02 149 5555 ถึง 60

 

วิธีรับมือไวรัสและโรคอุบัติใหม่แบบครบวงจร

THE NEW SOLUTION FOR COVID-19

วิธีรับมือไวรัสและโรคอุบัติใหม่แบบครบวงจร

เรื่องโดย ศิริกร โพธิจักร

กรณีไวรัสโควิด-19 นั้นนับเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับผู้คนทั่วโลกว่า มนุษย์เราอย่างไรเสียก็ต้องพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ

แม้เป็นเพียงไวรัสที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร เพิ่มจำนวนเฉพาะในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น จึงจัดเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง(Obligate Intracellular Parasite) แต่ยังมีคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถเปลี่ยนหน้าตาไปได้อย่างรวดเร็วจนส่งผลต่อการตรวจวินิจจัยและประสิทธิภาพของวัคซีน

ปักษ์นี้ชีวจิตได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอธิบายถึงแนวทางรับมือไวรัสโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่นๆดังนี้

LEARNING FROM THE BEGINNING

กลับไปหาวิธีติดตามไวรัสจากองค์ความรู้เดิม

ศาสตรจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์อธิบายถึงการแพร่กระจายของไวรัสจากสัตว์สู่คน ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการติดตามแกะรอยไวรัสโควิด-19 ว่า “เรารู้กันมา 20 ปีแล้ว แท้จริงแล้วโรคที่อยู่ในคนเราพบว่ามาจากไวรัสที่อยู่ในสัตว์โดยเฉพาะค้างคาว แพร่ลงมาถึงสัตว์อื่นๆ จากนั้นจึงแพร่สู่คน กลายเป็นโรคจากคนสู่คน แม้กระทั่งโรคพาสุนัขบ้าที่เราคิดว่ามาจากสัตว์บก จริงๆแล้วก็มีในค้างคาวด้วย ก่อนจะไปสู่แรคคูน สกั๊งค์ หมาแมว หมาป่าแดง

“ในการถ่ายทอดเชื้อแต่ละครั้งในสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน เช่น ค้างคาว กินพืช A ที่มีนามสกุล A ไวรัสต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อจะแพร่ไปสู่ค้างคาวกินแมลง จากนั้นเชื้อในค้างคาวก็สามารถก่อโรคให้เกิดในสัตว์หรือในคนได้เลย หรืออาจจะแพร่มาที่สัตว์บกแล้วค่อยไปที่คน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของไวรัสก่อนจะแพร่ลงไปสู่สัตว์ชนิดอื่นจะมีระเบียบแบบแผน ทำให้นักวิจัยทราบว่าไวรัสชนิดนี้มาจากสัตว์ประเภทใด”

WHAT THE NEW VARIANT TELLS US

การกลายพันธุ์ภายใน 1 ปีมีความหมายอย่างไร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ระบุว่า จากการทำงานเรื่องไวรัสพิษสุนัขบ้าเมื่อ 35 ปีที่แล้ว พอเห็นเชื้อปุ๊ปนักวิจัยจะทราบว่าไวรัสหน้าตาเช่นนี้มาจากค้างคาวชนิดใด เพราะไวรัสจะมีชีวิตอยู่ในสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ถาวรต้องมีลายเซ็นประจำสายพันธุ์ พอแพร่ลงไปถึงเสือ แรคคูน สกั๊งค์ ก็จะมีลายเซ็นใหม่ๆเกิดขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและติดตามการกลายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ในเวลาต่อมา

“ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดออกมาในช่วงแรกๆ เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นก่อน ต่อมาก็มีสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์ ในยุโรป แอฟริกา บราซิล อังกฤษ หากพื้นที่ใดปล่อยให้เกิดการระบาดในวงกว้างจะทำให้ไวรัสสายพันธุ์นั้นวิวัฒนาการไปได้มาก

“ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคนคนหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะมีหน้าตาแบบหนึ่ง แต่พอออกจากร่างกายไปแล้วจะมีหน้าตาอีกแบบหนึ่ง และอาจมีมากกว่า 1 แบบ พูดง่ายๆ ว่าไวรัสที่เข้า-ออกหน้าตาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอติดเชื้อไปเป็นแสนเป็นล้านคน ไวรัสก็ย่อมมีพัฒนาการของตนเองไปเรื่อยๆ และมีลายเซ็นของแต่ละสายพันธุ์ออกมา เช่น UK variant ทำให้นักวิจัยบอกถิ่นฐานหรือต้นกำเนิดของไวรัสและศึกษาย้อนกลับไปได้ว่าไวรัสมาจากที่ไหน”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ อธิบายเปรียบเทียบต่อว่า “เช่นเดียวกันกับไวรัสพิษสุนัขบ้าที่มี variant มากมาย เช่น variant ในค้างคาว สกั๊งค์ แรคคูน ส่วนจุดเด่นไวรัส ไวรัสโควิด-19 คือ มีการพัฒนาข้ามสายพันธุ์เร็วมาก คาดว่าเริ่มแรกอยู่ในค้างคาว ต่อมาจึงไปที่ตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม แล้วจึงไปสู่คน แล้วแพร่จากคนไปสัตว์ต่อ เช่น จากคนไปที่หมา แมว ตัวมิ้งค์ เสือ เมื่อไวรัสเข้าไปในสัตว์เหล่านี้หน้าตาจะเปลี่ยนไปมีรายงานพบว่า มีคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากหมา แมว และ ตัวมิ้งค์ แต่อาการไม่รุนแรงนัก

“แต่อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสัญญาณว่าไวรัสชนิดนี้ไม่เหมือนไวรัสอื่น เพียง 1 ปี แต่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ไปอยู่ในสัตว์สู่คน แล้วก็แพร่จากคนไปที่สัตว์และแพร่กลับไป-มาได้อีก โดยเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะต้องติดตามว่าจะกระทบต่อผลการป้องกันโรคโดยวัคซีนที่เรากำลังใช้อยู่ ณ ขณะนี้หรือไม่

“ในเมื่อวัคซีนที่เราใช้ในปัจจุบันออกแบบมาให้ใช้กับไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น ตอนนี้เราทราบแล้วว่าวัคซีน ปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกา อีกข้อที่ควรรับทราบคือ สายพันธุ์เหล่านี้ตรวจด้วยการแยงจมูกแล้วมีการตกหล่น เพราะรหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการวินิจฉัยและการใช้วัคซีน นอกจากนี้วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ถึงคุณจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อออกมาไม่มากนักได้ แต่ลดอัตราตายจากการติดเชื้อ ลดเวลาที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้”

WHAT’S NEXT?

ก้าวต่อไปในการรับมือไวรัสและโรคอุบัติใหม่

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์อธิบายว่า เรื่องที่ควรต้องเร่งทำคือการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ยังไม่รู้จักและควรต้องเร่งทำแข่งกับเวลา เพื่อให้มีฐานข้อมูลมากเพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสและโรคใหม่ๆ ที่ยังมาไม่ถึง ณ ขณะนี้

“สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ ไวรัสที่เรายังไม่รู้จักชื่อเข้ามาในคนหรือยัง เอาแค่ทุกวันนี้เราทราบว่ามีไวรัสอีก 300-400 ชนิดอยู่ในค้างคาวที่เรายังไม่รู้จักชื่อ ไม่มีทางบอกได้เลยว่าชนิดไหนเก่งเหมือนไวรัสโควิด-19 หลายคนอาจไม่ทราบว่า ทุกวันนี้มีคนไข้ในโรงพยาบาลติดเชื้อโดยไม่ทราบสาเหตุประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยจะให้การรักษาตามความน่าจะเป็น เช่น ถ้านี่เป็นแบคทีเรีย บางทียังไม่รู้จักชื่อก็ให้ยาปฏิชีวนะคุมไว้ก่อน ในกรณีไวรัสเรารู้จักเขาเพียงเล็กน้อย พอรู้ว่าเป็นไวรัสแต่ยังหาชื่อไม่ได้ก็รักษาไปตามอาการ

“ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันเราจึงทำงานร่วมกับ ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อใช้เครื่องมือในการตรวจหาเชื้อชนิดใหม่ ใช้วิธีตรวจจากน้ำลาย

คนไข้ก็ไม่ต้องเจ็บตัวและได้ผลดีกว่าการหาเชื้อด้วยวิธีแยงจมูก ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจงว่าเชื้อต้องมีหน้าตาแบบนี้ๆ

ถ้าหน้าตาเปลี่ยนไปก็จะหาไม่เจอ

“โดยในวันที่ 15 เมษายนนี้จะเป็นการติดตั้งเครื่องตรวจและเริ่มตรวจใน วันที่ 1 พฤษภาคม

เพื่อจะได้ทราบว่าเชื้อที่มีคือไวรัสโควิด-19 แบบที่เราเคยรู้จักแล้ว รวมถึงสามารถแยกว่าเป็น ไวรัสโควิด-19

ที่มีหน้าตาเปลี่ยนไปหรือไวรัสชนิดใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนหรือไม่

“ราคาค่าตรวจ 1 ครั้งอยู่ที่ 50 บาท ใช้น้ำลายในการตรวจ ผลในการตรวจเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่หลุดเลย และเรามีฐานข้อมูลหรอพจนานุกรมไวรัส แบคทีเรีย พอคนไข้มาที่โรงพยาบาล เราเจาะเลือดน้ำเหลือง น้ำไขสันหลัง ก็บอกได้

แล้วว่าเขาติดเชื้อแบคทีเรียชื่ออะไร นามสกุลอะไร ดังนั้นหมอก็สามารถให้ยาปฏิชีวนะตรงเป้าได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอเพาะเชื้ออีก 3 วัน เครื่องของเราตรวจแล้วรู้ผลภายใน 1 นาที”

ศาสตรจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์กล่าวว่า อยากให้คนไทยเข้าถึงการตรวจแบบนี้อย่างทั่วถึงกัน และอยากผลักดันให้เกิดผลในเชิงนโยบาย โดยมุ่งหวังให้รัฐบาลมีเครื่องตรวจแบบนี้ในโรงพยาบาล 5-6 จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะมอบโปรแกรมสำเร็จรูปให้ทุกๆแห่งสามารถวิเคราะห์ต่อได้ นอกจากตรวจไวรัสโควิด-19 แล้วยังตรวจเชื้ออื่นๆได้อีก เช่น เชื้อวัณโรค วิเคราะห์โรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆได้อีกด้วย

EXPERT SAID

คำแนะนำ จากแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อชีวจิตถามว่า หากวัคซีนไม่ใช่คำตอบ เพราะไวรัสจะเปลี่ยนแปลงสายพันธุกรรมไปเรื่อยๆ ดังตัวอย่างที่เราเห็นมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้คนทั่วโลกจะต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้อีกนานหรือไม่

ศาสตรจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ได้อธิบายไว้ดังนี้

“ผมมองว่าเขายังอยู่กับเราอีกนาน กรณีที่มีข้อมูลออกมาว่า การฉีดวัคซีนที่อังกฤษทำให้กราฟการระบาดลดลง เราต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่า เขาใช้มาตรการล็อกดาวน์ควบคู่ไปด้วยหรือไม่ ในช่วงเวลานั้นทางรัฐบาลอังกฤษใช้วีธีเข้มงวดเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง พี่สาวผมเป็นหมอที่อังกฤษอยู่ที่นั่นมา 40 ปีแล้ว เขาเขียนมาบอกผมว่า ที่กราฟการระบาดลดลงเพราะคนเริ่มกลัวตายมากขึ้น จากที่เคยไม่เคร่งครัด ไปไหนมาไหนก็ไม่สวมหน้ากากอนามัย เขาก็หันไปให้ความร่วมมือกับมาตรการดูแลสุขภาพอนามัยพื้นฐานมากขึ้น

“ในส่วนประเทศไทยเรามีข้อดีคือ มีการตรวจพบได้เร็ว ดังนั้นนักวิจัยจึงนำเชื้อมาทำ SIMULATION ดูโครงสร้างโปรตีนได้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ใน variant นี้ ดื้อต่อวัคซีนไหม สำหรับการทำงานที่ศูนย์ฯ เมื่อเรารู้รหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โควิด-19 ชนิดใหม่แล้ว เราจะส่งข้อมูลไปให้บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม

(โดยเภสัชกรหญิงดอกเตอร์สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ CEO และCO-FOUNDER บริษัทใบยา

ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ) เพื่อนำมาผลิตวัคซีนและฉีดให้กับหนู เพื่อดูผลลัพธ์ว่าสามารถสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่

“ทุกนาทีเราต้องก้าวนำหน้าไวรัส เมื่อได้ข้อมูลแล้วต้องส่งต่อไปให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้ต่อสู้กับไวรัสให้ตรงเป้าต่อไป พูดง่ายๆว่าเราจับขโมยเก่ง จับแล้วรู้ได้เลยว่านี่เป็นโจรรุ่นเก่าหรือโจรรุ่นใหม่ จึงทำให้เรามีอาวุธที่จะยิงโจรได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น แนวทางดังกล่าวนำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือกับไวรัสโรคอุบัติใหม่อื่นๆได้อีก

“การตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่และตรวจจับได้ไวย่อมช่วยในเกิดการควบคุมโรคดีขึ้น ทราบแล้วว่าเป็นรหัสพันธุกรรมอะไรก็กักกันตัวและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว เมื่อรู้จักไวรัสแบบระบุสายพันธุ์ได้ก็ทราบว่าการแพร่ระบาดเป็นแบบใด แพร่ทางน้ำลาย เลือด เพศสัมพันธ์ หรืออากาศหรือไม่ ซึ่งจะนำมาสู่การป้องกันโรคได้อย่างถูกต้องงเหมาะสมโดยไม่ต้องใช้ยาเราก็สามารถควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่งแล้ว”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม วิธีพื้นฐาน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างก็ยังต้องทำต่อไปนะครับ

วารสารชีวจิต ฉบับที่ 541 ปีที่ 23 16 เมษายน 2564

14 May 2564

By Lib/STY

Views, 4510

 

Preset Colors