02 149 5555 ถึง 60

 

ระทึก หลังสงกรานต์ อยู่ร่วมกับโควิด ลุ้น! อยู่ได้-ได้อยู่

ระทึก หลังสงกรานต์ อยู่ร่วมกับโควิด ลุ้น! อยู่ได้-ได้อยู่

“สงกรานต์ พ.ศ. 2565” ที่เพิ่งผ่านไป แม้หลาย ๆ พื้นที่ปรากฏภาพ “บรรยากาศคึกคัก” แต่ในอีกมุมก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อดรู้สึกหวั่นใจกับการระบาดของ "โควิด-19" ไม่ได้!! “หวั่น ๆ ว่าผู้ติดเชื้อจะพุ่งพรวดจนต้องล็อกดาวน์เข้มอีก??”

ควันหลงจาก “สงกรานต์ พ.ศ. 2565” ที่เพิ่งผ่านไป แม้หลาย ๆ พื้นที่ปรากฏภาพ “บรรยากาศคึกคัก” ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่กลิ่นอายความสุขสงกรานต์หวนกลับมาได้พอสมควร แต่ในอีกมุมก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อดรู้สึกหวั่นใจกับการระบาดของ “โควิด-19” ไม่ได้!! “หวั่น ๆ ว่าผู้ติดเชื้อจะพุ่งพรวดจนต้องล็อกดาวน์เข้มอีก??” ขณะที่นโยบายคุมโควิดที่รัฐเคยใช้คุมเข้ม แล้วเริ่มมีการ ’ผ่อนคลาย“ จนถึงขั้น “ยกเลิก” นั้น กับการที่ “นโยบาย” เปลี่ยนไปในทางผ่อนคลายนี้…

กับกรณีนี้หลาย ๆ คนก็ยังมี “ปุจฉา” ค้างคาใจ…

“มาตรการคุมโควิดที่เปลี่ยนไปจะส่งผลเช่นไร??”

ทั้งนี้ มีการ “ถอดบทเรียนนโยบายอยู่กับโควิด-19” ที่ได้นำเอา “กรณีศึกษาจากทั่วโลก” มาวิเคราะห์สำหรับใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย โดยใน วารสารโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ปีที่ 10 ฉบับที่ 120 เดือนเมษายน 2565  ได้มีการเผยแพร่ “บทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ” ที่ร่วมกันทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งจาก ชุดโครงการวิจัย “ข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขยุคใหม่” ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ สํานักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรมสาธารณสุข (สบวส.) ให้การสนับสนุนการศึกษา…

ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับ “นโยบายโควิดที่เปลี่ยนไป”

เพื่อค้นหา “แนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย”

ในบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้ฉายภาพ “สถานการณ์ทางด้านนโยบายโควิด-19” ที่ขณะนี้เริ่ม “เปลี่ยนแปลงไป” ไว้ว่า… การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดกับสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ทําให้หลาย ๆ ประเทศมีนโยบายการรับมือโควิด-19 ที่เปลี่ยนไป ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไปจนถึงมีการยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งหมด ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า… นโยบายโควิด-19 ที่เปลี่ยนไป ย่อมนํามาทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้น ประเทศไทยจึงควร เรียนรู้เพื่อชั่งนํ้าหนักและตัดสินใจในการดําเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่เป็น…

“นโยบายควบคุมโรคโควิด-19 ที่ไม่ใช่ยาและวัคซีน”

โดยพบข้อมูลและประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้…

จากกรณีศึกษานั้น พบว่า… มี 39 ประเทศ (49%) ที่ไม่บังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ ไม่บังคับให้สวมหน้ากากอนามัย ในประเทศแล้ว, มี 18 ประเทศ (22%) ที่ไม่มีนโยบายตรวจหาการติดเชื้อ แล้ว, มี 7 ประเทศ ที่ยกเลิกมาตการกักตัวของผู้ติดเชื้อ แล้ว ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี กรีนแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สวีเดน อังกฤษ, มี 3 ประเทศในเอเชีย ที่ไม่มีนโยบายตรวจโควิด-19 แล้ว แต่ยังคงกักตัวหากพบการติดเชื้อ คือ อินเดีย สิงคโปร์ มัลดีฟส์ ขณะที่ ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่ยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัย …เหล่านี้เป็น “ข้อมูลกรณีศึกษาโดยสังเขป”

ที่เป็นการ “ถอดบทเรียนนโยบายโควิดที่เปลี่ยนไป”

และอีกประเด็นน่าสนใจคือ… “ผลดี–ผลเสีย” หลังมีการ ยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ด้านต่าง ๆ โดยพบว่า… “ผลดี” เมื่อมีการยกเลิกมาตรการโควิด-19 นั้น ได้แก่… ช่วยให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรม, ลดภาระให้กับระบบสุขภาพ ทั้งการคัดกรองและการรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย, ลดค่าใช้จ่ายการคัดกรองและการรักษาที่ไม่จําเป็น และ ลดความไม่เสมอภาคของประชาชนในประเทศ เมื่อเทียบกับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สามารถเข้าประเทศโดยเกือบจะไม่ต้องคัดกรองหรือไม่ต้องกักตัว

ส่วน “ผลเสีย” จากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ได้แก่… ทำให้อัตราการยอมรับวัคซีนลดลง เนื่องจากมั่นใจว่าความรุนแรงของอาการน้อยลง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้บางประเทศถึงกับต้องมีนโยบายจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน เช่น สิงคโปร์ ที่ลดวันกักตัวเหลือ 7 วันในผู้ติดเชื้อที่รับวัคซีนครบ และกักตัว 14 วันในผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับวัคซีน, เกิดความต้องการบริการสุขภาพมากขึ้น จากการระบาดของโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหารจากสาเหตุที่ไม่ใช่โควิด, ขาดข้อมูลการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าถ้าไม่มีระบบเฝ้าระวังหรือติดตามเชื้อแล้ว อาจเกิดการระบาดใหญ่โดยไม่มีสัญญาณเตือน!!

ทั้งนี้ ในท้ายบทวิเคราะห์จากแหล่งดังกล่าวข้างต้นได้มี “ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายคุมโควิด-19 ไว้ดังนี้… ไทยไม่มีความจําเป็นเร่งด่วนในการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย เพราะไม่ได้กระทบด้านเศรษฐกิจ, ผ่อนคลายมาตรการอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อให้ประเมินผลกระทบได้, เพิ่มระดับเฝ้าระวังการระบาด หากจะยกเลิกมาตรการคัดกรองการติดเชื้อ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า, ให้ความสําคัญกับการสื่อสารและมาตรการเสริม เพื่อให้ประชาชนยังตระหนักถึงความจําเป็นในการรับวัคซีน และ เตรียมพร้อมระบบสุขภาพ รับมือโรคติดต่อที่ไม่ได้เกิดจากโควิด-19 หลังผ่อนปรนมาตรการ …นี่เป็นข้อเสนอแนะ …และทั้งหมดที่ว่ามาก็น่าจะพอเป็นวิสัชนา

มี “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” ให้ไทย “ชั่งน้ำหนัก”

ให้ไทย “ตัดสินใจ” ดำเนิน “แนวทางที่เหมาะสม”

“อยู่ร่วมกับโควิด” โดยคนไทย “อยู่ได้?-ได้อยู่?”.... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/963066/

19 April 2565

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 269

 

Preset Colors