02 149 5555 ถึง 60

 

เคล็ดลับดูแลกายใจวัยทำงาน ให้พร้อมก้าวสู่ "สูงวัย" แบบสตรอง

เคล็ดลับดูแลกายใจวัยทำงาน ให้พร้อมก้าวสู่ "สูงวัย" แบบสตรอง

จะดีแค่ไหน ถ้าไม่ว่าโครงสร้างสังคมจะเปลี่ยนไป ตัวเลขอายุจะขยับไปมากเท่าไหร่ แต่เรายังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมวัย พร้อมใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้อย่างมีความสุข เพียงแค่เริ่มดูแลตนเองให้สตรองตั้งแต่วัยทำงานอย่างจริงจัง

เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงอายุ" อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับจะมีคนในวัยทำงานอีกเป็นจำนวนมาก กลายเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จะดีแค่ไหน ถ้าไม่ว่าโครงสร้างสังคมจะเปลี่ยนไป ตัวเลขอายุจะขยับไปมากเท่าไหร่ แต่เรายังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมวัย พร้อมใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้อย่างมีความสุข เพียงแค่เริ่มดูแลตนเองให้สตรองตั้งแต่วัยทำงานอย่างจริงจัง วันนี้ เรามีเคล็ดลับดีๆ ในการดูแลสุขภาพสำหรับวัยทำงานจากงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 15 มาแบ่งปันกัน

เคล็ดลับดูแลกายใจวัยทำงาน ให้พร้อมก้าวสู่ "สูงวัย" แบบสตรอง

เริ่มต้นที่ทำความเข้าใจความท้าทายของคนวัยทำงาน ไม่ดูแลตัวเองเสี่ยงเป็นโรค NCDs

ในทุกๆ วันคนวัยทำงานมีภาระและความรับผิดชอบมากมาย ทั้งเรื่องงาน และต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อาจจะมีทั้งลูกที่ยังเล็กและผู้สูงอายุในครอบครัว ทำให้กลุ่มวัยทำงานละเลยการดูแลตัวเองและใช้ชีวิตไม่สมดุล ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs

ดร. สุพิชชา วงค์จันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการตายด้วยโรคนี้สูงถึง 75% หรือราว 3.2 แสนคนต่อปี ซึ่งถ้าหากไม่มีการป้องกันตั้งแต่วันนี้จะทำให้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในคนวัยทำงานที่มีภาระเยอะที่สุดและต้องรับผิดชอบคนทุกวัยในครอบครัว ดังนั้นถ้าวัยทำงานยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็จะเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงไม่ได้

คนวัยทำงานควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพพื้นฐานของตัวเอง อาจเริ่มทีละน้อย แต่ทำให้ต่อเนื่อง เช่น การสร้างพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ รวมถึงลดและงดการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ควรรับประทานผักให้ได้มากกว่า 5 ทัพพีต่อวัน ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มจนเกินไป รับประทานอาหารเช้าให้สม่ำเสมอ ลดความเร่งรีบในมื้อกลางวัน ลดปริมาณอาหารมื้อเย็น และหลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ไม่มีประโยชน์ ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่จะนำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ ได้

ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ ชี้ว่า นอกจากการหมั่นออกกำลังกายและเลี่ยงการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมแล้ว คนวัยทำงานควรระวังเรื่องความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หลั่งและอยากกินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารรสหวานและมัน ซึ่งอาจเกิดการสะสมไขมันในช่องท้อง อ้วนลงพุง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้ง่ายขึ้น คนวัยทำงานจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยสุขภาพกายที่แข็งแรง ไปพร้อมๆ กับการสร้างสุขภาพจิตใจที่สดชื่นแจ่มใสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ

นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือด้านโภชนาการและสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เราเข้าใจถึงความท้าทายของคนวัยทำงาน และเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนในอนาคต เราจึงมุ่งมั่นและร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน อาทิภาครัฐ นักวิชาการ ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อรวมพลังกันสร้างสรรค์องค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป จนอาจทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ เนสท์เล่จึงจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้าน 3 อ. ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ แนะนำเคล็ดลับสุขภาพดีแบบองค์รวม รวมทั้งจัดทำแบบทดสอบการเช็คอายุร่างกาย เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้คนวัยทำงานดูแลสุขภาพเพื่อสร้างสมดุลกายใจด้วยวิธีง่าย ๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และทำให้สม่ำเสมอ เพื่อก้าวผ่านความท้าทายที่เกิดขึ้นทั้งที่ทำงานและที่บ้าน เตรียมพร้อมในการเข้าสู่ช่วงอายุที่มากขึ้นอย่างแข็งแรงในอนาคต

เคล็ดลับ 3 อ. อย่างง่าย เหมาะกับวัยทำงาน

ลองเริ่มต้นกลับมาดูแลพื้นฐานสามอย่าง คือ 3 อ. อาหาร ออกกำลัง และอารมณ์ ที่ได้ยินกันจนชิน แต่อาจละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

อ.อาหาร ควรกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 1.5 ลิตร เพื่อคืนความสดชื่น ให้สมองตื่นตัว ช่วยรักษาสมดุลแร่ธาตุในร่างกาย วัยทำงานเป็นวัยที่ชีวิตประจำวันเร่งรีบ การมองหา “สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นทางเลือกที่ประหยัดเวลาและสะดวกต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีโภชนาการที่ดีกว่า คือมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

อ.ออกกำลังกาย พักคลายกล้ามเนื้อ ยืดเหยียด คอ หลัง ไหล่ มือ หรือลุกขึ้นขยับตัวทุกๆ 1 ชั่วโมง และเพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรีที่ได้รับ ช่วยควบคุมน้ำหนักให้คงที่

อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้สดใส ยิ้มแย้มพร้อมตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในแต่ละวัน ควรจัดสรรเวลาเบรกงาน เพื่อพักสมอง โดยอาจฟังเพลงเบา ๆ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ไม่เกิดภาวะเครียดสะสม การนอนพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งและอารมณ์ดีได้

ปรับทัศนคติทำความเข้าใจผู้สูงวัย สร้างความสุขในครอบครัว

อีกหนึ่งเรื่องที่วัยทำงานเครียดไม่แพ้เรื่องงาน คือการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ต้องรับมือกับความไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้สูงอายุ

นายธนากร พรหมยศ ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม “ยังแฮปปี้” (YoungHappy) คอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า หลายๆ บ้านอาจมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจของคนต่างวัย วิธีแก้ปัญหาคือให้เราลองคิดว่าตัวเองเป็นพ่อหรือแม่ที่อายุมากแล้ว จินตนาการว่าเริ่มเดินช้าลง ทำอะไรลำบากมากขึ้น หรือหลงๆ ลืมๆ และจะเข้าใจได้ว่าตอนนี้ผู้สูงวัยเองกำลังเจอเรื่องพวกนี้เหมือนกัน ดังนั้น การจะทำให้ผู้สูงวัยรับฟังหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง จำเป็นจะต้องสร้างกุศโลบายทำให้ผู้สูงวัยเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการหากิจกรรมทำร่วมกัน หาพื้นที่ให้เขาเรียนรู้เรื่องราวสิ่งใหม่ ได้เจอกับคนรุ่นใหม่ และได้มีสังคมของตัวเองบ้าง เพราะผู้สูงวัยบางส่วนมักไม่เชื่อคนในครอบครัว แต่จะเชื่อคนอื่นที่เขาได้พบเจอมากกว่า

2 May 2565

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 622

 

Preset Colors