02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแลสุขภาพใจผู้สูงวัยในยุคโควิด

ELDERLY PEOPLE ดูแลสุขภาพใจผู้สูงวัยในยุคโควิด

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า

“ในกรณีของผู้สูงอายุนั้น เมื่อมีมาตรการควบคุมการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ขาดการไปมาหาสู่ในหมู่ญาติมิตร อีกทั้งต้องปฏิบัติตัวด้วยแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ย่อมส่งผลให้ท่านรู้สึกเครียด

“หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจมาซ้ำเติมอีก เช่น ลูกหลานที่ให้การส่งเสียเลี้ยงดูถูกเลิกจ้าง การขาดรายได้ของครอบครัวเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้”

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี นายแพทย์สกานต์ได้แนะนำแนวทางปฏิบัติตัว แบ่งตามกลุ่มไว้ดังนี้

กลุ่มที่มีสุขภาพดี ให้ทำกิจกรรม เช่น การเดินเร็ว ออกกำลังกายทั้งในและนอกบ้าน หากเป็นการออกกำลังกายนอกบ้าน ควรเลือกทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงเช้าตรู่ที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อลดการพบปะและการสัมผัสกับผู้อื่น

กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้และมีพฤติกรรมติดบ้าน เน้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก เช่น ร้องเพลง ทำงานฝีมือเพื่อฝึกสมอง ถ้าต้องการออกกำลังกาย ต้องไม่หักโหมและมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

กลุ่มที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภาวะติดเตียง ผู้ดูแลต้องดูแลเรื่องการทำความสะอาดร่างกายผู้สูงอายุให้ดี ทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ทั้ง 3 กลุ่มต้องได้รับการติดต่อกับลูกหลานเป็นประจำผ่านการโทรศัพท์ เพื่อเสริมกำลังใจให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

WHEW WE LOSE A LOVED ONE ทำอย่างไรเมื่อสูญเสียสมาชิกครอบครัว

ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดวันละ 100 คนโดยเฉลี่ย การสูญเสียเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวทุกวัย ชีวจิตรวบรวมวิธีดูแลสุขภาพใจสำหรับคนทุกวัยมาฝากแล้วค่ะ

CHILDREN ดูแลเด็กให้ผ่านช่วงเวลานี้ให้ได้

ข้อมูลจากคู่มือ “การดูแลจิตใจเด็กจากเหตุการณ์สูญเสียและความโศกเศร้าในสถานการณ์โควิด-19” โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อเด็กว่าจะมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียมากน้อยเพียงใดไว้ 3 ข้อ ดังนี้

•บุคคลที่เสียชีวิตส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กมากเพียงใด

•บุคคลที่เสียชีวิตมีความใกล้ชิดกับเด็กมากน้อยเพียงใด

•ผู้ใหญ่หรือสมาชิกครอบครัวที่เหลือสามารถจัดการอารมณ์ได้มากน้อยเพียงใด

เราจะเห็นได้ว่า 2 ปัจจัยแรกเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยสุดท้ายเป็นสิ่งที่ยังพอจัดการได้ ดังนั้นขอให้ผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกครอบครัวที่เหลือพยายามดูแลจิตใจของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ดูแลเด็กต่อไป

4 STEPSขั้นตอนการสื่อสารให้เด็กรับทราบ

ในคู่มือนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่เกิดเหตุสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ถ้าเป็นไปได้ผู้ใหญ่ควรกันเด็กให้ออกมาจากการพบเห็นเหตุการณ์นั้นๆ เพราะจะส่งผลให้เด็กจัดการกับตัวเองได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ มีแนวทางการสื่อสารกับเด็กใน 4 ขั้นตอน ได้แก่

●จัดการตนเองก่อน ผู้ใหญ่ที่จะเข้าไปคุยกับเด็กต้องมีอารมณ์ที่สงบและพร้อมที่จะพูดคุยกับเด็กจริงๆ

●วิธีพูดคุย อธิบายด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ รักษาจังหวะ ไม่ดังหรือเร็วจนเกินไป เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึก ผ่อนคลาย

●อธิบายความจริง พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงๆ แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดให้เด็กหวาดกลัวหรือวิตกกังวล

●ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้เด็กถามและอธิบายตามความเป็นจริง เลือกใช้คำที่เด็กเข้าใจง่าย

EARLY CHILDHOOD วิธีดูแลเด็กเล็ก

ส่วนวิธีสื่อสารกับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีหรือเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่อง “ความตาย” ได้อย่างชัดเจนนั้นมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

ใจความสำคัญ ให้อธิบายว่าเมื่อบุคคลนั้นๆ เสียชีวิต ร่างกายของเขาจะไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม

สอบถามความรู้สึก ถามเด็กว่ารู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กร้องไห้ ให้รับฟังและบอกว่าเด็กสามารถมาหาเพื่อพูดคุยหรือกอดได้เสมอ

SCHOOL AGE&TEENAGER วิธีดูแลเด็กวัยประถมและวัยรุ่น

วิธีสื่อสารกับเด็กที่มีอายุ 6-12 ปีและ 12-18 ปี มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

รักษากิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงเดิม โดยเทียบจากสิ่งที่เด็กเคยปฏิบัติมาปกติ เช่น ตื่นนอน กินอาหาร เรียนหนังสือ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สังเกตพฤติกรรม เช่น การถามซ้ำๆ การรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนเอง การแยกตัวออกจากสังคม ขาดสมาธิ ไม่สามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องหรือเรียนหนังสือได้ มีการแสดงออกที่ก้าวร้าว

รับฟัง บอกเด็กว่ามีอะไรก็เข้ามาพูดคุยได้ หรือหากิจกรรมทำร่วมกัน ในกรณีที่เด็กซึมลง ให้ลองหากิจกรรมที่เด็กชอบแล้วเอามาทำร่วมกัน

SELF-HELP FOR ADULT วิธีดูแลตนเองในวัยผู้ใหญ่

ข้อมูลจากบทความเรื่อง “ความโศกเศร้าและการสูญเสียในช่วงการระบาดของโควิด-19” โดยกรมอนามัยและสุขภาพจิตแห่งนครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา แนะนำวิธีสังเกตความรู้สึกของตนเองโดยระบุว่า เมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสียคนใกล้ชิดเช่น สมาชิกในครอบครัว สามี-ภรรยา เพื่อนคุณอาจมีความรู้สึกหรือมีอาการดังนี้

●อารมณ์ อ้างว้าง โกรธ รู้สึกผิด

●ความคิด สงสัย สับสน หรือคิดวกวน

●อาการทางกาย ตัวสั่น คลื่นไส้ เหนื่อยล้า ฝันร้าย

●พฤติกรรม ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ ตามปกติ

ทั้งนี้ในบทความอธิบายต่อว่า แต่ละคนมีการรับมือกับการสูญเสียไม่เหมือนกัน อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการปรับตัวต่างกัน ขอให้ให้เวลาตนเอง เพื่อค่อยๆปรับตัว ไม่ต้องรีบร้อนหรือเร่งรัดตนเองมากนัก

8 OPTIONS แนวทางฟื้นฟูจิตใจหลังการสูญเสีย

กรมอนามัยและสุขภาพจิตแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า สุดท้ายขอให้ทุกท่านตระหนักรู้ว่าการสูญเสียคนที่เรารักนั้นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง พร้อมแนะวิธีฟื้นฟูสภาพจิตใจไว้ 8 ข้อดังนี้

ยอมรับความรู้สึกของตนเอง

รับรู้ว่า ณ ขณะนี้เกิดการสูญเสียบุคคลที่คุณรักไปแล้ว ให้เวลาในการฟื้นฟูจิตใจตนเองเต็มที่ไม่ต้องรีบ

พูดคุยกับคนใกล้ชิด

เช่น สามี-ภรรยา สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อน ถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในใจออกมาบ้าง

จดบันทึก เขียนความรู้สึกของคุณทั้งเรื่องที่ทำให้สบายใจและทำให้กังวลใจ การถ่ายทอดผ่านการเขียนจะช่วยให้ผ่อนคลายลงได้

จดจ่อในสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น ทำงานอดิเรก ทำสวน เล่นเกมฝึกสมอง หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง

ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ตื่นนอน เข้านอน กินอาหารที่มีประโยชน์ ทำงาน และพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม พยายามรักษาความสม่ำเสมอของการใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยทำมาให้ได้มากที่สุด

ทำงานอาสาสมัคร การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและมีคุณค่า

ลดการรับข้อมูลข่าวสาร ในช่วง 1-3 เดือนแรกนี้ควรหันมาให้เวลาดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองไว้ก่อน งดรับข่าวสารใดๆ เกินความจำเป็นและจำกัดเวลาใช้โซเชียลมีเดีย

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่มีความโศกเศร้าหลังการสูญเสียนั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ประจำวันของคุณเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้สามารถฟื้นฟูจิตใจกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

นิตสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 550 1 กันยายน 2564

29 October 2564

By STY/Lib

Views, 938

 

Preset Colors