02 149 5555 ถึง 60

 

อัพเดทความคืบหน้า วัคซีนโควิดฝีมือคนไทย

NEW HOPE อัพเดทความคืบหน้า วัคซีนโควิดฝีมือคนไทย

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

หลังวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.2020 องค์การอนามัยโลกประกาศอย่างเป็นทางการว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดระดับโลก แพทย์และนักวิจัยทั่วโลกต่างร่วมมือร่วมใจแบ่งปันข้อมูลการติดตามการระบาด และเกิดการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน 121 ชนิด

ในประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั่นคือวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

THE 1st mRNA IN SOUTHEAST ASIA

วัคซีน mRNA ชนิดแรกในอาเซียน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 วารสาร Nature เผยแพร่ บทสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ชนิด mRNAโดยในบทสัมภาษณ์ระบุว่า ขณะนี้กำลังทดสอบในคนเป็นรอบแรก

ปัจจุบันในทวีปเอเชียมีการพัฒนาวัคซีนดโดยใช้เทคนิค mRNA ในประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนับเป็นนักพัฒนารายใหม่ที่หากทำสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนายแพทย์เกียรติระบุในบทสัมภาษณ์ดังนี้

“แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมและทีมวิจัยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัคซีนของไทยคือ การเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกช่วงปี ค.ศ. 2009-2010 ส่วนวัคซีนโควิดนั้น เรามีโอกาสพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 และ 3 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัคซีนภายในประเทศกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด โดยพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ใช้ ภายในประเทศและส่งให้ประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่ไม่แพง

“ที่ผ่านมาห้องวิจัยของเราก่อตั้งมากว่า 10 ปี และมีประสบการณ์พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และโรคมะเร็งโดยใช้เทคนิคต่างๆ ในปี ค.ศ.2017 ได้เชิญดอกเตอร์ นายแพทย์ดรูว์ ไวส์แมน นายแพทย์และนักวิจัยวัคซีนเทคนิค mRNA จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกามาบรรยาย จากนั้นเราจึงเริ่มทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ในการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดระบาด ทีมวิจัยของเราจึงหันมาพัฒนาวัคซีนโควิดแทน”

นายแพทย์เกียรติอธิบายว่า “วัคซีน mRNA มีข้อดีคือผลิตได้เร็วและผลิตออกมาได้ในปริมาณมาก จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตระยะยาว ทั้งนี้วัคซีน ChulaCov19 จะเริ่มทดสอบกับมนุษย์ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 100 คน เพื่อหาจำนวนโดสที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีบริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตวัคซีนทดลองล็อตแรกก่อน จากนั้นจะเริ่มผลิตเองในประเทศไทยโดยบริษัท BioNet-Asia ในเดือนกันยายน

“ทั้งนี้การทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน ChulaCov19 จะใช้ผลการทดสอบเทียบกับตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ในต่างประเทศ และ AstraZeneca จากประเทศไทย หากผลการทดสอบพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ก็น่าจะขออนุมัติพิเศษเพื่อนำมาใช้ในประเทศโดยเร่งด่วนได้”

PLAN FOR OUR FUTURE

พัฒนาวัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย

วัคซีนชนิดที่ 2 ที่เป็นวัคซีนฝีมือคนไทยคือ วัคซีนที่ใช้เทคนิค Subunit Vaccine โดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2019 โดยผู้ก่อตั้ง 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์วรัญญูพูลเจริญ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์สุธีรา เตชคุณวุฒิ ทั้งคู่เป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผ่านโครงการพัฒนาสตาร์ตอัพในโครงการ CU Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำสัญญามอบหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์สุธีราอธิบายว่า

“เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนใบยาเริ่มจากใส่โปรตีนเข้าไปในแบคทีเรียก่อโรคในพืช จากนั้นแบคทีเรียจะเป็นตัวนำโปรตีนเข้าสู่ต้นพืชและกระตุ้นให้พืชผลิตโปรตีนที่เราต้องการ เปรียบเสมือนมีต้นใบยาสูบเป็นโรงงานผลิตโปรตีนให้นั่นเอง นอกจากนี้โปรตีนที่ได้จากเทคนิคดังกล่าวจะมีความบริสุทธิ์และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ปลอดภัยต่อการใช้งาน

“เทคนิคการใช้พืชมาผลิตโปรตีนมีมา 20 ปีแล้ว โดยนิยมใช้ในห้องทดลองที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น พืชที่ห้องทดลองของเราเลือกใช้คือต้นยาสูบ เป็นสายพันธุ์ออสเตรเลียที่มีนิโคตินระดับน้อยมากๆ ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมยาหลายแห่งทั่วโลกก็หันมาใช้โปรตีนจากพืชเพื่อผลิตเป็นยามากขึ้น

“ตอนนี้ห้องทดลองของเรามีพันธุ์ต้นยาสูบที่เหมาะสมแล้ว เมื่อใส่โปรตีนที่มีรหัสพันธุกรรมตรงกับเชื้อไวรัสโควิดเข้าไป จะกระตุ้นให้พืชสร้างโปรตีนขึ้นมาได้ในระยะเวลาสั้นและผลิตได้ปริมาณมาก”

อาจารย์สุธีราอธิบายว่า ทางห้องทดลองได้เตรียมพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดไว้แล้ว โดยทีมนักวิจัยค้นคว้าหาข้อมูลพัฒนาการของเชื้อไวรัสและรู้รหัสพันธุกรรมของไวรัสที่กลายพันธุ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปนักวิจัยจะพัฒนาต้นแบบวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

“ข้อดีของเทคนิค Subunit Vaccine ทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนาวัคซีนตามสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดจากการกลายพันธุ์ได้เร็ว เมื่อประเทศไทยมีองค์ความรู้ในการพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองเช่นนี้ จึงรับมือกับสถานการณ์ โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิดและเชื้ออื่นๆ ในอนาคตได้ทันการณ์”

ความคืบหน้าของวัคซีนใบยานั้น มีการทดลองความปลอดภัยในสัตว์ทดลองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือทดสอบในมนุษย์ และคาดว่าจะผลิตออกมาพร้อมใช้งานได้ราวกลางปี 2565

นับเป็นข่าวดีและความภูมิใจของคนไทย ชีวจิตขอส่งกำลังใจให้นักวิจัยทุกท่านค่ะ

BECOME A SUPPORTER ร่วมสนับสนุนวัคซีนฝีมือคนไทย

ผู้ที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนใบยา ไฟโตฟาร์ม ลงทะเบียนบริจาคใน www.cuenterprise.co.th หรือโอนเงินไปที่เลขที่บัญชี 162-6-01946-0 บัญชีประเภทกระแสรายวัน ธนาคารกรุงไทย สาขาจามจุรีสแควร์ ชื่อบัญชีมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 546 ปีที่ 23 1 กรกฎาคม 2564

7 September 2564

By STY/Lib

Views, 1208

 

Preset Colors