02 149 5555 ถึง 60

 

ผลวิจัย ผู้ป่วยหนักโควิด มีผลกระทบ ไอคิวลด สมองล้า คล้ายประมวลผลช้ามาก

ผลวิจัย ผู้ป่วยหนักโควิด มีผลกระทบ ไอคิวลด สมองล้า คล้ายประมวลผลช้ามาก

ผลการวิจัยของอังกฤษ พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อฟื้นตัวและหายดีแล้วยังเสี่ยงมีความผิดปกติทางสมองในระยะยาว

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 บีบีซีไทย รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการศึกษาผลกระทบจากโควิด-19 ในวารสาร eClinical Medicine ระบุถึงการพบผู้ป่วยอาจมีระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว (IQ) ลดลงถึง 10 คะแนน ซึ่งเท่ากับสมองได้แก่ชราลงไปราว 20 ปี

การศึกษานี้เปรียบเทียบผลทดสอบระดับเชาวน์ปัญญา การคิดวิเคราะห์ใช้เหตุผล ความจำ และการมีสมาธิจดจ่อของผู้ที่เคยป่วยหนักด้วยโรคโควิดจำนวน 46 คน กับกลุ่มควบคุมที่เป็นบุคคลทั่วไป 460 คน ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้มีข้อมูลสุขภาพเหมือนกับคนกลุ่มแรกก่อนล้มป่วย

นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบผลทดสอบไอคิวของผู้ป่วย กับค่าเฉลี่ยจากผลทดสอบไอคิวของประชากรกลุ่มใหญ่ในสหราชอาณาจักรกว่า 66,000 คน อีกด้วย

ผลปรากฏว่ากลุ่มคนไข้ที่เคยป่วยโควิดอย่างหนักมาก่อนนั้น ใช้ความคิดได้ไม่ค่อยจะถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังคิดวิเคราะห์ข้อมูลได้ช้ากว่าคนทั่วไปมาก โดยพบว่ามีระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวลดลงกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 10 คะแนน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มอายุวัย 50-70 ปี

แบบทดสอบในส่วนที่กลุ่มทดลองทำคะแนนได้ต่ำที่สุด คือการใช้คำอุปมาอุปไมย (verbal analogy) ซึ่งเป็นการจับคู่เปรียบเปรยระหว่างสองสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน

ผลทดสอบนี้ตรงกับอาการของผู้ป่วยโควิดหลายราย ที่รายงานเข้ามาหลังหายดีแล้วว่า พวกเขารู้สึกเหมือนสมองล้า นึกคำศัพท์ต่าง ๆ ไม่ค่อยออก คล้ายสมองประมวลผลช้ามาก

นอกจากสมองล้าจนคิดไม่ออกแล้ว หลายรายยังมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้น โดยทีมผู้วิจัยชี้ว่าอาการทางสมองเหล่านี้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด มากกว่าจะเป็นเพราะสุขภาพและสติปัญญาที่มีอยู่เดิมของคนผู้นั้น

อย่างไรก็ตาม ดร. เดวิด เมนอน นักประสาทวิทยาผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้ระบุว่า ผู้ที่มีอาการสมองล้าหลังหายจากโควิดส่วนใหญ่ จะฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ และเริ่มใช้ความคิดได้ดีขึ้นในระยะยาวกว่า 10 เดือนขึ้นไป แต่ก็มีโอกาสสูงที่หลายรายจะไม่อาจฟื้นฟูสมองได้อย่างสมบูรณ์

ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่า เหตุใดโรคโควิด-19 จึงสร้างความเสียหายให้กับกายภาพและการทำงานของสมอง แต่งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า อาจเป็นเพราะเครือข่ายบริหารงานส่วนกลางของสมอง (CEN) ใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานน้อยลง ทำให้การตั้งสมาธิจดจ่อกับงาน การแก้ไขปัญหา และการใช้งานความจำเฉพาะหน้าไม่ดีนัก

เชื้อ Sars-CoV-2 virus Photograph: Phanie/Alamy

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า การที่สมองได้รับออกซิเจนลดลงหรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ รวมทั้งการที่เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือมีเลือดออกภายในเล็กน้อย ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองล้าได้

ล่าสุดยังพบหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การที่ภูมิคุ้มกันต่อต้านร่างกายของตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบของหลายอวัยวะ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากด้วย

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอพี รายงานการศึกษาล่าสุดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด ช่วงสองปีมานี้ ว่าอาจมีจำนวนจริงเกือบ 15 ล้านราย หรือคิดเป็นสองเท่าจากตัวเลขปัจจุบันที่ 6 ล้านราย

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และอเมริกา

9 May 2565

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 258

 

Preset Colors