02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้สูงอายุกับวัคซีนป้องกัน COVID-19

ผู้สูงอายุกับวัคซีนป้องกัน COVID-19

เรื่องโดย... ศ. นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราช

เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมมีการเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติ และถ้าหากมีโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติในร่างกายยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVOD-19 ในขณะนี้ที่เราได้เห็นการรณรงค์ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVOD-19 บางคนยังลังเลและรีรอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ที่มีความกังวลใจ ไม่แน่ใจว่าจะไปรับวัคซีนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ในความจริงผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ซึ่งมักเกิดจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุและการมีโรคประจำตัวหลายอย่าง โดยพบว่า อาจมีโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVOD-19 เป็นอย่างยิ่ง โดยคำแนะนำของสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย เดือน พ.ค.64 ได้แบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

①ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่อาการคงที่

เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคตับ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง หากอาการคงที่ ผู้ที่เคยแพ้ยา อาหาร หรือผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เช่น aspirin, clopidrogrel ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน หรือหากรับประทานยาวาร์ฟาริน ที่ระดับการแข็งตัวของเลือด (INR) ต่ำกว่า 3 มาตลอด หรือหากเพิ่งตรวจ INR ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนฉีดยา ได้ค่าต่ำกว่า 4 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

มีข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สามารถป้องกันการติด COVID-19 และลดความรุนแรงของการเกิดโรคได้มาก อีกทั้งโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมีน้อยมาก ซึ่งไม่แตกต่างจากกลุ่มประชากรวัยอื่น และไม่ต่างจากธรรมชาติของการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลี ไข้ต่ำๆ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 1-2 วัน และโอกาสเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยเหล่านี้มีโอกาสน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว

 ภาวะที่เป็นการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

1. โรคระบบการไหลเวียนเลือด หัวใจและเมแทบอลิก เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ

2. โรคระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกสันหลังเสื่อมทั้งในส่วนคอและบั่นเอว โรคเกาต์ เกาต์เทียม โรครูมาตอยด์ และข้อไหล่ติด

3. โรคระบบประสาท จิตประสาท จิตใจและอารมณ์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า เหงา วิตกกังวล เครียดและนอนไม่หลับ

4. โรคของอวัยวะการรับรู้และสุขภาพช่องปาก ได้แก่ โรคตา หู และสุขภาพช่องปาก ซึ่งพบได้บ่อย และมีผลรบกวนคุณภาพชีวิตและการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

5. โรคเฉพาะระบบอวัยวะ เช่น

⬥ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กลืนลำบาก แผลในกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี เลือดออกในทางเดินอาหาร โรคตับอักเสบ ตับแข็ง และท้องผูก

⬥ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ปอดอักเสบติดเชื้อ

⬥ โรคไต เช่น ไตวาย

6. โรคมะเร็ง โดยมะเร็งที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งในช่องปาก และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

7. โรคที่เกี่ยวกับภาวะโภชนาการ ทั้งด้านภาวะอ้วนลงพุงและทุพโภชนาการ

8. โรคติดเชื้อ ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่รุนแรง โดยโรคติดเชื้อที่สำคัญที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคปอดอักเสบติดเชื้อ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ วัณโรคปอด งูสวัด และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังอาจเกิดกลุ่มอาการสูงอายุ (geriatric syndromes) ซึ่งจากสาเหตุที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือโรคใดโรคหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น อาการซึม สับสนเฉียบพลัน สมองเสื่อม หกล้ม ทุพโภชนาการ ปัสสาวะราด โดยกลุ่มอาการสูงอายุอาการใดอาการเดียว อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม โรคและการเสื่อมของร่างกายในระบบต่างๆ ที่ค่อยๆ สะสมมา

จะเห็นได้ว่า จากการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ และการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุเปราะบาง (frailty) และเมื่อเกิดสิ่งกระตุ้น (stressor) จะเกิดกำลังสำรองของร่างกายที่จะตอบสนองไก้ไขได้ ก็จะกระตุ้นให้เกิดทุพพลภาพและมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าหนุ่มสาว

②ผู้สูงอายุที่เพิ่งมีอาการเจ็บป่วยที่อาการยังควบคุมอาการไม่ได้ มีอาการไม่คงที่ หรือได้ยากดภูมิคุมกันที่อาการของโรคยังไม่สงบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

③ผู้สูงอายุระยะท้ายของชีวิตที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน การพิจารณาการฉีดวัคซีนจะเป็นรายกรณีไป เนื่องจากวัคซีนต้องฉีด 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกัน 10-12 สัปดาห์ (ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์) และยังไม่มีข้อมูลในผู้ป่วยกลุ่มนี้มากนัก

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อของโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาจเว้นระยะการฉีดให้ห่างจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องรีบฉีดตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนบาดทะยัก ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะเวลากับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ให้ฉีดคนละตำแหน่งกัน

 วัคซีนสามารถฉีดได้ในผู้ที่อายุเท่าได เพราะอะไร

หากไม่นับตัวอย่างที่เห็นการฉีดในคนที่อายุเกิน 100 ปี เป็นกรณีๆ ไปแล้ว รายงานการฉีดในผู้สูงอายุในอเมริกา ช่วง 4 เดือน (14 ธ.ค.63-10 เม.ย.64) มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ไก้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็ม ประมาณ 17.7 ล้านคน และในอังกฤษ มีการศึกษาถึงการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 90.ปี (ถึงแม้ร้อยละของผู้สูงอายุที่เกิน 90 ปี ในการวิจัยอาจน้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุวัยต้นที่อายุน้อยกว่า 70 ปี)

นอกจากนั้นข้อมูลในประเทศที่มีการรายงานโดยแบ่งกลุ่มผู้ที่มีอายุมากๆ เช่น 80 ปีขึ้นไป มีอยู่ในบางประเทศ ก็พบว่าได้ผล ลดโอกาสการติดโควิด-19 ลดการแพร่เชื้อหากเกิดการติดเชื้อ (ข้อมูลยังมีรายงานเฉพาะในวัคซีนบางชนิด) ส่วนข้อมูลที่มีในทุกชนิดของวัคซีนคือ ลดการมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ ลดโอกาสการเสียชีวิต

 เมื่อผู้สูงอายุได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 เข็มแรกแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ถึงแม้การฉีดวัคซีน จะลดโอกาสการติดโควิด-19 และลดอาการที่รุนแรง และการเสียชีวิต แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกๆ ของการฉีดวัคซีนที่ภูมิคุ้มกันยังค่อยๆ เพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับการฉีกวัคซีน จึงยังควรป้องกันการติดโควิด-19 ด้วยวิธีมาตรฐานอื่นๆ ด้วย คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างและการล้างมือบ่อยๆ

 เมื่อได้รับเข็มที่ 2 แล้ว จะสามารถป้องกัน COVID-19 ได้ในระดับไหน อย่างไร

ผลของวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 อาจมีความแตกต่างกันบ้างตามชนิดของวัคซีน แหล่งประชากร ช่วงเวลาที่ศึกษาและการป้องกันการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น จึงอาจเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างชนิดของวัคซีนได้ยาก โดยเฉพาะข้อมูลจำเพาะในผู้สูงอายุ โดยปกติหลังฉีดครบ 2 เข็มจะป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 60-90 และป้องกันการเกิดอาการจากการติดเชื้อได้ร้อยละ 65-90 ป้องกันการต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลได้ร้อยละ 83-95 และป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ร้อยละ 83-99

 สิ่งที่ลูกหลานควรปฏิบัติ ในการ support ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ จำนวนมากที่อาจไม่เข้าใจขั้นตอนในการลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีน และอาจไม่ได้ติดตามข่าวสาร กังวลเกี่ยวกับอายุที่มากแล้ว โรคประจำตัวและยาที่รับประทานว่าสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน ลูกหลานจึงมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ ในกรณีที่ผู้สูงอายุ (หรือลูกหลาน) ยังมีความไม่มั่นใจมากนัก อาจปรึกษาแพทย์ได้ นากจากนั้นลูกหลานยังสามารถช่วงลงทะเบียนการฉีดและพาผู้สูงอายุไปรับการฉีดวัคซีนตามนัด

ศิริราชประชาสัมพันธ์ ปีที่ 33 , ฉบับที่ 444, เดือนกรกฎาคม 2564

19 July 2564

By STY/Lib

Views, 45923

 

Preset Colors