02 149 5555 ถึง 60

 

Gossip เรื่องเลวร้ายหรือของฟรีที่มีค่า

Gossip เรื่องเลวร้ายหรือของฟรีที่มีค่า

เมื่อเอ่ยคำว่า Gossip หรือ “นินทา” มักถูกมองไปในทางเลวร้ายมาก แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่ามองในทางบวกแล้วก็พบข้อดี นั่นคือ ช่วยในเรื่องการแลกเปลี่ยนข่าวสารและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันของบุคคล ถือเป็นของฟรีที่พอมีค่าขึ้นมาอีก (นิดหนึ่ง) โดยเรื่องนี้เผยแพร่ในบีบีซี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลอัพเดทมาให้ไม่หลุดเทรนด์ค่ะ หรืออาจจะมองเห็นประโยชน์อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

การนินทาเป็นวิถีที่อยู่กับสังคมมายาวนาน ในภาษาท้องถิ่นประเทศไทยอาจจะเคยได้ยินว่า “เล่าขวัญ” ในภาษาชาวเหนือ หรือ “เว่าพื่น” ในภาษาของชาวอิสาน หรือ “ทำหมวน” ภาษาถิ่นชาวใต้ หรือแม้แต่ในภาษาตากาลอคของฟิลิปปินส์ คือ chika-chika” หรือภาษาเกาหลีก็คือ gasib เป็นต้น วันนี้เรามาติดตามประเด็น Gossip ในหลากหลายมุมมองจากนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องค่ะ

นักวิชาการด้านสังคมวิทยาในปัจจุบันได้ให้คำจำกัดความว่า Gossip/นินทา ว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ของบุคคล/กลุ่มบุคคลชนิดหนึ่ง โดยเป็นการพูดคุยลับหลังถึงบุคคลที่สาม ไม่ว่าเรื่องที่สนทนากันนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม โดยข้อมูลข่าวสารที่สนทนากันนั้น มักจะเป็นเรื่องสำคัญมากนำมาแลกเปลี่ยนกัน จึงเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมต่อกันของบุคคลในสังคม ที่นำมาให้ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนกัน ถือเป็นการสร้างช่องทางติดต่อเพื่อเชื่อมหากันอย่างเป็นปกติของผู้คนในสังคม

ความจำเพาะของ Gossip

1. ต้องเป็นเรื่องลับเฉพาะและเป็นข่าวลือ

2. มีแนวโน้มที่จะเป็นทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) คือเรื่องเล่าหรือเนื้อความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคนหรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์/โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงอยู่บ้าง (เพียงเล็กน้อย) ที่ผู้ฟังหรือผู้อ่านพึงใช้วิจารณญาณในการรับฟัง

3. มักเป็นหัวข้อสนทนาในหมู่เพศหญิงมากกว่าเพศชาย

การนินทาแม้ว่าโดยปกติแล้วเป็นเรื่องทางลบ แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกดีหรือเป็นเรื่องทางบวกต่อบุคคลที่กำลังอยู่ในเหตุการณ์ขณะสนทนานั้น อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง Gossip (นินทา) กับ Rumor (ข่าวลือ) พบว่า การนินทามักเป็นเรื่องลับเฉพาะหรืออยู่ในเบื้องลึกของวงข่าวลือ (ลับของลับเฉพาะจากข่าวลือ) และข่าวลือมีความเกี่ยวข้องได้ทั้งบุคคลและสถานการณ์ ซึ่งนักวิชาการด้านสังคมจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ Jenifer Cole กล่าวว่า การนินทามุ่งเน้นไปที่เรื่องที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลมากกว่าจะเป็นเหตุการณ์ ขณะที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบัลติมอร์ Salley Farley ให้คำจำกัดความว่า การนินทาไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่หมายถึงบุคคลโดยเฉพาะ

จิตวิทยาส่วนบุคคลกับการนินทา

ศาสตราจารย์ Robin Dunbar จากภาควิชาจิตวิทยาคลินิก มหาวิทยาออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ และนักเขียนด้านจิตวิทยา ได้เขียนหนังสือเรื่อง Why you were born to gossip? ต่อมาวารสารด้านจิตวิทยา Psychology Today ได้นำมาเผยแพร่ โดยได้อธิบายถึงวิวัฒนาการของการนินทาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการด้านภาษาเพื่อการสื่อสารของคนเรา เคยคิดหรือไม่ว่าวันหนึ่งเราใช้เวลาว่างไปมากน้อยเท่าใดในการพูดคุยถึงใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ซึ่งการนินทาเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น แม้ว่าเนื้อหาของการพูดคุยจะเป็นเรื่องธรรมดา ด้วยเพราะว่าการพูดคุยแบบนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทำให้เราสามารถได้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนหรืออัพเดทข่าวสาร ที่ทรงพลังต่อเครือข่ายทางสังคมนั้นเป็นอย่างดี (Dunbar, 2015)

การพูดคุยออนไลน์ในห้องแชท /ธุรกิจสื่อสารไร้พรมแดน

วิวัฒนาการของการสื่อสารของผู้คนในสังคมในปัจจุบัน จากการพูดคุยกันแบบเห็นหน้า กลายมาเป็นการนินทา (พูดคุย) ในห้องแชท ผ่านเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เช่น ไลน์/หรือ Whatsapp กลายเป็นธุรกิจโลกสื่อสารไร้พรมแดนที่ได้รับความนิยม จนรัฐบาลในหลายประเทศได้หันมาควบคุมเนื้อหาสาระในห้องดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยาของส่วนบุคคลของผู้สนทนาในห้องแชท ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศาสตราจารย์ David Ludden ได้เขียนบทความเรื่อง Talking Apes แสดงความเห็นถึงการพูดคุยนินทาในห้องแชท โดยได้มีผลการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลในห้องแชท เผยแพร่ในปี 2008 พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้คือ

1. การซุบซิปนินทาหรือแชทในห้องแชทนั้น เป็นการใช้กลไกทางจิตของบุคคล (Defense mechanism) ที่จะทำให้บุคคลรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้พูดคุยกันถึงเรื่องด้านลบของบุคคลอื่น ทำให้บุคคลดังกล่าวสามารถลืมข้อบกพร่องของตนเองไปชั่วคราวได้ โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ด้านลบต่อบุคคลอื่นที่ทำให้รู้สึกไม่ชอบ/หรือทำให้ตนเองด้อยค่า จะเพิ่มความรู้สึกดีต่อบุคคลได้

2. การซุบซิบนินทาเป็นการระบายอารมณ์ (Mood Ventilation) ด้านลบของบุคคล ได้อย่างรวดเร็วและได้ผลกว่าการใช้วิธีการอื่นๆ

3. เป็นวิธีการสร้างบทสนทนาที่สามารถหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ (หรือร่วมสถานการณ์ เช่น สุขหรือทุกข์ สนุกหรอไม่สนุก) ได้อย่างรวดเร็ว

4. การซุบซิปนินทาเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับความถี่ของการพูดคุยจำนวนครั้ง/วัน หรือ/สัปดาห์

เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทำให้การนินทาหรือสื่อสารนินทาในห้องแชทได้รับความนิยม และมีวิวัฒนาการจนกลายเป็นธุรกิจสื่อสารออนไลน์ที่ไร้พรมแดน มีความรวดเร็วผู้คนที่อยู่ในมุมต่างๆของโลกล้วนสามารถเชื่อมต่อกลายเป็นสังคมเดียว รวมไปถึงสามารถสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโยลีสื่อสารนี้ขึ้นมา จากการที่สามารถจับต้องความชอบของผู้คนในสังคม ที่อาจซ่อนอยู่ในจิตใจ ให้สามารถทำกำไรได้อย่างน่าอัศจรรย์

แคมเปญซุบซิบ (Whispering campaign)

การนินทาถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสังคม โดยเฉพาะดารานักร้อง นักแสดง หรือแม้แต่นักการเมืองที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้น เป็นประเด็นหัวข้อในการสนทนาในวงนินทา ที่เป็นทั้งการพูดคุยและเป็นข้อเขียนซุบซิบทางสื่อต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เป็นช่องทางอันหนึ่งที่จะนำไปสู่การเสาะ (ขุดคุ้ย) หาข้อมูลจากข่าวลือที่มีอยู่ทั่วไป อาทิเช่น ความสัมพันธ์ (โดยเฉพาะประเด็นทางเพศหรือความสัมพันธ์ผิดปกติที่ไม่ใช่สามีภรรยา) ของบุคคลที่มีชื่อเสียงเซเลป/พฤติกรรมของนักการเมือง เป็นต้น ถึงแม้ว่าการซุบซิบมักหมายถึงการเอ่ยถึงบุคคลที่วงสนทนารู้จักดี แต่การนินทาคนดังอย่างดารา นักกีฬาดัง บุคคลทางการเมือง มักเป็นประเด็นที่ผู้คนสนใจ โดยเฉพาะในยุคโลกออนไลน์ทำให้เกิดการเข้าถึงแบบไม่จำกัด บุคคลในสังคมจึงรู้สึกเหมือนรู้จักกันดี เพราะพวกเขามักจะเรียกชื่อคนดัง/เซเลปได้อย่างสนุกสนานด้วยชื่อแรก/หรือชื่อเล่น/ชื่อแฝงของบุคคลดังได้ทันที เช่น การเรียกนายกรัฐมนตรีด้วยชื่อเล่น เป็นต้น การนินทา/หรือข้อเขียนซุบซิปเช่นที่ว่านี้ มีบทบาทมากในด้านให้ความบันเทิงและสร้างความน่าสนใจอย่างน่าอัศจรรย์ โดยประเด็นมักจะเป็นการเจาะลึกพฤติกรรมคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง บางครั้งนำไปสู่ประเด็นอื่นและอาจกลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่ง Andrea McDonnell ศาสตราจารย์ด้านสื่อการสื่อสารและสื่อมวลชนที่ Emmanuel College กล่าวว่า ข้อเขียนซุบซิบคนดังที่เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน เป็นช่องทางนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำให้ผู้คนที่ถูกเอ่ยถึงรู้สึกไม่สบายใจได้ และอาจกลายเป็นความผิดทางอาญา ในการดูหมิ่นบุคคลอื่นให้เกิดความเสียหายเสียชื่อเสียงได้ ขณะเดียวกัน ที่น่ากลัวคือยังเผยให้เห็นแนวโน้มที่ยากจะควบคุมได้ยากขึ้น เขากล่าวว่า “การเปิดเผยข้อมูลความเท็จบางประการในข่าวซุบซิบของสื่อ ได้เปลี่ยนจากข่าวแท็บลอยด์เป็นข่าวกระแสหลัก ทำให้เห็นวัฒนธรรมของคนดังที่ย้ายจากโลกใบปลิวไปสู่โลกทางการเมืองของอเมริกา กลายเป็นการรณรงค์ออกแคมเปญการซุบซิบ (Whispering campaign) ให้กระจายอย่างกว้างขวางได้"

ของฟรี (Complementary) ที่มีคุณค่า

ในอีกมุมหนึ่งการมองค่าการนินทา/ซุบซิบที่เป็นคุณนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีทุจริตของนักการเมือง เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจนินทาพูดคุย/ข้อเขียนซุบซิบ ทั้งสื่อออนไลน์และในกลุ่มบุคคล ที่จะสามารถทำให้เกิดเป็นแคมเปญการซุบซิบให้กลายเป็นข่าวกระแสหลักได้อย่างง่ายดายรวดเร็วได้เช่นกัน จนนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองของผู้คนในสังคม ส่งผลต่อนโยบายสาธารณะที่มีประโยชน์ เป็นของฟรีที่มีคุณค่าอย่างหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นสัมผัสได้

อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยาส่วนบุคคล ที่ผู้คนจะสัมผัสด้านดีของการนินทา ทั้งต่อหน้าและในห้องแชทไลน์/หรือ Whatsapp นั่นคือ ความรู้สึกดีและมีความสุขที่ได้มีการเชื่อมต่อ (Connectivity) กับสังคม และการได้ระบาย (Ventilation)

การพูดคุยสนทนา/นินทา/ซุบซิบ ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือต่อหน้า ซึ่งพบได้มากว่าเรื่องการนินทานั้นจะพบเห็นได้มากจากบทสนทนาของบุคคลที่มีความสัมพันธ์ในสังคมต่อกัน ขณะเดียวกันแม้ว่าพูดคุยนินทาจะเป็นเรื่องเชิงบวกหรือลบก็ตาม เป็นการระบายอารมณ์ (mood ventilation) วิธีหนึ่งที่ได้ผลดี ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า บุคคลจะรู้สึกดีขึ้น (feel better) อย่างรวดเร็วถ้าได้พูดคุยนินทาเรื่องด้านลบของบุคคลอื่น เป็นกลไกลทางจิตปกติอันหนึ่งที่ป้องกันบุคคลจากภาวะมีปัญหาสุขภาพจิต อีกทั้งการตั้งวงนินทามักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จึงทำให้เพศหญิงมีกลไกป้องกันตนเองจากภาวะเสี่ยงอันตรายร้ายแรงจากปัญหาสุขภาพจิต จาการศึกษาเวิจัยคุณภาพเชิงลึก ของอภิชัย มงคล และคณะ ในการป้องกันปัญหาการตัวตายในภาคเหนือตอนบน พบว่า เพศหญิงมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) ต่ำกว่าเพศชายทั้งที่เพศหญิงมีอัตราความพยายามฆ่าตัวตาย (Attempt suicide) สูงกว่าเพศชาย เพราะเพศหญิงมีพฤติกรรมชอบพูดคุย จึงมี “วงเล่าขวัญ เจ้าะแจ้ะ" ในชุมชนให้พบปะพูดคุยมากกว่าเพศชาย (อภิชัย มงคลและคณะ, 2553) นี่จึงเป็นช่องทางออกของเพศหญิง ให้สามารถเพิ่มโอกาสตนเองในการแสวงหาบุคคลที่สามารถไว้ใจระบายออกซึ่งปัญหาของตนเองได้ ขณะเดียวกัน ในการศึกษาประเด็นความสุขคนไทยพบว่า การมีเพื่อนในสังคม (connectivity) เป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่จะบ่งชี้ว่า บุคคลมีความสุขในการดำรงชีวิิตอย่างแท้จริง (อภิชัย มงคลและคณะ, 2549) การเชื่อมต่อกับสังคมไม่ทำให้บุคคลรู้สึกโดดเดี่ยว (loneliness) อ้างว้างเดียวดาย เมื่อเผชิญปัญหาจะมีแหล่งที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

แหล่งข้อมูล

http://www.bbc.com/future/story/20181210-do-we-have-gossip-all-wrong

http://www.psychologytoday.com

20 December 2561

By nitayaporn.m

Views, 5040

 

Preset Colors