02 149 5555 ถึง 60

 

ความเข้มแข็งที่แท้จริง ไม่ใช่การหนีความรู้สึกเจ็บปวด”

“ความเข้มแข็งที่แท้จริง ไม่ใช่การหนีความรู้สึกเจ็บปวด”

เรื่องโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ และโรคทางจิตเวช

Q ผมดูซีรี่ย์เรื่อง The Queen’s ทางช่อง Netflix แล้วชอบมากเลยครับ สนุกและได้บทเรียนสอนใจหลายอย่าง โดยตัวละครที่ชื่อว่า “เบธ” เป็นตัวละครที่มีมิติทางจิตใจที่ซับซ้อนมาก ผมอยากให้คุณหมอซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวละครนี้ในแง่มุมทางด้านจิตวิทยาด้วยครับ

A ตัวละคร “เบธ” นางเอกของเรื่องเป็นนักหมากรุกที่เก่งกาจ พอๆ กับการเป็นสาวนักดื่มและติดยากล่อมประสาทอย่างเมามัน เป็นตัวละครที่มีมิติทางจิตใจที่ซับซ้อนย้อนแย้งในหลายส่วนอย่างที่คุณถามมาจริงๆ ค่ะ

เนื้อความต่อจากนี้จะเปิกเผยเนื้อหาสำคัญของซีรี่ย์นะคะ (Spoiler Alert!)

1. การใช้ยากล่อมประสาทและการดื่มแอลกอฮอล์ของเธอมีที่มา

มองเผินๆ การใช้ยาและสุราเป็นเพื่อการเสพสุขผ่านการมึนเมา (Narcotization) ส่วนหนึ่งเหมือนช่วยเสริมจินตนาการในการเล่นหมากรุก แต่ภายใต้การใช้ยากล่อมประสาทและสุรา มีความหมายทางจิตใจซ่อนอยู่

การใช่ยากล่อมประสาทและสุราช่วยให้เธอหลบหนีความเจ็บปวดทางจิตใจจากแผลใจในวัยเด็กที่มารดาเกิดอุบัติเหตุแต่เธอกลับรอดอย่างปาฏิหาริย์ อุบัติเหตุครั้งนั้นจริงๆ มารดาตั้งใจฆ่าตัวตายและให้เธอตายไปพร้อมกัน เนื่องจากชีวิตคู่ที่แสนเจ็บปวด ของมารดาและบิดา เธอรับรู้ความเศร้าโศกจากชะตากรรมที่แม่ของเธอต้องเผชิญ สิ่งที่แม่บ่นก่อนฆ่าตัวตายด้วยความกังวลในการเลี้ยงดูเธอต่อไปเพียงลำพัง ทำให้เธอขาดแม่ซึ่งเป็นทุกอย่างของเธอ จนกลายเป็นเด็กกำพร้าที่อ้างว้าง ความทรงจำเหล่านี้เป็นภาพหลอนในใจที่ส่งผลกระทบกับเธออย่างยิ่งยวดและไม่หยุดยั้ง

เธอพยายามไม่ไปใส่ใจ กลไกทางจิตใจคือ การปฏิเสธการรับรู้ความจริง (Denial) และการเก็บกดความรู้สึกในอดีตที่ใจรับไม่ได้ (Repression) แต่มันก็มักผลุบโผล่เข้ามาในความคิดคำนึง รวมถึงการเข้ามาในความฝันอยู่เนืองๆ และยิ่งในยามที่เธอพบความผิดหวัง พ่ายแพ้จากการแข่งขัน ภาพแผลใจในอดีตเหล่านั้นก็จะทวีพลังขึ้นมาถาโถมในใจเธออย่างรุนแรง การใช้ยาและการเมาสุราช่วยให้เธอหลบหนีความรู้สึกผิดหวังเจ็บปวดได้

2. ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เธอพบความสำเร็จ

ในการแข่งขันครั้งสุดท้าย นัดสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ ที่ครั้งนี้เธอสามารถคว้าชัยจากแชมป์โลก ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เธอพบความสำเร็จในนัดสำคัญนี้ไม่ใช่การก้าวข้ามคู่แข่ง แต่คือการก้าวผ่านความเจ็บปวดในตัวเอง ปัจจัยที่เธอแพ้ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ความเก่งกาจของคู่แข่ง แต่จริงๆ คือการแพ้ตัวเอง

ในการแข่งขันครั้งนี้เธอหันกลับมาเผชิญกับแผลใจวัยเด็ก เผชิญกับความเจ็บปวดที่แสนจะบอบช้ำในใจ ปัจจัยทางจิตใจที่ทำให้เธอพบกับความสำเร็จในครั้งนี้ คือ

1) เธอไม่หนีเรื่องราวในใจ (Denial & Avoidance) แบบครั้งก่อนๆ เช่น การไปใช้ยาหรือสุรา (Avoidance) เสพให้เคลิ้มๆ ลอยๆ เมาๆ นอนๆ ลืมๆ ไป หรือการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (Denial)

2) เธอไม่ใช้การตัด (การรับรู้) อารมณ์ แต่ไปใช้การฝักใฝ่เกมหมากรุกเพื่อหนีอารมณ์ (Isolation of Affect) ดูเผินๆ วิธีนี้มีจุดดี แต่ถ้าใช้วิธีนี้มากไปจะสร้างปัญหาระยะยาว เพราะหลายเรื่องเราไม่สามารถตัดอารมณ์ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องที่มีความหมายกับหัวใจมากๆ เมื่ออารมณ์จู่โจมถาโถมเข้ามามากๆ และรุนแรง ใจที่ใช้วิธีนี้บ่อยๆ จะไปไม่เป็น เสียทรง ดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะไม่มีความสามารถในการอยู่กับอารมณ์ได้ดีนัก เนื่องจากตัดการรับรู้อารมณ์ไปบ่อยๆ จนไม่มีทักษะการฝึกอยู่กับอารมณ์ที่อ่อนไหว

3) เธอกลับไปเผชิญหน้า ทั้งความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกอ้างว้าง และบาดแผลในใจ ด้วยการกลับไปยังสถานที่ต่างๆ ในวัยเด็ก ทั้งบ้านที่อาศัยอยู่กับแม่ ทั้งบ้านพ่อที่เกิดปัญหาก่อนแม่จะฆ่าตัวตาย ทั้งถนนที่เกิดเหตุสะเทือนใจ ทั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทุกสถานที่มีกลิ่นอายและเรื่องราวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ มากมาย ทั้งความสุข ความทุกข์ การสูญเสีย ความอ้างว้างเดียวดาย ความเจ็บปวด ความเศร้า ความรู้สึกผิด และบาดแผลในใจที่เหวอะหวะ

4) เธอไม่หนีอารมณ์เหมือนครั้งก่อน เธอไม่หนีไปเสพยากล่อมประสาท ไม่ใช้สุราเพื่อเสพความเมาเหมือนเคย ทั้งที่ครั้งนี้เธอกับเพื่อนในวัยเด็กไปเจอสถานที่ที่แสนเจ็บปวดที่เคยอยากลืม และอารมณ์ความรู้สึกของเธอหลังจากไปเจอสถานที่เหล้านั้นก็เศร้าโศก เจ็บปวดท่วมท้นล้นปรี่ แต่ครั้งนี้เธอไม่หนีอารมณ์เหล่านี้แบบครั้งก่อน

3. การรับมือกับอารมณ์ทุกข์ในใจต่างไปจากเดิม

1) เธอได้ “เปิดใจและรับรู้” ทุกอารมณ์ ทุกความคิดคำนึง ทุกความรู้สึก ทั้งความเจ็บปวด ความรัก ความคิดถึง ที่ครั้งนี้เธอปล่อยให้ตนเองร้องไห้โฮออกมาอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เดิมเกือบตลอดเรื่องเราแทบจะไม่เคยเห็นตัวละครนี้ร้องไห้เลย ทั้งที่ทุกเรื่องที่เธอเจอล้วนหนักหนามาก แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ความหน้านิ่ง เย็นชา ไร้อารมณ์

2) เธอได้ “อยู่กับอารมณ์” ต่างๆ เหล่านั้นอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างซื่อตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง และอย่างมั่นคงที่จะรับรู้มันอย่างที่เป็นโดยไม่หนีไปไหน

3) เธอได้ “พบเพื่อนสนิทที่เป็นกัลยาณมิตร” ในโมเมนต์ที่แสนจะอ่อนไหว เจ็บปวดนั้น เธอมีโจลีน เพื่อนวัยเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าคอยอยู่เคียงข้าง และเป็นตัวช่วยสำคัญให้เธอกลับมาเผชิญกับความทรงจำ (ในวัยเด็ก) นั้นอย่างมั่นคงมากขึ้น

4) เธอได้ “พบเพื่อนที่แสนดีที่สุด” ในชีวิต เพื่อนที่รับรู้สุขทุกข์ เพื่อนที่เคียงข้าง เพื่อนที่เห็นความฟูมฟายของเธอด้วยใจที่ยอรับและอ่อนโยน เพื่อนที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอ ทั้งยามสุข ยามทุกข์ ยามสมหวัง ยามผิดหวัง ยามพบความสำเร็จ หรือยามพ่ายแพ้ ไม่เคยทิ้งเธอไปไหน

“เพื่อนที่แสนดีที่สุดคนนั้นคือตัวเธอเอง” เพื่อนที่ไม่ปฏิเสธการรับรู้อารมณ์ของเธอแบบเมื่อก่อน เพื่อนที่ปฺดรับ ยอมรับ ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ

4. พบมิตรภาพและความรักที่เธอเคยปิดใจ

เธอได้พบมิตรภาพที่ดีที่มีให้เธอตลอดมา ทั้งจากโจลีนเพื่อนสนิทในวัยเด็ก คุณไชเบลภารโรงที่เป็นครูหมากรุกคนแรก คุณแม่บุญธรรมและเพื่อนๆ ที่เล่นหมากรุกมาด้วยกัน เดิมใจเธอไม่เคยเปิดรับมิตรภาพเหล่านี้ได้อย่างเต็มๆ เพราะใจถูกปิดกั้นไว้โดยมีความรู้สึกเย็นชาเคลือบไว้ เหมือนรับรู้ได้บ้าง แต่ไม่เต็มที่ เพราะใจกลัวจะเจ็บปวดอีกเมื่อต้องสูญเสีย จึงไม่อยากอ่อนไหวด้วยความรักของใครอีก แต่เมื่อเธอเปิดใจและใจเปิด มิตรภาพดีๆ และความรักที่งดงามเหล่านี้ได้มาเป็นพลังให้เธอผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้อย่างสวยงาม

5. สมองที่แจ่มใสกว่าเดิม

เธอเคยเข้าใจว่าการใช้ยากล่อมประสาทช่วยให้เธอจินตนาการเกมหมากรุกได้มาก ทำให้เล่นได้ดี แต่ครั้งนี้เธอกลับพบว่าสมองที่แจ่มใสปราศจากยากล่อมประสาทและแอลกอฮอล์ต่างหากที่เฉียบขาดกว่ามาก ความแจ่มใสปราดเปรื่องของสมองที่ปราศจากความมึนเมา ทำให้เธอแก้เกมที่กำลังแข่งขันได้อย่างทรงพลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

6. ช่วงเวลาแห่งความสว่าง

การเผชิญความรู้สึกอ่อนไหวเป็นช่วงเวลาที่เจ็บจี๊ดที่สุด แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ก้าวผ่านแผลใจไปได้อย่างดีที่สุด และนั้นคือการเป็นอิสระที่แท้จริงจากพันธนาการที่ชื่อว่าแผลใจในอดีต การพยายามหนีกลับหนีไม่พ้น การเผชิญกับมันอย่างซื่อๆ ตรงๆ กลับทำให้พ้นจากอิทธิพลของมัน ความเข้มแข็ง ความมั่นคงที่แท้จริงจึงเกิดขึ้น

“การเผชิญ” กับความเจ็บคือการปลดปล่อยตัวเองจากความเจ็บนั้นที่แท้จริง

นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 539 เดือนมีนาคม 2564 (เรื่อง 2)

11 May 2564

By STY/Lib

Views, 18731

 

Preset Colors