02 149 5555 ถึง 60

 

ญี่ปุ่นเผยผลวิจัย Long Covid สุขภาพทรุดระยะยาว

ญี่ปุ่นเผยผลวิจัย Long Covid สุขภาพทรุดระยะยาว

แพทย์ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิดจะเผชิญผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว หรือ Long Covid แม้ว่าจะไม่พบเชื้อแล้ว ทั้งอ่อนเพลีย ปวดหัว การรับรส-กลิ่นด้อยลง พร้อมเตือนอย่าคิดว่า “ติดง่ายหายเร็ว”

สมาคมการแพทย์แห่งจังหวัดไซตามะ เผยแพร่การวิจัยผลกระทบระยะยาวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 จากผู้ป่วยนอก 422 คน ที่ไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ 7 แห่งในจังหวัดไซตามะ

การวิจัยพบว่า 25.6% ของผู้ป่วยมีปัญหาการรับกลิ่น 16.6% มีปัญหาการหายใจ 15.6% มีอาการเหนื่อยอ่อน 14.7% ไอและมีเสมหะ 9.7% ผมร่วง 9.0% มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย และ 7.1% การรับรสผิดปกติ

การวิจัยนี้ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเผชิญอาการต่อเนื่องระยะยาวประมาณ 1 ปีหลังจากติดเชื้อ

ผลการวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า ผู้ป่วยโควิดมีแนวโน้มที่จะมีอาการตกค้างแม้ว่าจะไม่พบเชื้อไวรัสแล้ว หรือ Long Covid เช่น เหนื่อยอ่อนและสมองล้า หลงๆ ลืมๆ และไม่มีสมาธิ โดยอาจต้องใช้เวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้นเพื่อให้อาการดีขึ้น

อาการ Long Covid จะพบในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจต้องได้รับการบำบัดรักษา

สุขภาพทรุด จนต้องออกจากงาน

ผู้ป่วยชายวัย 60 ปีคนหนึ่งติดเชื้อโควิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มีอาการเหนื่อยอ่อน ปอดอักเสบ และมีไข้สูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส เขาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยสูญเสียการรับรู้กลิ่นและรส และไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักตัวลดลงไปกว่า 10 กิโลกรัม

หลังจากที่ฟื้นตัวแล้วเขากลับไปทำงาน แต่ยังมีอาการเหนื่อยอ่อนและนอนไม่ค่อยหลับ จนต้องลาออกจากงาน เพราะไม่สามารถทำงานต่อได้

เขาเล่าว่า ในแต่ละคืนจะนอนหลับได้แค่ 1 ชั่วโมง และก็ไม่สามารถนอนหลับต่อได้จนถึงเช้า ส่วนเวลาทำงานก็ไม่มีสมาธิ ความจำถดถอย และจู่ๆ แขนขาก็หยุดเคลื่อนไหว จนรู้ตัวว่าไม่สามารถไปทำงานได้ในสภาพเช่นนี้

ปัจจุบัน เขาเข้ารับการรักษาและได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันจากแพทย์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้นแม้ผ่านมา 7 เดือนแล้ว เขายังคงมีอาการเหนื่อยอ่อนและสมองเบลอ ผู้ชายคนนี้กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นนานขนาดนี้ และเขารู้สึกกังวลกับอนาคตของตัวเอง

ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งเป็นเด็กนักเรียนหญิงวัย 16 ปี เธอติดเชื้อโควิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 มีอาการปวดศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก และมีไข้สูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส เธอพักรักษาตัวอยู่ในโรงแรมสำหรับกักตัว แต่หลังจากกลับไปโรงเรียนไม่นาน เธอก็เริ่มมีอาการต่างๆ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เหนื่อยอ่อนอย่างมาก การรับรสและรับกลิ่นเปลี่ยนไป

เธอไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะมีอาการเวียนศีรษะจนทรงตัวลำบาก เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียงนอน แม้ว่าจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ 4 แห่ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

จากนั้นเธอเข้ารับการบำบัดที่คลินิกที่มีแผนกเชี่ยวชาญเรื่องอาการ Long Covid วิธีการบำบัดคือ ให้ผู้ป่วยจ้องไปยังจุดบนกำแพงและมองขึ้น-ลง และซ้าย-ขวา ตามคำสั่งโดยไม่ขยับศีรษะหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การฝึกดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูการทรงตัว

ส่วนการบำบัดเพื่อฟื้นฟูการรับกลิ่น เธอต้องดมน้ำมันหอมกลิ่นลาเวนเดอร์หรือเลมอน ไปพร้อมกับการจ้องภาพของพืชเหล่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นกับความทรงจำของเธอ เธอฝึกฝนที่บ้านทุกวัน และอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้น

นายแพทย์ผู้ทำการรักษาบอกว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เร็วและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดี แต่ว่าผู้ป่วยบางคนรอนาน 3-6 เดือนก่อนมาเข้ารับการรักษา จึงต้องใช้เวลามากกว่าในการฟื้นสุขภาพ

ญี่ปุ่นมีแผนจะเพิ่มสถาบันการแพทย์ที่สามารถบำบัดรักษาผู้ป่วย Long Covid ให้มากขึ้น โดยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจากการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า พร้อมเตือนให้ประชาชนอย่าประมาท แม้ว่าความรุนแรงของการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

19 May 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 514

 

Preset Colors