02 149 5555 ถึง 60

 

อ.อดเหล้า-เลิกบุหรี่อย่างไร พึ่งตน พ้นภัยโรคร้าย (ตอนจบ)

อ.อดเหล้า-เลิกบุหรี่อย่างไร พึ่งตน พ้นภัยโรคร้าย (ตอนจบ)

บุหรี่ต้องเลิก แต่เหล้า แค่ลดได้หรือไม่?

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

จากการศึกษาผลของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากร 195 ประเทศ สรุปว่า การดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้โทษน้อยที่สุดต่อสุขภาพ คือ 0 แก้วต่อสัปดาห์ (GBD 2016 Alcohol Collaborators. Lancet. 2018 PMID: 30146330) การไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย มีผลต่อสุขภาพมากที่สุด และผลเสียหรือโทษภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์เริ่มจาก 0.8 แก้วต่อสัปดาห์

สรุป บุหรี่และเหล้า บริโภคแต่น้อยก็เกิดโทษ เลิกได้ดีที่สุด

คำสอนในศาสนา ห้ามดื่มสุราเมรัย แต่ไม่ได้ห้ามสูบบุหรี่ สูบ “ยาสูบ” เป็นยา ได้หรือไม่?

แม้ว่าในคำสอนของศาสดาอาจไม่ได้บัญญัติห้ามการสูบบุหรี่ เช่น ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้บัญญัติห้าม หรือไม่ได้บัญญัติ อนุญาตการสูบบุหรี่ แต่ก็ใช้หลัก “มหาประเทศ 4” ตามคำสอนว่า สิ่งใดที่ไม่ได้บัญญัติอนุญาตไว้ ถ้าสิ่งนั้น “เข้าได้กับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร” สิ่งนั้นไม่ควร

ถ้าพิจารณาบุหรี่เป็นยา (คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร) ก็อนุญาตให้ใช้เพียงเพื่อบรรเทาเวทนา (ความรู้สึกทุกข์) ที่เกิดจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ไห้ความไม่สบายมากขึ้นถึงที่สุด

ดังนั้น ถ้าเราสบายดี ไม่ได้เจ็บป่วย ก็ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะ “ขัดกับสิ่งที่ควร”

หรือถ้าพิจารณาบุหรี่เป็นของบริโภค ก็มีคำสอนให้ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง ซึ่งถ้าสูบบุหรี่เล่นๆ สนุกๆ สูบจนติดมัวเมา สูบเพื่อประดับบารมี เพื่อตบแต่งแสดงฐานะมีอันจะกิน ก็จะเป็นการ “เข้าได้กับสิ่งที่ไม่ควร”

ดังนั้น ไม่ควรสูบบุหรี่ เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง ตามคำสอนฯ ดังกล่าว

ทางเลือกจากการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่อาจหยุดสูบได้เลยทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนที่ตั้งใจจะหยุดสูบบุหรี่ โดยไม่ต้องค่อยๆ ลดจำนวนบุหรี่ที่สูบหรือที่เรียกว่า หักดิบ

แต่การอดเหล้า โดยเฉพาะผู้ที่ติดเหล้า เมาเหล้าเป็นประจำ การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ทันที อาจเกิดปัญหา อาการไม่สบายจากการหยุดดื่มฯ ตั้งแต่อาการน้อยๆ เช่น คลื่นไส้ เหงื่อออก จนถึงอาการมาก เช่น ปวดศีรษะมาก ชักเกร็ง หมดสติ หรือ อาละวาดเพราะมีประสาทหลอน หูแว่ว ตาฝาด ซึ่งต้องการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล มิฉะนั้น อาจถึงแก่ชีวิตได้

ดังนั้น ผู้ที่อดเหล้าควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการหยุดดื่มแอลกอฮอล์

วิธีการอดเหล้า-เลิกบุหรี่มีหลายวิธีให้เลือกได้ เช่น วิธีการทางการสาธารณสุขที่ใช้กันอยู่ คือ 5A. (Ask หรือถามการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่, Advise แนะนำให้เลิกเหล้า-บุหรี่, Assess ประเมินความพร้อมของการเลิกเหล้า-บุหรี่, Assist ให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือในการเลิกเหล้า-บุหรี่ และ Arrange การนัดหมายติดตามการเลิกเหล้า-บุหรี่) หรือวิธีของผู้รู้ คนโบราณ .ซึ่งมักจะเน้นไปที่วิธีการดูแลตนเอง เวลาเกิดความอยากเหล้า อยากบุหรี่ หรือหงุดหงิด โมโหเมื่อไม่ได้ดื่มฯ ไม่ได้สูบ หรือแม้แต่อกเหล้า เลิกบุหรี่แล้ว เกิดอยากกินอาหารที่อร่อยแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ (อร่อยเกินธรรมชาติ) มีขั้นตอนอยู่ 5 ขั้นตอน ที่จะเอาชนะ “ความอยาก” เหล้า-บุหรี่ที่เกิดขึ้นในใจอันนำไปสู่การอดเหล้า

เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด 5 ขั้นตอนตามลำดับ ได้แก่ ใช้คู่ปรับ นับโทษภัย ไม่รับรู้ ดุจางคลาย ใจบังคับ กล่าวคือ

✯ใช้คู่ปรับ

หมายถึง เมื่อมีความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ อยากกินอาหารอร่อยเกิน เกิดขึ้น ก็ให้คิดถึงเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความคิด ความอยากนั้นๆ หรือเป็น “คู่ปรับ” ของความอยากดังกล่าว เช่น ความคิด ความอยากดื่มน้ำชาเขียว สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด หรือ กินอาหารธรรมชาติที่เคยดื่มแล้ว สูดดมแล้ว กินแล้วสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีความสุข ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด จนสามารถละทิ้งความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่นั้นได้

✯นับโทษภัย

ถ้าใช้คู่ปรับแล้ว ยังไม่สามารถเอาชนะความอยากฯ ได้ ยังเกิดความคิด ความอยากดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ ก็ให้นึกคิด ระลึกถึงโทษภัยของเหล้า-บุหรี่ เช่น เสื่อม-เสีย (เสื่อมทรัพย์ สร้างศัตรู ไม่รู้อาย เสียชื่อ ซื่อบื้อ เหล้า-บุหรี่ คือโรค) จนความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จางหายไปเอง

✯ไม่รับรู้

ถ้าใช้การนับโทษภัยแล้ว เห็นโทษของการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่แล้ว ยังมีความคิด ความอยากเกิดขึ้นอีกอยู่เรื่อยๆ ก็ไห้ไม่คิด ไม่นึก ไม่ใส่ใจ ไม่รับรู้ โดยการปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก เดินหนีไปเสีย ความอยาก ความคิด ดื่ม สูบ เสพ ก็จะค่อยๆ หมดไป จางหายไป

✯ดุจางคลาย

ถ้าใช้การไม่รับรู้แล้ว ความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ยังเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ เมื่อเดินหนี หลีกหนีจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ทำให้เกิดความอยากดื่มสุรา สูบบุหรี่แล้ว ก็ให้สังเกตดูความจางคลายค่อยๆ หายไป ของความคิด ความอยาก ความรู้สึกนั้นๆ ว่า เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยกระตุ้นความคิดความอยาก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่แล้ว ความคิด ความอยาก ความรู้สึกอยาก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะจางคลายหายไปได้เอง

✯ใจบังคับ

ถ้าใช้การดูจางคลายแล้ว ความคิด ความอยากดังกล่าวยังไม่หายไปหมด ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องใช้วิธีสุดท้ายโดยการบังคับใจ เอาลิ้นดันเพดานปากด้านบนไว้ กัดฟันด้วยฟัน ข่ม บีบคั้น บังคับใจด้วยใจว่า จะไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เอื้อมมือไปหยิบแก้วเหล้า ไม่เอาบุหรี่ใส่ปาก เป็นต้น

ถ้าทำทั้ง 5 ขั้นตอนนี้แล้ว ยังไม่สามารถระงับยับยั้งความอยากเหล้า-บุหรี่ได้ คงต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในคลินิกอดเหล้า-เลิกบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโรงพยาบาลใหญ่ หรือที่สายด่วนเลิกเหล้า 1413, สายด่วนกรมควบคุมโรค ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600

ความสุขและความเคยชินเป็นได้ทั้งเหตุผลแห่งการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ และแรงจูงใจ-ความสำเร็จในการอดเหล้า-เลิกบุหรี่

คุณเลือกที่จะสร้างความสุขและความเคยชินไนชีวิตนี้ อย่างไร 

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 510 เดือนตุลาคม 2564

26 November 2564

By STY/Lib

Views, 3856

 

Preset Colors