02 149 5555 ถึง 60

 

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 4 จบ)

อ.โอสถ... อย่างไรต้านภัย เอ็นซีดี*, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (ตอนที่ 4 จบ)

ก้าวทันสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

อ.โอสถ อ.อุปกรณ์ที่ควรมี

ยาที่ช่วยป้องโรคและสร้างเสริมสุขภาพไม่เพิ่มโรคเอ็นซีดี ได้แก่ ยาสำหรับโรคความดันเลือด ยาสำหรับโรคเบาหวาน ยาลดไขมันผิดปกติ เป็นต้น

ส่วนยาที่ช่วยป้องกันโรคดังกล่าวในโรคที่มากับพีเอ็ม 2.5 หรือแม้แต่โรคติดเชื้อ โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่ได้ให้ใช้ เพราะยังไม่ได้มีการศึกษารับรองประโยชน์ โทษ หรือผลดี-ผลเสียของยาดังกล่าว

แต่อุปกรณ์ส่วนตัว/ประจำตัว เพื่อควรมีไว้ใช้ระยะยาวสำหรับต้านภัย ทั้งเอ็นซีดี, พีเอ็ม 2.5, ไวรัสโคโรนา (อุปกรณ์สามัญประจำบ้านแทนยาสามัญประจำบ้าน) เช่น

➀ เครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อการควบคุมน้ำหนักให้ไม่อ้วนเกินหรือไม่ผอมเกินไป (คือ ดัชนีมวลกาย 18.5-23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

➁ เครื่องวัดความดันเลือด เพื่อให้ความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (90-120/60-80 มม.ปรอท)

➂ สายวัดรอบเอว เพื่อให้รอบเอวไม่เกินส่วนสูงหารสอง

➃ เครื่องวัดจำนวนก้าว (pedometer) เพื่อให้เดินวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 8,000 ก้าว เป็นต้น

โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ขาด อ.โอสถ อ.อุปกรณ์

การปิดเมือง ปิดกิจกรรมเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การมารับยาสำหรับโรคประจำตัวของผู้ป่วยเรื้อรัง เอ็นซีดี เป็นไปได้ลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ อุปกรณ์เพื่อป้องกันตนเองจากโรคระบาด อากาศเป็นพิษ เช่น หน้ากากอนามัย N95 หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดมือหรือจุดสัมผัสร่วมก็หามาได้ยากด้วย

ทำให้ผู้ป่วยเอ็นซีดีอาจจะขาดยา ไม่มียาให้กินจนทำให้การควบคุมโรคไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม และอาจเพิ่มกี่สัมผัส ติดโรคระบาด หรือได้รับผลจากพีเอ็ม 2.5 มากขึ้น

ดังนั้น ทางเลือกในการได้รับยาและอุปกรณ์ต้านภัยเอ็นซีดี, พีเอ็ม 2.5, โคโรนาไวรัส คงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ new normal หลายอย่าง เช่น การใช้โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือการส่งยาทางไปรษณีย์ หรือการให้ญาติหนุ่ม-สาวมารับยาหรืออุปกรณ์แทนผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน

อ.โอสถเครื่องมือดูแลตนเอง

อ.โอสถ เป็นเครื่องมือบอกให้รู้ว่า

เราดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรค ไม่เพิ่มโรคได้ดีหรือยัง

ยาที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคแต่ละโรค ก็มักจะได้ผลต่อโรคนั้นๆ แต่อาจไม่ได้ป้องกันโรคอื่นๆ หรืออาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคอื่นๆ ตามมา ดังตัวอย่างที่ยกมาให้ดูข้างต้น

ดังนั้น การกินยาแล้วควบคุมโรคเอ็นซีดีได้ตามเป้าหมายอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอในการป้องกันให้ไม่ป่วยอีก ไม่เพิ่มโรค ต้องไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การกินอยู่ (ใส่ใจ 7 อ.บอกลา 2 ส.) ด้วยตนเอง

ระยะยาว โรคที่เป็นอยู่ก็จะควบคุมได้ โรคใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น และการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ จนบางคนสามารถหยุดกินยาได้

ยาเป็นเครื่องมือ/ตัวชี้วัดที่จะบอกตัวเองได้ว่า เราดูแลตนเอง ใส่ใจการกินอยู่ของเราดีหรือยัง

สรุป

ยาเป็นเพียง “ตัวช่วย” เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคเอ็นซีดี, โรคที่เกิดจากพีเอ็ม 2.5 หรือไวรัสโคโรนา ที่เป็นอยู่ ไม่ให้เกิดความรุนแรงเฉียบพลัน จนเกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต แต่ไม่ใช่ “เป้าหมาย” ในการรักษาโรค เพราะต้นเหตุของโรคเหล่านั้นที่ยาไม่ได้ไปรักษา คือ การใช้ชีวิตยังมีอยู่

ยาเป็นเครื่องมือ (บรรเทาทุกข์จากความเจ็บป่วย) ไม่ใช่เป้าหมาย (กินยาแล้วจะไม่ป่วย)

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 506 เดือนมิถุนายน 2564

14 June 2564

By STY/Lib

Views, 584

 

Preset Colors