02 149 5555 ถึง 60

 

อยู่เย็น-เป็นสุขในยุคโควิดด้วยมุมมองของ 3 คอลัมนิสต์ (ตอนที่ 2 จบ)

13 TIPS FROM GREEN EXPERTSอยู่เย็น-เป็นสุขในยุคโควิดด้วยมุมมองของ

3 คอลัมนิสต์ (ตอนที่ 2 จบ)

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ชวลิตา, สุนิสา, ปกวิภา

LEARNING FROM THE LOCAL EXPERTเรียนรู้และปรับตัว เราต้องรอดไปด้วยกัน

คุณเกม-สิทธิโชค ศรีโช คอลัมนิสต์ด้านอาหาร เล่าให้ฟังว่า เมื่อมีโอกาสกลับไปปรับปรุงพื้นที่เล็กๆ ในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นแปลงผักอินทรีย์ขนาดเล็กหลังบ้านที่เป็นทั้งอาหารและยาสำหรับคุณเกมและคุณพ่อ เป็นตัวช่วยในการรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ทันเวลาพอดี โดยแบ่งปันวิธีที่ตนเองใช้รับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ ดังนี้

ข้อที่ 1 ปรับตัวและลงมือทันที

“ที่พูดแบบนี้เพราะเราทุกคนไม่มีใครรู้เลยว่าตนเองจะมีโอกาสอยู่บนโลกใบนี้อีกนานเท่าไร อย่างตัวผมเองอาศัยอยู่ต่างจังหวัด ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่หนักหน้าหรือรุนแรงสักเท่าไรเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ เพราะจังหวัดที่ผมอยู่นั้นไม่ใช่พื้นที่สีแดงหรือสีแดงเข้ม”

“แต่สิ่งที่อยากแนะนำคือ อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพและทำทันทีแบบไม่มีข้ออ้างใดๆ ไม่ต้องรอให้โควิดซาก่อน เพราะมันจะไม่มีวันนั้น โควิดเป็นเชื้อโรคที่อยู่กับเราไปตลอด และเราต้องอยู่ร่วมกับเขาให้ได้ ต้องรู้ทันและดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพราะต่อให้นักวิทยาศาสตร์ค้นคิดวิธีป้องกันไม่ว่าจะเป็นตัวยาหรือวัคซีนใดๆ ก็ตามขึ้นมาได้ ก็ใช่จะหยุดเชื้อโรคได้ชะงัด”

ข้อที่ 2 สื่อสารเพื่อส่งกำลังใจให้กันและกัน

“ด้วยความที่ตัวผมเองก็เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ย่านวงเวียนใหญ่ ญาติพี่น้องผมบางส่วนทุกวันนี้ก็ยังคงอาศัยอยู่ตรงนั้น การสนทนาถามไถ่สถานการณ์กับคนที่อยู่ตรงนั้นก็ทำให้ทราบว่ามันหนักหนามากนะครับ ไม่ว่าจะร้านบะหมี่เจ้าอร่อยที่เราเคยฝากท้อง แม้แต่ผู้คนที่เราเคยรู้จักก็ล้มหายตายจากไปกับสถานการณ์ในครั้งนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นยังไม่นับรวมคนที่รอดชีวิตแต่ยังต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ไหนจะคนที่ต้องกักตัวอีกเต็มไปหมด”

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าเรามีโอกาสก็ควรจะติดต่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและส่งกำลังใจให้กับคนที่อยู่ใกล้และไกลเท่าที่จะทำได้”

ข้อที่ 3 เมื่ออาหารเป็นยา

“ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านอาหาร ผมมองว่าสุขภาพและอาหารแยกออกจากกันไม่ได้ และอาหารเพื่อสุขภาพนั้นก็ต้องเป็น ‘อาหารที่ต่อกาย’ และ ‘อาหารที่ดีต่อใจ’ เพราะอาหารบางอย่างนั้นอาจไม่ดีต่อสุขภาพกายนัก แต่มันกลับดีต่อสุขภาพใจสุดๆ”

“ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีการระบุถึงการกินอาหารเพื่อสร้างความยินดีหรือเพลินเพลินให้กับจิตใจอยู่เช่นกัน เพราะการรักษาแบบแพทย์แผนไทยมองทุกอย่างเป็นภาพรวม จึงคำนึงถึงจิตใจผู้ป่วยด้วย ถ้าอาหารนั้นไม่เป็นที่พึงใจของผู้ป่วยสุดท้ายผู้ป่วยก็ไม่กิน และเมื่อไม่กิน ร่ายกายก็อยู่ไม่ได้”

“พูดมาถึงตรงนี้ ก็ไม่ได้ต้องการที่จะให้ท่านผู้อ่านลุกขึ้นมากินตามใจปากนะครับ เพราะสิ่งที่ผมเชื่อมาตลอดก็คือ การปรับสมดุลชีวิตของเราในทุกๆด้าน เพราะอะไรที่น้อยไปย่อมไม่ดี หรือมากไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน”

“ที่บ้านผมปีนี้เรามีข้าวเหนียวดำกัญญาที่ปลูกไว้กินเอง ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวสีม่วงดำ มีสารแอนโทไซยานิน มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า ลดอาการอักเสบ ป้องกันมะเร็งหลายชนิด และที่สำคัญยังต้านไวรัสได้อีกด้วย”

“ส่วนในแปลงผักก็มีผักแผ้วซึ่งมีแคลเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร และวิตามินซีสูง มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เท่า ลดอาการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงโรคไวรัสโควิดได้”

ข้อที่ 4 ลดเครียด

“ล่าสุดผมเพิ่งตรวจพบว่าเป็นโรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร และไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด”

“โดยคุณหมอที่รู้จักกันก็ให้คำแนะนำว่า ให้ปรับวิธีการกินผัก จากการกินแบบสดมากินแบบลวกหรือนึ่ง ในทางแพทย์แผนจีนนั้นได้แนะนำว่า การนำผักมาผ่านการต้มหรือนึ่งนั้นจะทำให้อาหารย่อยง่าย และช่วยให้ไม่เกิดแก๊สในกระเพาะอีกด้วย”

“นอกจากนั้น อีกสาเหตุสำคัญของโรคก็คือ ความเครียด การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมจึงเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว ความเครียดไม่เคยเป็นผลดีกับใคร ในตอนนี้ผมจึงเลือกดำเนินชีวิตและกินอยู่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำใจยอมรับและดูแลแก้ไขไปตามอาการ”

BE PRESENT, ACCEPT THE TRUTGH อยู่กับปัจจุบัน มองเห็นโลกตามความเป็นจริง

คุณพศิน อินทรวงศ์ คอลัมนิสต์ด้านการดูแลสุขภาพใจให้สมดุลมองว่า การเกิดวิกฤติสุขภาพครั้งนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยมีคำแนะนำมาฝาก ดังนี้

ข้อที่ 1 มองสถานการณ์และปัจจัย ณ ปัจจุบันอย่างรอบด้าน

“โลกเรา ณ ขณะนี้เหมือนกับเรือที่อยู่ในมหาสมุทร มันมีคลื่น ความขึ้นลงผันผวนมันมีมากอยู่แล้ว แต่คราวนี้เหมือนพายุลูกใหญ่เข้ามา มันก็ขึ้นลงผันผวนมากกว่าเดิม ทำให้คนมีความสุขน้อยลง ถูกบีบคั้นเยอะขึ้น เป็นทุกข์มากกว่าเดิม แถมยังมีการเปลี่ยนแปลงหลายมิติเข้ามาพร้อมๆ กัน เหมือนกับเรือที่อยู่กลางมหาสมุทรเจอพายุหลายๆ ลูกเข้ามาพร้อมกันทีเดียวโดยมิได้นัดหมาย”

“พายุแรกที่ชัดเจนเลยก็คือเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ส่งผลกับชีวิตประจำวัน การทำมาหากิน เทรนด์ของโลกต่างๆ แค่ตามพวกนี้ก็เหนื่อยแล้ว”

“เรื่องต่อมาคือโรคระบาด ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต ปกติมนุษย์เป็นสัตว์สังคมเราอยู่กันเป็นฝูง ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเหมือนสัตว์บางชนิด การระบาดคราวนี้เปลี่ยนธรรมชาติของคน ทำให้คนออกไปไหนไม่ได้ ปฏิสัมพันธ์ไม่ได้ อันนี้ย่อมก่อให้เกิดทุกข์อยู่แล้ว”

“โรคระบาดครั้งนี้ส่งผลให้ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเพื่อติดตามข่าวสารข้อมูลที่จะใช้ในการป้องกันการติดเชื้อและใช้ในการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเพราะโรคระบาด และที่ส่งผลกระทบหนักคือเศรษฐกิจแย่ลง คนทำมาหากินไม่ได้ ความทุกข์ก็เลยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งความทุกข์ ความโกรธ ความกลัว ความเหงา มันปนกันไปหมดในภาวะแบบนี้”

ข้อที่ 2 เอาใจเขามาใส่ใจเรา

“ต้องยอมรับว่าทุกคนมีปัญหาที่ไม่เท่ากัน บางคนบอกว่าเราอยู่บนเรือลำเดียวกัน จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเราอยู่บนเรือคนละลำ แต่เผชิญพายะลูกเดียวกัน แต่ละคนได้รับความเดือดร้อนไม่เท่ากัน คนที่มีฐานชีวิตที่ดีหน่อยก็อยู่เรือลำใหญ่ แต่บางคนฐานเศรษฐกิจไม่ดีนัก เรือที่อยู่เป็นแค่เรือแจว”

“ถ้าจะถามว่าแต่ละคนรู้สึกยังไง มันไม่เหมือนกันหรอกครับ เพราะว่าต้นทุนไม่เหมือนกัน บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นแค่ช่วงเวลาพักร้อน ไม่เดือดร้อนอะไรเลย แต่คนที่รู้สึกเหมือนไฟมาลุกบนหัวก็มีไม่น้อย ถ้าถามว่าคนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ผมคิดว่าคนในประเทศส่วนใหญ่เดือดร้อน เพียงแต่ว่าเดือดร้อนในระดับไหน”

ข้อที่ 3 จัดลำดับความสำคัญของปัญหา

“เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว ต้องกลับมาที่ตัวเอง และทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว ทุกคนต้องเผชิญกับเรื่องนี้ คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น มีหนี้สิน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า แต่ไม่กล้าไปคุยกับเจ้าของที่ มันก็ต้องเข้าไปคุยกับเขาว่าจะทำอย่างไร บางคนไม่กล้าคุยกับลูกน้อง หรือลูกน้องไม่กล้าคุยกับเจ้านาย ยิ่งเรากลัวปัญหามันก็จะอยู่อย่างนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ผมคิดว่าตรงนี้ต้องทำก่อนที่จะทำใจนะ”

“เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การวางแผนแนะนำให้หากระดาษมาสักแผ่นแล้วเขียนออกมาเป็นข้อๆ ว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ก็ตัดมันทิ้งไปแล้วพยายามบอกตัวเองว่าอย่าไปคิด เพราะมันแก้ไม่ได้แล้ว”

“ปัญหาใดที่แก้ได้ทำเรื่องนั้นก่อนเลย ปัญหาใดที่แก้ได้บางส่วนก็แก้ในส่วนที่ทำได้ ส่วนที่แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพราะมันทำอะไรไม่ได้ ถ้ายังคิดถึงแต่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ มันก็จะทำให้เป็นทุกข์ ปัญหาที่เราควรจะมีความทุกข์คือปัญหาซึ่งเราสามารถแก้ไขได้”

“ส่วนใหญ่คนเรามักไปทุกข์กับปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ ซึ่งทำให้เผาเวลาไปเรื่อยๆ เพราะไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ มัวแต่เอาใจไปอยู่กับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเราต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของปัญหา”

ข้อที่ 4 ละวางอดีต

“ข้อนี้ทำให้หลายคนเป็นทุกข์มาก ไปคิดว่าถ้ามันไม่มีอย่างนี้นะ ฉันจะอย่างนั้นอย่างนี้ การคิดแบบนี้ยิ่งจะเจ็บปวด ไม่มีประโยชน์ เพราะคิดไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ความเสียดายมันจะเฆี่ยนเรา มันเหมือนคนอกหัก ที่มักจะคิดว่า ถ้าวัยนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เราคงไม่ลงเอยกันแบบนี้ คือเลิกกันแล้ว ไปเซ็นใบหย่าแล้ว จะมานั่งคิดว่าวันนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้แล้ว การคิดถึงอดีตของคนอกหักยิ่งทำให้ตัวเองเจ็บปวดและจมอยู่ตรงนี้นานขึ้น”

“มันเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถ้าอกหักทางเศรษฐกิจแล้วคิดแต่อดีตก็ยิ่งทำให้คุณเศร้าไม่ควรทำ ควรคิดไปข้างหน้า ถ้าธุรกิจมันพังไปแล้วส่วนหนึ่ง ก็มาดูว่ามันยังเหลือช่องทางไหนให้ทำบ้าง ไม่แน่ว่าวิกฤติครั้งนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ก็ได้ ต้องคิดอย่างนี้นะครับ”

ข้อที่ 5 อย่ากังวลถึงอนาคตให้มากเกินไป

“ที่บอกอย่างนี้เพราะเราทุกคนไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ทั่วโลกมีแต่คำว่าสันนิษฐาน มันยังไม่มีข้อเท็จจริง อย่างเรื่องไวรัส ตอนนี้วงการแพทย์ก็ยังไม่รู้จักมันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันยังคงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะจบจริงๆ เราจึงจะมีข้อสรุป”

“สมัยก่อนหลักจากโรคระบาดหายไปคนก็กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าพอมีโรคระบาดเกิดขึ้น มีการคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ มารองรับการใช้ชีวิตในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้มากมาย เมื่อโรคระบาดหายไป คนก็เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งสถานการณ์โรคระบาดยาวนานแค่ไหน ก็ยิ่งสร้างความเคยชินใหม่ๆ ให้คนเรามากขึ้นเท่านั้น”

ข้อที่ 6 ให้กำลังใจ ถ้าปรับตัวได้ ทุกข์ก็น้อยลง

“โลกใบใหม่จะทำให้ชีวิตคนทั่วโลกผันผวน กลุ่มที่จะมีปัญหามากคือคนอายุ 35-55 ปี ซึ่งมีความเป็นแอนะล็อกสูง ตั้งแต่โลกมีมนุษย์ชาติมามันไม่เคยมีจุดตัดแบบนี้ คือจุดที่อายุคนกับสภาพแวดล้อมมันไม่แมตซ์กัน”

“ที่ผ่านมาโลกจะค่อยๆ เปลี่ยนไป อย่างการเปลี่ยนแปลง ณ วันนี้ เมื่อก่อนอาจใช้เวลา 20 ปี แต่ปัจจุบัน ใช้เวลาแค่ 5 ปี หรือเมื่อก่อนความรู้ที่ใช้กันมีอายุประมาณ 200-300 ปี แต่ล่าสุดในเวลา 2 ปีมีความรู้ต่างๆ เพิ่มขึ้นมาเท่าตัว มีความรู้ใหม่ๆ ไปแทนที่ความรู้เก่า”

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนรุ่นเก่าที่สะสมความรู้มาหลายสิบปีพบว่าความรู้ที่ตัวเองมีอยู่นั้นใช้ไม่ได้ แต่ตัวเองยังต้องอยู่ในตลาดที่ต้องใช้ความรู้สมัยใหม่ เพราะโลกทุนนิยมต้องการแบบนั้น เพราะฉะนั้นก็บีบให้คนอายุ 35-55 ปีต้องหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ตังนั้นถ้าใครยึดติดกับสิ่งต่างๆ มากเกินไปก็เจ็บเยอะ ยิ่งเปลี่ยนแปลงช้า ยิ่งยึดติด ก็ยิ่งเสียหายมาก”

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

30 November 2564

By STY/Lib

Views, 578

 

Preset Colors