02 149 5555 ถึง 60

 

อยู่เย็น-เป็นสุขในยุคโควิดด้วยมุมมองของ 3 คอลัมนิสต์ (ตอนที่1)

13 TIPS FROM GREEN EXPERTS อยู่เย็น-เป็นสุขในยุคโควิดด้วยมุมมองของ

3 คอลัมนิสต์ (ตอนที่1)

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ชวลิตา, สุนิสา, ปกวิภา

ในช่วงเวลาที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเข้ามาเป็นส่วยหนึ่งในกระแสสังคมไทย เรามองเห็นว่า วิกฤติครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกาย-ใจ ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อสร้างความสุขเล็กๆ ให้เกิดขึ้น สะสมเป็นกำลังใจให้สามารถก้าวต่อไปได้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายๆ ด้าน

ชีวจิต ขอใช้โอกาสพิเศษเนื่องในฉบับครบรอบวันเกิดก้าวสู่ปีที่ 24 พาทุกท่านไปพบกับคอลัมนิสต์ทั้ง 3 ท่านที่จะมาบอกเล่าถึงแนวทางการใช้ชีวิตให้ “อยู่เย็น-เป็นสุข” ได้ในห้วงเวลาเช่นนี้

2 PARADIGMS OF HEALTHCARE สำรวจชุดความคิดในการดูแลสุขภาพ 2 แบบ

นคร ลิมปคุปตถาวร หรือ คุณปริ๊นซ์ “สวนผัดคนเมือง” เจ้าของแนวคิดปลูกผักกินเองในเมือง ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ “เจ้าชายผัก” คนนี้เริ่มปลูกผักกินเองในบ้านย่านลาดพร้าวและส่งต่อความรู้เกี่ยวกับการเกษตรในเมือง กลายเป็นเครือข่ายคนรักสุขภาพที่หันมาให้ความสนใจลงมือปลูกผักกินเอง ปัจจุบันแนวคิดนี้กลายเป็นเรื่องที่คนเมืองจำนวนมากเข้ามาศึกษาและลงมือทำด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน คุณปริ๊นซ์ได้เล่าถึงแนวคิดในการดูแลสุขภาพโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มว่า

“ปัญหาเรื่องสุขภาพปรากฏเด่นชัดขึ้นในวิกฤติโรคระบาด ทำให้เกิดชุดความคิดใหญ่ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มองว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่จะต้องดูแลเป็นส่วนๆ แยกเฉพาะเรื่อง เช่น ตอนนี้เกิดโรคระบาด เราก็ต้องฉีดวัคซีน ฉีดมาแล้วกลัวภูมิตกก็ต้องไปบู๊สต์เพิ่ม กินอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน หรือการเติมส่วนที่ขาด อย่างเช่น ตากแดดไม่พอก็กินวิตามินดีเสริม”

“มุมมองเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคิดว่าเราเข้าใจสุขภาพของเราดี โดยมีมิติเรื่องความแม่นยำทางการแพทย์ในการรักษายืนพื้น ซึ่งก็เป็นเทรนด์เดียวกับเรื่องโภชนาการและการเกษตรเหมือนกัน เรามีคำพูดที่พูดว่า Precision Medicine หรือ Precision Nutrition ซึ่งมันคือแนวความคิดแบบหนึ่งในยุคสมัยนี้”

“ส่วนชุดความคิดที่ 2 คือ การกลับไปสำรวจภูมิปัญญาดั้งเดิม ตรงกับประโยคที่ว่า ‘เหลียวหลัง แลหน้า’ กลับไปดูว่ามนุษย์เรามีองค์ความรู้อะไรบ้างในการรับมือกับโรคระบาด”

“โรคระบาดอย่างโควิด-19 ถ้ามองแบบชุดความคิดที่ 2 จะเห็นว่า ต่างจากไข้หวัดใหญ่อย่างเดียวเลยก็คือ การที่เชื้อไวรัสลงปอดได้เร็ว นอกนั้นลำดับอาการต่างๆ จะเหมือนกันหมด เช่น มีไข้ เจ็บคอ หนักเข้าก็มีอาการปอดบวม แค่เชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดอาการอย่างสุดท้ายได้เร็วกว่า”

คุณปริ๊นซ์ยกตัวอย่างว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนและกลุ่มประเทศในยุโรปเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะมีการนำชุดความคิดที่ 2 หรือการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ในการดูแลสุขภาพจากโรคโควิด-19

“ในจีนมีการเอาแพทย์แผนจีนเข้ามาบำบัดอาการผู้ป่วยโควิด-19 ที่ล้นประเทศของเขา ณ ขณะนั้น โดยใช้สมุนไพรที่ช่วยปรับสมดุลร้อนเย็นให้เข้ากับสภาวะของร่างกายที่กำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัส”

ส่วนแพทย์แผนโบราณในยุโรปเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสมดุลร้อนเย็น เราจะเห็นว่า ภูมิปัญญาแบบฝรั่ง เช่น การนวดประคบ การบดสมุนไพรใช้ทาภายนอกให้เกิดความรู้สึกร้อน เป็นเหมือนกับขับอาการอักเสบให้มาอยู่ที่ผิวด้านนอก เป็นการรักษาจากข้างในออกมาข้างนอก นอกจากจะไปหยุดการอักเสบทั่วร่างกายหรือไซโตไคน์สตอร์ม (Cytokine Storm) แล้ว ยังช่วงให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างช้าๆ”

“วิธีนี้เป็นภูมิปัญญาโบราณตั้งแต่สมัยแพราเซลซัส (Paracelsus) ชาวเยอรมันที่อาศัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาเป็นทั้งนักฟิสิกส์ นักพฤกษศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาในสมัยศตวรรษที่ 15 หรือมาประยุกต์ใช้เป็นสมุนไพรขิงแบบบ้านเราก็ใช้ได้ผลดี คุณหมอสายแพทย์มนุษยปรัชญาที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบันได้เอาการประคบขิงไปใช้ได้ผลหลายร้อยราย เชื้อไม่ลงปอด หรือถึงลงไปแล้วก็กลับมาอาการดีขึ้นได้”

“ในบ้านเรามีการนำฟ้าทะลายโจรมาปรับสมดุลร้อนเย็น เช่น ไข้มันร้อน ก็กินฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์เย็น แต่ตรงนี้เป็นจุดทางสองแพร่งนะ พอความรู้สองชุดมาปะทะกัน ตัวอย่างจากการใช้ฟ้าทะลายโจรนี่ชัดมาก คนที่กินฟ้าทะลายโจรแล้วอาการดีขึ้น เขาไม่ได้กินเป็นสิบเม็ด เขากินวันละสามมื้อ มื้อละ 3-4 เม็ด 4-5 วันอาการก็ดีขึ้น แต่ในกรณีคนที่อาการแย่น่าจะมาจากการกินในปริมาณที่มากเกินไป เช่น 10-15 เม็ดเพื่อที่จะได้สารสำคัญไห้ครบตามปริมาณที่กำหนด เพราะ 1 แคปซูลมีสารที่ว่านิดเดียว”

ถึงที่สุดแล้ว การดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนและเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างเป็นธรรมชาติคือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยคุณปริ๊นซ์อธิบายว่า

“ตามหลักภูมิปัญญาดั้งเดิม เราจะดูฤทธิ์ร้อนเย็นของยาซึ่งเป็นเรื่องของพลังงานที่จะเป็นคุณสมบัติองค์รวมของตัวยานั้นๆ แต่ว่าการแพทย์แบบสมัยใหม่เราให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณที่แน่นอน แม่นยำ สิ่งที่ชั่งตวงวัดได้ เพื่อให้มันไปฆ่าเชื้อต่างๆ ไปลดอาการต่างๆ แล้วไปมองว่าสารตัวที่ดีที่สุดคืออะไร”

“หลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทย์หรือนักวิจัยที่เก่งๆ แนะนำว่าสารสำคัญควรต้องมาจากสมุนไพรนั้นแบบองค์รวม ถ้าเราให้สาระสำคัญที่ว่าอย่างเดียวก็จะขาดสารอื่นๆ ไป ในความเป็นจริงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีต้องมีสารอื่นๆ มาเป็นพระรองเสริมฤทธิ์ลดฤทธิ์กัน อย่างกัญชาก็มีสารสำคัญหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เฉพาะสารเมาหรือสารออกฤทธิ์เพียงหนึ่งหรือสองตัว”

คราวนี้เรามาดูที่ระบบภูมิคุ้มกันกันบ้าง เขามีการทำงานเป็นระบบ เป็นกลไกธรรมชาติที่มีความซับซ้อน มีหลายอย่าง หลายเซลล์ต้องทำงานร่วมกัน ถ้าเป็นแพทย์ด้านการแพทย์องค์รวม เมื่อเอ่ยถังระบบภูมิคุ้มกันเขาจะให้ความสำคัญเรื่องไมโครไบโอมหรือจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกันในร่างกายของเรา ซึ่งในยุคโควิดนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงกว้างขวางเหมือนการแพทย์กระแสหลัก ส่วยใหญ่จะเน้นไปทางแอนติบอดี้ที่เฉพาะเจาะจงในการรับมือกับเชื้อไวรัสชนิดนี้เท่านั้นเอง”

“ในช่วงที่คนให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนกันมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เริ่มมีโรคอื่นซึ่งเป็นโรคที่มีอยู่ก่อนแล้วกลับมาระบาดมากขึ้น เช่น อาร์เอสวีในเด็ก เพราะเรามัวแต่ไปให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เราต้องหันมาพิจารณาอีกครั้งว่าการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องควรจะทำอย่างไร”

เมื่อมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ คุณปริ๊นซ์จึงยกตัวอย่างสิ่งที่เขาพบเห็นในธรรมชาติขณะที่ทำการเกษตรว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการดูแลสุขภาพที่ควรจะเป็นได้อย่างดี

“ในฐานะที่ผมทำงานเรื่องเกษตร ก็พบว่าปัจจุบันมีนักวิจัยให้ความสนใจว่า ไมโครไบโอมที่อยู่ในร่างกายเรามันสัมพันธ์กับไมโครไบโอมที่อยู่ในดิน กลายเป็นว่าร่างกายกับธรรมชาติมันเป็นสิ่งเชื่อมโยงกัน”

“พืชเองก็มีลักษณะของการป่วยจากการบกพร่องของจุลินทรีย์เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น อาจมีจุลินทรีย์บางประเภทที่ควรจะช่วยปกป้องตัวมัน แต่จุลินทรีย์นั้นกลับทำงานผิดปกติ หันไปเป็นพวกกับเชื้อโรค ทำให้พืชติดโรคก็มี”

“สิ่งนี้สอนให้ผมรู้ว่า เราเองก็เหมือนกัน ในตัวคนคนหนึ่งเมื่อมีเซลล์และจุลินทรีย์ต่างๆ ทำงานผิดปกติก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อโรคในร่างกายได้เช่นกัน”

“ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า การรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรใส่ใจดูแล โดยเฉพาะในภาวะโรคระบาดที่กำลังทดสอบระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์อยู่เช่นนี้”

HEALTHY TIPS FROM ORGANIC FARMREวิธีดูแลสุขภาพตามแนวคิดนักเกษตรอินทรีย์

ข้อที่ 1 อาหารออร์แกนิก

ในฐานะที่เป็นนักขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ คุณปริ๊นซ์จึงเริ่มต้นจากการให้น้ำหนักเรื่องอาหารที่มีชีวิตเป็นเรื่องแรก

“ลองมาดูที่คำว่าวิตามินนะครับ คำคำนี้มาจากรากศัพท์ Vi ที่แปลว่าชีวิต ซึ่งกลายมาเป็น Vitality ความมีชีวิตชีวา ดังนั้น ถ้าเรากินอาหารที่มีพลังชีวิตก็ย่อมจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารออร์แกนิกที่ปลูกแบบธรรมชาติด้วยความเข้าใจในสภาพแวดล้อมตามระบบนิเวศ ไม่ถูกบังคับหรือเร่งโตด้วยยาและสารเคมี ทำให้เป็นอาหารที่มีชีวิตและเป็นธรรมชาติ คนที่กินจะรู้สึกได้เลยว่ากินไม่ต้องมากก็อิ่มได้พอดีๆ ขณะที่เรากินอาหารที่ผ่านกระบวนการมากๆ ผมใช้คำว่า อาหาร ‘ตายแล้วตายอีก’ นะครับ คนกินเลยต้องกินในปริมาณที่มากกว่าจะรู้สึกอิ่ม”

ข้อที่ 2 ออกไปรับแดด

คุณปริ๊นซ์อธิบายต่อว่า ในแง่ของพลังงาน การออกไปรับแดดเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับมนุษย์ได้อย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในระบบนิเวศนี้เช่นเดียวกันกับพืชและสัตว์ต่างๆ

“พลังงานที่ได้จากอาหารสองแบบนี้ต่างกันแน่ๆ และไม่ใช้พลังงานในรูปแบบของแคลอรีเพราะธรรมชาติมีพลังที่ส่งต่อ ถ่ายทอด รับเอามาในรูปแบบที่เราอาจไม่มีหน่วยวัดที่แน่ชัด”

“ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องพลังงาน ผมขอยกตัวอย่างเรื่องพืชซึ่งเขาไม่มีพลังงานความร้อนในตัวเอง ต้องการแสงแดด มนุษย์เราหากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออกไปรับแดดเช้าดู ทำให้ได้ทุกวันอาจเริ่มจาก 3 วัน 7 วัน ก็คิดว่าน่าจะรู้สึกถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ตั้งแต่ 3 วันแรกแล้ว เกิดเป็นความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า นับเป็นพลังงานที่ไม่ใช่แคลอรีอีกเช่นกัน”

ข้อที่ 3 ใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติและงดอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอุสาหกรรม

ในช่วงท้ายคุณปริ๊นซ์ยกตัวอย่างถึงผลของการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติว่าส่งผลต่อสุขภาพให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงจนสามารถมีบุตรได้ เป็นการพิสูจน์ว่า เมื่อดูแลสุขภาพตามแนวทางนี้ ร่างกายก็จะกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพได้ในที่สุด

“โดยทั่วไปคือ กินอาหารธรรมชาติ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ถ้าทำได้ต่อเนื่องจะเกิดผลดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน ผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง 1 ราย เขาเป็นคนติดน้ำอัดลมและมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ ทำให้มีผื่นคันตามผิวหนัง อาจารย์ของผมที่ญี่ปุ่นแกท้าว่าให้ลองเลิกน้ำอัดลมสัก 3 วัน ปรากฏว่าอาการภูมิแพ้ดีขึ้นจริงๆ”

“รายนี้เขามีปัญหาเรื่องมีบุตรยากด้วย ต่อมาอาจารย์ได้แนะนำให้กินอาหารที่ปลูกและเลี้ยงตามธรรมชาติ จากนั้นก็มาตรวจเลือดพบว่าค่าต่างๆ ดีขึ้นแลเขาก็มีลูกได้ในที่สุด”

(อ่านต่อตอนหน้า)

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

29 November 2564

By STY/Lib

Views, 672

 

Preset Colors