02 149 5555 ถึง 60

 

ส่งทีมสุขภาพจิตดูแลกลุ่มเพื่อน-ครู หลัง นร.สตรีพัทลุงฆ่าตัวตาย

ส่งทีมสุขภาพจิตดูแลกลุ่มเพื่อน-ครู หลัง นร.สตรีพัทลุงฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตพร้อมส่งทีมช่วยดูแลจิตใจนักเรียนและครู กรณีนักเรียนสตรีพัทลุงฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนสนิทที่พยายามดูแลเพื่อนแล้ว อาจเกิดความรู้สึกอาลัย ทุกข์ รู้สึกผิด และโกรธ พร้อมจับสัญญาณหากรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเกินไป อาจต้องใช้ยาหรือการบำบัดจิตใจร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีนักเรียนอยุ 14 ปี โรงเรียนสตรีพัทลุงฆ่าตัวตาย ว่า ถือเป็นการสูญเสียที่น่าเสียใจและน่าเป็นห่วงความรู้สึกของทุกฝ่าย อย่างกลุ่มเพื่อนสนิทของเด็ก จากข้อมูลข่าวดูเหมือนมีความใกล้ชิดและได้พยายามช่วยเหลือดูแลกันระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธและยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสูญเสีย การดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงสำคัญมาก คือ การได้มีผู้ที่คอยรับฟังความรู้สึกติดค้างในใจและความทุกข์อื่นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกครอบครัว ผู้ใกล้ชิดหรือกลุ่มเพื่อนๆ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกได้มากที่สุด

“เหตุนี้เป็นสิ่งสะเทือนใจสูงมาก ไม่ใช่การสูญเสียปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ที่หลายคนอาจจะต้องการความช่วยเหลือ การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์หรือทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยดูแลปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธที่มากๆ หรืออารมณ์ด้านลบอื่น ปัญหาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การคิดวนเวียน เกิดภาพติดตาที่มีเหตุการณ์บางเรื่องที่ชวนให้สะเทือนใจ ผู้เชี่ยวชาญพร้อมลงไปช่วยเหลือ โดยมอบหมายทีมสุขภาพจิต รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสานรพ.พัทลุง ติดต่อโรงเรียน เพื่อเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด” พญ.อัมพรกล่าว

พญ.อัมพรกล่าวว่า การดูแลกลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิดมากๆ ที่สำคัญต้องอยู่ใกล้ชิด เพื่อรับฟังความรู้สึก เป็นการรับฟังที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด พยายามระมัดระวังการที่เด็กจะได้รับข้อมูลเชิงลบจากสื่อ ที่เป็นห่วงมาก คือ โซเชียลมีเดียที่อาจจะไปเติมความคิด ชักนำเด็กไปในทิศทางลบได้มากยิ่งขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น วิธีการสังเกต จะต้องดูอารมณ์ด้านลบที่ถ่ายทอดออกมา การบ่นถึงความทุกข์ความเศร้าอยู่ในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่ ซึ่งช่วงสัปดาห์แรกอาจเกิดขึ้นได้ อาจจะมีการร้องไห้ คิดวนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว แต่ถ้ารบกวนการใช้ชีวิตเกินไปอาจจะต้องอาศัยยา หรือกระบวนทางจิตวิทยา การบำบัดทางจิตใจ เข้าไปช่วยเหลือ สัญญาณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ความโกรธมากๆ ถึงขั้นคิดร้ายต่อตนเองหรือผู้อื่น ก้าวร้าวหรือเสียใจมากๆ ต้องให้ความใส่ใจ และเรื่องของการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย ตกอยู่แต่ในความคิดเรื่องนี้เท่านั้น

"อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคุณครู เนื่องจากมีการพาดพิงถึงอย่างมาก เป็นสภาพจิตใจที่น่าจะเกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกด้านลบอื่นๆ รวมถึงความสับสน ถ้าหากโรงเรียนมีความต้องการให้ทีมสุขภาพจิต เข้าไปช่วยดูแลก็มีความพร้อมและพยายามติดต่อโรงเรียนอยู่" พญ.อัมพรกล่าว

18 May 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 364

 

Preset Colors