02 149 5555 ถึง 60

 

10 ตุลาคม 2018 วันสุขภาพจิตโลก

10 ตุลาคม ของทุกปีวันสุขภาพจิตโลก

คลิกลิงก์ เพื่อเข้าทำแบบทดสอบทางด้านสุขภาพจิต ด้วยตนเองที่นี่ค่ะ https://www.dmh.go.th/test/

วันสุขภาพจิตของโลกมีขึ้นในทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกและเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ กำหนดให้มีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์โดยรวมคือการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลก รวมไปถึงความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้ครอบคลุมประชากรทั่วทุกมุมในโลก โดยเฉพาะประเทศในโลกที่สาม ซึ่งในวันดังกล่าว เป็นโอกาสสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ได้สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานของตนและสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม เพื่อทำให้การดูแลสุขภาพจิตเป็นจริงสำหรับคนทั่วโลก

ประเด็นที่มีการกล่าวถึงในปี 2018

โลกแห่งความเปลี่ยนแปลง กับภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชน

วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นถือเป็นช่วงเวลาที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายประการ อาทิเช่น การเปลี่ยนโรงเรียน การต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน เริ่มเรียนมหาวิทยาลัย หรือมีงานใหม่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงที่สร้างความตื่นเต้นในชีวิตพอสมควร อย่างไรก็ตามมีบางคนสามารถรับมือและยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่บางรายไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ อันเป็นหนทางนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช ในขณะเดียวกัน การเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่งได้นำความสะดวกสบายหลายอย่าง สร้างการติดต่อสื่อสารเสมือนจริงได้ตลอดวันตลอดคืน เหล่านี้จึงเป็นแรงกดดันที่จะนำไปสู่ภาวะเสพติดได้ ยังไม่รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะสงคราม ความอดอยาก การระบาดของยาเสพติด เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่จะทำให้การดำเนินชีวิตมีความทุกข์ทรมาน เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

ครึ่งหนึ่งของความเจ็บป่วยทางจิตทั้งหมดจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี

องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลเนื่องในวันสุขภาพจิตโลกปี 2018 โดยความตอนหนึ่งว่า “ครึ่งหนึ่งของปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 14 ปีเป็นต้นไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการตรวจพบและไม่ได้รับการรักษา ในแง่ของภาระของโรคในหมู่วัยรุ่น ปัญหาฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรอันดับต้นๆ ในกลุ่มวัย 15-29 ปี ในขณะที่ปัญหาภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับที่สาม ทั้งนี้รวมถึงการใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติดที่เป็นอันตรายในหมู่วัยรุ่นถือเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการขับรถที่เป็นอันตรายได้ รวมไปถึงความผิดปกติของการรับประทานอาหาร เหล่านี้เป็นประเด็นยังเป็นที่น่ากังวล

การป้องกันเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจที่ดี

การป้องกันที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้ ในการป้องกันความเจ็บป่วยทางจิตเวชคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะช่วยป้องกันความทุกข์ทรมานจิตใจและความเจ็บป่วยในหมู่วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว การจัดการและฟื้นฟูความเจ็บป่วยทางจิต การป้องกันจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนักและเข้าใจสัญญาณเตือนภัยแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีอาการของความเจ็บป่วยทางจิต พ่อแม่และครูสามารถช่วยสร้างทักษะชีวิตของเด็กและวัยรุ่น เพื่อช่วยให้พวกเขารับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การสนับสนุนด้านจิตสังคม สามารถจัดเตรียมไว้ในโรงเรียนและสถานที่ตั้งชุมชนอื่น ๆ การฝึกอบรมหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อให้สามารถคัดกรองและตรวจพบแต่เนิ่นๆ และจัดการเพื่อให้ความรู้เป็นวงกว้างแก่ประชาชน ให้มีความรู้เพื่อสามารถทำความเข้าใจถึงความผิดปกติด้านสุขภาพจิตได้ด้วยตนเองและการมีทัศนคติที่ดี รวมไปถึงการสร้างช่องทางเพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่สะดวกรวดเร็วและง่าย เป็นแนวทางที่สามารถจัดการปัญหาโดยรวมได้ดีและมีประสิทธิภาพ

กรมสุขภาพจิตและบริการต่างๆที่ท่านสามารถเข้าถึงออนไลน์

กรมสุขภาพจิตในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่ให้การดูแลรักษาผู้มีปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตเวช และส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้ประชาชนสามารถหาข้อมูลได้จากเวปป์ไซท์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th เพื่อการดูแลป้องกันส่งเสริมสุขภาพจิตแต่เนิ่นๆโดยในเวปป์ไซท์ สามารถตรวจสอบปัญหาของท่านเองหรือบุคคลใกล้ชิดได้จากแบบทดสอบที่มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานพอ มีบริการออนไลน์ เพื่อหาคำตอบเบื้องต้นและนำทางไปสู่การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตต่อไป เช่น แบบประเมินภาวะซึมเศร้า 15 ข้อ แบบประเมินความเสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตาย แบบประเมินความเครียด แบบประเมินว่าเสพติดโซเชียลมีเดีย แบบประเมินความสุข แบบประเมินภาวการณ์เจ็บป่วยทางจิตของคนไทย เป็นต้น ท่านสามารถคลิกลิงก์ เพื่อเข้าทำแบบทดสอบด้วยตนเองที่นี่ค่ะ https://www.dmh.go.th/test/

*********************************************************************************

แหล่งข้อมูล

ขอขอบคุณข้อมูลจากเวปป์ไซท์องค์การอนามัยโลก http://www.who.int/mental_health/world-mental-health-day/2018/en/

3 October 2561

By nitayaporn.m

Views, 8789

 

Preset Colors