02 149 5555 ถึง 60

 

ตำนานยากองเกวียน ต้านไวรัส ขจัดโรคร้าย บำรุงกายดีแล

ตำนานยากองเกวียน ต้านไวรัส ขจัดโรคร้าย บำรุงกายดีแล

จากธรรมชาติสู่ตำรับยา เรื่องโดย... กนกกาญจน์ เอี่ยมสะอาด

ภาพประวัติศาสตร์ของกองเกวียนโบราณที่ทำให้คนยุคปัจจุบันได้เห็นถึงสภาพสังคมและการคมนาคมในอดีต ภาพดังกล่าวนี้ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำนานยากองเกวียน ตำหรับยาพื้นบ้านที่ยังคงมีลมหายใจสืบมาจนถึงปัจจุบัน

อะไรคือตำนานยากองเกวียน

พท.ภ.บัญชา สุวรรณธาดา แพทย์แผนไทยและเจ้าของตำหรับยาพรหมพักตร์ (หลวงพรหมพิทักษ์) ประจำตระกูลสุวรรณธาดา และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการแพทย์ไทยร่วมสมัย โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้นำภาพประวัติศาสตร์ชิ้นนี้มาเปิดเผย เล่าว่า ในอดีตชาวอีสานใช้เกวียนสำหรับการเดินทางไกล โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้องบรรทุกสินค้าไปมาระหว่างเมืองเพื่อค้าขาย การเดินทางแต่ละครั้งจะจัดเป็นขบวนใหญ่เรียกว่า “กองคาราวานเกวียน” เพื่อจะได้สามารถบรรทุกสินค้าต่างๆ เช่น ผ้าไหมทอมือ สิ่งของต่างๆ รวมทั้งวัวควายต้อนไปขายได้คราวละมากๆ และเพื่อความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายในกองเกวียนจะมีผู้ดูแลเรียกว่า “นายฮ้อย” ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำ

ตำนานนายฮ้อยทมิฬผู้นำขบวนต้อนฝูงวัวควายและสินค้าไปแลกเปลี่ยนในที่อื่นๆ จากที่ราบสูงไปขายส่งยังเมืองล่างและเมืองต่ำ ในกองเกวียนจึงประกอบไปด้วยนายฮ้อยที่เป็นหัวหน้าและลูกทีมที่เป็นชาวบ้านรวมตัวกันด้วยความสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว

ในการเดินทางเป็นแรมเดือนของกองคาราวานนั้นนอกจากต้องเผชิญกับความแห้งแล้งลำบากแล้ว ระหว่างทางยังเต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ อันน่าสะพรึงกลัว ทั้งภัยร้ายจากโจรขโมยที่ดักปล้นเอาทรัพย์สินรวมทั้งวัวควายที่ต้อนมา อีกทั้งยังมีภยันตรายจากสัตว์ร้ายต่างๆ รวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอีกหลากหลาย ทั้งภูตผีวิญญาณ เจ้าป่าเจ้าเขา ตลอดการเดินทางกองเกวียนจึงต้องมีเสบียง มีคนทำครัว มีคนเก่งอาวุธ เก่งมวย และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือต้องมีหมอยาประจำกองเกวียน โดยหมอยาอาจเป็นตัวนายฮ้อยเองก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ต้องเก่งคาถาอาคมด้วยจึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นหมอยาผู้ครบสมบูรณ์ทั้งเวทมนตร์และยาสมุนไพรรักษาธรรมชาติ

ทั้งนี้พบว่าตำรับยาดีประจำกองเกวียนนั้นมีหลายตำรับ เช่น ตำรับน้ำเกลือโบราณรักษาไวรัส ตำรับยาหลวงพรหมพิทักษ์รักษาฝีภายในและมะเร็งคุดทะราด ซึ่งทั้งสองตำรับตามบันทึกกล่าวไว้ว่า ถ้าใช้แล้วจักหายสิ้นชะมัดแล

ตำรับยาหลวงพรหมพิทักษ์ รักษาฝีภายใน มะเร็งคุดทะราด

ตำรับยานี้มีความหมายถึงผู้เป็นเจ้าของตำรับยาชื่อหลวงพรหมพิทักษ์ เจ้าเมืองจตุรพักตร์พิมาน ตามประวัติเล่าว่า พระธาดาอำนวยเดช มีนามเดิมว่า “พรหม” เกิดเมื่อปีระกา เดือน 9 พ.ศ.2395 เป็นบุตรคนที่ 4 ในพระรัตนวงษาที่ 12 (ท้าวคำสิงห์ เจ้าเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์) กับญาแม่โช่นแป้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะมีอายุได้ 18 ปี บิดาได้ส่งไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กเพื่อเรียนวิชาการเมืองการปกครองในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “ท้าวมหาไชย ตำแหน่งราชบุตรเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์” และในปี พ.ศ.2415 ได้รับแต่งตั้งเป็น “หลวงพรหมพิทักษ์” (หลวงพรหม) ตำแหน่งราชบุตรเมืองสุวรรณภูมิฯ ซึ่งในช่วงเวลานั้นท่านได้นำตำรายาส่งเข้าวังหลวง จนภายหลังเมื่อท่านได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองจตุรพักตร์พิมาน ตำรับยาของท่านจึงได้ถูกขนานนามว่าตำรับยา “หลวงพรหมพิทักษ์” มีความหมายถึงผู้ที่เป็นเจ้าของตำรับชื่อหลวงพรหมพิทักษ์ เจ้าเมืองจตุรพักตร์พิมาน เป็นผู้นำส่งเข้าถวาย และถูกเรียกชื่อตำรับเป็นคำสมาสให้สั้นเพื่อจำง่ายว่าตำรับยา “พรหมพักตร์”

ปี พ.ศ.2455 ท่านอายุครบ 60 ปีและเกษียณอายุราชการ แต่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “รองอำมาตย์โทพระธาดาอำนวยเดชกรมการพิเศษจังหวัดร้อยเอ็ด” มีหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการบ้านเมืองแก่ข้าราชการท้องถิ่นในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า “สุวรรณธาดา” ซึ่งเป็นต้นนามสกุลของ พท.ภ.บัญชา สุวรรณธาดา แพทย์แผนไทยที่มีความเชี่ยวชาญการใช้ยาจากพืชสมุนไพรและกัญชาทางการแพทย์ ผู้เห็นคุณค่าแห่งภูมิปัญญาสุขภาพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และนำภูมิปัญญาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยไข้ ป้องกันโรคร้าย และเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป วันนี้เราจะได้มาฟัง พท.ภ.บัญชา เปิดเผยตำรับยาหลวงพรหมพิทักษ์ ยาดีที่ต้องฟื้นกลับมาเพื่อช่วยดูแลสุขภาพสังคมไทยให้แข็งแรง

เส้นทางพิกัดยาดี คันชาหางกระฮอก (กัญชาหางกระรอก)

พิกัดยาดีจากสมุนไพรกัญชาหางกระรอก หรือคันชาหางกระฮอก มีหลักฐานยืนยันว่า ครั้งหนึ่งหลวงพรหมพิทักษ์ท่านได้ให้กองเกวียนไปเอาตัวยาดีพิกัดเทือกเขาภูพาน “ฝั่งเมืองหนอนหานล่ม” ซึ่งคนพื้นถิ่นเรียกว่า “เมืองหนองหานหลวงสกลวาปี” ซึ่งเป็นชื่อเมืองเดิมสมัยนั้น ตามบันทึกของหลวงพรหมพิทักษ์กล่าวถึงพิกัดยาดีเป็นกัญชาพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์พิเศษดังนี้

“วาคัญชา ลำต้นสูงใหญ่มีใบเพสลาดสวยสะอาดตามตำราว่าเจ็ดแฉกแตกดอกคล้ายหางกระรอก ออกช่อหันหาเว็นออกบอกทิศ เอายาผาน้ำทิพเป็นกระสาย วันไหว้บุญข้าวจี่เดือนสี่ไปเอาน้ำบั้งสามวาตักเอาไว้ น้ำในไผ่กินพร้อมกัน อยู่เก้าวันดองข้าวก่ำ”

พท.ภ.บัญชาบอกว่า ปัจจุบันสถานที่ซึ่งเป็นที่มาของตำรายาดังกล่าวสันนิษฐานว่า ตั้งอยู่ทางขึ้นปราสาทภูเพกในเขตอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อยู่ในเขตใกล้เคียงเทือกเขาภูพานซึ่งเป็นพิกัดที่ตั้งสายพันธุ์กัญชาพื้นถิ่น แล้วให้กองเกวียนย้อนกลับมาเอา “น้ำหยดจากหิน” เส้นทางขากลับพิกัด “ผาน้ำทิพย์” ตำแหน่งบ้านพอกเมืองสาเกตุร้อยเอ็ดประตูมาเป็นน้ำกระสาย

นอกจากนี้ยังมีข้อความระบุการใช้กัญชาหางกระรอกไว้อีกตำรับหนึ่ง คือ “ให้เอาใบเพสลาดกัญชาหางกระรอกนำมาคั่วให้เหลืองแต่พอหอม หมักกับสุราต้มกลั่นแต่ข้าวเหนียวดำ ใส่น้ำสุรากลั่นพอท่วมยาดองไว้ 7 วัน 9 วัน หรือ 15 วัน ให้หยดน้ำดองกัญชากับน้ำทิพย์ละลายยาประสาพรหมและหยดแต่น้ำนั้นใส่ปาก อมชั่วอึดใจ ท่องนะโมสามจบค่อยกลืนยา กินกาลกลางวัน เช้า เย็น ตัดรากกษัยทั้งปวง บำรุงกายดีแล”

ตำรายาพรหมพักตร์ ประจุกษัย

สรรพคุณ แก้กษัยท้องมาน หืดไอทั้งปวง ผอมเหลือง เจ็บในอก เป็นยาตัดรากกษัยทั้งปวงดีนักแล

ตัวยาประกอบด้วย มหาหิงคุ์, ยาดำ (สตุ), สีเสียดเทศ, เทียนดำ, เทียนขาว, ดอกจันทน์, กระวาน, การพลู, กัญชา, รากเจตมูลเพลิง ยาทั้งหมดนี้เอาสิ่งละ 1 บาท ลูกจันทน์ 2 บาท การบูร 3 บาท โหราเท้าสุนัข 4 บาท รกทอง 6 บาท ฝิ่น 1 สลึง

วิธีใช้ ตำบดเป็นผงละลายน้ำผึ้งเป็นน้ำกระสายกินเมื่อมีอาการ

น้ำเกลือโบราณตำรับกองเกวียน ต้านไวรัสหวัดลงคอ

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ราวปี 2463 ประเทศไทยเกิดโรคระบาดห่าใหญ่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 จึงให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบไปปราบโรคนี้ ซึ่งระบาดที่หัวเมืองลพบุรีและโคราช เมื่อเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปถึงพื้นที่จึงพบว่าชาวบ้านใช้กลุ่มยา 5 รากรักษาและได้ผลดีร่วมกับการใช้น้ำเกลือโบราณต้มอมกลั้วคอ และใบกัญชาเพสลาดต้ม

วิธีการทำน้ำเกลือโบราณ

ใช้เกลือปริมาณ 100 กรัม (โบราณใช้เกลือสินเธาว์) น้ำสะอาด 700 มิลลิลิตร ตั้งไฟเคี่ยวนานประมาณ 30 นาที สังเกตน้ำเกลือจะงวดลงมาเหลือประมาณ 600 มิลลิลิตร กลายเป็นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น จากนั้นนำใส่ภาชนะทึบแสงหรือขวดสีชาเก็บไว้ใช้

วิธีใช้

❣ ใช้น้ำเกลือกลั้วคอ โดยให้กลั้วคอลงไปลึกๆ แล้วบ้วนทิ้ง

❣ นำมะนาวครึ่งซีกบีบผสมในน้ำอุ่น 1 แก้ว ดื่มตามลงไป

❣ ลำดับสุดท้ายดื่มชาตำรับจากใบกัญชาหรือน้ำต้มใบเพสลาดกัญชาตามลงไปอีก 1 แก้ว

พท.ภ.บัญชาวิเคราะห์น้ำเกลือโบราณต้านไวรัสหวัดลงคอไว้ว่า ในน้ำเกลือเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีสารเด่นคือคลอรีนธรรมชาติ 59 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมากลั้วคอจึงทำเชื้อโรคสะบักสะบอม จากนั้นเมื่อดื่มน้ำมะนาวที่เป้นกรดเข้มข้นตามลงไป จึงพาเชื้อโรคให้ดิ่งลงสู่กระเพาะอาหาร ไปเจอกรดแก่ในกระเพาะอาหรซ้ำอีก ทำให้เชื้อตายและเก็บงานด้วยน้ำต้มใบเพสลาดกัญชา

ประโยชน์ของมะนาว

มะนาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus aurantifolia ผิวของผลมีนำมันระเหยง่ายกว่า 22 ชนิด และมีสรรพคุณมากมายดังนี้

⚫ ในน้ำมะนาวมีกรดอินทรีย์หลายชนิด มีรสเปรี้ยวกระตุ้นให้มีการขับน้ำลาย ทำให้ชุ่มคอ จึงช่วยลดอาการไอ กัดเสมหะ ใช้เป็นน้ำกระสายผสมยากวาดคอเด็กแก้ไข้หวัด

⚫ น้ำมะนาวผสมกับเกลือและน้ำตาลทรายแดงจิบเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ และช่วยละบาย เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ผิวของผลสดใช้ขยี้สูดดม ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม

⚫ ผลน้ำมะนาวดองในน้ำเกลือจนเป็นสีน้ำตาล ใช้เป็นยาขับเสมหะและทำให้ชุ่มคอ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า มะนาวออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ เอนไซม์นี้มี 2 ชนิดหลัก คือ AChE และ BChE โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องกับความจำในสมองดีขึ้น และเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งตับอ่อน ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเต้านม ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฤทธิ์ต้านกลุ่มสแต็ปฟิโลค็อกคัส

“นี่คือศาสตร์โบราณที่โยงกับวิทยาศาสตร์ และสามารถใช้ดูแลป้องกันตัวเองได้...ผมบอกเลยว่า ปัจจุบันที่เรากำลังเสี่ยงกับเชื้อไวรัสสมัยใหม่ แนะนำให้ทำวิธีนี้ในเบื้องต้นทุกเช้า เราจะแข็งแรง โรคลักษณะนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว เขาก็ใช้วิธีป้องกันแบบนี้จนสืบทอดอยู่ในตำนานยากองเกวียนที่ผมศึกษาอยู่ รับรองว่าได้ผลครับ”☺

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 543 เดือนพฤษภาคม 2564

4 June 2564

By Lib/STY

Views, 2991

 

Preset Colors