02 149 5555 ถึง 60

 

อ.อนามัย ส่วนบุคคล-สังคม-สิ่งแวดล้อม อย่างไร ต้านภัยเอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 1)

อ.อนามัย ส่วนบุคคล-สังคม-สิ่งแวดล้อม อย่างไร ต้านภัยเอ็นซีดี,พีเอ็ม ๒.๕,ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 1)

เรื่องโดย นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

อนามัยส่วนบุคคลกับการป้องกันโรคติดต่อ

มาตรการ “กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย” เป็นอนามัยส่วนบุคคล ที่ช่วยป้องกันการติดต่อจากโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โควิด-๑๙

อนามัย สังคม-สิ่งแวดล้อม:การกักตัว การไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อฯ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-๑๙ การกักตัวเองในบ้านหรือสถานที่รัฐบาลจัดให้ ๑๔ วัน (ปลีกวิเวก หรือ self-quarantine) การอยู่บ้าน ไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อฯ (หลีกภัยหรือ stay-at-home or shelter-in-place) และการเว้นระยะห่างทางสังคม ๒ เมตร

(ไม่คลุกคลี หรือ social distancing) ล้วนเป็นมาตรการสร้าง “อนามัยสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่สำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิด-๑๙ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นอกเหนือจากมาตรการสร้าง “อนามัยส่วนบุคคล” เช่น กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น

การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ๒๕๖๓ (ช่วงระบาดของโรคโควิด-๑๙) พบว่า การใช้มาตรการ

social distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) สัมพันธ์กับการ “ลดลง” ของอัตราเพิ่มรายวันของโรคโควิด-๑๙ ได้ ๕.๔% หลังจากเริ่มใช้มาตรการฯ ๑-๕ วัน ๖-๘% ๘.๒% และ ๙.๑% หลังจากเริ่มใช้มาตรการฯ ๖-๑o,๑๑-๑๕ และ ๑๖-๒o วัน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ถ้าไม่ได้ใช้มาตรการ shelter-in-place (หรือการอยู่บ้าน) เพิ่มขึ้น (จาก social distancing ดังกล่าว) สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการแพร่กระจายโรคอีก ๑o เท่า (หรือประมาณ ๑o ล้าน ผู้ป่วยรายใหม่)

การศึกษา ๒๙ การศึกษา เกี่ยวกับการกักตัว (quarantine) เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด-๑๙ พบว่า ในเมืองอู่ฮั่น

(พบการระบาดที่แรกของโรคโควิด-๑๙ ในประเทศจีน) ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ รายใหม่ ๗,๗๒๓ คน ๑ เดือนหลังการระบาด

แต่ถ้ากักตัวผู้ที่สงสัยป่วย (ลดการแพร่โรคฯ) ได้ครึ่งหนึ่ง (๕o%) จะลดผู้ป่วยรายใหม่ได้ ๔๔% ถ้ากักตัวได้ ๙o% ลดได้ ๖๕% (Tang,2020)

ในประเทศอังกฤษ ประเมินว่า การแยกผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ และการกักตัวผู้สงสัยป่วยฯ ในบ้าน (case isolation and household quarantine) จะลดการตายได้ ๓๑-๓๔% ใน ๓ เดือน (Ferguson,2020)

การกักตัว การไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อฯ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยป้องกันการระบาดโรคโควิด-๑๙

ปลีกวิเวก หลีกภัย ไม่คลุกคลี สัมพันธ์กับการลดมลพิษในอากาศ (พีเอ็ม ๒.๕) แต่อาจเพิ่มขยะและมลพิษกับสิ่งแวดล้อมอื่น

มาตรการ “กักตัว” ไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อฯ และ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ทำให้เกิดการ “พบปะ” ผู้คนในสังคม

การเดินทาง การทำงานและกิจกรรม กิจกรรมนอกบ้าน การค้าขาย อุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็นหลายอย่าง ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้มลพิษในอากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมและการเดินทางทางรถยนต์เครื่องบิน เช่น พีเอ็ม ๒.๕ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ลดลงด้วยอย่างเห็นได้ชัดจากการติดตามศึกษาสภาวะแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว ก็ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิด “ขยะ” เช่น การใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุดป้องกันโรค (พีพีอี) พลาสติกใส่แอลกอฮอล์ล้างมือ การจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-๑๙ เป็นต้น และการหยุดการทำงานของอุตสาหกรรมกำจัดขยะหรือรีไซเคิลขยะ ทำให้ปริมาณขยะและสารพิษที่มีผลต่อมลพิษที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การสร้าง อ.อนามัยสังคม-สิ่งแวดล้อม เพื่อลดการติดเชื้อโรคติดต่อและต้องลดมลพิษในสังคม-สิ่งแวดล้อมด้วย

อ.อนามัย สังคม-สิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโควิด-๑๙ อาจเพิ่มโรคเอ็นซีดี ผ่านปัจจัยทางกาย ใจ สังคม-สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ

การไม่ใกล้ชิดกันระหว่างบุคคลทางกายภาพ(physical distancing: quarantine, stay home and social distancing) หรือเว้นระยะห่างกัน ๒ เมตร เพื่อลดการสัมผัส รับเชื้อ ติดเชื้อโรคโควิด-๑๙ ส่งผลเพิ่มโรคเอ็นซีดีได้หลายประการ คือ

๑.ทางกายภาพ

๑.๑.อ.อาหาร เช่น กินอาหารสำเร็จรูป อาหารอุตสาหกรรม หรืออาหารนอกบ้านที่ส่งถึงบ้าน (หวาน มัน เกลือ (โซเดียม) เนื้อแดง ปรุงแต่ง ปนเปื้อน หรืออาหารเพิ่มโรคฯ มากขึ้น เพราะ ถูกกว่า สะดวกกว่า อร่อยกว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้การทำอาหารกินเองที่บ้านและการกินอาหารลดโรค ป้องกันโรคฯ (พืชสด ลดเกลือ เนื้อน้อย ด้อยมัน น้ำตาลต่ำ ธรรมชาติ ปราศจากภัย) น้อยลงหรือหายไป เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ไม่ออกนอกบ้านฯ

๑.๒.อ.อิริยาบถ ออกแรง ออกกำลังกาย เช่น อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ก็เลยหยุดออกแรง หยุดออกกำลังกายไปด้วยเพลินอยู่กับการนั่งกินนอนกิน เพราะไม่มีที่ออกกำลังกาย ไปฟิตเนสไม่ได้ วิ่งนอกบ้านไม่ได้ เป็นต้น

“ภาวะเซ็ง-ซึมเศร้า และความกังวล-ฟุ้งซ่าน เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโรคเอ็นซีดีที่สำคัญ”

๒.ทางจิตใจ

ภาวะเซ็ง-ซึมเศร้า และความกังวล-ฟุ้งซ่านเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโรคเอ็นซีดีที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะภาวะจิตใจดังกล่าวเพิ่มการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขี้เกียจออกกำลังกายมากขึ้น (ยิ่งเครียด ยิ่งกิน ยิ่งเครียด ยิ่งนอน ยิ่งเครียด ยิ่งสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือคลายเครียดด้วยการบริโภค) อีกส่วนหนึ่งเพราะภาวะจิตใจดังกล่าว ยังเพิ่มระบบสู่(ซิมพาเทติก) เพิ่มการอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลันในร่างกายเมื่อมีการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น พีเอ็ม ๒.๕ การติดเชื้อ เป็นต้น

๒.๑.การกักตัว(ผู้สงสัยป่วย) หรือแยกตัว อยู่คนเดียว (ผู้ป่วย) ทำให้รู้สึกว้าเหว่ ไม่มีเพื่อน ขาดการสนับสนุนทางสังคมและครอบครัว นำไปสู่ภาวะเซ็ง-ซึมเศร้าได้ง่าย

๒.๒.การตื่นตระหนก กลัวติดเชื้อ ติดโรค จากข่าวสาร สื่อสังคมต่างๆ เช่น ป่วยเพิ่มตายพุ่ง ส่งผลให้เกิดความเครียด ความกังวล ความกลัว โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องทำงานในภาวะโรคระบาดรอบตัว

๓.ทางสังคม-สิ่งแวดล้อม

๓.การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จำกัดการติดต่อกับผู้คนนอกบ้าน ย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันของคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันตลอดเวลาได้ง่ายขึ้น มากขึ้นนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง จนถึงการใช้ความรุนแรง การหย่าร้างในครอบครัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยทางสังคม (เช่น ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว หรือทุนทางสังคมต่ำ) สัมพันธ์กับการเพิ่มโรคเอ็นซีดีหลายโรค เช่น เบาหวาน ความดันฯ และภาวะซึมเศร้า

๓.๒.ขยะและมลพิษจากขยะที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการทางสังคม-สิ่งแวดล้อมในการป้องกันโรคโควิด-๑๙ อาจส่งผลให้เพิ่มโรคเอ็นซีดีหลายโรค เช่น การสะสมสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endo-crine disrupting chemical) ซึ่งพบมากในพลาสติก ไมโครพลาสติก สัมพันธ์กับความดันเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน เป็นต้น

๔.ทางจิตวิญญาณ

ความเชื่อมั่นในมาตรการทางสังคม-สิ่งแวดล้อมว่า จะป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-๑๙ ได้เป็นอย่างดี (มากเกินไป) จนเกิดความประมาท ขาดสติ การ์ดตก ความหย่อนยานของการดูแลตนเอง ป้องกันโรคดังกล่าว และความไม่ใส่ใจในการป้องกันโรคอื่น เช่น เอ็นซีดี โรคที่มากับพีเอ็ม ๒.๕ ล้วนทำให้เกิดการ “ลดโรคติดต่อ แต่อาจเพิ่มโรคไม่ติดต่ออื่น” ได้

วารสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 501 ปีที่ 42 มกราคม 2564

(อ่านต่อฉบับหน้า)

22 June 2564

By STY/Lib

Views, 2066

 

Preset Colors