวหนึ่งทั่วๆไป แต่เป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อคนมากมาย เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

มีผลวิจัยของดอกเตอร์ เอียน คุก (Dr. Ian Cook) นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการโครงการวิจัยและคลินิกอาการซึมเศร้าจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของสัตว์เลี้ยง จึงช่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพราะสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดความตึงเครียดและอารมณ์ที่เป็นอยู่ของผู้ป่วยให้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็เปลี่ยนอารมณ์ที่ซึมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้ยิ้มได้

คนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการบ่งบอกสิ่งหนึ่งคือ เขาจะรู้สึกไร้ค่า หมดความหมาย แต่หากเขาได้ดูแลสัตว์เลี้ยงสักตัวที่เขาควบคุมได้ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองและเพิ่มความรับผิดชอบ สัตว์เลี้ยงจะช่วยเตือนว่าเขาไม่ได้ไร้ความสามารถนะ แต่เขามีสิ่งหนึ่งที่ต้องดูแล อย่างน้อยก็ไม่เอาแต่นอนติดเตียง ลุกมาเดินกับสัตว์เลี้ยง พาไปออกกำลังกาย ไปวิ่งด้วยกัน เหนื่อยแล้วก็กลับมากินข้าวตัวเปื้อนสกปรกก็ได้อาบน้ำดูแล มีเพื่อนคอยดูซีรี่ส์ มีไว้พูดคุยแม้จะตอบกลับมาเป็นเสียงโฮ่งหรือเมี้ยวก็ตาม

คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักคิดว่าตัวเองอยู่คนเดียวบนโลกนี้ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ แม้จะพูดกับคนใกล้ตัว และหากคนใกล้ตัวเหล่านั้นขาดความเข้าใจในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางคำพูดอาจกลายเป็นดาบสองคม เช่น การพูดกับผู้ป่วยว่า “เลิกเศร้าได้แล้ว” หรือ “เธอจะเศร้าไปถึงไหน” มันเหมือนกับการเอามีดไปกรีดใจเขาเพิ่มมากขึ้น ลองเปลี่ยนมาพูดว่า “ออกไปจูงหมาวิ่งกันไหม” หรือ “อดทนนะ เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” ลองกอดเขาเพิ่มมากขึ้น สัมผัสตัวให้มาก ส่งพลังให้ด้วยการกอด ให้รู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว

แต่หากคุณไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา สัตว์เลี้ยงจึงเหมือนเพื่อนที่เขาสามารถระบายความรู้สึกต่างๆ ลงไปได้ มีอะไรก็เล่าก็พูดให้สัตว์ฟังสุนัขที่ส่งเสียงตอบ แมวที่ขดตัวซุกอยู่หน้าตักจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกได้ว่าช่วงเวลานี้มันช่างวิเศษจริงๆ แม้กระทั่งการพาสุนัขออกไปวิ่งแล้วมีคนมาทักทายสุนัขของเรา นั่นก็ทำให้หัวใจพองฟู การพาแมวไปหาสัตวแพทย์ ระหว่างรอคิวก็จะมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากมายมาพูดคุยด้วย

กิจกรรมเหล่านี้นอกจากฝึกให้เราได้รับผิดชอบ กระตุ้นให้อยากออกไปทำกิจกรรมแล้ว ยังช่วยให้จิตใจผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่กลัวการเข้าสังคม และอยู่กับคนหมู่มากได้อีกด้วย

ผลวิจัยยังบอกอีกว่า การลูบคลำสุนัขหรือแมวช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เจ้าของสุนัขหรือแมวมีฮอร์โมนความเครียดลดลง เพิ่มระดับสารเคมีในสมองมากขึ้นอีกด้วย

คนเลี้ยงสุข สัตว์เลี้ยงก็สุข

นอกจากจะส่งผลดีกับผู้เลี้ยงที่มีภาวะซึมเศร้าแล้ว สัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะเชื่องซึมหงอยเหงา แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยง มีการกอดจูบลูบคลำ มีการอาบน้ำแปรงขน สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสุขด้วยเช่นกัน โดยผลการวิจัยที่เผยแพร่ใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่า สุนัขที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเครียด ตรงกันข้ามพวกมันรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำ โดยทีมนักวิจัยได้นำตัวอย่างน้ำลายของสุนัขมาวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยแบ่งเป็นตัวอย่างน้ำลายของสุนัขปกติและสุนัขที่กำลังดูแลผู้ป่วย ผลการวิเคราะห์พบว่า ไม่มีความแตกต่างของระดับคอร์ติซอลระหว่างสุนัขปกติและสุนัขปกติและสุนัขที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานเยียวยาผู้ป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดท่าทางที่บ่งชี้ว่าสุนัขมีความเครียดแต่อย่างใด

ในเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาให้ดีในการเลือกสุนัขหรือแมวสักตัวที่จะมาอยู่กับเราอาทิ หากเป็นคนแก่หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการยอมรับในการรักษามักจะเป็นตระกูล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์หรือลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ไม่เล่นแรงเกินไปนัก หรือสุนัขพันธุ์เล็กที่คุยเก่ง แมวไทยที่ออดอ้อน นิสัยเรียบร้อยน่ารัก

แต่ข้อระวังคือไม่ควรมอบสัตว์เลี้ยงให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในภาวะดูแลตัวเองไม่ได้ คนที่มีภาระความเครียดจากพิษเศรษฐกิจ เพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มรายจ่ายให้เขา อาจเป็นตัวกระตุ้นความเครียดเพิ่มมากขึ้น หรือคนที่มีอาการแพ้ขนสัตว์อย่างรุนแรง

เยียวยาจิตใจด้วยศิลปะ

การใช้ศิลปะบำบัดเป็นการบำบัดแบบบูรณาการรูปแบบหนึ่งช่วยให้ผู้รับการบำบัดแสดงอารมณ์และความคิดออกมาผ่านทางศิลปะ อย่างที่ทราบกันว่าการวาดรูปหรือทำงานศิลปะเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นักบำบัดจึงใช้ศิลปะเป็นตัวช่วยให้เราได้แสดงความคิดและความรู้สึกออกมาผ่านงานศิลปะแล้วทำการบำบัดไปด้วย ซึ่งการทำศิลปะบำบัดนั้นมีส่วนช่วยให้เรามีการรับรู้ มีสติมากกว่าการบำบัดแบบพูดคุย

หลักการทำงานของศิลปะบำบัด

ศิลปะบำบัดเป็นรูปแบบการบำบัดที่ช่วยให้ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และวัยรุ่นได้สำรวจอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เพื่อปรับปรุง จัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้น จนบางครั้งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

สำหรับศิลปะบำบัดนั้น ผู้ที่เข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นจะต้องมีทักษะในการวาดรูปหรือการทำงานศิลปะก็สามารถเข้ารับการบำบัดได้ เพราะหัวใจของศิลปะ บำบัดคือการมุ่งเน้นหาความสัมพันธ์ของปัญหาที่ถ่ายทอดออกมาผ่านทางงานศิลปะ หรือเรียกง่ายๆว่าใช้ศิลปะเป็นตัวกระตุ้นให้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่เป็นปัญหาออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในความทรงจำที่เลวร้ายหรือความรู้สึกจากจิตใต้สำนึก โดยมีศิลปะหลายแขนงที่ใช้ในการบำบัด ดังนี้

⚫ จิตรกรรม

⚫ การวาดภาพ

⚫ วาดภาพด้วยนิ้ว

⚫ งานปั้น

⚫ แกะไม้

กิจกรรมเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนักบำบัด โดยนักบำบัดจะคอยสังเกตและถามถึงศิลปะที่พวกเขาแสดงออกมา เพื่อถกกันถึงปัญหาคลายปมที่เกิดขึ้น เพื่อบำบัดสุขภาพจิตของผู้เข้ารับการบำบัด

การบำบัดด้วยศิลปะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตได้อย่างไร

ศิลปะบำบัดสามารถใช้เพื่อบำบัดความผิดปกติทางจิตใจหรือปัญหาทางสุขภาพจิตได้หลากหลายในบางครั้งอาจมีการใช้เทคนิคจิตบำบัดอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การบำบัดแบบกลุ่ม หรือการบำบัดเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม ศิลปะบำบัดสามารถบำบัดได้หลายปัญหา เช่น

⚫ ผู้ใหญ่ที่มีความเครียดรุนแรง

⚫ เด็กที่มีปัญหาทางสังคม ทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน

⚫ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

⚫ อาการซึมเศร้า

⚫ ความเครียด

จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การบำบัดด้วยศิลปะเป็นรูปแบบการบำบัดที่เป็นประโยชน์มาก เพราะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนรูปแบบการคิด พฤติกรรมนอกจากนี้ศิลปะบำบัดยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดความวิตกกังวลอย่างไรก็ตาม หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งแรกคือต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเสียก่อน

สงบใจด้วยศาสตร์แห่งซาเซน

ซาเซน (Zazen) คือเทคนิคการฝึกสมาธิรูปแบบหนึ่งตามหลักความเชื่อแบบเซน (Zen) นิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายานที่นับถือกันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออก แนวความคิดแบบเซนมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย และพัฒนาต่อที่จีนก่อนที่แนวคิดนี้จะถูกเผยแพร่เข้าสู่เกาหลีและญี่ปุ่นต่อมาในภายหลัง

วิธีการปฏิบัติธรรมตามหลักของซาเซนนั้นจะมีอยู่ 4 วิธีหลักๆคือ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การศึกษาพระธรรม และการทำงาน โดยเป้าหมายหลักของการปฏิบัติซาเซนอยู่ที่การเพิกเฉยต่อความคิดทั้งปวง ให้ตัวผู้ปฏิบัติธรรมได้รับรู้สัมผัสและความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นและผ่านไป ทำให้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่าไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน จนสามารถปล่อยวางและเกิดความสงบขึ้นในจิตใจได้

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิตามหลักของซาเซน

การฝึกสมาธิแบบซาเซนนั้น นอกจากจะทำให้มีจิตใจที่สงบ ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดประโยชน์หลักๆ ต่อร่างกายดังนี้

1.ช่วยลดความเครียด

มีงานวิจัยพบว่า การทำสมาธิแบบซาเซนเป็นประจำช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียด สองปัจจัยหลักที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายต่างๆมากมาย เนื่องจากการฝึกสมาธินั้นจะทำให้ผู้ฝึกรู้สึกถึงความสงบ หลายคนยังเลือกวิธีการฝึกสมาธิเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

2.ช่วยในการนอนหลับ

การทำสมาธิแบบซาเซนสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับได้ โดยช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การนอนไม่หลับทำให้รู้สึกสงบและนอนหลับได้ลึกยิ่งขึ้น คุณภาพการนอนดีขึ้น

วิธีการฝึกสมาธิตามหลักของซาเซนท่านั่ง

การนั่งทำสมาธิแบบซาเซนนั้นจะมีท่านั่งหลักๆ 4 ท่าดังต่อไปนี้

ท่านั่งขัดสมาธิดอกบัว เป็นท่านั่งขัดสมาธิโดยวางขาซ้ายทับขาขวา ซุกเก็บปลายเท้าขวาเอาไว้ และเหยียดหลังให้ตั้งตรง มือซ้ายวางทับมือขวา วางไว้บนตัก เป็นท่านั่งสมาธิที่ค่อนข้างแพร่หลายและพบเห็นได้บ่อยในประเทศไทย

ท่านั่งขัดสมาธิแบบพม่า เป็นท่าที่คล้ายกับท่านั่งขัดสมาธิแบบดอกบัว แต่แทนที่จะวางขาซ้ายทับขาขวาให้เปลี่ยนเป็นวางขาซ้ายไว้บนพื้นหน้าขาขวาและไม่ทับขาขวา ส่วนมือวางไว้ที่ตัก หลังเหยียดตรง ท่านี้จะมีความสมมาตรมากกว่าท่าขัดสมาธิแบบดอกบัวเล็กน้อย

ท่าเทพธิดา หมายถึงท่านั่งคุกเข่า โดยวางเท้าราบไปกับพื้นและนั่งทับขา เหยียดตัวตรง ท่านี้อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวมาก เนื่องจากอาจจะทำให้น้ำหนักตัวกดทับลงบนเข่าและทำให้เกิดอาการปวดได้

ท่านั่งสมาธิบนเก้าอี้ โดยให้ผู้ฝึกสมาธินั่งตัวตรงอยู่บนเก้าอี้ ให้เท้าราบกับพื้น มือประสานไว้บนตัก

ขั้นตอนการฝึกสมาธิ

1. เมื่อเริ่มทำสมาธิ ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยหายใจเข้า-ออก โดยหายใจเข้า-ออกตามจังหวะตามปกติที่ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ต้องเกร็งหรือพยายามหายใจเข้า-ออกให้แปลกไปกว่าเคย

2. มุ่งเน้นความสนใจไปที่การรับรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หยุดความคิดฟุ้งซ่าน ดึงสติให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ

3. ปล่อยตัวให้สบาย ไม่ต้องเกร็งตัว

4. ปล่อยให้จิตใจได้ผ่อนคลาย และให้ความสนใจกับสิ่งที่ร่างกายรับรู้หรือรู้สึก

การฝึกสมาธิแบบซาเซนนั้นไม่มีระยะเวลาที่ตายตัวคุณสามารถฝึกสมาธิที่ใดและเมื่อไหร่ก็ได้ตามคุณสะดวก โดยเริ่มจากลองฝึกสมาธิสัก 5-10 นาทีก่อนนอน หรือนั่งสมาธิเพื่อสงบใจหลังจากการออกกำลังกายก็จะทำให้คุณได้มีโอกาสฝึกสมาธิ มีจิตใจที่สงบ และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

หลังจากทำความรู้จักและเข้าใจประโยชน์จากการบำบัดที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นหูกันอยู่บ้างให้มากขึ้นแล้วต่อไปเราจะพามาทำความรู้จักกับอีก 2 วิธีการบำบัดในรูปแบบที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาช่วย

ไปติดตามกันเลยค่ะ

คลื่นเสียงบำบัด

นายแพทย์แอนดรูว์ กอนซาเลซ (Dr.Andrew Gonzalez) ศัลยแพทย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน อธิบายเรื่องคลื่นเสียงบำบัด (Binaural Beats) ไว้ว่า เป็นเทคนิคในการรวมความถี่ของเสียง 2 ความถี่ที่แตกต่างกันเล็กน้อย เพื่อให้สมองสร้างโทนเสียงความถี่ใหม่ เช่น หากหูซ้ายของคุณได้รับเสียง 300 เฮิรตซ์ และหูขวาของคุณได้รับเสียง 280 เฮิรตซ์ สมองของคุณจะประมวลผลและสร้างคลื่นเสียงความถี่ใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นคลื่นที่คุณจะไม่ได้ยินจริงๆ แต่ส่งผลกระทบกับสมองของคุณ

สำหรับเหตุผลที่คลื่นเสียงเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการนอนหลับและการผ่อนคลาย การวิจัยระบุว่าคลื่นเสียงความถี่ต่ำทำให้คลื่นสมองช้าลงช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ทำให้หลับง่ายขึ้นและหลับสนิทมากขึ้น

ประโยชน์ของการใช้คลื่นเสียงบำบัดมีอะไรบ้าง

มีการศึกษาพบว่า คลื่นเสียงบำบัดนั้นกระตุ้นให้เกิดสภาวะทางจิตเช่นเดียวกับการฝึกสมาธิ ซึ่งประโยชน์ของคลื่นเสียงบำบัดมีดังนี้

⚫ลดความวิตกกังวล

⚫เพิ่มสมาธิและแรงจูงใจ

⚫ลดความเครียด

⚫เพิ่มความมั่นใจ

⚫ส่งเสริมอารมณ์เชิงบวก

⚫ความคิดสร้างสรรค์

⚫ช่วยจัดการกับความเจ็บปวด

การทำสมาธิเป็นการฝึกจิตใจให้สงบและปรับจำนวนความคิดแบบสุ่มที่ผ่านเข้ามา การฝึกสมาธิเป็นประจำจะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ชะลออัตราการเสื่อมของสมองและการสูญเสียความจำ ส่งเสริมสุขภาพทางอารมณ์ และเพิ่มความสนใจให้มากขึ้น การฝึกสมาธิเป็นประจำอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นผู้คนจึงมองหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การฝึกสมาธิเป็นเรื่องง่ายขึ้น

โดยคลื่นเสียงบำบัดที่เหมาะกับการทำสมาธิคือช่วงความถี่ระหว่าง 1-30 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้สมองผลิตอัลฟา เมื่อฟังเป็นประจำจึงสร้างประโยชน์มากมายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การใช้คลื่นเสียงบำบัดในลักษณะนี้บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “เทคโนโลยีคลื่นสมอง”

ใช้คลื่นเสียงบำบัดอย่างไรให้เกิดประโยชน์

นักวิจัยแนะนำว่าคลื่นเสียงบำบัดควรมีความถี่น้อยกว่า 1,000 เฮิรตซ์ และความแตกต่างระหว่างโทนเสียงทั้ง 2 ต้องไม่เกิน 30 เฮิรตซ์ โดยคุณสามารถหาคลื่นเสียงที่เหมาะกับตัวเองได้จากโลกออนไลน์ เช่น Youtube สามารถ ซื้อซีดีหรือดาวน์โหลดไฟล์ไปยังเครื่องเล่น MP3 หรืออุปกรณ์อื่นๆ โดยคลื่นเสียงบำบัดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่ต่างกัน ดังนี้

คลื่นบำบัดในช่วงเดลต้า (1-4 เฮิรตซ์) สัมพันธ์กับการนอนหลับสนิทและการพักผ่อน

คลื่นบำบัดในช่วงคลื่นธีต้า (Theta) (4-8 เฮิรตซ์) เพิ่มสมาธิและความคิดสร้างสรรค์

คลื่นบำบัดในช่วงความถี่อัลฟา (8-13 เฮิรตซ์) กระตุ้นให้เกิดความผ่อนคลาย ส่งเสริมความรู้สึกเชิงบวกและความวิตกกังวล

คลื่นบำบัดในช่วงความถี่เบต้า (14-30 เฮิรตซ์) เพิ่มสมาธิและความตื่นตัว รวมถึงการแก้ปัญหาและความจำที่ดีขึ้น

หาสถานที่ที่มีความสงบ ปราศจากสิ่งรบกวน เพื่อฟังเสียงคลื่นบำบัดให้ได้อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงนั้นติดหูและถูกส่งไปทั่วสมอง

โดยคุณสามารถทดลองหาระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น หากคุณมีความวิตกกังวลหรือความเครียดในระดับสูงคุณอาจต้องการฟังเป็นเวลา 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เพื่อให้คลื่นเสียงบำบัดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

EMDR ช่วยบำบัดแผลใจ

บางครั้งเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตที่เกิดขึ้นไม่ได้จบลงไปดังเช่นอดีตที่ผ่านพ้นไป แต่ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของเรา เมื่อใดที่ถูกกระตุ้น ความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานที่ฝังอยู่ก็จะตามมาหลอกหลอนเราจนบางครั้งทำให้เราเกิดความเครียด วิตกกังวล แม้เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน เหตุการณ์เลวร้ายในอดีตก็ยังคงอยู่

วันนี้เราชวนทุกคนไปรู้จักกับการบำบัดด้วย EMDR ซึ่งเป็นการบำบัดที่ช่วยให้ข้ามผ่านความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ

การบำบัดด้วย EMDR คืออะไร

EMDR เป็นคำย่อมาจาก Eye Movement Desensitization and Reprocessing หรือการเคลื่อนไหวดวงตาอย่างรวดเร็ว โดยใช้หลักการเดียวกับการสะกดจิต เป็นเทคนิคในการบำบัดความเจ็บปวดและความทรงจำที่เลวร้ายในอดีต เพื่อบรรเทาความเครียดทางจิตใจที่เกิดขึ้น ทำให้สมองเกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ และลบความทรงจำที่เลวร้ายในอดีตออกไป เพื่อให้คุณหลุดพ้นจากอดีตที่เลวร้าย

หลักการบำบัดด้วย EMDR เป็นอย่างไร

ดอกเตอร์เจสัน เอ็น ลินเดอร์ (Dr. Jason N. Linder) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตนั้นส่งผลต่อการทำงานของสมอง เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจหรือเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะลืม สมองจะเก็บข้อมูลนี้ไว้ทั้งรูปภาพ ความรู้สึก และอารมณ์ในตอนนั้น การบำบัดแบบ EMDR เป็นรูปแบบการบำบัดโดยธรรมชาติ ช่วยให้จิตใจของเรานั้นสามารถประมวลผลได้ใหม่ โดยการลบเรื่องราวที่เลวร้ายในอดีตออกไปจากความทรงจำ และช่วยให้เราสามารถมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้

การบำบัดด้วย EMDR จะใช้เวลาประมาณ 90 นาที โดยผู้บำบัดอาจใช้สิ่งของหรือนิ้วมือขยับไปมาอยู่ตรงหน้าผู้ป่วย โดยจะเลื่อนนิ้วไปทางซ้ายและขวาไปมา และให้เรามองตามนิ้วไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตไปด้วย ส่วนผู้บำบัดก็จะค่อยๆนำความคิดของเราไปในทางที่ดีขึ้น

การบำบัดด้วยวิธีนี้จะกระตุ้นสมองให้เกิดการประมวลผลความจำใหม่ ช่วยให้ความทรงจำเลวร้ายนั้นมีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ และช่วยลดอารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่ดีในเหตุการณ์นั้นลง นอกจากนี้การบำบัดด้วย EMDR ยังช่วยให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่ไม่ดีในอดีตเหล่านั้นกลับมาเป็นปกติ ช่วยให้ก้าวข้ามประสบการณ์แย่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ

การบำบัดด้วย EMDR มีประโยชน์อย่างไร

การบำบัดด้วย EMDR เป็นรูปแบบการบำบัดสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับความทรงจำที่เลวร้าย กระทบกระเทือนจิตใจและไม่สามารถลืมเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตนั้นได้ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งการบำบัดด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตดังนี้

⚫ภาวะซึมเศร้า (Depression)

⚫ความวิตกกังวล (Anxiety)

⚫อาการแพนิก (Panic Attack)

⚫ความผิดปกติในการกิน

⚫พฤติกรรมเสพติด

สารพัดวิธีการเยียวยาและการบำบัดสำหรับพวกเราที่ปัจจุบันล้วนต้องเผชิญสภาวะที่บีบคั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลายหนทางนำไปสู่ความป่วยกายที่แสดงอาการในเชิงประจักษ์ แต่กับการป่วยทางใจที่อาจต้องรอให้รุนแรงถึงจะสังเกตเห็นได้ ซึ่งเราไม่อยากให้ถึงวันนั้นเลยค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอให้ป่วยหรือเจ็บหนัก เราก็เริ่มบำบัดตัวเองกันได้ตั้งแต่วันนี้

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้รู้จัก เข้าใจและสามารถเลือกใช้วิธีการดูแลตัวเองและคนที่คุณรักให้เกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ ขอให้สุขภาพใจและสุขภาพกายที่ดีกันถ้วนหน้าเลยค่ะ

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

9 December 2564

By STY/Lib

Views, 14716

 

Preset Colors