02 149 5555 ถึง 60

 

ห้องปฏิบัติการในประเทศไทยพร้อมร่วมมือ เฝ้าระวังเชื้อไวรัส ASRS-CoV-2 กลายพันธุ์

ห้องปฏิบัติการในประเทศไทยพร้อมร่วมมือ เฝ้าระวังเชื้อไวรัส ASRS-CoV-2 กลายพันธุ์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิรฺลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายเสริมความแข็งแกร่งเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในไทย เพื่อเป็นข้อมูลป้องกันควบคุม รักษาโรค และต่อยอดการวิจัย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโรค ได้สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่มีห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ ได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 กลายพันธุ์ 3 วิธี ดังนี้

1. การตรวจเฉพาะตำแหน่งกลายพันธุ์ ที่มีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ที่น่ากังวลด้วยเทคนิค Real-time PCR สามารถทำได้ในระดับเขตภูมิภาค

2. Target sequencing ตรวจการกายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่ทราบข้อมูลการกลายพันธุ์อยู่แล้ว หรือค้นหาตำแหน่งการกลายพันธุ์ใหม่บนยีนสำคัญ เช่น ยีนหนามแหลม (spike)

3. Whole genome sequencing ตรวจข้อมูลทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส เป็นวิธีหลักในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เริ่มต้นที่ 9,000 ตัวอย่างเพื่อให้มีข้อมูลพอเพียงต่อการควบคุมโรค และการบริหารวัคซีนโควิด 19 โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปอย่างน้อย 6 เดือน

รายงานการพบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทยจากการระบาดระลอกเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน พ.ศ.2564 พบว่า

1. สายพันธุ์อัลฟ่า เป็นต้นเหตุของการระบาดในเดือนเมษายน และพฤษภาคม พ.ศ.2564 พบเกือบทุกจังหวัด และเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย

2. สายพันธุ์เดลตา พบรายงานครั้งแรกในเขตกรุงเทพมหานคร และมีการระบาดออกไปในภาคเหนือและภาคอีสานตามกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับบ้านจากกรุงเทพมหานครในช่วงระบาด

3. สายพันธุ์เบตา พบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย

การรายงานผลการเฝ้าระวังนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศ จังหวัด ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังติดตามในจังหวัด รวมถึงเป็นข้อมูลในการรักษาโรค และเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เช่นเดิมไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเดินหน้าเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ข้อมูลการเฝ้าระวังกับทุกหน่วยเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

ติดตามรายละเอียดการเฝ้าระวังได้ที่ www.dmsc.moph.go.th

จดหมายข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 35 ฉบับที่ 5 เดือนมิถุนายน 2564

4 August 2564

By STY/Lib

Views, 899

 

Preset Colors