02 149 5555 ถึง 60

 

อ.อดเหล้า-เลิกบุหรี่อย่างไร พึ่งตน พ้นภัยโรคร้าย (ตอนที 2)

อ.อดเหล้า-เลิกบุหรี่อย่างไร พึ่งตน พ้นภัยโรคร้าย (ตอนที 2)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

แอลกอฮอล์ เหล้า สุรา กับเอ็นซีดี (Rehm J. Addiction 2017;112:968)

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำสัมพันธ์กับการเพิ่ม

🢖 โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ

🢖 โรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ปอดบวม

🢖 โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจจากแอลกอฮอล์ หัวใจเต้นพลิ้วผิดจังหวะรุนแรง ความดันเลือดสูง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง (มักเกิดจากโรคตับแข็ง) อย่างไรก็ตาม ในฝรั่งชาวตะวันตก แอลกอฮอล์อาจสัมพันธ์กับการลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือด

🢖 โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งริมฝีปากและลิ้น เป็นต้น

🢖 ระบบประสาทและจิตเวช เช่น ลมชัก (ลมบ้าหมู) ภาวะซึมเศร้า

🢖 บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต จากการทำร้ายตนเองและ/หรือทำร้ายผู้อื่น

🢖 แม่และเด็ก เช่น แท้งบุตร โรคแทรกจากการคลอดก่อนกำหนด

🢖 โรคผิวหนัง เช่น โรคเรื้อนกวาง

ในปี พ.ศ.2559 การศึกษาเปรียบเทียบโทษภัยของการดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวในคนไทย ค่าเฉลี่ยของชาวโลกจาก 195 ประเทศ พบว่า คนไทยได้รับโทษภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และในทุกกลุ่มอายุ

ส่วนประโยชน์ของแอลกอฮอล์ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดที่พบในประเทศตะวันตก ไม่พบประโยชน์นี้ในคนไทยเลย (GBD 2016 Alcohol Collaborators. Lancet. 2018 PMID: 30146330)

ดังนั้น คนไทยควรช่วยกันลด-ละ-เลิกการดื่มแอลกอฮอล์อย่างรีบด่วน และไม่ควรแนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคหัวใจ

แอลกอฮอล์ กับพีเอ็ม 2.5

ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 2 นี้ สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น (Brenner DR. Prevent Med 2019; 122:3) อาจเพิ่มโอกาสโรคติดเชื้อในปอด นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 สูงในเมือง ไม่สามารถมีกิจกรรมกลางแจ้งหรือออกกำลังกายนอกบ้าน ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน เป็นช่วงเวลาที่เพิ่มการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นอีกด้วย

แอลกอฮอล์ กับไวรัสโคโรนา

ปี พ.ศ.2563 ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก การตายจากแอลกอฮอล์ของคนอังกฤษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2562 (ช่วงที่ไม่มีการระบาด) ร้อยละ 80 ของการตายจากแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับโรคตับจากแอลกอฮอล์ (เช่น ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ) (Lancet Gastroenterol Hepatol. 2021;6:11.)

การศึกษาไปข้างหน้า UK Biobank ในประชากรอังกฤษ 12,000 กว่าคน อายุ 50-83 ปี ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. พ.ศ.2563 ตรวจพบติดเชื้อร้อยละ 12.1 เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยเสี่ยงเมื่อ 10 ปีก่อนกับความรุนแรงของโรคโควิด-19 พบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำและอ้วนสัมพันธ์กับเพิ่มการตายจากโควิด-19 ประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่มฯ และไม่อ้วน (Fan X. Nutrients 2021;13:1592.)

นอกจากนี้ การปิดเมือง ถูกกักตัว เนื่องจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ทำอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ในหลายๆ ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-51 จากการศึกษา 32 การศึกษา ในช่วงโควิด-19 ระบาดเทียบกับก่อนระบาด (Bakaloudi DR. Clin Nutr. 2021, https://doi.org/10.1016/j.clnu.2021.04.020)

บุหรี่ กับเอ็นซีดี

โทษภัยจากการสูบบุหรี่มีหลายอย่างที่คล้ายกับการดื่มแอลกอฮอล์ แต่เพิ่มเรื่องเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Allen M. J Sex Med. 2018;15:458-475.) เพิ่มโอกาสตาบอดถาวร (Frifelt LEX. Acta Ophthalmol. 2021. doi:10.1111/aos.14897., Jain V. Int Optpalmol. 2017;37:291-301., Chakravarthy U. BMC Optpalmol. 2010;10:31.) โรคระบบทางเดินปัสสาวะ (Batmani S. BMC Geriatr. 2021;21:212.) และระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ลดมวลกระดูก เพิ่มความเสี่ยงกระดูกหัก ลดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น (AL-Bashaireh AM. J Environ Public Health. 2018.4184190.)

บุหรี่ กับพีเอ็ม 2.5

เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้สัมพันธ์กับเพิ่มโอกาสมะเร็งปอดและโรคปอดเฉียบพลันเรื้อรัง

นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจขาดเลือด) หลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (อัมพฤกษ์ อัมพาต)

บุหรี่ กับไวรัสโคโรนา

การรวบรวม 73 การศึกษาของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 960,000 กว่าคน พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่สูบบุหรี่สัมพันธ์กับการตายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (Hou H. Nicotine Tob Res. 2021;ntab112. Doi:10.1093/ntr/ntab112.)

การรวบรวม 19 การศึกษาของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 11,000 คน ร้อยละ 18 โรครุนแรงขึ้น ร้อยละ 6 สูบบุหรี่ พบว่า การสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโควิด-19 สัมพันธ์กับการเพิ่มความรุนแรงของโรค ร้อยละ 91 (Patanavanich R. Nicotine Tobac Res 2020,1653.) 

(อ่านต่อตอนหน้า•)

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 509 เดือนกันยายน 2564

25 November 2564

By STY/Lib

Views, 479

 

Preset Colors