02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 3)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่ 3)

DAILY ROUTIN OFR BETTER IMMUNITY กิจวัตรประจำวันสร้างภูมิคุ้มกันสู้โรคระบาด

นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (Vital) เครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า ในฐานะของแพทย์ที่ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ จึงอยากให้ประชาชนหันมาสร้างภูมิต้านทานให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรงเป็นพื้นฐาน โดยมี 2 ประเด็นหลักที่ต้องใส่ใจ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กินอาหารที่มีวิตามินเกลือแร่ครบถ้วน เนื่องจากเราพบว่าในช่วงการระบาดคนกินอาหารสดน้อยลง วิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการล้วนอยู่ในผักผลไม้สด

“ผมขอส่งเสริมให้ทุกๆ ท่านมองหาตลาดหรือห้างสรรพสินค้าที่มีอาหารสดขายและเข้าถึงได้ง่าย ขอให้มีผักผลไม้สดในทุกๆ มื้อ”

ประเด็นที่ 2 หมั่นออกกำลังกาย ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิดมีตัวเลขที่น่าสนใจในอเมริกาที่สำรวจพบว่าประชากรร้อยละ 40 มีน้ำหนักขึ้นคิดเป็นร้อยละ 10 จากน้ำหนักตั้งต้น

เมื่อพิจารณาปัญหาสุขภาพลงไปในรายละเอียดระดับกลุ่มประชากร เราจะเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น โดยพบว่าในช่วงการระบาดของโควิดทำให้ผู้ชายมีการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากขึ้น ส่วนผู้หญิงมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เด็กๆ ก็ไม่ได้วิ่งเล่นในพื้นที่กว้างๆ ตามปกติ ประกอบกับต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ทำให้ขาดการออกกำลังกายและจิตใจพลอยหดหู่ลงไปด้วยเพราะขาดการพบปะเล่นกับเพื่อนๆ ตามวัย

“สรุปว่า ทุกเพศทุกวัยมีรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและมีความเครียดสะสมมากขึ้น จึงส่งผลให้มีแนวโน้มภูมิคุ้มกันลดลงไปโดยปริยาย”

เมื่อเห็นปัญหาเช่นนี้ นายแพทย์สมบูรณ์จึงระบุถึงแนวทางการฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันสู้โควิดไว้ 4 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 ทำความเข้าใจเรื่องการเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ถูกต้อง

“ทุกคนทราบดีว่าการรับวัคซีนไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ติดเชื้อ ยิ่งเวลาผ่านไปโอกาสที่จะติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้น หรือกรณีที่เคยติดโควิดแล้ว ตอนนี้เราก็พบว่ามีคนไข้ติดโควิดรอบ 2 เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์”

“ดังนั้น การหวังพึ่งวัคซีนหรือยารักษา ผมอยากให้มองว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งที่เราปฏิบัติเป็นกิจวัตรทุกวันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องตั้งใจทำให้ต่อเนื่อง”

ข้อที่ 2 ควบคุมน้ำหนัก

“ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า หากคุณมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หากในช่วงโควิดระบาดนี้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนร่วมด้วยให้นับเป็นตัวคูณที่จะทำให้อาการโควิดรุนแรง”

“ดังนั้น เราต้องหมั่นควบคุมน้ำหนัก ดูแลเรื่องอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อตัดปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ออก อีกเรื่องที่อยากให้ฝึกเป็นประจำคือ การหายใจเข้า-ออกให้ลึกและยาวเพื่อเสริมสมรรถภาพปอด”

ข้อที่ 3 พักผ่อนให้มีคุณภาพ

“ต้องยอมรับว่า คนวัยทำงานหลายคนเมื่อต้องทำงานแบบ Work from Home ก็จะนอนดึก จึงอยากจะเตือนเรื่องการจัดสรรเวลาให้มีการเข้านอนตรงเวลาและสม่ำเสมอในเวลาเดิมทุกวัน จะทำให้คุณภาพการนอนหลับดี เมื่อคุณหลับลึก ร่างกายได้พักผ่อนให้เต็มที่ ภูมิคุ้มกันถึงจะดีครับ”

ข้อที่ 4 มองเห็นช่องว่างในการดูแลสุขภาพ

“โควิดทำให้เราเห็นว่า คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่ดีจะมีโอกาสรอดสูงกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้น้อยกว่า”

“สิ่งที่ผมอยากจะฝากคือ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากมีโอกาสจะส่งต่อหรือให้ความช่วยเหลือด้านใดได้ก็ควรทำ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้เราต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้สมาชิกในสังคมที่เดือดร้อนผ่านช่วงวิกฤติเช่นนี้ไปให้ได้”

“ที่ผ่านมาผมเองมีโอกาสได้ไปช่วยให้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพใน Club House ซึ่งเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งในการสื่อสาร ส่วนตัวผมคิดว่า เรื่องสุขภาพเราต้องลงมือทำและทำได้ทันที โดยเนื้อหาที่สื่อสารบ่อยๆ คือ เรื่องอ้วน เพราะจะเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงทำให้อาการโควิดรุนแรงขึ้น”

ในช่วงท้ายนายแพทย์สมบูรณ์ได้แนะนำวิธีดูแลสุขภาพใบแบบที่ตนเองปฏิบัติเป็นประจำ 4 ข้อ ดังนี้

❖ ออกกำลังกายช่วงเช้า

ตื่นมาแล้วบริหารร่างกาย ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เน้นการวิดพื้นและทำไซด์แพลงก์เพื่อให้แกนกลางลำตัวแข็งแรง มีการพักเพื่อนวดท้องเป็นการกระตุ้นระบบขับถ่าย

❖ มีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ

ส่วนตัวใช้วิธีเดินเป็นหลัก ตอนแรกเป็นการแก้ปัญหารถติด เพราะถ้าขับรถจะใช้เวลาบนท้องถนนนานมาก พอเลือกวิธีเดินแล้วประหยัดเวลาได้มากกว่า แต่พอทำบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นพฤติกรรมสร้างสุขภาพไปโดยปริยาย

❖ อาหารเน้นผักผลไม้

ต้องมีผักผลไม้สดและโยเกิร์ตติดตู้เย็นไว้เสมอ ลดแป้งในอาหารแต่ละมื้อ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ

❖ กินวิตามินและแร่ธาตุ

หลักๆ มีดังนี้

วิตามินซี เน้นการกินจากผักผลไม้สด ถ้าไม่ได้ให้กินวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติวันละ 500-1000 มิลลิกรัม

วิตามินดี แนะนำที่วันละ 2,000 IU

อื่นๆ ได้แก่ โฟเลต สังกะสี และโอเมก้า-3

❖ กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น

ไม่ควรเกิน 19.00 น. และต้องเป็นอาหารเบาๆ ที่ย่อยง่าย เพื่อระบบย่อยจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก เน้นผักผลไม้สดและอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ ลดการเกิดกรดไหลย้อนและทำให้คุณภาพการนอนหลับดี

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

17 November 2564

By STY/Lib

Views, 804

 

Preset Colors