02 149 5555 ถึง 60

 

อ.อยู่ในเรือนไฟ ซาวน่าอย่างไร ต้านภัย เอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา

อ.อยู่ในเรือนไฟ ซาวน่าอย่างไร ต้านภัย เอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา

เรื่องโดย นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายคนไทยไร้พุง

เอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา ภัยพิบัติของมนุษย์ชาติ

โรคเอ็นซีดี (เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด มะเร็ง) โรคที่เกิดจากมลพิษในอากาศ พีเอ็ม ๒.๕ (เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง) โรคจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (เช่น โควิด-๑๙) ล้วนเป็นภัยจากการกินอยู่ การใช้ชีวิตในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เข้าไปพอกพูนสะสมในร่างกาย จนะรรมชาติการป้องกันโรคในร่างกายเรา เช่น การกำจัดอาหาร-เครื่องดื่ม อากาศเป็นพิษ ที่กินเกิน บริโภคเกิน “ใช้ไม่หมด” หรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายมากจนภูมิต้านทาน ภูมิคุ้มกันโรค “เอาไม่อยู่” เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ป่วย-พิการ-เสียชีวิต จากโรคติดต่อหรือไม่ติดต่อก็ตาม

องค์ความรู้ในการรักษา ฟื้นฟู ป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ต้านภัยพิบัติดังกล่าวที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน (Global knowledge) ได้แก่ ความรู้ทางการแพทย์ สาะรณสุขทางตะวันออก วึ่งมีหลักฐานทางวิชาการจาก “ความน่าจะเป็น” หรือ “โอกาส” จากการศึกษาวิจัย แต่ก็มีข้อด้อยคือ ต้องใช้เวลา สถานที่ บุคคลจำนวนมาก ในการเก็บข้อมูล ทำให้ไม่สามารถใช้ต้านภัยโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-๑๙ ได้ทันการแพร่ระบาดจนเกิดการตายเป็นแสน ป่วยเป็นล้านทั่วโลก

เรือนไฟ หรือ ซาวน่าแห้งเป็นการนำของเสียเชื้อโรคออกจากร่างกายทางเหงื่อ

ส่วนองค์ความรู้เฉพาะถิ่น (Local Knowledge) เช่น แพทย์แผนไทย แผนจีน ก็ไม่สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้ดีเช่นกัน

ดังนั้น องค์ความรู้ที่ใช้ต้านภัยได้ทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นความรู้ที่ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ต้องมีใครมาแก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับปรุงเพราะความรู้ที่สมบูรณ์ ก้คือ คำสอนของศาสดา (Universal knowledge)

อย่างไรก็ตาม คำสอนของศาสดาในการต้านภัยดังกล่าว แต่ละยุค แต่ละสมัย ก็อาจมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน เช่น เดินจงกรม พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่า เดินวันละกี่ก้าว กี่ครั้งต่อสัปดาห์เป็นต้น

แต่ความรู้ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์เมื่อ ๕-๑๐ ปีก่อนแสดงให้เรารู้ว่า เดินวันละ ๕,๐๐๐ ก้าวต่อวัน

ก็มีผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรค แต่ในปัจจุบันต้องเดินมากกว่า ๗,๕๐๐-๘,๐๐๐ ก้าวต่อวัน หรือ เดินเร็วเพิ่มขึ้นอีก ๓,๐๐๐ ก้าว ใน ๓๐ นาที เป็นต้น เพราะคนสมัยนี้ กิน-บริโภคอาหาร-เครื่องดื่ม-อาหารสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นกว่าเดิม อ้วนขึ้นกว่าเดิม เดินเท่าเดิมจึงไม่พอ ต้องเพิ่มจำนวนก้าวเดินและความเร็วของการเดินเป็นต้น

ดังนั้น การใช้คำสอนของศาสดาที่เป็นความรู้ที่จริงที่สุด ดีที่สุดและมีความสุขที่สุด ร่วมกับความรู้ในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ให้การสนับสนุน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการรับมือกับภัยพิบัติ คุกคาม สุขภาพ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ธรรมชาติการป้องกันโรคในร่างกายเรา “เอาไม่อยู่” เจ็บไข้ได้ป่วยจึงตามมา

การทำซาวน่า ๔ ถึง ๗ ครั้งต่อสัปดาห์ สัมพันธ์กับการช่วยต้านภัย จากโรคเอ็นซีดี ลดการตายจากทุกสาเหตุ ๔๐%

พระพุทธเจ้าอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อความมีโรคน้อย ตามคำขอของหมอชีวก

พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๗๘ ได้บันทึกไว้ว่า หมอชีวกโกมารภัจ ได้เล็งเห็นว่า พระภิกษุอาพาธ (เจ็บป่วยไม่สบาย) มีโทษสั่งสมในร่างกายมาก จากการบริโภคอาหารที่ฆราวาสนำของอร่อย ของปรารีตมาถวายจนอ้วน เจ็บป่วยมาก จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าอนุญาตที่จงกรมละเรือนไฟ เพื่อพระภิกษุจะได้เดินจงกรม อยู่ในเรือนไฟ ทำให้เจ็บป่วยน้อยลง จากการลดการสั่งสมโทษจากอาหารที่บริโภคมากเกินไป

ส่วนเรือนไฟนั้น เทียบเคียงได้กับวัฒนธรรมอยู่ไฟของหญิงไทยหลังคลอด หรือวัฒนธรรมซาวน่า (แห้ง) ของชาวฟินแลนด์ แต่จะไม่เหมือนวัฒนธรรมแช่น้ำร้อน (Onsen) ของชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่อบไอน้ำหรืออบสมุนไพร

เนื่องจากเรือนไฟ หรือ ซาวน่าแห้ง อาศัยความร้อนจากไฟโดยตรงในการอบร่างกายให้เหงื่อออกท่วมตัว เป็นการนำของเสีย เชื้อโรคออกจากร่างกายทางเหงื่อ (Detoxification or Detox) วิธีหนึ่ง

เรือนไฟหรือซาวน่า ช่วยป้องกันโรคเอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา ได้อย่างไร

จาก ๖ การศึกษาไปข้างหน้าในชาวฟินแลนด์ ตั้งแต่ ๑,๖๒๑-๒,๓๑๕ คน ติดตาม ๒๐.๗-๒๕.๖ ปี พบว่า การทำซาวน่า (แห้ง) ๔ ถึง ๗ ครั้งต่อสัปดาห์ (เมื่อเทียบกับ ๑ ครั้งต่อสัปดาห์) สัมพันธ์กับการช่วยต้านภัยจากโรคเอ็นซีดี เช่น ลดการตายจากทุกสาเหตุ ๔๐% (เอ็นซีดีเป็นสาเหตุการตายเกือบ ๓ ใน ๔ ของการตายทุกสาเหตุ) , ลดการตายเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ๖๓% , ลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ๕๐% , ลดการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ๔๘% ลดโอกาสโรคเอ็นซีดี คือ โรคความดันโรคหิตสูง ๔๗% โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ๖๒% โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด ๕๘% โรคเลือดออกในสมอง ๖๗% ลดโรคอัลไซเมอร์ ๖๕% ,ลดโอกาสสมองเสื่อม (dementia) ๖๖%

นอกจากนี้ การทำซาวน่านานกว่า ๑๙ นาที (เมื่อเทียบกับ ๑๑ นาทีหรือน้อยกว่า) ยังสัมพันธ์กับลดการตายเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ๕๒% , ลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒๔% , ลดการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ๓๖%

ส่วนการทำซาวน่า (แห้ง) สัมพันธ์กับการช่วยลดภัยจากพีเอ็ม ๒.๕ (มลพิษในอากาศ) และโรคปอดอักเสบจากโควิด-๑๙ เช่น การศึกษาไปข้างหน้าชายชาวฟินแลนด์ ๒,๒๑o คน ติดตาม ๒๕.๖ ปี การทำซาวน่า ๔-๗ ครั้งต่อสัปดาห์ (เมื่อเทียบกับ ๑ ครั้งต่อสัปดาห์) สัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นโรคปอดบวม ๓๗% อีกการศึกษาไปข้างหน้าในประชากร ๑,๙๓๕ คน พบว่า สัมพันธ์กับการลดโรคทางเดินหายใจ ๔๑%1

กลไกที่ทำให้การซาวน่า (แห้ง) สัมพันธ์กับการลดโอกาสโรคเอ็นซีดี ปอดบวมจากพีเอ็น ๒.๕ หรือไวรัสโคโรนา ได้แก่ ลดการอักเสบ(CRP) โดยเฉพาะลดการอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลัน (ลดระดับ IL-6 ซึ่งสัมพันธ์กับการลดโอกาสปอดรุนแรงและการตายจากโรคโควิด-๑๙),ลดไขมันแอลดีแอลคอเลสเตอรอล-และไตรกลีเซอรไรด์,เพิ่มเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันดี),ลดความดันเลือด,เพิ่มการทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดแดง,เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ,ลดสารอนุมูลอิสระ,เพิ่มความฟิตของปอด หัวใจ และเพิ่มภุมิต้านทาน ภูมิคุ้มกันโรค1

อุณหภูมิที่หน้าผากของผู้ที่ทำซาวน่า หรือ อุณหภูมิอากาศร้อนที่หายใจเข้าไป ประมาณ ๘๐-๙๐ องศาเซลเซียส เวลา ๑๙ นาที เพียงพอที่จะทำลายเชื้อโรคโควิด-๑๙ ซึ่งจะไม่ติดเชื้อ ไม่ติดต่อที่อุณภูมิ ๗๐ องศาฯ ๕ นาที หรืออุณหภูมิ ๕๖ องศาฯ ๓๐ นาที2

การสูดดมอากาศร้อนในขณะทำซาวน่า เข้าสู่ทางเดินหายใจ เวลา ๑๕-๒๐ นาที เพียงพอที่จะทำให้เชื้อโรคโควิด-๑๙ ถูกทำลาย ไม่ติดเชื้อ

นอกจากนี้ การสูดอากาศร้อนจากซาวน่าเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน ๓๗ องศาฯ ทำให้เรารู้สึกอิ่ม จากการกระตุ้นศูนย์ความอิ่มในสมอง เป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่อดอาหารเพื่อป้องกันโรคฯ

การขับเหงื่อจากการอบความร้อน เป็นการกำจัดสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารหนู3 ที่อาจเพิ่มโอกาสโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

นอกจากนี้ เหงื่อมีโปรตีนต้านเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส รา) ที่เรียกว่า anti-microbial peptide ซึ่งสามารถทำลายเชื้อโรคดังกล่าวและขับออกจากร่างกายทางเหงื่อ เหงื่อยังขับสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endocrine disrupting chemical or EDC)4

เช่น สาร bisphenol A (BPA),สาร phthalates (ซึ่งอยู่ในของใช้พลาสติก เครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน) สัมพันธ์กับการทำงานของระบบสืบพันธุ์มะเร็งไทรอยด์ ความอ้วน ความดันเลือดสูงขึ้นและเพิ่มโอกาสความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองเด็กเล็ก

สารเหล่านี้ถูกขับออกทางเหงื่อได้พอๆ กันหรือมากกว่าทางปัสสาวะและในเลือด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่หญิงไทยโบราณอยู่ไฟหลังคลอด เพื่อขับสารโลหะหนัก ขับสารเคมีรบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ ออกจากร่างกายทางเหงื่อ ลดโอกาสการส่งต่อสารเหล่านี้จากแม่สู่ลูก

นอกจากนี้ ยังป้องกันการติดเชื้อ สร้างภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ ของแม่จากการอบความร้อน (อยู่ไฟ เรือนไฟ หรือซาวน่า)

การสูดดมอากาศร้อน ในขณะทำซาวน่า เวลา ๑๕-๒๐ นาที เพียงพอที่จะทำให้เชื้อโรคโควิด-๑๙ ถูกทำลายไม่ติดเชื้อ

อยู่ไฟ เรือนไฟ ซาวน่า อย่างไรที่บ้าน (Home dry sauna)

ปัจจุบัน การก่อไฟในบ้าน เป็นการเพิ่มมลพิษในอากาศ (indoor air pollution) จึงควรใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนในบ้านที่ไม่ก่อมลพิษ เช่น เตาปิ้งย่างไร้ควัน โดยใช้พลังงานไม่เกิน ๑,๒๐๐ วัตต์

นำเตาฯ ไปตั้งอยู่มุมห้อง หรือวางบนที่นั่งซักโครกในห้องน้ำ ผู้จะเข้าเรือนไฟ ถอดเสื้อแล้วนั่งบนเก้าอี้

เอนตัวเข้าหาเตาฯ ระยะห่างแล้วแต่ทนความร้อนได้มากเพียงใด ควรมีผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อปิดหน้า แต่ให้หายใจเข้า-ออกอากาศร้อนได้สะดวก นั่งอบความร้อน (อากาศที่ปลายจมูก อุณหภูมิ ประมาณ ๖๐-๗๐ องศาเซลเซียส) อบความร้อนประมาณ ๒๐ นาที (ไม่เกิน ๓๐ นาที/ครั้ง) จนเหงื่อออกทั่วตัว แล้วไปอาบน้ำล้าง เหงื่อออกที่อุณหภูมิห้อง ถูสบู่ ขัดนวดร่างกายส่วนต่างๆ ล้างสบู่ออก เช็ดตัวให้แห้ง

ควรจะทำซาวน่าอย่างน้อย ๔ ครั้ง/สัปดาห์ โดยเฉพาะในวันที่ออกนอกบ้าน ไปในที่แออัด มีโอกาสติดเชื้อโรค หรือได้รับมลพิษในอากาศ อาหารนอกบ้าน เป็นต้น

ข้อห้าม ข้อควรระวังในการทำซาวน่า

แม้ว่าซาวน่าเป็นประเพณีของประเทศทางยุโรปมานานเป็นพันปี มีความปลอดภัยสูงมาก จากการสำรวจพบผลข้างเคียงที่อันตรายไม่ถึง ๑% เช่น หกล้ม หน้ามืด/หมดสติ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ควรทำซาวน่า ได้แก่ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ หรือผู้ที่ใช้ยาประเภทแปะติดผิวหนังซึ่งเกิดฤทธิ์ยาสูงเกินไปจนเกิดผลข้างเคียง เมื่อถูกความร้อน เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรระวังไม่ให้เตาฯ เกิดไฟฟ้าลัดวงจร (เช่นไม่สาดน้ำลงไปในแท่งให้ความร้อน) ไม่อบความร้อนนานเกินกว่า ๓๐ นาที หรือร้อนจนทนไม่ไหว หรือหายใจลำบาก หรือมีอาการหน้ามืด/จะเป็นลม

ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือหญิงตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็ก ไม่ควรทำซาวน่าคนเดียว โดยไม่มีผู้อยู่ดูแล และควรได้รับความยินยอมจากแพทย์ผู้ดูแลก่อน

(รายละเอียดการเดินจงกรม เพื่อต้านภัย เอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา เช่น เดินอย่างไร ควรเดินวันละกี่ก้าว อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หมอชาวบ้าน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔๙๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ หน้า ๒๒-๒๖ เรื่อง อ.อริยาบถอย่างไร ต้านภัย เอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา)

(ดูเรื่อง อิ่มและอดอย่างไร ป้องกันเอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา หมอชาวบ้านปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔๙๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ หน้า ๓๓)

วารสารหมอชาวบ้านฉบับที่ 497 ปีที่ 42 กันยายน 2563

7 September 2564

By STY/Lib

Views, 1927

 

Preset Colors