02 149 5555 ถึง 60

 

ปรับสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด (ตอนจบ)

ปรับสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด (ตอนจบ)

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยเทคนิคการกินอาหารสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

เรื่องเด่น เรื่องโดย... ศ.คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล

⬥ มื้อเช้ากินอย่างราชา ย่อยง่าย อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก ปิ้งย่าง

⬥ มื้อกลางวัน กินให้อิ่มเหมือนสามัญชน แต่ต้องมีคุณค่าด้วย

⬥ มื้อเย็น กินก่อนพระอาทิตย์ตกดิน กินอย่างยาจก กินปริมาณน้อย

⬥ กินอาหารต้องเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อช่วยให้การย่อยดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น และเป็นการช่วยลดภาระการทำงานของระบบย่อยอีกทางหนึ่ง

⬥ “กินก่อนหิว ดื่มน้ำก่อนกระหาย” ป้องกันการกินมาก ดื่มมาก

⬥ ให้กินอิ่มเพียง 70% มีความรู้สึก “ในอิ่มมีหิว” “ในหิวมีอิ่ม” และ “อิ่มแต่ไม่แน่น” “หิวแต่ไม่กลวง”

เหตุผลสำคัญคือ “ความอยากอาหารสะท้อนพลังกระเพาะอาหาร”

การปล่อยให้มีความหิวเล็กน้อย จะช่วยให้กลไกการทำงานของกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่จับกินเชื้อโรคทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แพทย์แผนจีนกล่าวว่า “การกินอิ่มทำลายกระเพาะอาหาร ม้าม” ความหมายแคบ หมายถึง การทำงานที่มีประสิทธิภาพของระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน ยังหมายถึงระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นต้นทุนแต่กำเนิดคืออวัยวะไต (ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีน)

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออกกำลังกาย

จุดมุ่งหมายของการออกกำลังกาย บางครั้งให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนัก คือ ออกให้นานพอเกินครึ่งชั่วโมง ด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (แบบมีการใช้ออกซิเจน) เพื่อให้ร่างกายได้นำเอาไขมันส่วนเกินมาใช้ หรือเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือเพื่อให้หัวใจสูบฉีดมากขึ้น ซึ่งต้องทำให้หนักพอ จนหัวใจเต้นเร็วจนถึงอัตราที่เป้าหมาย

การออกกำลังกายแบบแพทย์แผนจีน มุ่งเน้นเพื่อสุขภาพ เพื่อให้บรรลุการไหลเวียนที่คล่องตัว จิตใจแจ่มใส อารมณ์สดชื่น ลดความเครียด ร่างกายรับออกซิเจนมากขึ้น ขับของเสียได้ดีขึ้น โดยใช้หลักการ 3 ประสาน คือ ร่างกาย - จิตใจ (สมาธิ) - การหายใจ

◉ ร่างกายเคลื่อนไหว เน้นความยืดหยุนของกล้ามเนื้อมากกว่าการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้พลังลมปราณ**** ไหลเวียนคล่องตัวทั่วร่างกาย หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ติดขัด

◉ จิตสงบ สมองจะหลั่งสารสุข เช่น เอนดอร์ฟิน (endorphin) เอนเคฟาลิน (enkaphalin) ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

◉ หายใจเข้าออก ช้า ลึกยาว ทำให้มีสมาธิจดจ่อ กระตุ้นการทำงานหัวใจ ขยายปอด เสริมพลังปอด รับออกซิเจน-ขับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความอ่อนล้าได้เร็วขึ้น

**** ระบบเส้นลมปราณ เป็นระบบที่เชื่อมโยงร่างกายทุกส่วน อวัยวะภายในกับกล้ามเนื้อและผิวหนังเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

จุดซูบนแผ่นหลัง เป็นจุดสะท้อนอวัยวะภายใน การติดขัดของเส้นลมปราณที่จุดเหล่านี้จะมีผลต่อการเกิดโรคของอวัยวะภายในได้ ในทางกลับกัน การที่จุดเหล่านี้ไหลเวียนดีไม่ติดขัดจะทำให้อวัยวะภายในทำงานได้ดี

จุดฝังเข็มเส้นลมปราณบริเวณหน้าท้อง มีอวัยวะสำคัญ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก มดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลืองในไขมันบริเวณช่องท้อง การรักษาการไหลเวียนบริเวณท้องและท้องน้อย จึงมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน

จุดฝังเข็มเส้นปราณบริเวณหน้าท้อง มีกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองช่องท้อง

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอ

น้ำหนักตัวของคนเราประกอบไปด้วยน้ำถึง 60% ร่างกายจะสูญเสียน้ำผ่านการปัสสาวะ เหงื่อ การหายใจ การออกกำลังกาย หรืออื่นๆ

การดื่มน้ำเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมอาจเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะการดื่มน้ำมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

โดยทั่วไป การดื่มน้ำวันละ 8 แก้วนั้น เพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย แต่แท้จริงแล้วปริมาณที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ของผู้บริโภคเองด้วย

ช่วงเวลาสำคัญของการดื่มน้ำ

🍻 ตื่นนอน ดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้ว หรือ 240-280 มล. (เวลา 05.00-07.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่) ช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษต่างๆ และช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน ช่วยการขับถ่าย ลดความหนืดของเลือดเนื่องจากการสูญเสียน้ำจากทางเดินหายใจ

การใช้พลังงานขั้นพื้นฐาน รวมถึงการสูญเสียน้ำมาเป็นน้ำปัสสาวะ โดยไม่ได้ดื่มน้ำมาเพิ่มเติมตลอดทั้งคืน ทำให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดน้อยลง เลือดมีความเข้มข้น โอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดอาการวูบ เวียนศีรษะ หกล้ม หรือเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันได้

🍻 เที่ยง ดื่มน้ำให้พอ ลดความหนืดเลือด (เวลา 11.00-13.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณ หัวใจ) ช่วงเวลานี้พลังร่างกายตามธรรมชาติมีพลังสูงสุด ภายหลังตื่นนอนภายหลังตรากตรำทำงานตลอดช่วงเช้า จึงต้องให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำ

🍻 ช่วงเย็น ดื่มน้ำช่วยการทำงานของไตในการขับปัสสาวะ (เวลา 17.00-19.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณ ไต)

🍻 ก่อนมื้ออาหาร การดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนกินอาหาร 30 นาที ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งดื่มน้ำอีก 1 แก้วหลังกินอาหารเสร็จแล้ว 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร แต่น้ำย่อยอาจเจือจางได้หากดื่มน้ำแล้วเว้นช่วงเวลาไว้นานเกินไป

🍻 ก่อนนอน การดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนนอน ช่วยแทนที่ของเหลวที่จะสูญเสียในตอนกลางคืนได้ คนที่ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืนอาจลดปริมาณน้ำลง เน้นดื่มในช่วงกลางวันให้มาก

การดื่มน้ำเย็นประจำทำลายไตหยาง

-รากฐานชีวิต

เนื่องจากน้ำที่ดื่มจะผ่านทางเดินอาหารตั้งแต่ส่วนบนลงสู่ลำไส้ใหญ่ตามแนวกลางลำตัวผ่านหน้าอก ช่องท้อง ท้องน้อย

น้ำเย็นมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัวการไหลเวียนเลือดที่ไปอวัยวะภายในน้อยลง พลังลมปราณเกิดการติดขัด การทำงานลดลง ก่อให้เกิดของเสียเกิดขึ้นภายในร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็น ในขณะที่น้ำอุ่นช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน ช่วยการย่อยอาหารดีขึ้น รวมถึงการทำงานต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้องด้วย

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการนอนหลับ

คนที่อดนอนหรือนอนดึกเป็นประจำ หรือการหลับที่ไม่มีคุณภาพ คือ หลับยาก นอนไม่หลับทั้งคืน หลับๆ ตื่นๆ หลับแล้วตื่น ตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ นอนหลับแล้วตื่นเร็ว ตื่นแล้วยังง่วงนอน นอนกรน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ

มนุษย์เราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ

การนอนหลับนั้นเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหัวใจและหลอดเลือดจะได้พักผ่อน ยังเป็นช่วยเวลาที่มีการซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ฟื้นฟูร่างกาย ทำลายพิษที่มีอยู่ในร่างกาย การปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาและจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้สมองเกิดการจดจำและมีพัฒนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตจำเป็นต้องนอนหลับให้มากพอ

แพทย์จีนกล่าวว่า “ถ้าไม่นอนหลับ พลังหยางจะไม่เกิด พลังยินจะไม่สะสมทำให้เสียสมดุลยิน-หยาง ตามมาด้วยโรคร้อยแปด”

 ควรเข้านอนก่อน 23.00 น. เพราะในช่วง 22.00-02.00 น. ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) ช่วยทำให้ง่วงนอน นอนหลับ และกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งช่วยในเรื่องพัฒนาการและการเจริญเติบโต เพิ่มความสูง และทำให้หลับสนิทช่วยให้มีการซ่อมแซมร่างกาย

 ช่วงเวลา 23.00-01.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณถุงน้ำดี ร่างกายเริ่มซ่อมแซมขจัดเซลล์เก่า ของเสีย และสร้างเซลล์ใหม่

 ช่วงเวลา 01.00-03.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณตับ เข้าสู่ภาวะพัก ระยะการหลับลึก การขจัดของเสียออกระบบต่างๆ ช่วงเวลา 02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายสงบที่สุดกล้ามเนื้อผ่อนคลาย เข้าสู่ภาวะพัก ฟื้นฟูความอ่อนล้า

 “งีบหลับสั้นๆ ช่วงกลางวัน ถนอมหัวใจ เติมพลัง” ช่วงเวลา 11.00-13.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณหัวใจสูงสุด ให้งีบหลับสั้นๆ (15-30 นาที) งีบกลางวัน หรือปล่อยวางทางจิตอารมณ์ด้วยสมาธิ จะป้องกันโรคหัวใจและทำให้สดชื่นช่วงกลางวัน

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการปรับอารมณ์ทั้ง 7 และจิตใจ

ต้องใช้สติควบคุมอารมณ์ ไม่ตอบสนองตามสัญชาตญาณ อย่าปล่อยให้ตกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งยาวนาน

การดูแลสุขภาพจิตใจต้องควบคุมตัณหาความอยาก จิตสงบ ความต้องการทางวัตถุยิ่งมากจิตใจยิ่งไม่สงบ ภูมิคุ้มกันยิ่งต่ำ ดังนั้นในทำการใดๆ ควรทำโดยไม่มีตัณหา ลดความละโมบ ไม่รับรู้ (ปล่อยวาง) ไม่หวังสิ่งตอบแทน

อารมณ์ทั้ง 7 คือ อารมณ์โกรธ ดีใจ วิตก กังวล ครุ่นคิด เศร้าโศก ตกใจ กลัว อย่างรุนแรงหรือยาวนาน ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของอวัยวะภายในที่แน่นอน ซึ่งสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีและภาษาของการแพทย์แผนจีน ดังนี้

- อารมณ์โกรธ ทำลายตับ

- อารมณ์ดีใจ ทำลายหัวใจ

- อารมณ์วิตกกังวล และครุ่นคิด ทำลายม้าม

- อารมณ์เศร้าโศก ทำลายปอด

- อารมณ์ตกใจ และอารมณ์กลัว ทำลายไต

อารมณ์ต่างๆ เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก มีการหลั่งสารชีวเคมีที่แตกต่างกันในแต่ละอารมณ์

สารชีวเคมีบางชนิดมีฤทธิ์กระตุ้น บางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายแตกต่างกัน ถ้าหลั่งมามากหรือยาวนานย่อมมีผลต่อภาวะสมดุลของระบบการทำงานร่างกาย

ในทางการแพทย์แผนจีน อารมณ์มีผลต่อกลไกพลังของอวัยวะภายใน รบกวนทิศทางการทำหน้าที่ของอวัยวะภายใน ตามมาซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

จิตใจที่ละโมบ จิตที่ผิดหวังเมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่ปล่อยวาง ไม่ยอมรับความจริง พบวิกฤตก็มองแต่เป็นว่าคือความวิบัติ ไม่สามารถมองวกฤตเป็นโอกาส จมอยู่ในความทุกข์ นอนไม่หลับ กังวล ซึมเศร้า กลัว ทำให้สุขภาพกายและใจทรุดลงอย่างรวดเร็ว

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฝึกหายใจลึก

ฝึกหัดการหายใจด้วยท้อง เพื่อให้ออกซิเจนเข้าปอดได้เต็มที่และขับของเสีย (คาร์บอนไดออกไซด์) ออกให้มากที่สุดเช่นกัน

ฝึกหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ หายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก อย่างช้าๆ สม่ำเสมอ

ข้อดีการหายใจด้วยท้อง คือ

🕯 เป็นการบริหารปอดและอวัยวะภายใน

🕯 รับออกซิเจนมากขึ้น ขับของเสียมาขึ้น

🕯 กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความอ่อนล้า หลับดีขึ้น

🕯 กระตุ้นการย่อย และการดูดซึมอาหาร การขับถ่ายดี

🕯 ลดความเครียด ผ่อนคลาย ใจจดจ่อที่การหายใจ เกิดสมาธิ

การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่พอเหมาะ

อวัยวะไตเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมน ความเสื่อมชรา และไขกระดูกซึ่งเกี่ยวข้องการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

แพทย์จีนกล่าวว่า “เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ แต่มากเกินก็ไม่ได้” และ อาหารและเรื่องเพศเป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้”

แพทย์จีนชื่อ เก๋อหง สมัยจิ้นเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน กล่าวไว้ว่า...”คนเรามีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าปราศจากการแลกเปลี่ยนยิน-หยาง จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เก็บกด จะทำให้เกิดโรค ชีวิตจะสั้น”

ข้อความในตำราพิชัยสงคราม “ยิน-ฝู่จิง” เมื่อ 2,000 กว่าปี บันทึกไว้ว่า “การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการควบคุม เหมือนใบมีดที่เฉือนถึงกระดูก จะทำลายชีวิต”

คนที่หมกมุ่นทางเพศมาดเกินไป จะทำให้

⚤ สูญเสียสารจิงในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อไต การมีกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งไตพร่อง และการมีเพศสัมพันธ์ที่มากอย่างไม่มีการควบคุม จะทำลายพลังของไต

ในผู้ชายจะทำให้เกิดภาวะน้ำกามเคลื่อนหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ในผู้หญิงจะทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ตกขาวมากผิปกติ หรือมีภาวะแท้งลูกง่าย บางรายมีภาวะมีบุตรยาก

ดังนั้น การเก็บรักษาจิงของไตป้องกันไตพร่อง ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง จะต้องฝึกการควบคุมการหลั่งสารจิง (อสุจิ) โดย

- วัยหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงาน ร่างกายยังแข็งแรง มีการพักผ่อนเพียงพอ ช่วงฮันนีมูนอาจมีการสูญเสียสารจิงได้ทุกวัน วันละครั้ง

- อายุ 22-25 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 4 วัน ต่อครั้ง

- อายุ 32-35 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 7 วัน ต่อครั้ง

- อายุ 40-50 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง

- อายุ 50-60 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 30 วัน ต่อครั้ง

- อายุ 60 ปี ควบคุมไม่ให้หลั่งหรืองดหลั่ง

ข้อสังเกตง่ายๆ ว่ามีการสูญเสียพลังไตมากไปหรือไม่ คือ ภายหลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว วันรุ่งขึ้นจำรู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย สมองไม่ปลอดโปร่ง ปวดเมื่อยเอว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แสดงว่าต้องลดการมีเพศสัมพันธ์ให้น้อยลง

สรุป

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และมีผลต่อร่างกายและจิตใจที่ต้องเตรียมใจไว้ยาวนานอย่างน้อย 2 ปี และยังมีผลกระทบต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสงครามที่อาจเป็นการเริ่มต้นยังไม่รู้ว่าวันที่จะสิ้นสุด

การผ่าฟันวิกฤตไปได้ ความหวังของทุกคนฝากไว้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่แน่ว่า หากมีเชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะต้องรับมือกับมันอีกยาวนานเท่าไร

สิ่งที่เราต้องช่วยตัวเองเบื้องต้น คือ การเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันของตนเอง สร้างเสริมการใช้ศักยภาพของร่างกายที่ธรรมชาติให้มา

ใช้วิกฤตในช่วงนี้มาดูแลสุขภาพกันเถิด หลังพายุฟ้าฝนเราจะพบกับท้องฟ้าที่สดใส ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 506 เดือนมิถุนายน 2564

16 June 2564

By STY/Lib

Views, 3594

 

Preset Colors