02 149 5555 ถึง 60

 

คนคุ้นเคย -ติดสุรายาเสพติด ก่อเกิดข่มขืนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน

คนคุ้นเคย -ติดสุรายาเสพติด ก่อเกิดข่มขืนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน

วช.ร่วมกับม.มหิดล เผยแผนงานวิจัย "ต้นแบบสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน แนะผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่ 39.09% ของครูอาจารย์ มองว่าถูกล่วงละเมิดเกิดจากคนคุ้นเคย

“ความรุนแรงในสังคมไทย” ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกกลุ่มเพศและทุกวัย ดังนั้น การลดความรุนแรงในสังคมไทย จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคงและสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

วันนี้ (3 พ.ค.2565)สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาเสนอผลการศึกษาต้อนแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ต่อการสนับสนุนการวิจัยในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 63 และขณะนี้ได้สำเร็จทำให้ได้แผนงานวิจัย ต้นแบบการสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

วช.เป็นหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมมาโดยตลอด ดังนั้น แผนงานวิจัยดังกล่าว จะมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องกระทำชำเรา ความรุนแรงที่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจำนวนมาก และต้องการแก้ไขในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง

“แผนงานวิจัยดังกล่าว เป็นโจทย์ความท้าทายที่นักวิจัยจะต้องสร้างเครื่องมือป้องกันการข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งในเชิงครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ซึ่งจะเป็นการศึกษาถึงต้นเหตุของประเด็นปัญหา ข้อกฎหมาย สถานการณ์ ข้อระเบียบต่างๆ รวมถึงการเสนอแนะนโยบาย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม ลดหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยเหลือสังคมและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และได้รับการดูแลที่ดีขึ้น”ดร.วิภารัตน์ กล่าว

วช.หนุนแผนงานมิติสังคมไทยไร้ความรุนแรง-ลดการข่มขืน

ทั้งนี้ ในส่วนบทบาทของวช.ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้มีการสนับสนุนโครงสร้าง แผนงานต่างๆ หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการกระทำชำเรา โดยวช.ยังคงให้ความสำคัญในแผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในมิติด้านสังคม

ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อไปว่า วช.มีแผนงานสังคมไทยไร้ความรุนแรงในยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะ

โดยในปี 2563-2565 ได้มีงานวิจัยมิติด้านสังคม พบว่า มีงานวิจัยประมาณ 40 กว่าแผนงาน อาทิ แผนงานวิจัย การพัฒนาโปรแกรม “เด็กรุ่นใหม่ใจเย็นๆ” และการสร้างกลไกเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรง ทั้งในส่วนของกระทบวง ทบวง กรม และหน่วยงานภาคีต่างๆ เป็นต้น

สำหรับแผนงานในปี 2566-2570 เป็นการกำหนดทิศทางการสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการลดความรุนแรง และการกระทำชำเรา เพื่อช่วยค้นพบ องค์ความรู้ การใช้ประโยชน์ รวมถึงการเกิดนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการกำหนดนโบบายด้านการป้องกันและลดความรุนแรงความเสี่ยงด้านเพศ

ต้นแบบเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืน

รศ.ดร.สุณีย์ กัลป์ยะจิตร ผู้จัดการแผนงาน กล่าวว่า ปัญหาการข่มขืน เป็นภัยคุมคามประชาชนเป็นระยะเวลานาน ยิ่งในปัจจุบันปัญหาได้ทวีความรุนแรง และสร้างความสะเทือนขวัญแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชน ซึ่งประเทศไทยได้มีการกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นความผิดทางอาญา ที่กำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ทั้งนี้ แผนงานวิจัย ต้นแบบการสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ระดมความคิด เพื่อลดความเสี่ยง และปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำชำเรา

โดยจัดทำสื่อ สร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักรู้แก่คนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ในการกระทำทางเพศที่ไม่เหมาะสมและการปรับปรุงกฎหมายของไทย เป็นการเปรียบเทียบกฎหมายกระทำชำเรา ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อกำหนดกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ อันนำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

เช็กสถานที่มักเกิดเหตุข่มขืนกระทำชำเรา

ทั้งนี้ สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงและการข่มขืนการกระทำชำเราใน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน พบว่า จากการสำรวจครอบครัว พบว่าสถานที่มักเกิดเหตุข่มขืน จะเป็นบ้านตัวเอง บ้านเพื่อน บ้านญาติ สถานที่เปลี่ยว และโรงเรียน

โดยเครื่องมือในการป้องกันการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว ผ่านสื่อวีดีทัศน์ แอปพลิเคชั่น แผ่นพับความรู้ แก่ครอบครัว จะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง กับการล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่ต้องมีความรู้ที่ทันสมัยทันต่อสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

พ่อแม่หรือผู้ปกครองถือเป็นเครื่องมือหลักในการป้องกัน การข่มขืนในครอบครัวและสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่เด็กในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในสังคม และการสอนให้ลูกปกป้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น

การถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดจากคนคุ้ยเคย

ส่วนการสำรวจเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียนนั้น พบว่า

43.49% ครูอาจารย์ไม่แน่ใจว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจากคนแปลกหรือคนคุ้ยเคยกันแน่

39.09% คิดว่าเป็นคนคุ้นเคย

17.42% คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า

สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการข่มขืนกระทำชำเรา ได้แก่

อันดับ 1 ติดสุราและยาเสพติด (11.13%)

อันดับ 2 การชมคลิปหรือเว็บไซต์ที่มีภาพลามกอนาจาร

สำหรับวิธีการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียน พบว่า มากกว่า 88% ที่โรงเรียนมีการวิธีการจัดการในเรื่องดังกล่าว ได้แก่

มีการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษา

ทักษะการตัดสินใจ/ปลูกฝัง

มีการกำหนดกฎระเบียบในโรงเรียนเพื่อป้องกันปัญหา

มีมาตรการเฝ้าระวัง เช่น ตรวจตราอาคารสถานที่ หรือที่ลับตาคน

มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างความเสมอภาคทางเพศ สร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเอง

ทั้งนี้ จากแผนงานวิจัย ต้นแบบเครื่องมือป้องกันการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียน พบว่า ต้องมีการจัดให้มีการช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งเสริมให้นักเรียนมีความฉลาดทางอารมณ์ ควรปลูกฝังค่านิยมทางเพศที่ถูกต้องแก่นักเรียน ควรจัดการปัญหา การคุมคามทางเพศออนไลน์

ติดสุราและยาเสพติด สิ่งกระตุ้นก่อเหตุข่มขืน

ขณะที่ ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศแบบสุ่ม เกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราในกลุ่มของชุมชน พบว่า

สิ่งที่กระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหาการข่มขืน ได้แก่

14.0% การติดสุราและยาเสพติด

11.75% การชมคลิปและเว็บไซต์ที่มีภาพลามกอนาจาร

11.23 การเห็นผู้หญิงแต่งตัวโป๊

9.66% การอ่านหนังสือลามก

7.80% การมีความผิดปกติทางเพศ/ปัญหาด้านจิตเวช

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกข่มขืนกระทำเรา พบว่า

17.65% การแต่งกายที่มีการยั่วยุทางเพศ

16.11% การออกจากบ้านยามวิกาล

15.45% การติดสุราและยาเสพติด

12.06% เชื่อคนง่าย/คล้อยตามคนง่าย

11.78% การมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ

ดังนั้น เครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในชุมชน ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อลดจุดเปลี่ยวในชุมชน ไม่มีสถานที่อับทึบในชุมชน เพื่อลดอัตราการกระทำผิดทางเพศ ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลายเพื่อป้องกันการมั่วสุมทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม

ควรจัดให้มีความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ควรสร้างเครือข่ายครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา ควรจัดให้มีการใช้แอปพลิเคชั่นเสริม เพื่อการติดตามเด็กหายหรือเด็กที่ถูกลักพาตัว

แนะควรลงทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศเมื่อพ้นโทษ

อย่างไรก็ตาม การข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบัน เกิดจากการพ่อแม่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่จึงทำให้เด็กอาจถูกหลอกลวงผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียวที่อาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ ผู้สูงอายุและผู้พิการที่เป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ฉะนั้น เครื่องมือในการป้องกันการข่มขืนกระทำชำเรา ควรจะมีการลงทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ เมื่อพ้นโทษจากเรือนจำโดยออกกฎหมายรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความชอบธรรมในการติดตาม สอดส่องผู้กระทำผิดทางเพศป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

รวมถึงให้ผู้กระทำผิดทางเพศมารายงานตัวกับหน่วยงานกลาง ถึงหลักแหล่งที่อยู่อาศัย ยืนยันตัวตนหรือหากมีการย้ายถิ่นที่อยู่ให้มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการแจ้งเตือนประชาชนทาง website โดยสาธารณะหรือแจ้งเพียงเจ้าหน้าที่รัฐส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นถึงที่อยู่ของผู้กระทำผิดทางเพศให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังหรือแจ้งให้ผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้กระทำผิดทางเพศเฝ้าระวังตนเองและบุตรหลานของตนเอง

ปี64 เกิดปัญหาคดีข่มขืน 714 ราย

ด้านนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ เมื่อสังคมไทยปลอดภัยจาก(ภัย)ข่มขืน

โดยระบุว่า ในปี2564 มูลนิธิรับปัญหาคดีข่มขืน 714ราย ช่วงอายุที่ถูกข่มขืนมากที่สุด อันดับ 1 อายุ 14-15 ปี จำนวน 262 ราย อันดับ 2 อายุ 15-20 ปี จำนวน 182 ราย อายุ 5-10 ปี จำนวน 85 ราย

ที่น่าสังเกตคือผู้ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ชิด มีทั้งสามีภรรยา แฟน เพื่อน ญาติ คนรู้จัก พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ส่วนเหยื่อที่ถูกข่มขืน อนาจาร ทารุณกรรม ล่อลวง ก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

แต่ละคดีมีความยากง่ายต่างกัน บางครั้งกินเวลาหลายวันกว่าจะช่วยเหยื่อออกมาจากผู้ก่อเหตุ บางกรณีใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะตั้งต้นดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุได้ มีหลายกรณีที่แม้ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว ช่วยเหยื่อผู้เสียหายมาได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังต้องเยียวยาสภาพจิตใจกันอีกนาน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องช่วยบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ รวมทั้งจัดหาอาหาร ที่อยู่อาศัย ดูแลจนกว่าจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตเองได้

"การแก้ไขปัญหาต้องร่วมกันดำเนินการ มูลนิธิปวีณาทำงานร่วมกับภาครัฐ ประชาชน และสื่อมวลชน ดังนั้นการป้องกันการข่มขืน ต้องเริ่มจากรัฐบาลที่มั่นคง ก่อนนำไปสู่การปฎิบัติ รวมไปถึงนโยบายของกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน"น.ส.ปวีณา กล่าว

5 May 2565

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 763

 

Preset Colors