02 149 5555 ถึง 60

 

สารพัดกิจกรรมบำบัดลดเครียด เหงา ซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ(ตอนที่1)

WAYS TO COPE WITH DEPRESSION

สารพัดกิจกรรมบำบัดลดเครียด เหงา ซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ(ตอนที่1)

เรื่องโดย ชวลิดา เชียงกูล

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน มนุษย์ย่อมมีโอกาสพบกับความสี่ยงความสูญเสีย ความสะเทือนใจที่ได้รับจากประสบการณ์ในชีวิตที่ยากจะคาดเดา ก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันต่อจิตใจ ปัจจุบันจึงมีผู้ป่วยด้วยภาวะทางจิตเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ชีวจิตฉบับว่าด้วยเรื่องโรคซึมเศร้าในพาร์ตนี้จึงรวบรวมหลากหลายวิธีการบำบัด เพื่อความผ่อนคลายและปลดปล่อยที่จะช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์ในบุคคลที่มีสภาวะอาการทางจิตและในบุคคลทั่วไปที่อยู่ในสภาวะเครียด

การบำบัดเหล่านี้จะช่วยให้รู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น เสริมสร้างสมาธิ ลดความตึงเครียด เพื่อเป็นอีกหนทางในการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ไปได้

ธรรมชาติบำบัด

ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าคนเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท และเราก็ใช้เวลาอยู่ในบ้านมากกว่านอกบ้าน ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราใช้เวลาในวันหยุดพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายด้วยการดูโทรทัศน์ผลกระทบของการที่อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกมาสัมผัสกับธรรมชาติ ทำให้เกิดพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว โมโห หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาเรื่องความจำ

ถึงแม้ว่าจะไปออกกำลังกาย แต่เราก็ยังติดอยู่กับการใช้ชีวิตสะดวกสบายอยู่ในเมือง ชีวิตที่ติดต่อกันตลอดเวลา บางคนออกไปวิ่ง แต่ก็ยังพกโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย การจะได้รับประโยชน์จากการสัมผัสธรรมชาติจริงๆ เราจะต้องอยู่กับธรรมชาติ โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากเรื่องราวชีวิตประจำวันอื่นๆ

วิวัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ที่ที่เรารู้สึกสบายใจ ที่ที่เราคุ้ยเคยถึงแม้เราจะไม่รู้ตัวก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการวิวัฒนาการ เราใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากถึง 99.9% กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ในแต่ละวันเราจะรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกสบายใจก็ต่อเมื่อจังหวะการทำงานของร่างกายสัมพันธ์กับจังหวะของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ในหนังสือ The Nature Fix: Why Nature Makes Us Happier, Healthier, and More Creative ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลจากงานวิจัยและแนะนำให้เราออกจากบ้าน ออกมาข้างนอก ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

การศึกษาพบว่า การเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยต้นไม้ หรือแม้กระทั่งการให้ดูภาพธรรมชาติอยู่ในห้อง ก็ช่วยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเพิ่มความสามารถในการคิดและรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ทำให้ลดพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และยิ่งใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

การใช้เวลาในธรรมชาติดีสำหรับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะช่วยลดระดับความเครียดลง ช่วยให้มีสุขภาพดี ความอัศจรรย์อันน่าทึ่งของธรรมชาติทำให้ประสาทสัมผัสตื่นตัว

การศึกษาพบว่า ธรรมชาติส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเราทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยสังเกตจากผลการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตอนที่ทำกิจกรรมข้างนอก เช่น ถ้าเราพักฟื้นอยู่ในห้องที่ติดหน้าต่างจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ความผูกพันกับธรรมชาติเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์ในยุคแรกๆให้ความสำคัญกับสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นในธรรมชาติ เช่น งูทำให้เรากลัวน้ำและต้นไม้ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะพัก ในปัจจุบันความผูกพันกับธรรมชาติมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อการทำงานหรือเพื่อความบันเทิง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยกระดับความกังวลของผลกระทบที่มีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจจากการที่ผู้คนตัดขาดจากธรรมชาติ

นักวิจัยแนะนำว่า การใช้ชีวิตในป่า การใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้สิ่งกระตุ้นในป่า จะช่วยบำบัด ป้องกัน และรักษา เป็นภูมิคุ้มกันโรคให้เราได้

หน่วยงานป่าไม้ในเกาหลีใต้ก็ทำการวิจัยเช่นเดียวกัน โดยศึกษาประโยชน์ของการใช้เวลาในป่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง อันดับต้นๆของโลก ทั้งสองประเทศต่างพยายามที่จะช่วยให้ผู้คนลดความเครียดลง

ผลกระทบของธรรมชาติที่มีสมอง

งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของธรรมชาติที่มีต่อสมองพบว่า ธรรมชาติสามารถกระตุ้นสมองได้

3 ส่วน คือ

Executive Area เป็นสมองส่วนที่คิดวิเคราะห์สถานการณ์

Spatial Network เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสัญญาณจากประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

Default Network เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพฤติกรรม

การปล่อยให้สมองได้พัก ปล่อยใจให้ล่องลอยฝันกลางวัน คิดเรื่อยเปื่อย จะทำให้สมองส่วน Executive Area ได้พัก ธรรมชาติมีส่วนช่วยฟื้นฟูนิวรอนที่ต้องทำงานตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตประจำวันของเรา

นักวิทยาศาตร์ค้นพบว่าธรรมชาติช่วยบำบัดมนุษย์ได้หลายทาง เช่น Attention Theory (ART) และ Stress Reduction Theory (SRT) ต่างก็เป็นวิธีการที่อาศัยธรรมชาติ ART เป็นการเพิ่มสมาธิ ทำให้ เรามุ่งมั่นหลังจากใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ส่วน SRT ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อช่วยให้สมองผ่อนคลาย

Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) หรือโรคสมาธิสั้น ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิและซน นักวิจัยพบว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่มีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติจะแสดงอาการลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน

เด็กทุกคนได้รับประโยชน์จากการใช้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง การฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติ ช่วยให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักรับความเสี่ยง กิจกรรมนี้ช่วยพัฒนาความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ กิจกรรมกลางแจ้งมีส่วนช่วยให้ฟื้นฟูจากอาการเครียด ทำให้เปิดใจ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นและรับฟังคำแนะนำ การใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติช่วยลบล้างความทรงจำที่เลวร้ายออกไป

ทำให้รู้สึกดีมากขึ้น

การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า สมองเราไม่สามารถทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันได้ การใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติจึงช่วยลดจำนวนตัวเลือกลงทำให้เราไม่ต้องเลือกหรือทำหลายๆอย่างพร้อมกัน จึงช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิมธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

ควรออกไปข้างนอกบ่อยแค่ไหน

ยิ่งเราใช้เวลาอยู่นอกบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น มันก็จะส่งผลในแง่ดีมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องโยนมือถือทิ้ง แต่แค่ให้รู้จักความพอดี ปล่อยวางมือถือบ้าง ให้มีเวลาได้อยู่กับธรรมชาติบ้าง ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาในธรรมชาติเหมือนกับที่เราออกกำลังกายเท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งมากยิ่งดี

ในแต่ละวันใช้เวลาอย่างน้อยสักชั่วโมงฟังเสียงนก ฟังเสียงน้ำไหล

ในแต่ละสัปดาห์ใช้เวลาสักชั่วโมงอยู่ในสวนสาธารณะที่มีต้นไม้อยู่รอบๆ

ในแต่ละเดือนใช้เวลากับธรรมชาติ เดินเข้าป่า สัมผัสแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือเดินตามชายหาด

ในแต่ละปีควรใช้วันหยุดพักผ่อนทำกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติในที่ห่างไกล สัมผัสความน่าทึ่งของธรรมชาติที่ได้มาฟรีๆ

เราไม่จำเป็นต้องให้นักวิทยาศาสตร์มาบอกข้อดีของการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ เพราะเราต่างก็รู้ตัวดีและรู้สึกได้อยู่แล้วว่าการใช้เวลากับธรรมชาติช่วยให้เรารู้สึกดีมากขึ้นแค่ไหน

(ติดตามอ่านตอนต่อไป)

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

8 December 2564

By STY/Lib

Views, 3065

 

Preset Colors