02 149 5555 ถึง 60

 

ไขข้อสงสัยปอดอักเสบ โควิดสำหรับประชาชน

ไขข้อสงสัยปอดอักเสบ โควิดสำหรับประชาชน

เรื่องเด่น... เรื่องโดย... รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ช่วงนี้กระแสสุขภาพที่ยังคงมาแรงและรุนแรง ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายๆ คนอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กันว่า จะป้องกันได้อย่างไร จะติดเชื้อหรือไม่ ทำไมส่วนใหญ่ถึงเกิดอาการที่ปอด และหากติดแล้วจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือเปล่า

ฉบับนี้จึงขอนำคำถามที่หลายๆ คนสงสัยมาอธิบายให้เข้าใจกันดังนี้นะครับ

ปอดอักเสบโควิดพบได้มากน้อยแค่ไหนและมีความสำคัญอย่างไร?

เชื้อไวรัสโคโรนา-2019 มีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติในการทะลุทะลวงลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ง่าย ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดอาการปอดอักเสบมากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะตรวจพบด้วยวิธีการใด

แต่จะมีผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

โดยมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงวิกฤต

ทั้งนี้มีผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1%

แล้วมันต่างจากปอดอักเสบจากเชื้อทั่วไปตรงไหน?

เจ้าไวรัสตัวนี้นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบเช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราให้ทำงานอย่างรุนแรงเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสนี้

แม้เมื่อเทียบกันแล้วอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับเชื้อโรคบางชนิด แต่เนื่องจากมันถูกกำจัดไปจากร่างกายมนุษย์ได้ยาก จึงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปของร่างกายเรานี้แสดงออกอยู่เป็นเวลานานกว่าเชื้ออื่น ส่งผลให้มีการศูนย์เสียหน้าที่การทำงานของระบบการหายใจหลัก และตามมาด้วยการทำงานบกพร่องของระบบร่างกายอื่นตามมาได้

นอกจากนั้น เชื้อนี้ยังมีความสามารถในการรุกล้ำเส้นเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกิดการขาดเลือดของอวัยวะสำคัญๆ ตามมาได้

ระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบยาวนานแค่ไหนและแพทย์รักษาอย่างไร?

ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ จะเกิดปอดอักเสบได้ตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไป ลักษณะอาการจะคล้ายปอดอักเสบติดเชื้ออื่น

เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สองจะเกิดปอดอักเสบได้อีกระลอกจากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและมีการเสียชีวิตตามมา และถ้าผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สาม อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่งจากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด

ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจเกิดปอดอักเสบชนอดคาบเกี่ยวกันได้ โดยที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์แอลฟา

ดังนั้น แพทย์จึงมีหลักการรักษาคือ การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรก โดยพิจารณาให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง และเมื่อเข้าระยะสุดท้ายจึงเป็นการให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้งสามระยะ สิ่งที่สำคัญคือ การให้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้ เริ่มจากออกซิเจนอัตราไหลต่ำ ตามด้วยออกซิเจนอัตราไหลสูง (ไฮโฟลว์) และสุดทางที่การใช้เครื่องหายใจ แต่มีน้อยรายที่ได้ไปต่อด้วยการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (เอคโม หรือ ECMO)

แพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบได้อย่างไร และเราจะสังเกตตัวเองที่บ้านได้หรือไม่?

การวินิจฉัยผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาจากประวัติการมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ประกอบกับการพบฝ้าขาวในเอกซเรย์ปอด

สำหรับผู้ที่สังเกตอาการของตัวเองอยู่ที่บ้านทั้งที่รู้ว่าติดเชื้อโควิดแล้วแต่แพทย์ให้รักษาตัวเองนอกโรงพยาบาล หรือเป็นผู้มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้ตรวจ หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ท่านอาจเกิดปอดอักเสบโควิดแล้ว คือ

① ไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน หรือ

② หายใจเหนื่อยหรือหายใจเร็วกว่า 22 ครั้งต่อนาที หรือ

③ เจ็บหน้าอกเวลาสูดหายใจลึกหรือเวลาไอ

เมื่อแพทย์วินิจฉัยได้แล้วว่า เป็นปอดอักเสบ แพทย์จะเริ่มให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) และส่วนใหญ่จะให้รักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออาจให้รักษานองโรงพยาบาลได้ถ้าเราแข็งแรงดีและดูแลตัวเองได้

จากกนั้นจึงประเมินว่า ปอดอักเสบมีความรุนแรงต้องให้ออกซิเจนร่วมรักษาด้วยหรือไม่ โดยพิจรณาจากกาวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด (oxygen saturation from pulse oximetry ต่อไปจะเรียกย่อว่า วัดแซต) ซึ่งถ้าในขณะอยู่นิ่งถ้ามีค่าตั้งแต่ 94% ลงไป จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนเสริม

การวัดแซตมีประโยชน์ย่างอื่นอีกหรือไม่?

เมื่อพบว่าเป็นปอดอักเสบโควิดแล้ว แพทย์จะพิจารณาว่า วัดแซตในขณะอยู่นิ่งได้เท่าไร

ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 94% ลงไป หรือถ้ามีค่าตั้งแต่ 96% ขึ้นไป ตาลดลงอย่างน้อย 3% เมื่อออกแรงโดยเดินเร็วๆ ราว 3 นาที หรือลุกนั่งซ้ำๆ ติดต่อกันราว 1 นาที แสดงว่าการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติมาก จำเป็นต้องให้ยาต้านการอักเสบเพื่อปรับสมดุลภูมิคุ้มกันตอบสนองของร่างกายให้พอเหมาะ ด้วยการใช้ยากลุ่มสตีรอยด์ ซึ่งจะเป็นเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) หรือเพรดนิโซโลน (prednisolone) ก็ได้ โดยจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์คู่กับสตีรอยด์นี้นาน 10 วัน

สำหรับคนที่มีโรคเบาหวานชนิดควบคุมได้ยากหรือมีปัญหาอาเจียนเป็นเลือดเพิ่งหายไม่นาน ต้องแจ้งแพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการได้รับยาสตีรอยด์

ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้วัดแซตมักใช้จับที่ปลายนิ้ว ส่วนใหญ่เป็นนิ้วชี้ ควรเป็นเครื่องมือชนิดที่ทางโรงพยาบาลจัดส่งให้หรือชนิดที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นิ้วที่ใช้วัดต้องไม่มีการผิดรูปหรือทาสีเล็บหนามาก และขณะวัดมือและนิ้วต้องอยู่นิ่งไม่แกว่งไปมา

ในกรณีรักษาโรคโควิด-19 ที่บ้านจะมียาต้านไวรัสอะไรบ้าง?

ในกรณีที่ไม่พบว่าเกิดปอดอักเสบในตอนแรกหรือยังไม่ได้ตรวจเอกซเรย์ปอด การกินยาฟ้าทะลายโจรในรูปแบบและขนาดที่โรงพยาบาลแนะนำสามารถช่วยลดปริมาณไวรัสลงได้ และอาจช่วยยับยั้งการเกิดปอดอักเสบหรือช่วยลดความรุนแรงของปอดอักเสบ

สำหรับคนที่มีโรคตับอยู่ก่อนต้องระมัดระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจรด้วย

แต่ถ้าตรวจพบว่าเกิดปอดอักเสบขึ้นแล้วแพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทดแทน เพราะถ้าให้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันจะเกิดตับอักเสบได้ง่ายขึ้น

ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดที่แพทย์แนะนำ ผลข้างเคียงที่พบน้อยมาก แต่มีความสำคัญทำให้ต้องหยุดยา คือ ตับอักเสบและหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สำหรับยาที่ยังอยู่ในช่วงทดลอง ว่าอาจมีฤทธิ์ลดไวรัสหรือชะลอการอักเสบของปอดได้แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง เช่น ไอเวอร์เมคติน (ivermectin) หรือฟลูวอกซามีน (fiuvoxamine) หรือบูเดโซไนด์ (budesonide) ชนิดพ่นสูด ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การดูแลใกล้ชิดของแพทย์

การใช้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่ต้องรักษาอาการอยู่ที่บ้านและมีการใช้ออกซิเจนช่วย สิ่งที่ต้องระวังอย่างแรกเลยคือ ต้องใช้ตามเกณฑ์ (ถ้าวัดแซตในขณะอยู่นิ่งแล้วมีค่าตั้งแต่ 94% ลงไป จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนเสริม) หรือตามที่แพทย์ที่รับผิดชอบการรักษาที่บ้านเป็นผู้แนะนำ

การใช้ออกซิเจนโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญ เนื่องจากระดับออกซิเจนในระดับเนื้อเยื่อที่สูงเกินไปจะนำให้เกิดอันตรายระยะยาวต่อเนื้อเยื่อนั้นเอง

เมื่อมีข้อบ่งชี้ แพทย์แนะนำให้ใช้ออกซิเจนภายใต้การติดตามใกล้ชิดด้วยการวัดแซต โดย

เริ่มต้นให้ออกซิเจนในอัตราไหล 3 ลิตรต่อนาที มีเป้าหมายว่าหลังให้ไปแล้ว 5-10 นที จะวัดแซตได้อยู่ระหว่าง 94-96%

ถ้าได้ค่าน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ก็ให้ปรับอัตราไหลเพิ่มขึ้นหรือลดลงครั้งละ 1 ลิตรต่อนาที แล้วทำการวัดซ้ำอีก 5-10 นาทีถัดไป และปรับจนได้เป้าหมาย

ถ้าเพิ่มอัตราไหลไปจนถึง 4 ลิตรต่อนาทีแล้ว ยังไม่สามารถวัดแซตได้มากกว่า 92% ให้ทดลองนอนคว่ำ ซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น

ถ้านอนคว่ำพักหนึ่งแล้วยังวัดค่าได้น้อยกว่า 92% ต้องรีบติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รับผิดชอบหรือนำส่งโรงพยาบาล

อุปกรณ์ที่ใช้ให้ออกซิเจนที่บ้านต้องระมัดระวังอะไรบ้าง?

อุปกรณ์ที่ใช้มี 2 กลุ่ม คือ ถังออกซิเจน และเครื่องผลิตออกซิเจน

โดยถังออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์จะมีสีเขียว ส่วนใหญ่จะเป็นถังเหล็กบรรจุในรูปก๊าซ มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เป็นถังขนาดเล็กบรรจุออกซิเจนเหลวจะใช้ได้นานกว่าแต่มีราคาแพง

ที่หัวถังจะมีวาล์วปรับและตรวจสอบแรงดันเวลาใช้ต้องต่อกระบอกใส่น้ำสะอาดสำหรับให้ความชุ่มชื้น แล้วจึงต่อเข้ากับสายให้ออกซิเจนชนิดมีสายเสียบเข้ารูจมูกทั้งสองข้าง และคล้องกับศีรษะหรือคล้องกับใบหูจนกระชับ

**ต้องระมัดระวังไม่ให้มีประกายไฟในบริเวณใกล้เคียง และต้องระวังไม่ให้ถังล้ม เพราะวาล์วหัวถังจะเกิดแรงดันให้ถังพุ่งตัวไปอย่างแรง**

สำหรับเครื่องผลิตออกซิเจนโดยใช้ไฟฟ้า ควรเลือกที่ผ่านการรับรองจาก อย. ใช้ขนาดผลิตได้อย่างน้อย 5 ลิตรต่อนาที โดยควบคุมกำลังผลิตให้ความเข้มข้นของออกซิเจนขณะเปิดที่ 5 ลิตรต่อนาทีให้ได้คงที่ระหว่าง 92-96% และมีสัญญาณเตือนถ้าค่าลงไปต่ำกว่า 94% เพราะแสดงถึงการได้เวลาซ่อมบำรุงเครื่อง

เราจะเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรงรับมือโควิดได้อย่างไร?

ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ไม่ว่าป่วยแล้วจะเกิดปอดอักเสบหรือไม่ และไม่ว่าจะหายป่วยแล้วก็ตาม

การมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดี จะเห็นได้ว่านักกีฬาอาชีพที่ป่วยด้วยโรคนี้มีน้อยมากที่เกิดปอดอักเสบรุนแรง การส่งเสริมสุขภาพปอดทำได้โดย

❶ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขณะออกกำลังกาย จะทำให้ปริมาตรอากาศไหลเข้าปอดในหนึ่งนาที เพิ่มขึ้นนับเป็นสิบเท่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง และส่วนต่างๆ ของปอดถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเต็มที่ เมื่อเกิดปอดอักเสบขึ้น ปอดจะทนทานต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น

❷พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบหมวดหมู่ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลมและถุงลมปอด

❸หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรามดาและบุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่นพีเอ็ม และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุผิวในของหลอดลมและปอดถูกทำลายและเชื้อโรคทะลุทะลวงรุกล้ำเข้าไปในชั้นลึกได้ง่ายขึ้น

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 509 เดือนกันยายน 2564

14 October 2564

By STY/Lib

Views, 12335

 

Preset Colors