02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดใจนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด (ตอน 2)

เปิดใจนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด (ตอน 2)

รายงานโดย... สำนักงานเลขานุการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ตอนนี้เรามาติดตามกันต่อกับหน่วยงานจากกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกิจพิชิตโควิดครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ดร.นวลจันทร์ วิจักษณ์จินดา นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ (ภูมิคุ้มกันวิทยา) ปัจจุบันเป็นรักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ภูมิคุ้มกันวิทยา) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เล่าให้ฟังถึงการทำงานของห้องปฏิบัติการกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม (จสน.) ในภารกิจพิชิตโควิดว่า ตั้งแต่การระบาดระยะที่ 1 ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (สวส.) มีภาระงานตรวจจำนวนมากและมีการปิดห้องปฏิบัติการเพื่อทำความสะอาด ขณะที่ตัวอย่างส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นก็มีอย่างต่อเนื่อง ทีมห้องปฏิบัติการของ จสน. จึงได้รับตรวจตัวอย่างด้วยเทคนิค real-time RT-PCR เพราะมีเครื่องมือที่สามารถใช้ตรวจได้ แต่ต้องจัดสรรพื้นที่ห้องแล็บที่มีการป้องกันการติดเชื้อให้เหมาะสมกับงานนี้ เพื่อสนับสนุนงานของกรมฯ ให้เดินหน้าต่อไป โดยก่อนเปิดตรวจได้ผ่านการประเมินห้องปฏิบัติการจาก สวส. พร้อมกันนั้นยังได้พัฒนาวิธีการ/กระบวนการตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) รวมถึงการพัฒนาวิธีการตรวจโควิดด้วยตัวอย่างน้ำลาย ที่สามารถตรวจตัวอย่างได้ทีเดียวครั้งละจำนวนมากๆ อีกด้วย

“ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2563 รายงานผู้ติดเชื้อในไทยมรประมาณ 3,000 ราย แล้วสถานการณ์ก็นิ่งมากๆ ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยของประชาคมในประเทศว่าบ้านเรามี case แค่นี้จริงหรือมีการปกปิดตัวเลข หรือมีการตรวจน้อยเกินไปหรือเปล่า เลยเกิดเป็นโครงการสำรวจในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง ซึ่งเป็นโครงการสำรวจเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มผู้ขับรถรับจ้างและขนส่งสาธารณะ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเนื่องจากช่วงนั้น ยังเกิดภาวะขาดแคลนชุดเก็บตัวอย่าง Swab สำหรับป้ายกวาดโพรงจมูกและลำคอ รวมทั้งชุดป้องกัน PPE สำหรับเจ้าหน้าที่ เพราะทั่วโลกต่างก็ใช้วิธีการเก็บและตรวจแบบเดียวกัน จากการที่มีรายงานตีพิมพ์จากต่างประเทศว่าสามารถใช้น้ำลายในการตรวจได้ ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีไดทดลองทำแล้วและพบว่าใช้ได้ เราจึงทดลองใช้น้ำลายตรวจ และเนื่องจากตอนนั้นอัตราการพบเชื้อในไทยต่ำมาก น้ำลายอาจไม่พอหากต้องตรวจหลายหมื่นคน จึงนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงการตรวจน้ำลายเป็นแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva) ก่อนที่จะตรวจ โดยทำเป็นโครงการนำร่องในเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 ก่อน แล้วจึงมีการขยายผลการตรวจน้ำลายแบบรวมนี้ไปดำเนินการในทุกเขตสุขภาพ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการตรวจตัวอย่างรวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ตัวอย่าง พบผลบวกเพียง 2 ตัวอย่าง ข้อมูลนี้ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยมีการระบาดในอัตราที่ต่ำมาก ทำให้ได้ข้อมูลเชิงระบาดที่มีความสำคัญต่อการวางมาตรการควบคุมโรคต่อไป” ดร.นวลจันทร์กล่าว

ภารกิจที่สำคัญของ ดร.นวลจันทร์ และทีมงาน จสน. มีงานวิจัยที่ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว และอยู่ระหว่างการศึกษาอีกหลายชิ้น ดร.นวลจันทร์บอกว่า การพัฒนาชุดน้ำยาตรวจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากทราบดีถึงปริมาณความต้องการที่อาจขาดแคลนเมื่อใดก็ได้ สวส.มีการเร่งทำงานร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการพัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด 19 แบบ real-time RT-PCR ได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพ ความไว ความจำเพาะของชุดตรวจดังกล่าว และ จสน.เองก็ได้พัฒนาปรับปรุงวิธีการตรวจโดยใช้น้ำยาอื่นเพื่อสำรองการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาวิจัยร่วมกับทีมวิจัยจาก รพ.ศิริราช ในการตรวจวัดปริมาณไวรัสในตัวอย่างน้ำลายผู้ป่วยเพื่อติดตามการรักษา และการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันและปัจจัยพันธุศาสตร์ของผู้ติดเชื้อโควิดที่บางคนติดเชื้อ บางคนไม่ติดเชื้อ บางคนมีภูมิตอบสนอง หรือบางคนไม่มี ตรงนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันพันธุกรรมหรือไม่ เป็นต้น

การทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด ที่มีจำนวนตัวอย่างส่งตรวจเป็นจำนวนมาก แม้จะทำให้ดร.นวลจันทร์ และทีมงานรู้สึกกดดันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรับมือไม่ได้

“ในฐานะนักวิชาการเรารู้ว่าน้ำลายใช้ตรวจแทนได้ โดยเฉพาะในกรณีสำรวจการระบาด ไม่จำเป็นต้องกวาดล้วงจมูก แต่ก็รู้ข้อจำกัดการตรวจเช่นกันว่าน้ำลายมีสารที่ทำลาย RNA ของไวรัสอยู่มาก นอกจากนี้ตัวอย่างชนิดป้ายโพรงจมูกและคอ ป้ายเสร็จปุ๊บก็จุ่มในน้ำยาเก็บตัวอย่าง(VTM : Viral Transport Media) ซึ่งมียาปฏิชีวนะที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียและช่วยรักษาตัวอย่างไม่ให้เน่าเสีย แต่น้ำลาย ไม่มีการเติมน้ำยาใดๆ หลังจากบ้วนออกมา มันจะบูดด้วยตัวมันเอง เพราะแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ดังนั้นต้องส่งน้ำลายมาถึงห้องแล็บภายใน 24 ชั่วโมง ต้องมีความสมดุลระหว่างจำนวนตัวอย่างที่เก็บกับจำนวนตรวจที่ศักยภาพแล็บทำได้ บางวันที่ตัวอย่างมามากกว่า 1,500 ตัวอย่าง และส่งถึงตอนเย็นหรือค่ำก็ต้องพยายามตรวจให้เร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นภาวะกดดันอย่างหนึ่ง น้องๆ ในทีมต้องมาขึ้นเวรและออกผลให้ทัน ตอนนั้นทำงานกันหนักมากตี 2-3 หรือถึงเช้าอีกวัน แต่ทุกคนก็สู้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าแล็บจึงต้องมีการวางแผนการทำงาน จัดระบบโดยประชุมทีม ซึ่งน้องๆ ของ จสน. และสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ (สชพ.) ที่ทำงานอยู่ที่ตึก 10 มาร่วมด้วยช่วยกัน หาหัวหน้าทีม จัดแบ่งงานทั้งงานแล็บ งานลงข้อมูล/ออกผล งานสนับสนุนที่ต้องเตรียมและจัดวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งให้มีผู้ประสานงานกับหน่วยส่งตัวอย่าง เช่น สสจ. กรมควบคุมโรค สำนักอนามัย-กทม. และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการสำรวจการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากร ที่สำคัญทุกคนยังคงต้องทำงานในหน้าที่เดิมด้วย จึงต้องจัดเวลาทำงานให้สามารถทำงานส่วนที่ต้องรับผิดชอบของหน่วยงานและงานตรวจโควิดให้ได้ทั้งสองงาน ซึ่งต้องขอบคุณน้องๆ ทุกคนที่เต็มที่กับการทำงาน ทำงานไปสักระยะก็มีการพูดคุยกันเพื่อปรับระบบในส่วนที่ยังติดขัด พอทุกอย่างอยู่ตัว เราก็ทำได้ไม่ยาก ขั้นตอนที่สำคัญและใช้เวลามากคือการ unpack ตัวอย่างน้ำลายที่อยู่ในกระปุกที่ใส่ซ้อนในถุงพลาสติกหลายชั้น ต้องแกะกระปุกออกมาด้วยความระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ ตอนแรกๆ น้องๆ อาจรู้สึกกังวลใจอยู่บ้างแต่ก็ย้ำกับเขาเสมอว่าขอให้ยึดหลัก 3 สิ่งคือ ทำแล็บแล้ว ตัวเองไม่ติดเชื้อ เพื่อนไม่ติดเชื้อและไม่นำเชื้อกระจายออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก หากทำได้ทั้ง 3 สิ่งนี้ โอกาสที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อนั้นก็แทบจะไม่มีเลย” ดร.นวลจันทร์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการทำงานที่ผ่านมานั้นถือเป็นความรู้สึกทั้งภูมิใจและท้าทาย ที่ต้องตอบโจทย์ให้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ 

จดหมายข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 35 ฉบับที่ 5 เดือนพฤษภาคม 2564

20 August 2564

By STY/Lib

Views, 936

 

Preset Colors