02 149 5555 ถึง 60

 

โรคติดเชื้อติดต่อทางสังคม

โรคติดเชื้อติดต่อทางสังคม สมองติดไวรัส?

ความวิตกกังวลเป็นดั่งไวรัสร้ายที่สามารถติดเชื้อในสมองคนเราเหมือนคอมพิวเตอร์ติดไวรัส

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีบทความหนึ่งเผยแพร่ในนิวยอร์คไทม์ เขียนโดยจิตแพทย์และประสาทแพทย์ วันนี้จึงขอนำส่วนหนึ่งของบทความมาเผยแพร่ต่อท่านผู้อ่านในวันนี้ค่ะ หากท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่ลิงก์ด้านล่างค่ะ

นอกเหนือจากความวิตกกังวลว่าปัญหา covid 19 ที่เป็นโรคติดต่อที่กำลังระบาดแพนเดอมิกอยู่แล้ว หากมีการเติมเชื้อเพลิงลงไป อาทิ ความไม่แน่นอนจากข้อมูลของผู้รู้ทั้งหลาย (ที่มาทุกทั่วสารทิศยังกะน้ำหลาก) ที่สรุปมาทั้งแบบตรงกันและไม่ตรงกัน รวมเรื่องไม่จริง ข้อคิดเห็นทั้งแบบคิดเองและมีหลักการ หรือเสริมแต่งเข้าไปอีก สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนไปทุกหย่อมหญ้า ในแง่ประสาทวิทยาสมองคนเราก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่กำลังออนไลน์รับข่าวสาร ความกังวลจึงเหมือนการติดไวรัสอย่างแรง จนสมองรวนทำงานไม่ได้ ในขณะที่มุมมองด้านจิตวิทยาสังคม ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของอารมณ์ ความรู้สึกจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นภาวะการติดเชื้ออารมณ์ติอต่อทางสังคม น่าจะเหมาะที่สุด วันนี้มาดูกันค่ะว่าเวลาสมองติดเชื้อทางอารมณ์แล้วจะเป็นเช่นไร

ความกลัว

ในความเป็นจริงความกลัวเป็นกลไกการเอาชีวิตรอดที่เก่าแก่ที่สุดที่เรามี ความกลัวเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ของเรา ความกลัวที่สมควรแก่เหตุก็ถือเป็นภาวะปกติ ความกลัวช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าแรงเสริมเชิงลบ (negative reinforcement)

ความวิตกังวล

ความกลัวกับความวิตกกังวล มีความหมายใกล้เคียงกับ "ความวิตกกังวล" (anxiety) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดในสิ่งที่ใกล้เข้ามาประชิดตัวและส่วนใหญ่มักจะไม่แน่ใจและไม่ชัดเจน ความวิตกกังวลที่มีประโยชน์ในบางสถานการณ์เพราะช่วยให้เราตื่นตัวและพร้อมรับมือกับปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโรควิตกกังวลมีความแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลทั่วๆไป คนที่เป็นโรควิตกกังวลจะรู้สึกวิตกกังวลและกลัวอย่างเกินเหตุ จนมีผลทางลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นผลทำให้สมองทำงานรวนได้

สมองกับการเรียนรู้ของมนุษย์

ตัวอย่าง หากเราก้าวออกไปสู่ถนนที่กำลังวุ่นวาย ศรีษะของเราจะหันซ้ายขวา และทันทีที่มีรถจะวิ่งเข้ามาหาเรา สัญชาตญาณจะทำให้เรารีบกระโดดกลับไปที่ความปลอดภัย นั่นคือบนขอบของทางเท้าทันทีโดยอัตโนมัติ วิวัฒนาการดังกล่าวได้สร้างประสบการณ์ที่สมจริงและธรรมดาที่สุดสำหรับมนุษย์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาแบบธรรมดาไม่สลับซับซ้อนนี้ สมองมนุษย์เราจึงมีการเรียนรู้จากองค์ประกอบอยู่สามประการ นั่นคือ 1. ตัวชี้นำสิ่งแวดล้อมในสมอง (environmental cue: ตัวชี้นำสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยารูปแบบหนึ่งที่จะบอกให้เรารู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และจะตอบสนองเช่นไร) พฤติกรรม (behavior) และผลลัพท์ (result) ในตัวอย่างนี้ การเดินไปบนถนนที่วุ่นวายเป็นตัวชี้นำให้เราต้องหันซ้ายหันขวาก่อนที่จะข้ามถนน ผลก็คือทำให้เราปลอดภัย ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสมองก็จะเรียนรู้ จำ และตอบสนองเมื่อเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต

บางครั้งในช่วงล้านปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจ รวมถึงได้มีพัฒนาทำให้เกิดเลเยอร์ใหม่ๆบนสมอง ซึ่งเป็นที่มาของความอยู่รอดของมนุษย์ในยุคหลังๆ โดยเลเยอร์ใหม่ๆที่เราพูดถึงก็คือสิ่งที่เรียกว่า การทำงานของเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า เป็นส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ การทำงานของสมองบริเวณนี้จึงช่วยให้เราคิดและวางแผนสำหรับอนาคต สามารถทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบนพื้นฐานของประสบการณ์ที่ผ่านมา หากข้อมูลขาดๆแหว่งๆไป เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าของคนเราจะมีการตอบสนองที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป อาทิเช่น จะเป็นแบบไม่คงที่สม่ำเสมอ และมีความเสี่ยงที่จะไม่ปลอดภัยได้ สามารถเห็นได้ชัดจากบางสถานการณ์ที่แม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่เคยเกิดมาแล้ว หากสมองได้รับข้อมูลดีและเพียงพอ ไม่มีสิ่งรบกวน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเช่นในอดีต แต่หากถูกรบกวนวิธีการดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น เช่นข้ามถนนในขณะมีความกังวล ผลที่ตามอาจจะไม่หันซ้ายขวาเหมือนที่เคยปฏิบัติและในที่สุดก็ถูกรถชน เป็นต้น แม้ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เกิดในอดีต การตอบสนองก็อาจจะเปลี่ยนไปได้

ความหลากหลายของข่าวสารและข้อมูลของไวรัสโควิด19 เป็นบ่อเกิดของความวิตกกังวล

อย่างที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น นิยามความวิตกกังวลว่าเป็น“ความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่สบายใจซึ่งโดยทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ใกล้เข้ามาหรือสิ่งที่มีผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน”

ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าของเรา หากสมองไม่ได้รับหรือไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ เราจะเห็นสิ่งนี้ในเวลานี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้คนเราและคนรอบข้างกำลังเผชิญกับ coronavirus หรือ covid19 ในขณะนี้ทั้งในทีวีและในชีวิตจริง คือภาพที่ผู้คนกำลังกักตุนเข้าแถวช้อปปี้งอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน หรือแม้แต่การแย่งกระดาษชำระในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์กำลังแข่งกันเพื่อศึกษาลักษณะของ covid19 เพื่อที่เราจะได้รู้ได้อย่างแม่นยำว่ามันติดต่อกันและถึงตายได้อย่างไรและทำตามนั้น ขณะเดียวกัน ด้วยความไม่แน่นอนทั้งหลายนี่เองจึงมีผู้หวังดีและไม่ดี ส่งข่าวแพร่กระจายทั้งจริงและไม่จริง จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนมากมายเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

หากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องมันเป็นเรื่องง่ายที่สมองของเราจะหมุนวนอยู่กับเรื่องราวของความวิตกกังวล (anxiety) หวาดกลัว (fear) และท้ายที่สุดก็นำไปสู่ภาวะวิตกกังวลรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้แบบที่เรียกว่าแพนิก (Panic)

การระจายของโรคติดต่อทางอารมณ์ (The spread of emotion)

ความวิตกกังวลของเราสามารถถูกยกให้หรือถูกกระตุ้นได้โดยเพียงแค่พูดคุยกับคนอื่นที่เป็นกังวล คำพูดที่น่ากลัวของพวกเขาเหมือนกับการจามลงบนสมองของเราโดยตรง เฉกเช่นการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด 19 ฉันใดฉันนั้น ส่งผลให้เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าของเราติดเชื้อและส่งมันออกจากการควบคุมเพราะกังวลเกี่ยวกับทุกสิ่งไม่ว่าสมาชิกครอบครัวของเราจะป่วยหรือไม่

Wall Street เป็นตัวอย่างที่ดีของการแพร่เชื้อโรคติดต่อทางสังคม: เราดูตลาดหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นและความล้มเหลวดัชนีหุ้นเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิเพื่อดูว่าเรามีความวิตกกังวลเป็นกลุ่มมากแค่ไหนในเวลานี้ วอลล์สตรีทยังมีสิ่งที่เรียกว่าดัชนีความกลัวหรือ VIX ซึ่งสูงกว่าวิกฤตการเงินที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และพึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

นำไปสู่พฤติกรรมตอบสนอง (การตุนเครื่องอุปโภคบริโภค) เพื่อความอยู่รอด

เมื่อเราไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของเรา ไข้อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะพุ่งเข้าสู่ความกลัว และท้ายที่สุดคือความตื่นตระหนก Panic หมายถึง“ ความกลัวหรือความวิตกกังวลที่ควบคุมไม่ได้อย่างฉับพลันมักทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่คาดคิด” จบด้วยความไม่แน่นอนและความกลัวในอนาคต ส่วนการทำงานของสมองที่มีความเป็นเหตุเป็นผลก็จะเข้าสู่โหมด “ออฟไลน์” ตามหลักเหตุผล อาทิเช่น เรารู้ว่า จริงๆแล้ว เราไม่ต้องการสต้อกกระดาษชำระไว้ใช้ถึงหกเดือน แต่เมื่อเราเห็นรถเข็นของใครบางคนซ้อนกระดาษชำระกันสูง หรือเห็นภาพชั้นวางของในห้างสรรพสินค้า ที่วางจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคว่างเปล่า ความกังวลธรรมดาที่เกิดขึ้น จะดันสมองของเราให้เข้าสู่เพื่อความอยู่รอด นำไปสู่การมีพฤติกรรมตามๆกันแบบติดเชื้อทางอารมณ์/ติดเชื้อทางพฤติกรรมนั่นเอง เราอาจจะเป็นคนหนึ่งที่กำลังวิ่งไปตุนสินค้าดังกล่าว ทั้งๆที่อาจจะยังไม่จำเป็นและไม่ถึงเวลาก็ตาม

สมองถูกแฮก

หลายครั้งที่มนุษย์เราประสบกับภาวะวิตกกังวลจนไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ท่านทั้งหลายอาจะคิดไม่ถึงก็คือ การทำงานของสมองส่วนหน้าจะถูกรบกวนอย่างรุนแรง (hack) จนสมองรวนหรือหยุดทำงานไปเพราะภาวะวิตกกังวล เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเวลาที่ถูกแฮกจนเครื่องพัง ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะขอโฟกัสสิ่งสำคัญสองประการ นั่นคือประการแรกถามว่า วันนี้เราจะเดินหน้าชนกับภาวะวิตกกังวล/หรือชนแรงจนถึงภาวะแพนิกต่อไป กับประการที่สอง หันกลับคิดไตร่ตรองดูว่าผลที่ตามมาคืออะไรหากเดินหน้าชน ซึ่งทั้งสองประการนี้จะช่วยให้เรามองเห็นและสามารถททำนายพฤติกรรมของเรา ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากภาวะกังวลดังกล่าว หรือให้ผลตรงข้าม เพราะภาวะแพนิกนั้นนำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเป็นอันตราย ขณะที่ความวิตกกังวลธรรมดา ผลระยะยาวจะทำให้ร่างกายเราอ่อนแอจนสู้กับโควิดหรือแม้แต่อาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น หวัดธรรมดาก็จะสู้ไม่ได้ในที่สุด

โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว สมองของมนุษย์เรานั้นเลือกที่จะทำงานกับพฤติกรรมเชิงบวก (positive reinforcement) มากกว่า เพราะว่าจะทำให้เรารู้สึกมีความสุข รวมทั้งสามารถกดความรู้สึกไม่ดีบางอย่างโดยเฉพาะความทุกข์ใจ ไม่ให้โผล่ขึ้นมา การที่สมองยินดีทำงานกับพฤติกรรมเชิงบวกก็จะฝังความคิดและพฤติกรรมเชิงลบออกไป ไม่ให้โผล่ขึ้นมาให้เห็นในพฤติกรรมปกติในชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างเช่น

• ถ้าเราเริ่มกังวล:“ โอ้ไม่ฉันแตะหน้าฉันบางทีฉันอาจจะป่วย!”

• แทนที่จะตื่นตระหนกสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วถามว่า:“ ครั้งสุดท้ายที่ฉันล้างมือ คือเมื่อไรกันนะ?

• คิด. "โอ้ใช่! ฉันแค่ต้องการล้างมือเท่านั้น”

สรุป

มากด pause ภาวะวิตกกังวลไว้ ปล่อยให้สมองส่วนหน้าเราได้มีโอกาสออนไลน์ เพราะอย่างที่คุณหมอผู้เขียนซึ่งเป็นจิตแพทย์แนะนำว่า สมองมนุษย์เราเลือกที่จะทำงานกับพฤติกรรมเชิงบวก เพราะทำให้เรามีความสุข แต่ถ้าหากว่าเรากำลังวิตกกังวล ทางแก้มีดังต่อไปนี้

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละสามวัน วันละ 30 นาที

2. ปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำในเรื่องโรคระบาดโควิด 19 โดยเฉพาะ กินร้อน ช้อนตัวเอง หมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ และหลีกเลี่ยงไปอยู่ในสังคมหมู่มาก ฟังข้อมูลจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก เป็นต้น

3. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมง

เพียงสามข้อนี้ ความวิตกกังวลจะไม่มาเยี่ยมเรา เตือนตัวเองไว้เสมอความวิตกกังวลเป็นเหมือนสัตว์ร้าย ทำให้สมองทำงานรวน พึงจำไว้เสมอว่าสมองของเราเลือกที่จะทำงานกับพฤติกรรมด้านบวกเสมอ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่และต่อสู่กับโรคร้ายได้ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและสังคมค่ะ

แหล่งข้อมูล

https://www.nytimes.com/2020/03/13/well/mind/a-brain-hack-to-break-the-coronavirus-anxiety-cycle.html?

17 March 2563

By nitayaporn.m

Views, 5209

 

Preset Colors