02 149 5555 ถึง 60

 

โอมิครอน BA.2 ครองตลาดไทย 100% สธ.หนุนเปิดประเทศ 1 พ.ค.

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน สายย่อย BA.2 ครองตลาดเกือบ 100% ส่วน BA.1 ที่เคยพบมากก็เหลือประปราย ร่วมกับสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ก่อปัญหาเรื่องความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยมีระบบเฝ้าระวังด้วยการตรวจโฮลจีโนม (Whole genomes sequencing) สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่างแต่ต้องใช้เวลาในการรวมข้อมูล รอการวิเคราะห์อีกกว่า 2 สัปดาห์ และตรวจสายพันธุ์ทั่วประเทศสัปดาห์ละ 2,000-3,000 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาด เช่น ตอนเป็นเดลต้าแล้วพบโอมิครอนมากขึ้น หรือเริ่มมีสายย่อยมากขึ้น เราก็จะเห็นภาพได้จากตรงนี้ ดังนั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยรวมได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการเปิดการเดินทางเข้าประเทศวันที่ 1 พ.ค. นี้ ที่จะให้ผู้ที่รับวัคซีนครบแล้ว ตรวจด้วย ATK เพียงอย่างเดียว กรมวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อยู่แล้ว เพราะกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งทางอากาศ หรือทางชายแดน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องสุ่มตรวจสายพันธุ์เมื่อพบการติดเชื้อ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดประเทศเราก็จะเพิ่มการตรวจให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ทางองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตรวจลดลง ก็จะทำให้รู้น้อยลง แต่แน่นอนว่า เราเข้าใจโรคมากขึ้นแล้ว ดังนั้น การตรวจมากก็ไม่คุ้มค่า พร้อมระบุประเด็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่อาจลดลงด้วย แต่ทางประเทศไทยยืนยันว่าเราไม่ได้ตรวจลดลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นสัญญาณของไวรัสน่าจะไม่มีความรุนแรงมากขึ้นแล้วใช่หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ถูกต้อง เนื่องจากตัวเลขการติดเชื้อจริงทั้งหมดเทียบกับผู้เสียชีวิต ก็ไม่ได้มากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยหนัก ที่ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เหมือนสมัยที่มีคนบอกว่า จริงๆคนไทยติดเชื้อกว่าแสนรายแต่ตรวจไม่พบ ซึ่งก็เห็นแล้วว่า ตัวเลขผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลและคนเสียชีวิต ไม่ได้สูงขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องขอเน้นย้ำเรื่องวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น มีความจำเป็นมาก เพื่อลดยอดเสียชีวิต

“เข็มกระตุ้นวันนี้ยังได้ 40% ดังนั้น เราต้องฉีดให้สูงขึ้น ถ้า 80% ได้จะดีมาก เพราะข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ(Die from Covid) แบ่งเป็นครึ่งๆ ต่อผู้ที่เสียชีวิตแล้วตรวจพบโควิด(Die with Covid) เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่อาการแย่อยู่แล้ว ก่อนเสียชีวิตตรวจพบเชื้อโควิดก่อน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด โดยทั่วโลกพบปัญหานี้เหมือนๆ กัน เราจึงต้องแยกสัดส่วนจากการเสียชีวิตจริงๆ เพื่อนิยามออกมา” นพ.ศุภกิจ กล่าว

29 April 2565

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet, Maneewan, Kanchana

Views, 211

 

Preset Colors