02 149 5555 ถึง 60

 

5 WAYS สร้างนิสัยการทำงานที่บ้านอย่างมีสุขภาพที่ดี

5 WAYS สร้างนิสัยการทำงานที่บ้านอย่างมีสุขภาพที่ดี

นอกจากการจัดพื้นที่ทำงานภายในบ้านให้เอื้อต่อการทำงานและการมีสุขภาพที่ดีแล้ว พฤติกรรมการทำงานก็ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจด้วยเช่นเดียวกัน ไอรีนา แมครี(Irena Macri) โค้ชด้านโภชนาการและการควบคุมน้ำหนักที่ได้รับการรับรองโดยสมาคมโภชนาการ สหรัฐอเมริกา แนะนำการปรับพฤติกรรมช่วง Work From Home ดังนี้

1. แบ่งเวลาการทำงานให้ชัดเจน

มีกรอบเวลาในการทำงาน ควรทำงานในช่วงเวลาเดียวกับตอนที่ทำงานอยู่ออฟฟิศ พักกลางวันให้ตรงเวลาทุกวันเพื่อสร้างนิสัยการแบ่งเวลาที่ดี เช่น เริ่มทำงานตอน 9.00 น. พักกลางวัน 12.00-13.00 น. และเลิกงาน 18.00 น. หากคุณมีธุระหรือมีงานบ้านที่ต้องทำ ให้พยายามจัดสรรงานเหล่านั้นมาทำในช่วงเวลาพักเบรกแทน

การปิดการแจ้งเตือนต่างๆไม่ว่าจะเป็นล็อกเอ๊าต์ออกจากอีเมล ปิดแจ้งเตือนในกรุ๊ปไลน์ ปิดคอมพิวเตอร์เมื่อถึงเวลาเลิกงาน หรือแม้แต่การไม่ลงชื่อเข้าใช้อีเมลในการทำงานลงบนอุปกรณ์ส่วนตัว ล้วนมีส่วนช่วยให้สุขภาพจิตดี เพราะทำให้คุณสามารถแบ่งเวลาการทำงานและเวลาส่วนตัวออกจากกันได้อย่างชัดเจน ป้องกันไม่ให้คุณทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

2. ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง

พยายามนั่งให้หลังชิดพนักเก้าอี้ ไม่นั่งหลังงอ ข้อศอกตั้งฉาก 90 องศา เพื่อไม่ให้เหยียดหรืองอมือบ่อยๆ เท้าวางราบกับพื้น และควรปรับตำแหน่งหน้าจอหรือวางแล็ปท็อปให้อยู่ในระดับที่พอดีกับสายตา เพื่อจะได้ไม่ต้องโน้มตัวไปข้างหน้าบ่อยๆ

3. รักษาสุขอนามัยและแต่งตัวเหมือนวันที่ไปทำงาน

ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ รักษาความสะอาดของร่างกาย วันไหนมีประชุมผ่าน Zoom คุณอาจแต่งกายเหมือนเข้าออฟฟิศ เพื่อสร้างความรู้สึกกระตือรือร้นในการทำงาน หรือสวมใส่เสื้อผ้าแนวสปอร์ตสบายๆ เพื่อสร้างความรู้สึกกระฉับกระเฉง ซึ่งการแต่งตัวแบบไม่จำเจจะช่วยสร้างสีสันให้ชีวิตประจำวันได้

4. แบ่งเวลาให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง

อย่าลืมออกไปรับแสงแดดเพื่อให้ได้วิตามินดีธรรมชาติในตอนเช้า วันละ 15-20 นาที และควรลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ 1 ชั่วโมง เดินไปเดินมา 1-2 นาที ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบการย่อยอาหารของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น มี 2 วิธี หลักๆ ที่จะช่วยให้คุณได้เคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน ได้แก่

1)การเลือกโต๊ะทำงาน ใช้โต๊ะที่สามารถปรับระดับทั้งยืนและนั่งทำงานได้ หรือถ้าใครมีงบเหลือ ปัจจุบันนี้มีโต๊ะทำงานที่สามารถนั่งทำงานและปั่นจักรยานได้ด้วยในเวลาเดียวกัน แถมยังสามารถปรับระดับให้ยืนและนั่งทำงานได้ จึงช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรม

2)จัดพื้นที่ออกกำลังกาย ไม่ไกลจากพื้นที่ทำงานควรมีอุปกรณ์ออกกำลังกายเล็กๆน้อยๆ เช่น เสื่อโยคะ แถบยางยืด หรือตุ้มน้ำหนัก เพื่อให้สามารถออกกำลังกาย 5-10 นาทีในระหว่างวันได้อย่างสะดวก

5. กินอาหารโดยคำนึงถึงสุขภาพ

ไม่ได้หมายความว่าต้องกินอาหารเพื่อสุขภาพทุกมื้อ อาจใช้วิธีเลือกกินอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ

แทน การวางแผนการกินจะช่วยให้คุณรักษาตารางเวลาในการทำงานได้ และช่วยให้ไม่เดินเข้าห้องครัวบ่อยจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้มีพฤติกรรมการกินไม่เป็นเวลา ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

เริ่มจากการจัดเตรียมอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น สมูทตี้สีเขียว แอ๊ปเปิ้ลกับเนยถั่ว จากนั้นให้ถามตัวเองทุกครั้งก่อนจะกินของว่างว่าฉันหิวหรือยัง และกินในช่วงที่รู้สึกหิวเท่านั้น ที่สำคัญ ควรพกขวดน้ำขนาดใหญ่ไว้ข้างตัวเสมอ เพื่อดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

ทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดลับการจัดพื้นที่โฮมออฟฟิศที่สะดวกต่อการทำงาน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดีในขณะที่ทำงานจากที่บ้านลองนำไปใช้กันนะคะ

HOW TO เลือกโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับการทำงาน

ลินดา มิลเลอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเวชศาสตร์ฟื้นฟู มหาวิทยาลัย อัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา แนะนำวิธีการเลือกโต๊ะเก้าอี้สำหรับการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง ดังนี้

●โต๊ะทำงาน ควรเลือกโต๊ะที่มีความกว้างพอดีกับการใช้งาน มีพื้นที่เพียงพอสำหรับวางอุปกรณ์ในการทำงานทั้งหมด ความสูงของพื้นผิวโต๊ะอยู่ที่ระดับข้อศอกหรือระดับที่เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้งาน ไม่สูงหรือเตี้ยจนเกินไป

●เก้าอี้ทำงาน เลือกแบบที่มีพนักพิงที่มีความลาดเอียงของพนักพิงเข้ากับสรีระของผู้ใช้งาน ความสูงของพนักพิงอยู่ระดับไหล่ สามารถปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสมกับความสูงของโต๊ะทำงานได้ แต่ถ้านั่งแล้วยังรู้สึกไม่ถนัดให้ใช้เบาะรองนั่งเพื่อเพิ่มความสูงหรือเบาะพิงหลังเพื่อรองรับเอว

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 549 ปีที่ 23 วันที่ 16 สิงหาคม 2564

12 October 2564

By STY/Lib

Views, 578

 

Preset Colors