02 149 5555 ถึง 60

 

แนวคิดสุขภาพดี ไม่มีโรค อายุยืนยาว ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน (ตอนจบ)

แนวคิดสุขภาพดี ไม่มีโรค อายุยืนยาว ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน (ตอนจบ)

แพทย์แผนจีน... เรื่องโดย... ศ.คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล

แพทย์แผนจีนกับการรักษาโรค

การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เป็นการสร้างเงื่อนไงสำคัญในการไม่เป็นโรคและในการต่อสู้กับโรค

การคำนึงถึงการปรับสมดุลร่างกายจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดทั้งในยามปกติและขณะเกิดโรคการปรับสภาพร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรค ป้องกันโรค รวมถึงการรักษาสภาพร่างกายให้มีสภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้ใช้งานยืนยาวแบบมีคุณภาพตามอายุขัย

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า การพบแพทย์สม่ำเสมอและกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด คือการดูแลสุขภาพ

ความจริง...การใช้ยาเคมีรักษาอาการโดยไม่ปรับสมดุลร่างกายที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงเป็นเวลานานจะไปรบกวนศักยภาพของการรักษาตัวเองของร่างกาย

แพทย์แผนจีนใช้วิธีการต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติไปปรับสมดุลของร่างกาย ทำให้เกิดการไหลเวียนของลมปราณและเลือดให้ถูกทิศถูกทางที่เรียกว่า กลไกพลังของอวัยวะภายใน เพื่อให้การทำงานของอวัยวะภายในทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้เน้นที่การใช้ยาอย่างเดียวในการดูแลสุขภาพ ยาจะใช้ในช่วงที่เป็นโรค

หลักการรักษาโรค คือ รักษา 3 ส่วน ดูแลเสริมสร้างร่างกาย 7 ส่วน

เมื่ออาการดีขึ้น บทบาทของยาก็ยิ่งน้อยลงตามลำดับ ดังนั้น ในยามปกติ การดูแลสุขภาพจึงให้ความสำคัญที่ใช้อาหารเป็นยาและการดูแลตนเองด้วยหลายหลากวิธี รวมถึงการดำเนินชีวิตตามวิถีทางธรรมชาติ

ร่างกาย : สิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง

ร่างกายมนุษย์มีระบบการทำงานที่สลับซับซ้อนมาก ผ่านการวิวัฒนาการมานับล้านปี มีระบบซ่อมแซมตัวเองที่ออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยม ร่างกายมีการเกิด การพัฒนาเติบโต เสื่อมถอย และดับสูญตามธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นกับเจตจำนงหรือความต้องการของเรา

แพทย์แผนจีนมองว่า การดูแลร่างกายคล้ายกับการดูแลเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ต้องใช้งานตามคู่มือการใช้งาน

ถ้าใช้งานเครื่องจักรอย่างไม่เข้าใจ ใช้ตามใจตัวเอง ใช้อย่างไม่ใส่ใจ ไม่ทะนุถนอม เครื่องจักรก็จะเสื่อมเร็วกว่าอายุใช้งาน เวลาเครื่องมีปัญหา ให้ช่างที่ไม่เข้าใจระบบมาซ่อมยิ่งเสียหายหนัก

การดูแลร่างกายจึงต้องเข้าใจการทำงานของส่วนประกอบต่างๆ (อวัยวะภายใน แขนขา ลำตัว ศีรษะ ฯลฯ) การเชื่อมโยงของชิ้นส่วน

แต่ความมหัศจรรย์ของร่างกาย คือ ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองเมื่อมีความขัดข้องเกิดขึ้น ซึ่งเราทุกคนสามารถเรียนรู้และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้กลไกเหล่านี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แพทย์แผนจีนทำหน้าที่เหมือนช่างซ่อมจากภายนอกที่จะทำหน้าที่แนะนำหรือใช้วิธีการต่างๆ รักษาด้วยการปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการรักษาโรค ปรับเข้าสู่วิถีธรรมชาติเพราะเชื่อในความมหัศจรรย์ในการซ่อมแซมตัวเอง แต่ไม่ได้มุ่งเน้นเอาชนะธรรมชาติ

การแพทย์แผนจีน คือ สิ่งที่คุณเข้าถึงได้เป็นสิ่งใกล้ตัว คือวิถีแห่งชีวิตประจำวัน

หลักการดูแลสุขภาพของแพทย์แผนจีน คืออะไร

แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพเพื่ออายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพใหญ่ๆ 3 ด้าน ได้แก่

1. ความสมดุลยินหยาง

แพทย์แผนจีนมองว่า...

🢖 สุขภาพที่ดี คือ ต้องมีความสมดุล

🢖 การเกิดโรคทางกาย คือ การเสียสมดุลของร่างกาย

🢖 การทำงานของระบบที่มากไปหรือน้อยไป คือ สาเหตุของความผิดปกติ ทำให้มีอาการและอาการแสดงที่ปรากฏของโรค

สมดุลเหล่านี้มาจากกิจกรรม วิถีชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหาร การนอน การทำงาน การพักผ่อน เพศสัมพันธ์

กิจกรรมเหล่านี้ดูเหมือนเป็นกิจกรรมธรรมชาติที่คนทุกคนดำเนินอยู่แล้ว แต่การจัดสรรและจัดความเหมาะสมดุลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องการใช้งานร่างกายและถนอมร่างกาย การใช้งานน้อยเกินไปหรือการใช้งานมากเกินไปจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมและประสิทธิภาพลดลงหรือหมดประสิทธิภาพเร็วกว่าอายุขัย

การดำเนินกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์จึงต้องคำนึงถึงความพอดี ไม่โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เพราะจะเกิดภาวะยินหยางเสียสมดุล

2. มนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว

ร่างกายมนุษย์เป็นผลิตผลจากธรรมชาติ ดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ (ฟ้าดิน) เช่น ภูมิประเทศ (ดิน) ภูเขา ชายทะเล หุบเขา ป่าทึบ ที่โล่งแจ้ง ทะเลทราย ภูมิอากาศ (ฟ้า) การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ความร้อน ความชื้น ความแห้งแล้ง ความหนาว ความเปลี่ยนแปลงของกลางวันกลางคืน

การแปรปรวนของสภาพอากาศ ฤดูกาลเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับร่างกาย ร่างกายต้องปรับการทำงานตั้งแต่การเปิดปิดรูขุมขน ควบคุมการขับเหงื่อเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ปรับการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนเลือด การขับปัสสาวะ เพื่อปรับสมดุลให้สอดรับกับสภาพอากาศภายนอก

ถ้าการปรับเปลี่ยนฤดูกาลค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เราสามารถปรับตัวดำเนินชีวิตสอดรับกับจังหวะการเปลี่ยนแปลงเราก็จะไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ได้กล่าวถึง “การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ เป็นแนวทางการดูแลสุขภาพตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นหลักการในการดูแลสุขภาพที่สำคัญ”

ยุคมนุษย์ชุมชนบุพกาล ยุคทาส ยุคศักดินา ชัดเจนว่า มนุษย์จะมีชีวิต จะอยู่รอดได้ก็ต้องรู้กฎเกณฑ์และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเพื่อการปรับตัว เพราะเกี่ยวข้องกับอาหาร การเพาะปลูก การล่าสัตว์ น้ำท่วม ไฟไหม้ ความแห้งแล้ง ความหนาว โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ

อดีตกาล ยุคที่พลังการผลิตยังไม่สูง การเรียนรู้สภาพอากาศและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น การก่อสร้างมากขึ้น โรงงานมากขึ้น มลพิษทางอากาศและน้ำเสียก็มากขึ้น

หลายสิบปีก่อนเราอาจมองไม่เห็น ว่าการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับเราอย่างไร จนในหลายปีมานี้ เราเริ่มรู้จักภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมทั้งก๊าซชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย เกิดคลื่นความร้อน น้ำท่วม และความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมา 2 เท่า

การดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบันที่ธรรมชาติถูกทำลายอย่างมาก มีผลต่อการรบกวนต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ฤดูกาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง

การนำเอาความรู้และภูมปัญญาแพทย์แผนจีนมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมจะเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพอย่างมาก

3 ร่างกายกับจิตใจเป็นหนึ่งเดียว

การดูแลสุขภาพต้องให้ความสำคัญทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพใจ

ร่างกายไม่สบายจะส่งผลต่อความไม่สบายทางใจ ใจที่ไม่สบายก็ส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดโรค หรือถ้าเป็นโรคก็ทำให้โรคกำเริบและรุนแรงขึ้น กายกับใจแยกกันไม่ได้

สุขภาพจิตที่ดีจะเสริมให้มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรค สุขภาพจิตและสุขภาพกายเป็นพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตและชีวิตยืนยาว

สมัยโบราณ แม้ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนปัจจุบันไม่มีเครื่องมือด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษาโรคที่ทันสมัย แต่ยังมีคนที่เข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและดูแลสุขภาพยังสามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 กว่าปี

เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ ภาวะทางจิตใจ ความปล่อยวางทางความคิด ไม่ละโมบ ลดตัณหาความต้องการทางวัตถุ ซึ่งต่างกับคนทั่วไป ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการทำมาหากิน มุ่งหาทรัพย์สินความมั่งคั่ง ความมีอำนาจเป็นหลัก ทำให้ภาวะจิตใจไม่สงบ ไม่มีความเพียงพอ คิดแก่งแย่ง เอาเปรียบคนอื่น คิดถึงผลประโยชน์ส่วนต้นเป็นที่ตั้ง และมักใช้ร่างกายอย่างสิ้นเปลือง ไม่ทะนุถนอมเรียกว่า เอาชีวิตจิตใจไปทุ่มเทกับการได้มาทางวัตถุ

คนเหล่านี้มักจะมีความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าปกติ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

คนประเภทนี้มักจะมีสุขภาพไม่ดี และอายุไม่ยืนยาว ยากที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี

ตลอดชีวิตแม้จะมีวัตถุตอบสนองอารมณ์มากมาย แต่ไม่ได้มีความสุขทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง

สรุป

หลักการดูแลสุขภาพของแพทย์แผนจีน คือ ดูแลร่างกายและดำเนินชีวิตที่สมดุล และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การดูแลภาวะทางจิตใจควบคู่กับร่างกายและมีความสุขทางจิตวิญญาณ

จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพของแพทย์แผนจีนมีความสอดคล้องกับนิยาม “สุขภาพ” ที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ.2591 (ค.ศ.1948) ไว้ดังนี้

“สุขภาพ หมายถึง สภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข และมิได้หมายความเฉพาะเพียงแต่การปราศจากโรคและทุพพลภาพเท่านั้น”

ต่อมาในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 ได้มีมติให้เพิ่มคำว่า “Spiritual well-being” หรือ “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” เข้าไป

การรับมือกับโควิด ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่กับมนุษย์อีกยาวนานจนเป็นเพื่อนกันในที่สุด เชื้อไวรัสโคโรนาแม้ว่าจะมีขนาดเล็กมาก อยู่ภายนอกดูบอบบาง ตายง่าย แค่ล้างมือด้วยสบู่ ล้างแอลกอฮอล์ ก็หมดสภาพถูกทำลายอย่างง่ายดาย แต่ถ้าเราประมาทพลั้งเผลอปล่อยให้เข้าสู่ร่างกาย มันสามารถสร้างความเสียหายอย่างมหันต์กับร่างกายและมนุษย์ชาติ

การต่อสู้กับโควิดอย่าคิดแต่หวังพึ่งวัคซีนอย่างเดียว ต้องไม่ประมาท อย่าให้การ์ดตกป้องกันการรับเชื้อ และที่สำคัญที่สุดคือ สร้างศักยภาพร่างกายที่ได้รับมาจากธรรมชาติ ดูแลสุขภาพกายใจด้วยตัวเราเอง เราจะชนะโควิดผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน และมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพตามอายุขัยโดยปราศจากโรค

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 510 เดือนตุลาคม 2564

9 November 2564

By STY/Lib

Views, 1736

 

Preset Colors