02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะ ที่มิใช่แค่งอแงไม่อยากไปเรียน ระวังไว้ ภัยจิตเด็ก

ภาวะ ที่มิใช่แค่งอแงไม่อยากไปเรียน ระวังไว้ ภัยจิตเด็ก

แม้จะไม่ถึงกับทำให้ “อันตรายต่อสุขภาพกาย” แต่ก็อาจส่งผลทำ ให้ “เป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต” ได้!!... สำหรับ "โรคไม่อยากไปโรงเรียน" หรือในทางการแพทย์-ทางจิตวิทยา เรียกว่า "ภาวะ school refusal"

ซึ่งกำลังเป็น “อีกผลกระทบที่เกิดกับเด็กไทยยุคโควิด-19” ซึ่งต้องใช้ชีวิตแบบ “เรียนออนไลน์อยู่บ้านมานาน” จนเกิดเป็น “ความคุ้นชิน” ในการเรียนรูปแบบนี้ ทั้งนี้ เมื่อเด็กไทยจะต้องกลับไปเรียนในโรงเรียนแบบปกติหลังจากมีการประกาศ “เปิดเทอม” ปี 2565 แล้ว…

เด็กจำนวนมากอยากจะ “ไปเรียนในโรงเรียน”…

แต่ก็มีเด็กบางส่วน โดยเฉพาะเด็กเล็ก “ไม่อยาก”

ที่มี “มุมสุขภาพจิต” ที่ “มากกว่าแค่อาการงอแง!!”

ทั้งนี้ กับ “school refusal” หรือ “ภาวะที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจที่เผยแพร่ไว้ผ่านบทความโดย พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ ที่ได้อธิบายถึงลักษณะภาวะดังกล่าวนี้และเผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักใหญ่ใจความเกี่ยวกับภาวะนี้ มีดังนี้…

ทาง พญ.นิดา ได้ระบุไว้ว่า… ภาวะที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน นี่ “เป็นภาวะเร่งด่วนทางจิตเวชเด็ก” โดยเฉพาะหลังจากเด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์กันมายาวนานเกือบ 2 ปี ในยุคที่โควิด-19 ระบาด ซึ่งหากไม่เร่งค้นหามาตรการหรือแนวทางใด ๆ นำมาใช้เพื่อช่วย “ปรับสภาพ-ฟื้นฟูจิตใจ” ให้กับเด็ก ๆ ที่เกิดภาวะนี้ กรณีนี้อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจส่งผลทำให้การที่จะช่วยนำเด็กกลับสู่โรงเรียนจะยิ่งยากมากขึ้น …นี่เป็น “ความสำคัญ” ที่ทางคุณหมอได้เน้นย้ำไว้

ภาวะเด็กไม่ยอมกลับไปเรียน..มีปัญหากว่าที่คิด

ถ้าไม่เร่งปรับสภาพเด็ก…อาจยิ่งแก้ปัญหาได้ยาก

คุณหมอท่านเดิมยังได้ระบุไว้ในบทความอีกว่า… ภาวะดังกล่าวนี้หลายคนอาจจะคิดว่า…ไม่น่าเป็นปัญหา หรือมองว่า… เป็นแค่อาการงอแง หากแต่ในความเป็นจริง ด้วยสภาวะที่ “เด็กห่างห้องเรียนมานาน” กรณีนี้สามารถ “สร้างบาดแผลเล็ก ๆ ในใจ” ไว้กับเด็ก ๆ โดยที่เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองอาจจะไม่รู้ตัว โดยปัญหาหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องของ “พัฒนาการความสัมพันธ์” ที่เด็ก ๆ เหล่านี้จะเกิดปัญหาด้านนี้ค่อนข้างมาก เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตในโรงเรียนแบบปกติ…

ส่วน “สาเหตุ” ของ “ภาวะที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน” นั้น ก็มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ… หากเป็น กลุ่มเด็กวัยอนุบาล อาจจะเกิดจาก ความรู้สึกวิตกกังวลของเด็ก ที่จะต้องพลัดพรากจากคนที่รัก โดยเมื่อไปโรงเรียนวันแรก ๆ กลับมา…วันต่อไปเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะมีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนเกิดขึ้น และยิ่งถ้า เด็กบางคนมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบวิตกกังวลง่าย หรือ ได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป ก็จะมีแนวโน้มที่จะ เกิดภาวะไม่อยากไปโรงเรียนได้ง่าย มากขึ้น…

ขณะที่ กลุ่มเด็กโตจากวัยอนุบาลขึ้นมาอีกนิด นั้น กลุ่มนี้อาจเกิดจากการที่เด็กคนนั้น มีปัญหาเรื่องการเรียน หรือ มีปัญหาการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือไม่สามารถเข้ากับเพื่อนในโรงเรียนได้ หรือบางกรณีอาจ เกิดจากเด็กถูกทำโทษอย่างรุนแรงที่โรงเรียน จนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน …เหล่านี้เป็น “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดภาวะนี้

ทั้งนี้ คุณหมอท่านเดิมชี้ไว้ว่า… ภาวะอาการไม่อยากไปโรงเรียน ที่เกิดขึ้นนี้ จะยิ่งเป็นปัญหา-จะยิ่งอันตราย ในกรณีที่เด็กคนนั้น มีภาวะซึมเศร้าร่วม หรือ ป่วยด้วยอาการทางจิตเวชอื่น อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานมักจะเกิดอาการงอแงรุนแรงเมื่อจะต้องไปโรงเรียน กรณีนี้ควรเร่งวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อที่จะเร่งแก้ไขหรือปรับสภาพจิตใจให้กับเด็ก ก่อนที่จะมีปัญหาลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับ “กลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางจิตเวช” อยู่แล้ว…

สำหรับ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น กรณีเด็กเกิดภาวะนี้ ทาง พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ ให้ข้อมูลไว้ในบทความว่า… ส่วนใหญ่เด็กที่มีภาวะนี้มักจะเกิดพฤติกรรมที่สะท้อนออกมาได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ… ไม่ยอมลุกขึ้นจากเตียงนอน เมื่อถึงเวลาต้องตื่น, ปฏิเสธชุดนักเรียน เมื่อต้องสวมใส่ไปโรงเรียน, ร้องไห้รุนแรงทุกครั้ง ที่จะต้องไปโรงเรียน รวมถึงเด็กบางรายอาจจะ เกิดอาการงอแงตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน เพื่อหาทางให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองมารับกลับบ้าน

และเมื่อเด็กมี “อาการรุนแรง” มากขึ้น ก็อาจแสดง “พฤติกรรมต่อต้าน” ออกมาให้เห็น เช่น… อาละวาดโวยวาย ด่าทอทำร้ายร่างกายผู้ปกครอง จนถึงแสดงออกผ่าน อาการทางกายแบบไม่ทราบสาเหตุ… ปวดท้อง ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน และมักจะหายไปเองเมื่อเด็กได้หยุดเรียนอยู่ที่บ้าน หรือเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เด็กไม่ต้องไปโรงเรียน …เหล่านี้เป็นอาการที่แสดงออกมาของเด็ก ๆ ที่เกิดภาวะนี้

“การพาเด็กกลับสู่โรงเรียนเป็นหัวใจของการช่วยเหลือ โดยแนวทางช่วยเหลือในเรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูจะต้องช่วยกัน อาทิ พ่อแม่ต้องเปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูก ๆ ต้องการบอกถึงสาเหตุที่ไม่ยอมไปโรงเรียน ส่วนครูนั้นจะต้องดูแลช่วยเหลือเด็กคนนั้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวันแรกที่เด็กมาโรงเรียน หรือกรณีเด็กโต อาจจะพาไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน” …เป็น “คำแนะนำ” เพื่อช่วยเด็ก

“เด็กไม่อยากไปโรงเรียน” ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันดูให้ดี

ดูดี ๆ ว่าใช่ “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” หรือไม่??

ถ้า “ใช่” ก็ “อย่านิ่งนอนใจ…ต้องรีบช่วยด่วน!!”....

18 May 2565

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 475

 

Preset Colors