02 149 5555 ถึง 60

 

หนทางเยียวยากายและใจช่วงโควิดฉบับผู้ป่วยซึมเศร้า

DEPRESSION DIARY หนทางเยียวยากายและใจช่วงโควิดฉบับผู้ป่วยซึมเศร้า

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทุกคนล้วนมีความเครียด ความวิตกกังวลไปต่างๆนานา โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นทุนเดิม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจยิ่งส่งผลให้สภาพจิตใจของพวกเขาย่ำแย่ลง

วันนี้ชีวจิต จึงได้รวบรวมเคล็ดลับการจัดการความเครียดในช่วงโควิดจากผู้มีประสบการณ์ตรง ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้า แต่ละคนจะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง ต้องมาติดตามกัน...แต่ก่อนที่จะไปอ่านเรื่องราวของพวกเขา เราต้องขอบอกก่อนว่าบางเรื่องอาจมีผลต่อจิตใจของคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย ดังนั้นควรใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะคะ

กว่าฉันจะได้พบจิตแพทย์

คนไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าผู้ที่ต้องเข้าพบจิตแพทย์นั้นเป็นคนวิกลจริตหรือมีปัญหาทางจิตอยู่เสมอ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับจิตแพทย์

เช่นเดียวกับครอบครัวของคุณอัลมอนด์(นามสมมติ) ที่ในตอนแรกยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องโรคซึมเศร้าอย่างถ่องแท้ และไม่สนับสนุนให้เธอไปพบจิตแพทย์ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับหน้าที่การงาน จนในวันหนึ่งมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เธอมีโอกาสพบจิตแพทย์ตามที่ผู้ป่วยซึมเศร้าคนหนึ่งสมควรได้รับการรักษา

“ความกดดัน”บ่อเกิดของภาวะซึมเศร้า

“มันเริ่มมาจากความผิดหวังต่อแผนการเรียน” คุณอัลมอนด์กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย ก่อนจะเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของโรคที่หลายคนอาจละเลย

“หลังจากที่เราเรียนจบปริญญาตรีก็ได้ไปเรียนประกาศนียบัตรอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะนำไปสอบอาชีพที่ครอบครัวอยากให้เป็น ซึ่งเราก็ได้มีการวางแผนและเตรียมตัวอย่างดี แต่พอผลออกมาว่าไม่ผ่าน ทำให้รู้สึกรับไม่ได้ แผนที่วางไว้พัง เหมือนเราแหลกสลายเลย เพราะถูกปลูกฝังว่าสิ่งนี้คือแผนชีวิตของเรา แม้จะไม่ใช่ความต้องการของเราเอง เราก็ยังอยากให้ครอบครัวมีความสุขกับสิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้

“พออายุ 24 ปี เรียนจบทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และสอบประกาศนียบัตรนั้นผ่าน เราก็ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และยังคงต้องอ่านหนังสือสอบต่อไป เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสในหน้าที่การงานมากขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่เวลาที่เราอ่านหนังสือสอบจะรู้สึกทุรนทุราย ควบคุมตัวเองไม่ได้อ่านไม่รู้เรื่อง บางทีก็ร้องไห้ออกมา และเราสูญเสียความมั่นใจในทุกๆเรื่อง รู้สึกห่อเหี่ยว ไม่อยากทำอะไร จนเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน ที่บ้านจึงให้ลาออกจากงานเพื่อมาโฟกัสในการอ่านหนังสือสอบอย่างเดียว”

จิตแพทย์คือคำตอบ

ก่อนหน้านั้นคุณอัลมอนด์เคยสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า จึงลองทำแบบทดสอบบนอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่าผลออกมาตามที่เธอคาดไว้เธอเล่าต่อว่า

“พอกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น อ่านหนังสือสอบได้แค่วันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น จนคนในบ้านเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมลาออกแล้วไม่อ่านหนังสือล่ะ ไม่มีใครเคยรู้ปัญหาของเรา ทำให้เริ่มมีปากเสียงกันและปัญหาก็หนักขึ้นเรื่อยๆ

“จนวันหนึ่งรู้สึกไม่ไหว ไม่อยากทะเลาะกับครอบครัวอีก เราอยากไปจากโลกนี้เพื่อจบปัญหา จึงเขียนจดหมายลาไว้เรียบร้อย แต่ตอนนั้นยังโชคดีที่เราไม่ได้ลงมือทำ เลือกเอาจดหมายไปยื่นให้คุณพ่อคุณแม่แทน ทุกคนก็ช็อกนะ แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนสมัยเก่าที่ไม่ได้มีความเชื่อว่าการที่เรามีความเครียด มีความเจ็บป่วยทางจิตใจจะส่งผลต่อชีวิตได้ และเชื่อว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์ต้องเป็นโรคจิตเท่านั้น เราเลยยังไม่มีโอกาสได้ไปหาหมอ”

ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทุกคน จนมีอีกหลายครั้งที่เธอพยายามจะจบชีวิตลง แต่โชคดีที่ปฏิกิริยาของร่างกายยังพยายามมีชีวิตต่อไป ทำให้เธอรอดพ้นจากนาทีชีวิตเหล่านั้น

“เราขับรถไม่เป็น ไม่สามารถไปไหนคนเดียวได้ และไม่อยากโกหกที่บ้านถ้าจะต้องออกไปข้างนอก จึงโหลดแอพพลิเคชั่นชื่ออูก้า (OOCA) ซึ่งอยากแนะนำให้คนที่ไม่รู้จะปรึกษาใคร แอพนี้สามารถคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ติดต่อได้รวดเร็วทันใจ แต่จะมีค่าใช้จ่าย 1,500 ต่อ 30 นาที การคุยครั้งนั้นเราคุยแบบวิดีโอคอลเล่าถึงปัญหาทั้งหมด คุณหมอก็ประเมินทุกอย่างอธิบายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ให้กำลังใจ และแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อรับยามากิน เพราะแอพนี้จะไม่สามารถจ่ายยาให้ได้

“เรายังคงพยายามขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่เพื่อไปพบจิตแพทย์ แต่ก็ยังไม่ได้ผล จนอยู่มาวันหนึ่งฝันว่าตัวเองโดนทำของใส่ ปะกอบกับตอนนั้นรู้สึกเครียด ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้เรื่องความฝัน พวกท่านก็ตกใจ คุณแม่จึงโทรศัพท์ไปหาพระอาจารย์ที่รู้จัก แต่หลวงพ่อกลับบอกว่าเราไม่ได้โดนทำของใส่หรอก ให้พาไปพบจิตแพทย์ พวกท่านจึงพาเราไปพบจิตแพทย์ตามคำแนะนำของพระอาจารย์(หัวเราะ)

“สิ่งนี้เป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมไทย เราอยากบอกว่าเวลาใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาแล้วอยากไปพบจิตแพทย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว คุณเป็นคนที่เก่งมาก แก้ปัญหาได้ถูกจุด คือเลือกที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญ การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในขณะเดียวกันก็อยากให้คนรอบข้างช่วยสนับสนุน หรือไปเป็นเพื่อนและคอยให้กำลังใจเขาด้วย จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยค่ะ

เคล็ดลับรักษาซึมเศร้าช่วงโควิด-19

กว่าคุณอัลมอนด์จะได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เวลาก็ล่วงเลยมาถึงช่วงพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิดพอดี

“ปีที่แล้วเราเปลี่ยนโรงพยาบาลถึงสองที่ เพราะเราต้องการรักษาที่ได้ใช้เวลาพูดคุยกับคุณหมอและไม่มีค่าใช้จ่ายสูงจนเกินไป ในที่สุดปีนี้เราก็เปลี่ยนโรงพยาบาลอีก เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเกี่ยวกับจิตเวชรู้สึกว่าโอเคกับเรา คุณหมอรับฟังปัญหาทุกอย่างจนจบแต่ยังไม่ตัดสินว่าเป็นโรคซึมเศร้าที่มาจากสมาธิสั้นด้วยหรือเปล่า จึงให้ยาเพื่อไปเสริมสมาธิตรงนี้ร่วมกับการกินยารักษาอาการซึมเศร้าตัวอื่นๆ

“เราเริ่มมีปัญหาเรื่องการทำร้ายร่างกายตัวเองเวลาที่รู้สึกระบายออกมาไม่ได้ คุณหมอก็ถามว่าเราทำเพราะอยากจะสื่อสารกับใคร ต้องการอะไร โดยที่เขาไม่ตำหนิ เปิดใจรับฟัง ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาตรงนี้ คุณหมอเสนอวิธีแก้ปัญหาจากที่เราไม่สามารถสื่อสารให้ใครเข้าใจ โดยให้เราเขียนความรู้สึกเหล่านั้นลงในกระดาษ พร้อมกับเขียนสาเหตุและสิ่งที่เราอยากทำในตอนนั้น หลังจากที่ลองนำไปใช้ ทำให้เราตะหนักได้ว่านอกจากทำร้ายร่างกายตัวเอง เราสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย สำหรับเราถือเป็นวิธีที่เวิร์คมากค่ะ

“ส่วนการรักษาในช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ เช่นนี้ทางโรงพยาบาลก็จะมีระบบการรักษาคือ หนึ่ง แอพพลิเคชั่นเพื่อการนัดหมาย สอง ไลน์สำหรับการเงิน และสาม ไลน์ทั่วไปเพื่อที่คุณหมอจะใช้โทร.หรือมีการพูดคุยรับคำแนะนำผ่านวิดีโอคอล จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็จะโทร.มาสอบถามอาการ แล้วสั่งจ่ายยาผ่านทางไลน์และส่งยามาให้ทางไปรษณีย์

“วิธีเยียวยาจิตใจของเราในตอนนี้คือกลับไปทำในสิ่งที่ชอบ เช่น เราชอบวาดรูป ไม่ได้วาดมานาน ก็ลองกลับไปทำดู แต่ต้องไม่ยึดติดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยเราได้ ให้คิดว่าสิ่งนี้เป็นกิจกรรมที่ดี สนุก และเราอยากทำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีจากคุณหมอที่สอนไม่ให้เรายึดติด เราไม่อยากให้ผู้ป่วยทุกคนมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต แม้เราอาจไม่สามารถขจัดโรคนี้ออกไปได้ทันที แต่เราสามารถหาทางอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้าอย่างมีความสุขได้นะคะ”

การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะคุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาจสูญเสียเขาไปเมื่อไหร่...

WORK FROM HOME ที่ต้องเผชิญซึมเศร้า

ความเครียดในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องเผชิญ เพราะไม่สามารถแยกสถานที่ทำงานออกจากบ้านได้ ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน ทำงานไม่เป็นเวลา จนอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด คุณต้นข้าว-ศุภาพิชญ์ พู่นำชัย วัย 25 ปี ก็เป็นอีกคนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตในยุคที่มีโรคอุบัติใหม่นี้ เพราะต้องทำงานที่บ้านแบบไม่ทันตั้งตัว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันค่ะ

เมื่อภาวะซึมเศร้ารุมเร้าระหว่าง WFH

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ หลายบริษัทปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นรูปแบบไฮบริด ซึ่งทำให้หลายคนอาจไม่คุ้นชิน และต้องอยู่แต่บ้าน ส่งผลให้รู้สึกขาดแรงบันดาลใจในการผลิตผลงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายครีเอทีฟอย่างคุณต้นข้าว

“ปกติข้าวเป็นคนประเภท Extrovert ชอบเข้าสังคมมากๆ คิดอะไรปุ๊ปก็จะต้องทำเดี๋ยวนั้นให้สำเร็จ พอจู่ๆวันหนึ่งมีโควิดระบาดในประเทศไทย เป็นสถานการณ์ที่ใหม่มากๆ ทำให้ทุกอย่างกะทันหันไปหมด บริษัทที่ทำงานอยู่ก็เริ่มมีการลดคน ข้าวต้องทำงานแบบมัลติฟังก์ชันหรือทำทุกอย่างแทบทุกกระบวนการด้วยตัวเอง เราก็ปรับตัวไม่ถูก จนเริ่มเกิดความเครียดมากขึ้น

“ตอนนั้นข้าวรู้สึกแพนิกไปหมดทุกอย่าง มีอาการย้ำคิดย้ำทำ ขาดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ไม่อยากทำอะไรเลย รู้สึกเหนื่อยแบบแค่เปิดตู้เสื้อผ้าเลือกชุดก็เหนื่อยแล้ว นอนร้องไห้ทุกวัน จนรู้สึกว่าการผ่านไปแต่ละวันยากมาก โหยหาตัวเองคนเก่าที่มีพลังในการทำทุกอย่างสูง และแน่นอนว่าความรู้สึกเหล่านั้นเริ่มส่งผลกระทบกับการทำงาน คือคิดงานไม่ออก ประสิทธิภาพลดลง ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการ

“พอเริ่มกระทบกับการทำงาน ข้าวก็พยายามศึกษาหาข้อมูลอาการที่เกิดขึ้นกับเรา ก็พบว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้าระยะเริ่มต้น แต่ก็ไม่ได้ลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์ เพราะเรารู้สึกว่าตรงนี้เป็นปัญหา ควรที่จะได้รับการแก้ไข เพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับเรื่องโรคซึมเศร้ามากพอ แต่ข้าวอยากให้ทุกคนมองว่าสภาพจิตใจของเราก็เหมือนกับร่างกาย เมื่อใช้งานหนักก็มีป่วย มีบาดแผล เป็นเรื่องปกติ ไม่น่ากลัวหรือน่าอายอะไร ถ้ายิ่งปล่อยไว้นาน ปัญหาก็อาจจะใหญ่ขึ้น ข้าวจึงตัดสินใจหาหมอทันที”

เมื่อไปพบจิตแพทย์ เธอได้เล่าถึงปัญหาชีวิตที่ผ่านมาที่คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า คุณหมอได้สอบถามและประเมินอาการ ผลปรากฎว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้าอย่างที่คาดไว้จริงๆ

“การรักษาในตอนแรกมีการพูดคุยกับคุณหมอคล้ายๆ กับการทำแบบทดสอบ แล้วจึงมีการจ่ายยาให้มาค่อนข้างหลายเดือนเพราะติดเรื่องของโควิดด้วย การรักษาจึงดูลำบากในการที่จะต้องไปโรงพยาบาล ข้าวได้รับยาตัวที่เป็นยานอนหลับ ยาปรับอารมณ์ และยาต้านเศร้า แต่พอกินยาไปประมาณ 1 เดือนก็มีการปรับยา เพราะมีอาการแพนิกมาก นอนไม่หลับ คุณหมอเลยให้ยานอนหลับชนิดที่แรงขึ้น และยาอื่นๆก็มีเพิ่มโดสขึ้นมานิดนึง พอปรับยาแล้วอาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ”

SOCIAL MEDIA DETOX

เมื่อประมาณช่วงต้นปีนี้ คุณต้นข้าวมีโอกาสได้เปลี่ยนงานใหม่ ทำให้รู้สึกได้ถึงสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น จึงหยุดใช้ยาด้วยตนเองละไม่ได้ไปตามนัดหมายของคุณหมอ ซึ่งเธอไม่แนะนำให้ทำตาม

“ปัจจุบันสถานการณ์โควิดที่ระบาดหนักก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราเหมือนกันในบางวัน ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะที่เราหยุดกินยาเองด้วยหรือเปล่า ข้าวเลยพยายามทำโซเชียลดีท็อกซ์ (Social Media Detox) ทุกเดือน โดยการลบแอพพลิเคชั่นที่เราไม่ได้ใช้ทำงานออกไป เช่น อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึงเลิกติดตามแอ๊กเคานต์ที่เรารู้สึกว่าเขาเป็น Toxic People หรือให้พลังงานด้านลบกับเรา

“แต่ด้วยงานที่ข้าวทำในตอนนี้เกี่ยวกับด้านดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการติดตามสื่อโซเชียลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จึงทำโซเชียลดีท็อกช์ได้มากสุดประมาณ 2 เดือน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ข้าวก็ค้นพบว่าไม่รู้สึกเหนื่อยเหมือนเมื่อก่อน เหมือนได้ชาร์จแบตให้จิตใจของตัวเอง มีเวลาทำในสิ่งที่ชอบและผ่อนคลายอย่างการเล่นเกม อยากให้ทุกคนลองหาเวลาให้ตัวเองบ้างนะคะ”

ปัจจัยของความสุขมักมาจากการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัด เพราะเราสามารถใช้กิจกรรมเหล่านั้นเป็นเครื่องมือช่วยลดความเครียดและสร้างความผ่อนคลายได้นั่นเอง

สู้ซึมเศร้าในวัย 20+

ในปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ราวๆปี ค.ศ.2030 ทั่วโลกจะมีอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจนเป็นภาระด้านสาธารณสุขของทุกประเทศ และอาจส่งผลให้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตายพุ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี

ทำให้เราเริ่มเห็นว่าอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยซึมเศร้าจะอยู่ในช่วงอายุที่น้อยลง บางคนอาจเป็นตั้งแต่วัยรุ่น แต่ด้วยสังคมไทยอาจยังไม่ตระหนักเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากพอ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อร่างกาย จนทำให้อาจมองข้ามไปเหมือนกับ คุณกาเก้า-ปพิชญา

(ขอสงวนนามสกุล) หรือ คุณเก้า ที่มีภาวะซึมเศร้ามานานอยู่หลายปี

โรคซึมเศร้าที่มาจากผลพวงในวัยเด็ก

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยซึมเศร้ามาแล้วหลายต่อหลายราย คุณเก้าก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าภาวะซึมเศร้าของตนเองอาจถูกสะสมมาตั้งแต่ในวัยเด็ก

“อาจเป็นเพราะเราอยู่กับคุณย่ามาตั้งแต่เด็ก สนิทกับคุณย่ามากๆ โดยไม่สนิทกับคุณพ่อคุณแม่เท่าไร พอคุณย่าเสีย เราเลยกลายเป็นคนที่เก็บตัวไม่ค่อยออกไปไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ทำงานตลอด ทำให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เต็มที่ก็แค่ถามคำถามทั่วไป ไม่ได้มีการแสดงความรักอะไรทั้งสิ้น

“พอมาเรียนมหาวิทยาลัย เรามีแฟนที่คบกันมา 3 ปี ตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย เขามีพฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกายเรา ส่วนเราก็กลายเป็นคนที่หวาดระแวง วิตกกังวลตลอดเวลา จนเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราด อารมณ์แปรปรวน ตอนนั้นก็ยังไม่ทันคิดว่าตัวเองป่วย เพราะเหมือนเป็นนิสัยของมนุษย์คนหนึ่งมากกว่า

“เพื่อนที่เรียนทางด้านสังคมสงเคราะห์เห็นว่าพฤติกรรมของเราไม่ปกติ จึงแนะนำให้ไปหาหมอ แต่เราก็ยังสงสัยว่าทำไมต้องไป เพราะตอนนั้นยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้า ต่อมาเรามีแฟนเป็นผู้หญิง คุณแม่ก็ไม่เข้าใจในความชอบของเรา ไลน์มาต่อว่าทุกวัน เราก็เกิดความรู้สึกผิดต่อตนเอง คิดว่าไม่น่าเกิดมาเลย ไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว จึงพยายามจบชีวิตของตัวเองมาหลายวิธีด้วยกัน”

“โรคซึมเศร้า” แค่รักษาก็สามารถหายได้

โชคดีที่คุณเก้ายังมีเพื่อนที่ดี แนะนำให้เธอทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าแล้วไปพบจิตแพทย์ เธอเล่าว่า

“เก้าได้รับการรักษาจริงๆตอนอายุ 20 ปี คุณหมอเห็นว่าบริเวณข้อมือของเรามีแผลเต็มไปหมด จึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เดือนแรกที่ได้ยามากิน เรารู้สึกว่าอาการหนักกว่าเดิม มีอารมณ์รุนแรงจนต้องเลิกกับแฟน รู้สึกอยากทำร้ายตัวเองตลอดเวลา พอเปลี่ยนเป็นยาชุดที่ 2 เก้ารู้สึกอ่อนเพลียตลอดทั้งวันจนไม่สามารถไปเรียนได้ ร่วมกับความรู้สึกที่ต่อต้านสังคม ทำให้เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง คุณหมอก็เปลี่ยนยาให้อีก พอเห็นว่ามีอาการดีขึ้น เก้าจึงหยุดใช้ยาด้วยตัวเอง

“จนหยุดยามาได้ 6 เดือน ผลก็กลับมาป่วยอีก ซึ่งตอนนั้นอยู่ในวัยทำงานต้องปรับตัวกับสังคมใหม่ๆ งานมีความเครียด มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานเพราะเราเป็นคนไม่มีปฏิสัมพันธ์ เก้าเลยกลับไปกินยาอีกครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น จนต้องพบจิตแพทย์ใหม่ และคุณหมอได้ให้ยาตัวใหม่มา ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ เช่น คลื่นไส้ เวียนหัว ปากและคอแห้ง ความจำหายไปชั่วคราว เราก็แจ้งคุณหมอและได้ปรับยาใหม่อีกครั้งจนเข้ากับร่างกายเรา

“ตอนนี้ถือว่าอารมณ์เสถียรแล้ว และคุณหมอยังบอกอีกว่าอีก 3 เดือนจะให้ลดยาหลังจากนั้นก็หยุดยาได้ แต่เราก็ยังกังวลว่าถ้าไม่มียา เราจะอยู่ได้แบบปกติจริงไหม แต่คุณหมอก็บอกว่าผู้ป่วยซึมเศร้าเมื่อหยุดยาแล้วสามารถมีชีวิตได้เหมือนเดิมโดยไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไปค่ะ”

ปรับพฤติกรรม ลดเครียดช่วงโควิด

แม้คุณเก้าจะมีอาการดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหายจากภาวะซึมเศร้า แต่ช่วงที่โรคโควิดระบาดหนักเช่นนี้ เธอก็ยอมรับว่าส่งผลต่ออาการป่วยของเธออยู่เหมือนกัน

“ตอนนี้เรามีอาการแพนิก วิตกกังวลจนนอนไม่หลับ และมีอาการหลงลืม จึงทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เราเสพข่าวสารที่หดหู่ เก้าเลยเลือกที่จะไม่ค่อยเข้าเฟชบุ๊ก และหันมาฟังพอดแคสต์แทน ซึ่งส่วนใหญ่จะฟังในหัวข้อเกี่ยวกับการรับมือกับความเครียดหรือการจัดการอารมณ์

“นอกจากนี้เก้าก็เริ่มกลับมาทำสิ่งที่ชอบอย่างการอ่านหนังสือ เนื่องจากตั้งแต่รักษาซึมเศร้าเก้าก็เลิกอ่านหนังสือมา 2 ปี เพราะรู้สึกไม่มีสมาธิ ตอนนี้ดีใจที่สามารถกลับมาทำกิจกรรมที่ชอบได้ แล้วก็มีออกกำลังกายเวตเทรนนิ่งในห้อง แต่ไม่สามารถฝึกหนักได้เพราะเรายังมีปัญหาเรื่องการนอน คุณหมอไม่ให้นอนดึกเกินไป เก้าจึงตั้งเป้านอนตอนเวลา 23.00 น. จึงต้องกินยาก่อนนอน 30 นาทีและห้ามจับโทรศัพท์มือถือ เพื่อปรับเวลาการนอนใหม่ ซึ่งการดูแลตัวเองในทุกๆด้านก็เป็นตัวช่วยในการรักษาได้เช่นกัน”

โรคซึมเศร้า รู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสหายได้นะคะ

รักษาซึมเศร้าอย่างเข้าใจโรค

สิบกว่าปีก่อน ในขณะที่คุณดาวเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี หน้าที่การงานมั่นคง ก้าวหน้า เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จากการศึกษาและต่อสู้กับโรคนี้มาเป็นเวลายาวนาน ทำให้เธอมีความรู้ความเข้าใจโรคนี้ค่อนข้างมาก

“คนที่เป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล คล้ายกับต้นไม้ที่เหี่ยวแล้วไม่สามารถจะกางกิ่งก้านสาขาออกไป เซลล์ประสาทที่เหี่ยวก็เหมือนกัน ไม่สามารถกางแขนกางขาออกไปเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่นๆ ให้กระแสความคิดหมุนวนเป็นวงจรปกติได้ เมื่อรู้สึกเศร้า ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจรู้สึกห่อเหี่ยวแค่ 1 แต่คนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกมากกว่าเป็น 10 เท่า อย่างช่วงโควิดระบาด คนที่เป็นซึมเศร้าอาจคิดไปถึงว่าบ้านจะล้มละลาย ไปต่อไม่ได้แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงแค่ล็อกดาวน์ ยังไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น หรือถ้าติดโควิดขึ้นมา คนทั่วไปก็ยังอาจมีความหวังว่ารักษาได้ คนหายมีเยอะแยะ แต่ถ้าเป็นคนซึมเศร้านี่คือฉันตายแน่ๆ ทั้งที่อาการของตัวเองเป็นระดับสีเขียว แต่ไม่ดิ้นรนทำอะไร ปล่อยให้ตัวเองตายไปเลย

“เวลาที่เรารู้สึกไม่สบายใจ เป็นทุกข์ สมองของคนเราจะหลั่งสารของความสุขหรือเซโรโทนิน (Serotonin) ออกมาตามธรรมชาติ เพื่อให้เรามีความรู้สึกกลางๆ ไม่หดหู่หรือเศร้าหมองเกินไป คนที่เป็นโรคซึมเศร้า สมองจะผลิตสารตัวนี้ออกมาได้น้อย ยิ่งถ้าช่วงไหนมีเรื่องเครียดมาก ซึ่งต้องนำสารนี้ออกมาใช้มากขึ้น แต่คนเป็นโรคซึมเศร้ามีไม่พอ จึงทำให้รู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยวมากกว่าคนทั่วไป

“อย่างกรณีมีปัญหาเรื่องการทำงาน เช่น ทีมปิดยอดขายไม่ได้ ถ้าเป็นคนปกติที่มีสารเซโรโทนินเพียงพอ ก็คิดว่าถ้าทีมงานช่วยกันโทรศัพท์หาลูกค้ามากขึ้นอีกนิด เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกว่าทำไม่ได้แล้ว ไม่มีทางออกแล้ว คิดว่าตนเองเป็นคนผิด เป็นจุดอ่อน ถ้าอย่างนั้นเราหลับไปเลยหรือไม่รับรู้เลยดีกว่า”

“เนื่องจากโรคนี้สามารถกลับมาได้อีก ดาวกลับมาเป็นประมาณ 3 ครั้ง เรียกว่าป่วยจนเก่ง เหมือนคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่เรื่อยๆ ก็จะพอรู้ว่าอาการแบบนี้แสดงว่ากำลังจะเป็นภูมิแพ้ ก็ต้องกินวิตามิน นอนให้พอ

“ดาวทำงานเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้ง ต้องใช้สมอง ต้องครีเอตงาน เขียนคอนเทนต์ ปกติจะเป็นคนสมองแล่นปรู๊ดปร๊าดมาก ทำงานได้เยอะ ได้เร็ว แต่ถ้าช่วงไหนเหมือนคนขี้เกียจ อยากนั่งอยู่เฉยๆ อยากนอนเป็นผักทั้งที่ไม่มีเรื่องเครียดอะไร หรือคิดงานไม่ออก โอ๊ย งานนี้ยาก ขอไปทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ก่อน สุดท้ายทำงานอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย หรือทำได้เหมือนกัน แต่ช้ามาก อันนี้เป็นสัญญาณว่าสารเคมีในสมองไม่ค่อยดีแล้ว อาการซึมเศร้ากลับมา ก็เลยตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นกินยาคุ้มกว่า ที่ผ่านมากินยาก็ไม่ได้เป็นอะไร อาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่เดี๋ยวก็หาย

“คนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ก็ต้องกินยาตลอดชีวิตเหมือนกัน คุณหมอเปรียบเทียบให้ฟังว่าการกินยาก็เหมือนกับเวลาผิวคุณแห้งก็ต้องทาครีมไม่อย่างนั้นผิวก็จะยิ่งแห้ง

หน้าจะยิ่งเหี่ยว สมองก็เหมือนกัน เมื่อเซลล์สมองคุณเหี่ยวคุณไม่กินยา สมองก็ผลิตสารเซโรโทนินไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ อาจไม่ได้เป็นแค่โรคซึมเศร้า แต่อาจเป็นโรคสมองอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ เสียการทรงตัว ซึ่งน่ากลัวกว่าอีก”

เมื่อถามว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ เธออธิบายว่า

“20 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติที่อยู่ในภาวะเครียดในบางช่วงของชีวิตมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่เขาจะกลับมาเหมือนเดิม หรือพัฒนากลายเป็นภาวะที่ต้องเข้ารับการรักษาขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของต่อมที่ผลิตสารเคมีในสมอง

“วงการแพทย์ค้นพบว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากพฤติกรรมด้วย เหมือนกับโรคเบาหวาน

ความดัน หัวใจ ที่หากเราไม่ระวังเรื่องการกินก็เสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้ได้ โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน พฤติกรรมก็มีส่วน แต่เป็นเรื่องของความคิด การกิน การนอน เพราะสมองต้องผลิตสารเซโรโทนิน ถ้าเราปล่อยให้เซลล์สมองแย่ ผลิตสารตัวนี้ได้น้อย ประกอบกับไม่สามารถจัดการความคิดได้เร็ว ก็ยิ่งทำให้เราแย่

“ถ้าเรานอนไม่พอ ร่างกายก็ไม่สามารถฟื้นฟูเซลล์สมองที่เหี่ยวให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ ถ้าไม่ได้กินอาหารซึ่งมีสารอาหารที่เป็นจุดตั้งต้นของเซโรโทนินอย่างเพียงพอ สมองผลิตเซโรโทนินได้น้อย ก็เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้”

ปัจจุบันเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในทุกๆด้านเป็นระยะเวลานาน คุณดาวเล่าถึงวิธีดูแลตัวเองว่า

“โรคซึมเศร้าก็เหมือนโรคเบาหวานโรคความดัน หรือโรคหัวใจที่ป้องกันได้อย่างช่วงนี้ดาวก็จะดูแลเรื่องการกินและการนอนของตัวเองให้ดี

“จากที่เราศึกษามาพบว่า การทำงานของลำไส้มีส่วนเกี่ยวพันกับระบบสมอง ถ้าจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่ดี ไม่สมดุล ก็จะมีผลต่อสมอง เราจึงต้องกินโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต กิมจิ เพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ และพรีไบโอติกที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ เช่น พวกผักใบเขียว อาหารที่มีสารแอนติออกซิแดนต์ เช่น ผักสีๆอย่างแครอต ฟักทอง และอาหารที่มีสารทริปโตเฟน ซึ่งช่วยในการสร้างเซโรโทนิน เช่น ธัญพืช ช็อกดกแลต กล้วยหอม ไข่ นม เนย อย่างช่วงนี้ดาวก็จะมีช็อกโกแลตไว้ที่บ้านเยอะมาก

“การนอนก็สำคัญมาก ห้ามอดนอนต้องนอนให้เพียงพอ และต้องนอนในช่วงเวลา 22.00น.-02.00น. ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งโกร๊ธฮอร์โมนเพื่อเผาผลาญและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ถ้าไม่นอนตอนที่โกร๊ธฮอร์โมนหลั่ง สมองก็สร้างเซลล์สื่อประสาทนี้ไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่

“นอกจากนั้นเราต้องออกไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมาช่วยให้เรารู้สึกแฮ็ปปี้ ถ้าเราฝึกให้ตัวเองหยุดคิดเรื่องลบได้เร็ว สมองก็ไม่ต้องไปเอาเซโรโทนินที่มีอยู่น้อยมาใช้ เราก็เสี่ยงมีอาการซึมเศร้าน้อยลง”

พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเป็นได้ทั้งสาเหตุและวิธีป้องกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกปฏิบัติตนอย่างไร

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 550 ปีที่ 23 1 กันยายน 2564

10 November 2564

By STY/Lib

Views, 1839

 

Preset Colors