02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จัก LAAB เทคโนโลยีสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง

รู้จัก LAAB เทคโนโลยีสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง

แม้ว่าตอนนี้ในไทยจะมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดครบแล้วมากถึง 72.9% (ข้อมูลจาก Our World Data อัปเดตวันที่ 24 เม.ย. 65) แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจึงไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนได้ ล่าสุดทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เตรียมนำเข้าเทคโนโลยี LAAB (Long-acting antibody) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้แล้ว

เทคโนโลยี LAAB (Long-acting antibody) คืออะไร

LAAB (Long-acting antibody) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เป็นยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว ขึ้นทะเบียนยาโดยบริษัท AstraZeneca ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งคิดค้นมาเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำหน้าที่เสมือนวัคซีนฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ที่เมื่อฉีดแล้วจะค่อยๆ มีการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ เมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที จึงเหมาะสำหรับฉีดในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน เช่น คนที่มีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือให้ก่อนการสัมผัสโรคโควิดก็ได้

นอกจากนี้ยังเป็นยาแอนติบอดีชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด โดยข้อมูลจากการศึกษาระยะที่ 3 พบว่าจำนวนหนึ่งโดส สามารถให้การป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยาวนานในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง

รายละเอียดในเอกสารกำกับยา

ผ่านการรับรองใช้แบบฉุกเฉิน EUA โดย อย.สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564

กลุ่มเป้าหมายคือผู้มีความเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค สำหรับเชื้อไวรัสโควิด

ขนาดการใช้ ฉีดเข้ากล้ามทุก 6 เดือน ภูมิต้านทานสามารถป้องกันโควิดได้ 6-12 เดือนต่อการให้ 1 ครั้ง

ประสิทธิผล ร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงของโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 BA.2 และ BA.1.1

กระบวนการจัดหา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้หารืออัยการสูงสุด แนะนำให้ปรับสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเปลี่ยนวัคซีน AstraZeneca บางส่วน

อยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ จึงไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม

จำนวนผู้ป่วยภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำในไทย

ปัจจุบันทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำประมาณ 500,000 ราย โดยแบ่งตามโรคดังนี้

ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสง จำนวนประมาณ 200,000 ราย

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่รักษาด้วยการบำบัดแทนไต จำนวนประมาณ 200,000 ราย

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและภูมิแพ้ตัวเอง ที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยากดภูมิ จำนวนประมาณ 10,000 ราย

ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง จำนวนประมาณ 10,000 ราย

ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เช่น ผู้ป่วย HIV ที่มีเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิจากโรคอื่นๆ จำนวนประมาณ 80,000 ราย

ข้อบ่งชี้ในการใช้ LAAB (Long-acting antibody)

ไม่ได้นำมาใช้ทดแทนวัคซีนป้องกันโควิด คนทั่วไปยังได้รับ Active Immunization ด้วยวัคซีนตามแนวทางคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

ไม่ได้นำมาใช้เพื่อการรักษา แต่เพื่อใช้ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงเฉพาะ

ดำเนินการฉีดวัคซีน ต้องฉีดที่สถานพยาบาล ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้

ทั้งนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำลังเร่งจัดหา LAAB (Long-acting antibody) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป มาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เพื่อให้ทันต่อการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน และก่อนที่จะมีการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัส

28 April 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 557

 

Preset Colors