02 149 5555 ถึง 60

 

ทำความรู้จัก โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว รู้ไว รักษาหาย

ทำความรู้จัก โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว รู้ไว รักษาหาย

เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ‘โรคไบโพลาร์’ (Bipolar Disorder) หรือ ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจาก ซาโนฟี่ ประเทศไทย

โรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ร่วมด้วย

การแสดงออกทางอาการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)

โดยปกติในแต่ละวัน คนเราจะมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือ เกิดอารมณ์ขั้วบวกหรืออารมณ์ขั้วลบเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีสัญญาณเริ่มต้น ได้แก่ 1. ขั้วบวก คือ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ 2-3 วัน พูดมากขึ้น ร่าเริงผิดปกติ หรือในบางคนอาจจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 2. ขั้วลบ คือ เศร้าผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร คิดลบ รู้สึกไม่อยากมีชีวิต

หากญาติหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นอาการเริ่มต้นดังกล่าว ไม่ต้องวิตกกังวล อาการเหล่านี้ไม่รุนแรง และสามารถจัดการได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือทาง www.facebook.com/helpline1323/

ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์รักษาได้ด้วยการใช้ยา โดยแพทย์จะให้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไป โดยข้อห้ามหลักๆ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรอดนอน และไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

หากรู้ไว รักษาได้และสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

7 April 2565

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 467

 

Preset Colors