02 149 5555 ถึง 60

 

ชวนคุยขวนคิด บทเรียนจากโควิดระลอง 3

REFLECTION FROM THE 3rd WAVE ชวนคุยขวนคิด บทเรียนจากโควิดระลอง 3

คนไทยใช้ชีวิตภายใต้บัญญัติสามประการมาช้านาน จนถึงวันนี้มากกว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว คือ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง และเรียนหรือทำงานที่บ้าน มาตรการทั้งสามประการมากบ้างน้อยบ้าง เข้มข้นบ้างไม่เข้มข้นบ้าง แล้วแต่ช่วงเวลา จากโควิด 1, ผ่านโควิด 2, มาถึงโควิด 3 ในวันซึ่งอาการหนักสุด ตัวเลขสูงสุดของสถานการณ์คือ มีผู้ติดเชื้อมากกว่าสองหมื่นรายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่าสองร้อยรายต่อวัน

โควิด 3 มีปรากฏการณ์ที่ต่างจากทุกๆ ครั้งที่สำคัญหนึ่งเรื่องคือความหวาดระแวง ก่อนหน้าโควิด 3 อย่างมากเราก็ระมัดระวังคนอื่น ใส่หน้ากากเมื่อเข้าใกล้กัน เข้าใกล้กันไม่เกินสองเมตร และไม่นั่งหรือยืนคุยกันนานเกินไป ไม่จำเป็นไม่นั่งในห้องแอร์ด้วยกัน แม้ว่ามาตรการจะยากแต่ก็ทำได้ถ้าตั้งใจ พอมาโควิด 3 เราไปไกลเกินคำว่าระมัดระวังหรือระแวดระวัง เรามาถึงระดับหวาดระแวง และที่แย่ที่สุดคือเราหวาดระแวงคนในบ้านด้วยกันเอง

ลูกหลานไปร้านอาหารเอาเชื้อโควิดเข้าบ้าน ทำพ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ถึงตาย

ในทางกลับกัน คนเฒ่าคนแก่ไปตลาดทุกวัน เอาเชื้อเข้าบ้าน ทำลูกหลานติดเชื้อ ขาดเรียนขาดงานขาดเงิน และบางบ้านถึงตาย

ความหวาดระแวงคนในบ้านของรอบสามนี้เป็นน้ำหนักที่ทุกคนแบกรับไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทำผู้คนเครียดกันมาก และทำผู้ป่วยจิตเวชมีอาการกำเริบมากขึ้น

เราทำอะไรได้บ้าง

ชีวิตคนเราจะพบปัญหา อุปสรรค หรือความเครียดที่มิได้คิดไปเองและแก้มิได้เสมอๆ หลักการใหญ่ๆ ที่แท้จริงแล้วอาจจะมีข้อเดียวนั้นเองคือ “เอาชีวิตของเรามาควบคุมด้วยตนเองให้ได้” พูดง่ายๆ คือไม่ปล่อยให้คนอื่นควบคุมชีวิตของเรามากจนเกินไป

ตัวอย่างคลาสสิกคือเรื่องมะเร็ง เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง ที่ผู้ป่วยควรทำคือรับรู้ก่อนว่าเราเป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์และญาติมีหน้าที่แจ้งข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปิดบัง และแจ้งข้อมูลเท่าที่รู้โดยไม่คาดเดา ขั้นตอนนี้สำคัญมากที่สุด เพราะถ้าผู้ป่วยไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ที่ไหน เขาจะไม่รู้ว่าต้องสู้กับใคร ไม่นับว่าบางทีมะเร็งอาจจะมิใช่ศัตรูที่เราต้องสู้ด้วย แต่เป็นศัตรูที่เราต้องอยู่ด้วย จะเป็นแบบไหนก็ตาม ขั้นแรกคือผู้ป่วยต้องรู้ข้อมูล ถ้าแพทย์หรือญาติปิดปังข้อมูล ผู้ป่วยจะเครียดจนออกนอกเส้นทางได้ง่ายๆ มีอารมณ์เศร้า ความก้าวร้าว หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ ติดตามมา

เปรียบเหมือนโควิด รัฐมีหน้าที่แจ้งข้อมูลตามที่เป็นจริง จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วย จำนวนเตียงที่เหลืออยู่ รวมทั้งกำหนดการฉีดวัคซีนและประเภทของวัคซีนที่ชัดเจน หากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้เราไม่รู้หรือรู้ไม่ชัด เราจะเครียดมาก เพราะไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ที่ไหน จะให้สู้อย่างไรหรืออยู่ด้วยกันอย่างไรล้วนทำไม่ได้ดี ทำได้แค่รอคอยโชคชะตาซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีมากๆ

ตรงข้ามกับรอคอยโชคชะตา ที่เราควรทำในสถานการณ์ตึงเครียดทุกชนิดคือเอาโชคชะตามาควบคุม นั้นคือ “เอาชีวิตของเรามาควบคุมด้วยตนเองให้ได้” ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ

ที่ว่าโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเพราะว่านี่เป็นเรื่อง autonomy หากมนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่าออโตโนมี่ คือทำได้และได้ทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองจริงๆ พัฒนาการจะรุดหน้า ความเครียดจะลดลงโดย อัต-ตะ-โน-มัติ เพราะมี ออ-โต-โน-มี่ ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กเล็กวัย 2-3 ขวบตามทฤษฎีของ อิริค เฮช อิริคสัน

แล้วกติกาก็เป็นไปตามที่เด็กสองขวบทุกคนต้องทำ คือแม้ว่าเราจะให้เด็กทำอะไรก็ได้เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แขนขาอย่างดีที่สุด แต่เรามีกติกาหลักๆ สามข้อ คือ ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำร้ายตนเอง และไม่ทำลายข้าวของ ภายใต้สถานการณ์โควิดก็เป็นแบบเดียวกัน เราจำเป็นต้องดึงเรื่องบางเรื่องหรือหลายเรื่องมาควบคุมด้วยตนเอง ไม่ปล่อยชีวิตให้คนอื่นหรือหน่วยงานรัฐใดๆ ลิขิตโดยง่าย แต่ก็ต้องไม่ละเมินกฎหลักสามข้อเช่นกัน ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำร้ายตนเอง และไม่ทำร้ายสาธารณะ

นี่เป็นคำแนะนำกว้างๆ ซึ่งใช้ได้เสมอ รายละเอียดจะเป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าชีวิตต้องเป็นของเรา จิตแพทย์ก็กำหนดให้มิได้

แต่ยกตัวอย่างได้

สมมติถูกกักตัวแน่นหนา เช่น ถูกกักขัง ที่เราทำได้คือกระโดดตบ เป็นต้น กระโดดตบเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ร่างกายใช้ออกซิเจน หัวใจเต้นแรง เลือดสูบฉีดไปทุกส่วนรวมทั้งเนื้อสมองมากขึ้น ดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจ เป็นต้น ลองยกตัวอย่างอื่นๆ เราทำอะไรได้บ้าง

ยกตัวอย่างที่ยากขึ้น เช่น ซื้อฟ้าทะลายโจรมาเก็บไว้ มิพักว่าจะมีประโยชน์หรือเปล่า ต้องซื้อไว้มากน้อยเพียงไร ไปจนถึงกินโดสเท่าไรก็ไม่ทราบ แต้ถ้ามีเงินซื้อและมีแหล่งซื้อเราซื้อไว้ก่อน เช่นนี้เรียกว่าดึงบางส่วนของชีวิตมาควบคุม แต่อย่าลืมกฎสามข้อ คือการซื้อฟ้าทะลายโจรเก็บไว้ในบ้านนี้มิใช่การทำร้ายคนอื่น การทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายสาธารณะ

สถานการณ์จะยังอีกยืดยาว คำแนะนำนี้ใช้ได้เสมอครับ

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 24 ฉบับที่ 554 เดือนพฤศจิกายน 2564

2 December 2564

By STY/Lib

Views, 367

 

Preset Colors