02 149 5555 ถึง 60

 

วิจัยชี้ง่วงกลางวันบ่อยๆบ่งชี้สมองเสื่อมเร็ว

วิจัยชี้ง่วงกลางวันบ่อยๆบ่งชี้สมองเสื่อมเร็ว

ข้อมูลใหม่ ปัญหาภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่จะเกิดกับผู้ที่นอนไม่ค่อยหลับ/หลับไม่สนิทอีกต่อไปแล้ว ข้อมูลล่าสุดได้ร้บการเปิดเผยเมื่อ 6 กันยายน 2561 มีรายงานการศึกษาวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ ทำการศึกษาอาสาสมัครพบว่า ผู้ที่มีอาการง่วงนอนและงีบหลับในช่วงกลางวันบ่อยๆมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าคนปกติถึงสามเท่า

Why daytime sleepiness could mean trouble for your brain

การประสบปัญหาง่วงนอนมากๆในช่วงเวลากลางวันบ่งชี้ว่าสมองกำลังมีปัญหาบางอย่าง......ท่านผู้อ่านเคยประสบปัญหาภาวะง่วงนอนในช่วงเวลาทำงาน เช่น เผลอหลับอย่างรวดเร็วยังกะแมวนอนหลับ ทั้งที่สามารถหลับได้ดีเป็นปกติ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน หรือว่าเคยต้องไปพบหมอเพื่อแก้ปัญหาง่วงนอนในเวลากลางวันบ่อยๆ เหล่านี้เป็นต้น อาการดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่า อวัยวะสำคัญในร่างกายโดยเฉพาะสมองกำลังจะประสบปัญหาบางประการแล้วล่ะค่ะ

ผลการศึกษาที่สอดคล้องกันของสองสถาบัน

จากรายงานศึกษาวิจัยของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร The journal of SLEEP เมื่อ 6 กันยายน 2018 ว่า ในประชาชนผู้ที่ประสบภาวะง่วงนอนในเวลากลางวันและแอบงีบหลับบ่อยๆ มีผลทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลง นั่นคือมีความผิดปกติในการสร้างโปรตีนเบต้าอไมลอยด์ (Beta-amyloid protein) บริเวณเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทเกิดเป็นกลุ่มแผ่น (Plaques) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโปรตีนตัวนี้มีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม โดยจะมีสัดส่วนเกิดปัญหาในกลุ่มเสี่ยงเป็นสามเท่าของคนทั่วไป ทั้งนี้ผลการศึกษาที่พบครั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานการศึกษาก่อนหน้านี้ของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในบัลติมอร์ ที่ได้ทำการศึกษาแบบระยะยาวกว่า 16 ปี โดยทำการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 1000 ตัวอย่าง ตั้งแต่ปี 1958 เป็นต้นมา โดยการสำรวจความถี่ของภาวะง่วงซึม และนอนมาก พฤติกรรมนอนในเวลากลางวัน/ช่วงเวลางานระหว่างวัน จากนั้นทำสแกนสมองพบกลุ่มแผ่นของเบต้าอไมลอยด์โปรตีนรอบๆเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทสมอง

ผลการศึกษาของจอนห์ฮอปกินส์

ในรายงานการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นอาสาสมัครจำนวน 123 ราย ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ โดยกลุ่มตัวอย่างจะตอบแบบสอบถามและได้รับการสแกนสมอง แยกตามเพศ อายุ การศึกษา และดัชนีมวลกาย ผลปรากฏว่ากลุ่มเสี่ยงที่ประสบปัญหาง่วงนอนในระหว่างวัน/ช่วงเวลาทำงานและงีบหลับได้อย่างรวดเร็วบ่อยๆ ในภาพการสแกนสมอง พบกลุ่มแผ่นของโปรตีนเบต้าอไมลอยด์รอบๆเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีปัญหาภาวะง่วงระหว่างวัน/ในเวลางาน โดยพบสัดส่วนในอัตรา 2.75 เท่า ซึ่ง Prof. Dr. Adam P.Spira หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ถือว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการศึกษาก่อนหน้านี้ของสถาบันผู้สูงอายุในบัลติมอร์

ซึ่งผลการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนมากในเวลากลางวันกับความเสี่ยงสูงของการเกิดกลุ่มแผ่นเบต้าอไมลอยด์ ได้สร้างความยุ่งเหยิงให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้พอสมควร อันเนื่องมาจากข้อมูลใหม่ที่พบสวนทางกับองค์ความรู้จากผลการศึกษาในอดีต อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของการนอน ไม่ว่าจะเป็นหลับมากหรือหลับน้อย อาจจะไม่ใช่มีสาเหตุมาจากกลุ่มแผ่นของเบต้าอไมลอยด์อย่างเดียว อาจะมีสาเหตุอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตามผลการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัย ศ.ดร.อดัม พี สไปรา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จากมหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ ทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องปรับแนวทางการป้องกันส่งเสริมภาวะสมองเสื่อม โดยจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาอาการง่วงนอนในเวลากลางวันบ่อยๆ และพฤติกรรมงีบหลับประจำของบุคคล ภาพสแกนพบกลุ่มแผ่นของเบต้าอไมลอยด์โปรตีนรอบๆเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในบุคคลเร็วขึ้นถึง 2.75 เท่า

ซึ่งในทางการแพทย์แล้วเป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลการศึกษาวิจัยผู้ที่ประสบภาวะสมองเสื่อมนั้น มีผลกระทบทางลบต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ ซึ่งพบได้ทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ปัญหาสมองเสื่อมจะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการนอนไม่ดี ทั้งปัญหาการนอนไม่หลับ/หลับได้น้อย/หรือไม่หลับ แต่ในการศึกษาใหม่ที่พบในครั้งนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ให้ผลตรงกันข้าม ถือเป็นอุบัติการณ์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมป้องกันปัญหาภาวะสมองเสื่อมของประชากรโลก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับตัวในการส่งเสริมป้องกันปัญหาเพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัย ดร.สไปรากล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากภาวะง่วงนอนเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสมองเสื่อม เราจึงพยายามหาทางที่ง่ายที่สุดเพื่อป้องกันโรคสมองเสืื่อม ซึ่งน่าจะเป็นวิธีชลอภาวะสมองเสื่อมที่ได้ผลที่ประชาชนทำเองได้

กล่าวโดยสรุป

หลายคนๆที่เคยคิดว่า การง่วงนอนในเวลางานและแอบงีบหลับเป็นเรื่องพักสมองแล้วล่ะก็ ข้อมูลใหม่นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่านได้ หากท่านไม่ต้องการเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมเร็ว ต้องหาทางป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ โปรดหากิจกรรมอื่นๆมาแทนการงีบหลับ โดยเฉพาะลองทำ brain exercise หรือหากิจกรรมแก้ง่วงอื่นๆ ไม่ว่าจะลุกเดิน หรือขยับร่างกาย โดยทำวิธีใหม่ๆที่ต่างจากความเคยชิน การเล่นปริศนาอักษรไขว้ อ่านหนังสือ ฯลฯ ในเวลาพักระหว่างวันแทนการงีบหลับน่าจะดีกว่านะคะ.....ฟังไว้ไม่เสียหลายค่ะ

**********************************************************************************

แหล่งข้อมูล

https://www.jhsph.edu/news/news-releases/2018/more-daytime-sleepiness-more-alzheimers-disease.html

27 September 2561

By nitayaporn.m

Views, 4932

 

Preset Colors