02 149 5555 ถึง 60

 

มุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่1)

CONVENTIONAL MEDCINE ASPECTมุมมองจากแพทย์แผนปัจจุบันต่อวิกฤติสุขภาพปี 2564 (ตอนที่1)

เรื่องพิเศษ... เรื่องโดย... ศิริกร โพธิจักร, ปกวิภา

5การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2019 จนถึงปัจจุบัน แม้จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสั่นสะเทือนระบบสาธารณสุขทั่วโลก แต่ก็นับเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งที่ทำให้เราทุกคนเห็นคุณค่าของการดูแลสุขภาพว่า “Health Is Wealth”

เมื่อสุขภาพดี สมาชิกในสังคมมีความสุขกายสบายใจ เศรษฐกิจระดับประเทศและระดับโลกก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

เนื่องในโอกาสครบรอบ 23 ปี ชีวจิต เราขอเป็นสื่อกลางในการรวบรวมองค์ความรู้และข้อคิดจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพสาขาต่างๆ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุดพิเศษให้ท่านผู้อ่านในวาระพิเศษครั้งนี้ค่ะ

RETROSPECTIVE VIEW FOR THE BETTER SOLUTIONมองโรคระบาดในประวัติศาสตร์ สู่การรับมือในอนาคต

แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัยทำงานและแพทย์เฉพาะทางด้าน Neuro Dermatology Anti-aging อธิบายว่า แม้ว่าโรคโควิดจะเกิดการระบาดยาวนานมา 2 ปี ลักษณะการระบาดแบบนี้ไม่ใช้ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลก ในอดีตเคยมีการบันทึกการระบาดในวงกว้างทั่วโลกหรือ Pandemic หลายครั้ง หลานคราตั้งแต่สมัยโรมัน อันได้แก่ กาฬโรค อหิวาต์ ไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่สเปน ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย เป็นต้น แต่ครั้งนี้เป็นว่าแตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดความสูญเสียต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจระดับมหภาคทั่วโลก

“สถานการณ์สุขภาพโลกตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกด้วยเหตุที่โลกแคบลง เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ผู้คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันทั่งโลกในหนึ่งวัน โรคติดต่อจึงเดินทางติดต่อง่านขึ้น ดังนั้น มาตรการทางสุขภาพของคนที่ต้องการเดินทางควรต้องเข้มงวดขึ้น ก่อนจะเดินทางไปไหนต้องใส่ใจเรื่องการป้องกันตัวเองกันมากขึ้น และต้องถือปฏิบัติให้ได้แบบเป็นกิจวัตร”

“แม้แต่ในการใช้ชีวิตปกติ ผู้คนไม่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก เราต้องปรับตัวให้ได้กับการมีกิจวัตรประจำวันแบบ New Normal ที่ต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยกันมากขึ้น นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเว้นระยะห่าง เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน ทุกวันต้องล้างมือกันมากขึ้น บ่อยขึ้น การใส่แมสก์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายไปแล้ว ไปไหนมาไหนก็พกสเปรย์แอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือแอลกอฮอล์กันเป็นปกติ”

แพทย์หญิงสาริษฐาอธิบายต่อว่า ด้วยเหตุนี้ภูมิคุ้มกันจึงมีความสำคัญต่อสุขภาวะของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้นหลายเท่าตัว

“เมื่อก่อนคนกลัวมะเร็ง กลัวเป็นอัมพาต กลัวหัวใจวาย ตอนนี้คนกลัวเชื้อไวรัสมากกว่ามะเร็ง แต่ทั้งมะเร็งและไวรัสเป็นเรื่องของภูมิต้านทานของร่างกาย ดังนั้นเราต้องเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเม็ดเลือดขาว เพราะเม็ดเลือดขาวสู้ทั้งสู้ทั้งมะเร็งและเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้นต้องทำให้เม็ดเลือดขาวมีความจำที่ดีในการแยกแยะเชื้อโรคและเซลล์ที่ผิดปกติ”

“เม็ดเลือดขาวที่ดีต้องแยกแยะได้ว่าสิ่งนี้เป็นเชื้อโรค เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เจอเซลล์ผิดปกติต้องทำลาย และจำได้ว่าเคยทำลายเชื้อโรคตัวนี้ไปแล้วหรือเซลล์เจริญผิดปกติไปแล้ว ครั้งหน้าและครั้งต่อๆ ไปเจอเชื้อโรคตัวนี้อีกหรือเซลล์เกิดเจริญผิดปกติอีกก็ต้องสู้ได้และทำลายได้เหมือนเดิม”

“การจะทำให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ Mind, Body and Soul ใจ กาย และจิตวิญญาณ การที่จะทำให้ภูมิต้านทานดี กาย ใจ และจิตวิญญาณต้องดีจากข้างในเลย ไม่อย่างนั้นเม็ดเลือดขาวไม่เข้มแข็ง ร่างกายแข็งแรง ใจต้องไม่เครียด จิตวิญญาณต้องนิ่งพอ จึงจะทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“การสร้างจิตวิญญาณให้เข้มแข็งคือใจเราต้องคิดบวก มันจะทำให้จิตวิญญาณเกิดพลัง บางครั้งการคิดลบก็เป็นการสอนให้มองเห็นข้อเสีย โควิดสอนให้เรารู้จักปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ถ้าเราไม่รู้จักโควิด เราก็จะปล่อยตัวตามสบาย ไม่ระวังตัวว่าจะรับเชื้อโรคมา หรือจากคนปกติที่แทบไม่สนใจอ่านหนังสือเลยหรืออ่านน้อยมาก แต่พอมีโควิดก็ต้องหาข้อมูลอ่านกันใหญ่ว่าโควิดคืออะไร จะป้องกันตัวอย่างไรเพื่อเอาตัวรอด ดังนั้น การมีโควิดซึ่งเป็นเรื่องร้ายแต่ในอีกมุมหนึ่งก็สอนให้เรารู้จักเอาตัวรอด”

“การคิดบวกคือการมองหาเรื่องดีๆ ในสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว เช่น ก่อนหน้าโควิดบางคนทำแต่งานไม่เคยคิดถึงพ่อแม่ แต่พอมีโควิดก็คิดถึงพ่อมามากขึ้น คอยสอบถามว่าพ่อแม่หรือคนที่เรารักฉีดวัคซีนหรือยัง บางคนไม่เคยส่งของกินให้พ่อแม่ ช่วงมีโควิดหมอเห็นหลายคนสั่งอาหารออนไลน์ไปส่งให้พ่อแม่กันมากขึ้น”

“การระบาดของโควิดมันเหมือนสงครามเชื้อโรค เป็นมหัตภัยในโลก แต่เราก็ได้เห็นการช่วยเหลือกันของผู้คน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ได้เห็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่สนใจกัน ก็มารวมตัวช่วยเหลือกัน และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั่งโลกก็เป็นแบบนี้ ข้อดีของโควิดคือทำให้มนุษย์รักกันมากขึ้น”

ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยป้องกัน

1. เลี่ยงการกินอาหารหวานมาก เค็มจัด แป้งเยอะ ไขมันทรานส์ อาหารแปรรูป เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างแป้งและอาหารหวานเป็นตัวทำลายภูมิคุ้มกัน ไขมันทรานส์ทำให้คอเลสเตอรอลสูง ระบบเลือดไม่ดี ภูมิคุ้มกันก็พลอยไม่ดีไปด้วย

2. ลดการดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่

3. พยายามไม่กังวล ไม่คิดลบ ไม่เครียด

4. ไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอันตราย สารพิษ สารเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงลดการใช้สารในชีวิตประจำวันหรือใช้ให้ถูกวิธี เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นด่าง กลิ่นแรง ก็ควรใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือ ใส่รองเท้าในการทำความสะอาด ไม่ควรสัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้โดยตรง

5. ลดการใช้ชีวิตหักโหมแบบที่ฝรั่งเรียกว่า bad hygiene เช่น นอนน้อย ไม่ระวังการใช้ชีวิต ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหว

6. กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น กินโปรตีนที่มีคุณภาพ กินผักผลไม้เป็นประจำ ดื่มน้ำวันละ 1-1.5 ลิตร

7. นอนอย่างมีคุณภาพอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และนอนให้หลับสนิท ถ้ามีปัญหาเรื่องการนอนควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อแก้ไขให้สามารถนอนหลับได้อย่างปกติ

8. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัยเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

9. ฝึกให้มีจิตวิญญาณที่ดี จึงจะเกิดภูมิต้านทานที่ดี เพราะถ้าจิตวิญญาณไม่เข้มแข็ง ก็ยากที่จะมีความคิดบวก การสร้างจิตวิญญาณที่เข้มแข้งก็ใช้ชีวิตตามศาสนาที่นับถืออยู่ อย่างถ้าเป็นพุทธก็คือการฝึกสมาธิ หรืออาจใช้เวลาอยู่นิ่งๆ เงียบๆ กับตัวเอง จะช่วยให้มีพลังเพิ่มขึ้นมา เหมือนการรีเซตระบบร่างกาย

10. หากิจกรรมอื่นๆ ทำนอกเหนือจากการใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวี และโทรศัพท์มือถือ

อ่านต่อตอนหน้า

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 553 เดือนตุลาคม 2564

16 November 2564

By STY/Lib

Views, 652

 

Preset Colors